เราเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกที่บูธสำนักพิมพ์โอ้มายก้อด (OMG Books) ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว จำได้แม่นว่าบรรณาธิการสำนักพิมพ์แนะนำด้วยตัวเองว่า “เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ดีมาก และสนุกมากด้วย”
บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นฟังแล้วเราต้องย้อนกลับไปอ่านชื่อเรื่องที่หน้าปกอีกครั้ง ‘BREATH ลมหายใจมหัศจรรย์’ แล้วก็สงสัยว่า เรื่องสุขภาพเนี่ยเหรอจะสนุกได้ยังไงกัน? แล้วมันจะมหัศจรรย์ยังไงเรื่องหายใจ? เพราะเราไม่ได้หายใจเป็นกันมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้วเหรอ? แถมเรายังหายใจกันอยู่ทุกวัน วันละหลายๆ รอบไม่ใช่เหรอ?
แต่แล้วเมื่อต้นปีที่ได้ฤกษ์หยิบหนังสือเล่มนี้ออกจากกองดองมาเปิดอ่าน เราก็ต้องยอมรับว่า อ่านสนุกมากกกก สนุกอย่างเหลือเชื่อ จนถึงขั้นติดอันดับเป็นหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพเล่มแรกที่วางไม่ลงเลยทีเดียว และเนื้อหาที่เกี่ยวกับ เทคนิคการหายใจแบบต่างๆ ที่ผู้เขียน เจมส์ เนสเตอร์ (James Nestor) เรียกว่า “ศิลปะที่สูญหาย” (Lost art) ก็น่าสนใจมากเช่นกัน
ที่สำคัญ แค่อ่านหนังสือเล่มนี้ไปได้ไม่กี่หน้า เราก็ต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า “เราหายใจเป็นมาตั้งแต่เกิด” เพราะจริงอยู่ เราหายใจเป็นมาตั้งแต่เกิดโดยไม่ต้องมีใครมาสอน แต่… รู้หรือไม่ว่า เราอาจยังหายใจกันไม่ถูกวิธี
90% ของมนุษย์กำลังหายใจผิดวิธี
ใช่ค่ะ คุณอ่านไม่ผิดหรอก เจมส์ เนสเตอร์ เขียนไว้ชัดเจนใน ‘BREATH ลมหายใจมหัศจรรย์’ ว่า มี 90% ของคนบนโลกนี้ทีเดียวที่หายใจไม่ถูกวิธี
ในการเดินทางของหนังสือเล่มนี้ เนสเตอร์จะพาเราไปรู้จักว่า มีการหายใจแบบไหนบ้างที่เป็นการหายใจที่ผิด ไม่ว่าจะเป็น หายใจทางปาก หายใจสั้น หายใจถี่ หรือแม้แต่ หายใจมากเกินไป!!! ที่สำคัญ การหายใจแบบผิดๆ เหล่านี้ อาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง เช่น คัดจมูก นอนกรน หอบหืด หยุดหายใจขณะหลับ วิตกกังวล สมาธิสั้น สะเก็ดเงิน
เมื่อมีถึง 90% ของประชากรบนโลกใบนี้ที่หายใจไม่ถูกวิธี ลองถามตัวเองดูค่ะว่าคุณคิดว่าคุณจะรอดเป็นหนึ่งใน 10% ที่เหลือไหม? ส่วนเรานั้นบอกได้เลยว่า ไม่รอดค่ะ! เอาแค่บทแรกเรื่องหายใจทางจมูก ไม่ใช่หายใจทางปาก เราก็ผิดแล้ว เพราะเมื่อร่างกายถูกอาการภูมิแพ้ คัดจมูก รบกวนอยู่เป็นประจำตามประสาคนเมือง เราก็เผลอใช้ทางลัดหายใจทางปากอยู่บ่อยครั้งอย่างที่แทบจะไม่รู้ตัว
แม้แต่เจมส์ เนสเตอร์ เอง เขาก็เคยเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจอุดตัน ซึ่งเพื่อจะเรียนรู้ว่าการหายใจทางปากส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เขาจึงอาสาเข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์ ด้วยการใช้ซิลิโคนอุดจมูกไว้แน่น เพื่อที่จะบังคับให้ตัวเองต้องหายใจทางปากอยู่นานถึง 20 วัน หลังจากนั้นเมื่อเอาซิลิโคนออก เขาก็หายใจทางจมูกอีก 20 วัน โดยกินอาหาร พักผ่อน ออกกำลังกาย เหมือน 20 วันก่อนหน้าทุกอย่าง เพียงแต่คราวนี้เมื่อหายใจทางจมูก ค่าความดัน การกรน การหยุดหายใจขณะหลับ ฯลฯ ของเขาและเพื่อนร่วมการทดลองดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับตอนที่หายใจทางปาก
แต่ว่าค่าต่างๆ จะดีขึ้นด้วยสาเหตุอะไรและวิธีหายใจผิดๆ ยังมีอะไรอีกบ้างนั้น เราขอไม่สปอยนะคะ ให้คุณไปอ่านต่อในหนังสือเอง 😀
รู้จัก ‘ศิลปะที่สูญหาย’ จาก ‘ผู้กล้าด้านลมหายใจ’
ความทุ่มเทของเจมส์ เนสเตอร์ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียงการเอาตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองสุดพิสดารอย่างที่ว่าไปเท่านั้น แต่เขาใช้เวลาเรียนรู้เรื่องการหายใจอยู่นับสิบปี และเดินทางไปหลายเมือง หลายประเทศ เพื่อพูดคุยกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่เดินทางเพื่อไปศึกษาเรื่องทางกายวิภาคของมนุษย์ด้วยตัวเอง อย่างตอนที่เขาบินไปปารีส แล้วลงไปเดินในสุสานใต้ดินท่ามกลางกองกระดูกเพื่อศึกษาวิวัฒนาการกะโหลกศีรษะของมนุษย์จากช่วงเวลาต่างๆ ว่าส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เนสเตอร์ยังศึกษาเรื่องราวของ ‘ผู้กล้าด้านลมหายใจ’ หลายต่อหลายคน แล้วนำมาบรรจุเป็นข้อมูลอยู่ในหนังสือเล่มนี้ โดยคำว่า ‘ผู้กล้าด้านลมหายใจ’ (Pulmonoat) ที่เนสเตอร์ใช้นั้น หมายถึงคนที่ไม่ได้ใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เดิมๆ (เพราะมันไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้) แต่เป็นพวกชอบพลิกแพลงมากกว่า ซึ่ง ‘ผู้กล้าด้านลมหายใจ’ ที่เนสเตอร์พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ ก็มีหลากหลายอาชีพมาก เช่น ช่างตัดผม นักร้องโอเปรา โค้ชว่ายน้ำ วาทยกร นักกีฬาโอลิมปิก หมอโรคหัวใจ ฯลฯ
ในจำนวนผู้กล้าด้านลมหายใจทั้งหมด เราขอนำมาแนะนำให้คุณรู้จัก 2 ท่าน คือ จอร์จ แคตลิน (George Catlin) ศิลปินและนักเดินทางชาวอเมริกัน ที่ได้ใช้เวลา 6 ปี เดินทางใน The Great Plains และอาศัยอยู่กับชาวอินเดียนแดงหลายเผ่า ซึ่งทำให้เขาพบว่าวิถีชีวิตและการหายใจของชาวพื้นเมืองเหล่านั้น น่าจะมีส่วนส่งผลให้พวกเขามีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง และมีฟันซี่ตรงทุกคน และ คาร์ล สเตาท์ (Karl Stout) วาทยกรวงนักดนตรีประสานเสียงและผู้เขียนหนังสือ ‘The Breath of Life’ ที่ใช้การฝึกหายใจรักษาผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองหลายคนให้อาการดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยหนึ่งในผู้ป่วยจำนวนนั้นเป็นผู้ป่วยอาการสาหัสที่อยู่ในโรงพยาบาลมา 8 ปี แต่เมื่อเจอกับสเตาท์ ก็สามารถออกจากโรงพยาบาลและไปแล่นเรือใบได้ด้วยซ้ำ
จากคัมภีร์โบราณสู่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ทฤษฎีและหลักปฏิบัติของผู้กล้าด้านลมหายใจที่เนสเตอร์นำเสนอให้เราได้รู้จักนี้ ส่วนมากเป็นศาสตร์ที่ถูกหลงลืมมาก่อน (lost art) แต่เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะได้รับการค้นพบขึ้นใหม่และถูกนำมาพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
แต่พร้อมๆ กับเรื่องราวเกี่ยวกับหายใจที่เป็นวิทยาศาสตร์ เนสเตอร์ยังย้อนกลับไปค้นคว้าคัมภีร์ในยุคโบราณหลายเล่ม แล้วค้นพบว่าแม้จะถูกบันทึกไว้เมื่อเป็นร้อยเป็นพันปีก่อนหน้า แต่ปราชญ์จากยุคโบราณก็เชื่อเช่นกันว่า เราสามารถรักษาสุขภาพและมีอายุยืนยาวได้ด้วยการหายใจที่ถูกต้อง
ใน ‘BREATH ลมหายใจมหัศจรรย์’ จึงมีเกร็ดเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับโยคะ ชี่กง ศาสตร์จากโลกตะวันออกที่ล้วนมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การหายใจ รวมอยู่ด้วย โดยทั้งหมดนี้เองทำให้หนังสือเล่มนี้สามารถพูดถึงการหายใจได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน แถมในท้ายเล่ม เขายังสรุปแบบฝึกหัดการหายใจทั้งหมดไว้ให้เราลองฝึกตามด้วย (เราแนะนำเฉพาะแบบฝึกหัดที่สามารถฝึกเองได้โดยไม่เป็นอันตราย)
อย่างไรก็ดี เจมส์ เนสเตอร์ ได้กล่าวย้ำไว้ว่า กรุณาอย่าเข้าใจผิดว่าการหายใจเป็นยาวิเศษครอบจักรวาลที่รักษาได้ทุกโรค (เพราะยาแบบนั้นคงไม่มีอยู่จริง) เพราะหากเจ็บป่วย เขาก็ยังต้องพึ่งพาการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันอยู่ เพียงแต่เขาเชื่อว่าการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างได้
เอาเป็นว่า ถ้าอยากลองมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วยการหายใจ ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ค่ะ 😀
–
‘BREATH ลมหายใจมหัศจรรย์’
James Nestor เขียน
นพ.เอกชัย อัศวนฤนาท แปล
สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด (OMG Books)