ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้ เชื่อว่าหลายครอบครัวต่างประสบปัญหาหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือ มีสมาชิกในบ้านที่เป็นผู้สูงวัย ตกเป็นเหยื่อของ ‘ข่าวปลอม’ หรือ ‘เฟคนิวส์’ (fake news) อยู่บ่อยครั้ง
การตกเป็นเหยื่อเฟคนิวส์ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านจิตใจ โดยระดับความเสียหายจะแตกต่างกันไปตามระดับความสำคัญของเฟคนิวส์นั้นๆ เช่น บางรายอาจหลงเชื่อข่าวปลอมเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 จนเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีน ทำให้เมื่อติดโควิดก็อาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่หลายวัน หรือบางรายหลงเชื่อข่าวลวงเกี่ยวกับการลงทุนเสี่ยงโชค ทำให้เสียทรัพย์สินไปหลักพันหรืออาจถึงหลักล้าน หรือเฟคนิวส์เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ ทำให้คุณหวาดกลัวเป็นกังวลเกินไป จนอาจกลายเป็นความเครียด นอนไม่หลับ ยังไม่นับเฟคนิวส์อีกไม่น้อยที่มุ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับกลุ่มบุคคลสาธารณะ ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อโกรธเกลียดพวกเขาอย่างไม่มีเหตุผล
ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งผู้สูงวัยที่อยากจะเท่าทันโลก เท่าทันสื่อ และไม่อยากตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ข่าวปลอมอีกต่อไป เราอยากให้คุณอ่านบทความด้านล่างนี้ค่ะ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงวัยก็อ่านได้เหมือนกัน เพราะบางครั้งข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นก็แนบเนียนสมจริง จนใครๆ ก็ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อได้
โลกออนไลน์ = โลกใบใหม่ที่ผู้สูงวัยคือ ‘ผู้อพยพ’
ทำไมผู้สูงวัยจึงมักตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ได้ง่าย? นี่เป็นคำถามแรกที่เราต้องหาคำตอบค่ะ โดยเฉพาะว่าผู้สูงวัยคือผู้ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากกว่าใคร แล้วทำไมจึงยังหลงเชื่อข่าวปลอมได้มากกว่าคนวัยอื่น?
คำตอบนั้นน่าจะเป็นเพราะผู้สูงวัยเกิด เติบโต และใช้ชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาใน ‘โลกใบเก่า’ ที่การเสพข่าวสารข้อมูลส่วนมากทำได้จากสื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ และนิตยสาร สื่ออย่างเป็นทางการเหล่านี้นำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยนักข่าวมืออาชีพและมีบรรณาธิการคอยตรวจสอบคัดกรองอีกทีหนึ่ง แม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวจากสื่อกระแสหลักที่ว่าย่อมมีข่าวที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริงปะปนอยู่บ้าง ไม่ว่าจะจากความไม่เป็นกลางของสำนักข่าวบางราย หรือความผิดพลาดในการนำเสนอ แต่ก็ต้องนับว่าข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนที่ว่าย่อมไม่มากเท่าข่าวสารใน ‘โลกใบใหม่’ ที่ถูกครองพื้นที่ส่วนมากโดยโซเชียลมีเดีย เพราะในโลกใบนี้เอง ใครจะเขียนหรือสื่อสารอะไรออกไปก็ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าว ไม่ต้องมีบรรณาธิการตรวจสอบ และไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงก็สามารถเผยแพร่ออกไปได้… แค่คุณมีอินเทอร์เน็ต!
นอกจากนั้น ในโลกใบใหม่ที่เทคโนโลยีการตัดต่อ-ปรับแต่งภาพ ก้าวหน้าไปมากขนาดนี้ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุที่เปรียบเสมือน ‘ผู้ที่เพิ่งอพยพ’ เข้ามา จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างภาพจริงและภาพที่ถูกปรับแต่งเติมได้ ต่างจากคนรุ่นใหม่ หรือ ‘ผู้ที่เกิดและเติบโต’ ในโลกใบนี้ ที่สามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างภาพสองแบบได้ง่ายกว่า
ถึงจะสูงวัย แต่ก็ต้องเท่าทันโลกออนไลน์
การหลงเชื่อข่าวปลอมไม่มีอะไรเกี่ยวกับระดับของการศึกษา และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ แต่ในประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างในสหรัฐอเมริกา มีรายงานจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอมในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิปดีเมื่อปี 2016 มากกว่าคนในช่วงวัยอื่น และพวกเขาจำนวนมากก็ยังหลงเชื่อข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ปรากฏอยู่ใน Twitter
พวกเราชาว hhc Thailand เอง ก็มีผู้สูงอายุที่บ้านหลายท่านที่แชร์ข่าวปลอมกันอยู่บ่อยๆ เราจึงค้นคว้าหาข้อมูลและรวบรวมประสบการณ์ที่พบเจอจนเป็น ‘ข้อแนะนำ 5 ข้อ’ ที่น่าจะพอช่วยให้ผู้สูงวัยลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์กันได้มากขึ้น
(1) ลด-ละ-เลิก การอ่านข้อมูลข่าวสารที่ ‘แชร์’ ผ่าน LINE
สาเหตุที่เราแนะนำให้สว.เพลาๆ การอ่านข่าวสารข้อมูลที่ส่งต่อกันมาทาง LINE ลงบ้าง เพราะว่าข้อความที่ส่งต่อๆ กันมานั้น เราไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้เลยว่ามาจากไหนและใครเป็นผู้เขียน ไม่เหมือนการอ่านข่าวจากเว็บไซต์ทางการและเพจของสำนักข่าวต่างๆ ใน Facebook, Instagram หรือ Twitter (X) ที่เรารู้แน่ชัดว่ามาจากสื่อไหนและใครเป็นผู้เขียน หรือถึงแม้ว่าข้อความที่ส่งมาทาง LINE จะลงชื่อบุคคลที่เป็นที่น่าเชื่อถือว่าเป็นผู้เขียน แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาเป็นผู้เขียนข้อความเหล่านั้นจริงๆ เพราะใน LINE นั้น ใครต่อใครสามารถพิมพ์ข้อความขึ้นมาและลงชื่อคนอื่นได้ทั้งนั้น ในขณะที่ใน Facebook เราสามารถตรวจสอบจากหน้าไทม์ไลน์ของบุคคลนั้นได้ว่าเขาเป็นผู้โพสต์จริงหรือไม่ และใน Facebook เรายังเช็กได้อีกด้วยว่า แอคเคาน์เหล่านั้นเป็นของบุคคลที่มีชื่อเสียงคนนั้นๆ (public figure) จริงหรือเปล่า จากดวงดาวสีฟ้า (Blue-star profile) ที่ห้อยต่อท้ายชื่อของเขา
เราอยากให้ผู้สูงวัยท่องให้ขึ้นใจว่า ใครๆ ก็สามารถพิมพ์และส่งต่อข้อความทาง LINE ได้ทั้งนั้น LINE จึงเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยเฟคนิวส์มากที่สุด ตั้งแต่เรื่องที่ไม่มีอะไรสลักสำคัญ เรื่องสุขภาพ การเงิน ไปจนถึงเรื่องการเมือง ทางที่ดีที่สุด ควรใช้ LINE ตามจุดประสงค์หลักของมัน คือ ใช้ติดต่อพูดคุยกับครอบครัวเพื่อนฝูงในเรื่องทั่วไป และเปลี่ยนไปเสพข่าวสารจากสื่อออนไลน์อื่นๆ เช่น เว็บไซต์ และเพจ Facebook ที่เชื่อถือได้ และเป็นกลางจะดีที่สุดค่ะ
(2) สังเกต ‘การใช้ภาษา’ และ ‘การใช้ภาพ+คำบรรยายภาพ’
ในเว็บไซต์ของกรมกิจการผู้สูงอายุแนะนำไว้ว่า ข่าวปลอมมักใช้ตัวพิมพ์แบบหนาทั้งหมดและมักใช้เครื่องหมายตกใจเพื่อเรียกความสนใจจากผู้อ่าน แต่เราขอเพิ่มเติมจากประสบการณ์อีกนิดนึงว่า ข่าวปลอมมักใช้คำพูดชวนเชื่อ เช่น
- “ช่วยกันแชร์ออกไปให้มากที่สุด!”
- “เรื่องจริง ข่าวกรอง”
- “ข่าววงใน” ฯลฯ
นอกจากนั้น ข่าวปลอมจำนวนมาก ยังมักเอาภาพของบุคคลสาธารณะมาจัดวางคู่กับโควตคำพูดบางอย่าง เพื่อสื่อว่าบุคคลในภาพเป็นผู้พูดข้อความนั้น ทั้งๆ ที่หลายครั้ง พวกเขาไม่เคยกล่าวถึงประโยคที่ว่าเลย และถ้าคุณลองสังเกตให้ดี จะพบอีกลักษณะหนึ่งในการใช้ภาษาของข่าวปลอม คือมักเขียนเยิ่นเย้อ เน้นกระตุ้นอารมณ์ให้เรารู้สึกโกรธ เกลียด รัก หลง ฯลฯ คล้ายๆ การอ่านนิยายมากกว่าการอ่านข่าวสารข้อมูลที่เป็นความจริง ซึ่งจะเพราะอะไรนั้น เราจะอธิบายเพิ่มเติมในข้อต่อไปค่ะ
(3) กำจัด ‘อคติ’ ในใจ
สาเหตุหนึ่งที่เฟคนิวส์ประสบความสำเร็จจนสามารถหลอกให้คนเชื่อได้เป็นจำนวนมหาศาล เพราะ เฟคนิวส์มักใช้ ‘อารมณ์’ ของเราเป็นจุดอ่อน และเข้าโจมตีที่อารมณ์ ‘รัก-โลภ-โกรธ-หลง-สงสาร’ ของเรา
เพราะหากเรา ‘รัก’ สิ่งใดอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ข่าวปลอมจะยิ่งนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เรารักสิ่งนั้นมากขึ้นอีก แม้ข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นเท็จก็ตาม เช่นเดียวกัน หากเรา ‘โกรธ-เกลียด’ สิ่งใดอยู่แล้ว อคติในใจนี้ก็จะทำให้เราหลงเชื่อข่าวปลอมที่มุ่งสร้างความเกลียดชังต่อสิ่งนั้นได้อย่างง่ายดาย
ส่วนจุดอ่อนในเรื่องความ ‘โลภ’ และ ‘หลง-สงสาร’ ก็ทำให้หลายคนเสียเงินเสียทองมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะข่าวปลอมเกี่ยวกับการลงทุนที่ให้ผลประโยชน์ดีเกินจริง (จนไม่มีอยู่จริง) สินค้าราคาถูกที่ไม่ตรงปก ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และการเปิดรับเงินบริจาคที่บางครั้งก็เป็นมิจฉาชีพ
ในทฤษฎีการละครกล่าวไว้ว่า ละครประเภท Melodrama จะมุ่งเร้าอารมณ์คนดู จนคนดูใช้แต่อารมณ์และขาดเหตุผล ซึ่งก็คงไม่ต่างกันเท่าไรกับเวลาที่เราอ่านเฟคนิวส์ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราถูกอารมณ์ครอบงำ ความสามารถในการใช้เหตุผลแยกแยะก็จะลดน้อยลงทันที เพราะฉะนั้นทางที่ดี กำจัดอคติในใจ ทำใจให้เป็นกลาง เราจะมีสติในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าวต่างๆ ได้ดีขึ้นค่ะ
(4) ใจเย็นวัยรุ่น! ก่อนกด ‘แชร์’ ให้ ‘สงสัย’ ไว้ก่อนเสมอ
ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้สูงวัยหรอกค่ะ แต่ทุกคนมีสิทธิส่งต่อเฟคนิวส์กันทั้งนั้น ถ้าด่วนใจร้อนกดแชร์ โดยไม่ทันอ่านให้ถี่ถ้วนและคิดตามหลักเหตุผล
เราจึงอยากแนะนำว่า เมื่ออ่านข้อมูลข่าวสารแล้ว คุณควรคิดสงสัยก่อนว่า ข้อมูลดังกล่าวมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือรองรับเพียงพอไหม? แล้วมีใครได้ผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้หรือเปล่า? และหากมีภาพประกอบที่ดูน่าสงสัย ให้ลองสังเกตดูว่ามีมุมไหนบิดเบี้ยวหรือว่าแสงสีแปลกๆ ไหม โดยเฉพาะหากเป็นภาพที่คนในภาพยืนถือแผ่นกระดาษสีขาว ให้สงสัยไว้ก่อนว่า ข้อความที่อยู่บนกระดาษนั้นอาจถูกตัดต่อมาอีกที เพราะภาพประเภทนี้สามารถตัดต่อได้ง่ายที่สุด
นอกจากนั้น คุณต้องแยกแยะให้ได้ด้วยว่า อันไหนเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ (fact) อันไหนเป็น ‘ความคิดเห็น’ (opinion) หรือว่าข้อความดังกล่าวเป็นการประชดประชันเสียดสี (satire) หรือไม่ รวมทั้งอย่าลืมดูวันที่ด้วย เพราะข่าวหลายข่าวที่ส่งต่อๆ กันมาก็เป็นข้อมูลเก่าที่ล้าสมัยไปแล้วเรียบร้อย
อ้อ… อีกอย่างหนึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ใน Facebook ก็คือ หลายครั้งมีคนแชร์โพสต์จาก ‘กรุ๊ป’ (Facebook group) โดยกรุ๊ปนั้นใช้ชื่อเดียวกับองค์กรบางแห่ง เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ซึ่งคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าว ไม่ใช่คนขององค์กรนั้นๆ แต่เป็นสมาชิกในกรุ๊ปของ Facebook ที่พวกเขาตั้งขึ้นมาเท่านั้นเอง ซึ่งการแชร์โพสต์ลักษณะนี้อาจทำให้ผู้สูงวัยที่ไม่ทันสังเกตความแตกต่างระหว่างเพจทางการ (official page) และกรุ๊ป สับสนเอาได้
(5) เช็กข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่น
วิธีสุดท้ายที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมให้น้อยลงได้ คือเมื่ออ่านข่าวนั้นๆ แล้ว ให้ลองเช็กกับแหล่งข่าวอื่นๆ ค่ะ ว่ามีการนำเสนอข่าวในแบบเดียวกันหรือไม่ เช่น หากเป็นข้อความที่ส่งต่อกันมาทาง LINE (และคุณยังคงยืนยันจะอ่านข่าวจาก LINE อยู่) ให้ลองเข้าไปดูที่เว็บไซต์ทางการหรือ Facebook ของแหล่งข่าวนั้นๆ ว่ามีข้อความเดียวกันปรากฏหรือไม่ หรือลองเช็กกับแหล่งข่าวอื่นที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ โดยให้สังเกตว่า ถ้าเป็นเว็บไซต์ราชการ มักจะลงท้ายด้วย .go.th หรือ สถาบันการศึกษาในไทยมักลงท้ายด้วย .ac.th และหากเป็นเพจทางการใน Facebook ให้สังเกตจำนวน fanpage ที่มักจะต้องมีเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับเพจปลอม
ในกรณีที่ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวสารที่เกี่ยวกับทางราชการ แนะนำให้ลองเช็กกับเว็บไซต์ของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) เพราะในนั้นจะรวบรวมข่าวปลอมที่แพร่ระบาดมาไว้ให้เราเช็กกัน ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับราชการและเงินๆ ทองๆ
สุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เราอยากให้คุณลองเสพข่าวสารจากแหล่งข่าวที่คุณไม่เคยให้ความสนใจบ้างหรือเป็นแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณเชื่อมาตลอด เพราะอะไรเหรอคะ? ก็เพราะว่าการเสพข่าวสารทางออนไลน์ของเราถูกกำหนดโดย อัลกอริทึม (Algorithm) เช่น ถ้าคุณอ่านข่าวเรื่องอันตรายของวัคซีนโควิด-19 บ่อยๆ อัลกอริทึมก็จะไปสรรหาข่าวเหล่านี้มาให้คุณเห็นทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่แสดงให้เห็นข่าวที่เกี่ยวกับข้อดีของวัคซีน หรือ ถ้าคุณอ่านข่าวสารที่โจมตีพรรคการเมืองหนึ่งอยู่บ่อยๆ อัลกอริทึมก็จะไปควานหาแต่ข่าวด้านลบของพรรคนั้นๆ มาให้คุณอ่านไม่รู้จบ ซึ่งอาจมีทั้งข่าวปลอม ข่าวที่บิดเบือนความจริง และข่าวจริง ปะปนกัน
คราวต่อไปที่คุณอ่านข่าวสารจากทางออนไลน์ เราอยากให้ลองนำเอา 5 วิธีนี้ ไปปรับใช้ดู นอกจากนั้น เราอยากให้ทุกคนช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการโต้แย้งข้อมูลอย่างเป็นอิสระขึ้นมา พูดง่ายๆ คือ ถ้าคุณพบเห็นเพื่อนคนไหนส่งต่อเฟคนิวส์ ไม่ว่าจะทาง Facebook หรือ LINE เราอยากให้ช่วยกันเตือนเพื่อนคนนั้นอย่างสุภาพว่าข่าวที่ว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวที่บิดเบือน หรือข่าวเก่า ไม่ต้องเกรงใจว่าจะทำให้เขาเสียน้ำใจ เพราะการเตือนกันด้วยความหวังดีจะช่วยให้พวกเราลดจำนวนข่าวปลอมในสื่อโซเชียลได้
–