ปรีห์กมล จันทรนิจกร นักจิตบำบัดผู้รักษาใจด้วยศาสตร์การละคร 

Human

เรารู้จักกับ กิ๊ฟท์-ปรีห์กมล จันทรนิจกร ตั้งแต่ปี 2014 เวลานั้น เธอยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘มาดี’ (Ma:D Club for Better Society) พื้นที่รวมพลของคนอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจให้สังคม เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้เจอเธออีกครั้ง คราวนี้กิ๊ฟท์มาพร้อมกับบทบาทใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตของตัวเธอเอง ซึ่งการดูแลจิตใจด้วยวิธีบำบัดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘Drama Therapy’ หรือ ‘ละครบำบัด’ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เธอผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ ทำให้เธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Drama and Movement Therapy ที่ The Royal Central School of Speech and Drama ประเทศอังกฤษ ในปี 2018 หลังจาก Ma:D ปิดตัวลง โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานที่นั่นอยู่ร่วมปี ก่อนจะกลับมาทำงานในฐานะ Drama Therapist (นักละครบำบัด) อย่างเต็มตัวในประเทศไทย ตลอด 2 ชั่วโมงที่ได้พูดคุยกัน นอกจากจะได้อัพเดทชีวิตในช่วงเวลาที่เราห่างหายกันไปถึง 9 ปีเต็ม กับอาชีพใหม่ที่ทำให้เธอเติบโตขึ้นในหลายๆ มิติ ทั้งความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณแล้ว เรายังสัมผัสได้ว่าชีวิตที่เธอออกแบบให้ตัวเองในเวลานี้ช่างกลมกล่อม ละมุนละไม และกลับมาสู่สมดุลกว่าที่เคยเป็นมา เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักตัวตนและงานของเธอให้มากยิ่งขึ้นในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้กัน 

จากผู้ซัพพอร์ตฝันสู่ผู้ซัพพอร์ตใจ 

ย้อนกลับไปช่วงที่กิ๊ฟท์ยังทำ Ma:D เธอตั้งใจว่าอยากสร้างพื้นที่แห่งนี้เพื่อสนับสนุนคนมีฝัน คนที่อยากทำประเด็นด้านสังคม เวลานั้นเธอได้รับพลังงานบวกจากสิ่งที่เธอทุ่มเทลงไปมากมาย แต่ในเวลาเดียวกันกลับพบว่าผู้ประกอบการสังคมหลายๆ คน แม้จะมีทุกอย่างพร้อมแล้ว ทั้งเงินทุน ทีมงาน ทรัพยากร กลับต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เพราะงานเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการแบกรับความเหนื่อยและหนักจากการทำงาน ตลอดจนแรงเสียดทานจากสังคม ซึ่งตัวเธอเองก็พบว่ามีอาการซึมเศร้าจากงานที่ทำเช่นเดียวกัน เธอเริ่มเยียวยาตัวเองด้วยการปรึกษาจิตแพทย์และทานยา โดยใช้การบำบัดรูปแบบต่างๆ มาช่วยดูแลจิตใจควบคู่กันไปด้วยจนกระทั่งกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

“กิ๊ฟท์พบว่าในชีวิตประจำวัน เรามีบทบาทบางอย่างที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริงได้ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเราไม่ตรงไปตรงมา แต่การแสดงออกบางอย่างอาจจะเป็นท่าทีที่สามารถถูกตัดสินจากสังคมว่าทำแบบนี้ประหลาดนะ ซึ่งกิ๊ฟท์พบว่า Drama Therapy (ละครบำบัด) เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้กิ๊ฟท์ได้แสดงออกอย่างอิสระและเต็มที่ ไม่ว่าอารมณ์เราจะหนักหน่วงแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีบทบาทอะไรก็ตาม พื้นที่นั้นจะปลอดภัยพอที่เราจะหยิบทุกอย่างในตัวเราออกมาพิจารณา เผชิญหน้ากับมันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวข้างในตัวเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องของร่างกายด้วย กิ๊ฟท์เคยเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวคือการเต้น การทำให้ดูสวยงาม แต่เครื่องมืออย่าง Drama Therapy มีการใช้ร่างกายในหลากหลายรูปแบบ เช่น ทำให้ความรู้สึกนั้นจับต้องได้ หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่จะเป็นอิสระและสอดคล้องไปกับแรงกระตุ้นข้างในของเรา เป็นเครื่องมือที่มีพลังและทำให้เรากลับมาสมดุล ได้เห็นตัวเองว่าช่วงเวลานี้เรากำลังเผชิญกับเรื่องอะไรอยู่และเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้ 

“เมื่อกิ๊ฟท์ใช้เครื่องมือนี้แล้วรู้สึกว่าใช่มาก เลยใช้อยู่เป็นปี จนพบว่าเราค่อยๆ แข็งแรงขึ้นมาก และตัดสินใจว่าอยากจะทำสิ่งนี้ เพราะกิ๊ฟท์ยังไม่ทิ้งฝันเดิมที่อยากจะซัพพอร์ตคนอื่นๆ เพื่อให้พวกเขาได้ทำในสิ่งที่รักอยู่ แต่เราเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบจากการซัพพอร์ตด้านทรัพยากรมาเป็นการซัพพอร์ตภายในจิตใจแทน นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Drama and Movement Therapy เป็นปริญญาโท 2 ปี ที่อังกฤษ สิ่งที่กิ๊ฟท์ไปเรียน คือ Drama Therapy นี่แหละ เพียงแต่วิธีการฝึกที่เมืองไทยกับการเรียนที่อังกฤษเป็นคนละวิธีกัน ศาสตร์ที่กิ๊ฟท์ไปเรียนที่อังกฤษเขาจะเรียกว่า Sesame Approach ที่จะแบ่งการเรียนการสอนแยกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นด้านจิตวิทยาที่จะเรียนทฤษฎี Analytic Psychology (จิตวิทยาวิเคราะห์) ซึ่งเป็นแนวคิดของจิตแพทย์ชาวสวิสอย่าง Carl Jung รวมถึงด้าน Developmental Psychology (จิตวิทยาพัฒนาการ) อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการมาดูว่าเครื่องมือทางศิลปะหรือเครื่องมือที่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์นั้นสามารถทำงานกับจิตใจภายในของเราอย่างไรได้บ้าง เช่น วิชาละคร วิชาการเคลื่อนไหว วิชาการใช้เรื่องราวจาก Mythology (เทพปกรณัม) ที่เขาเชื่อว่า myth หรือตำนานเป็นภาษาของจิต ไปจนถึงการสัมผัสและการใช้เสียง ซึ่งจะเป็นการเรียนแบบองค์รวม แบบที่ร่างกายเรามีทรัพยากรอะไร เราก็หยิบจับตรงนั้นมาผนวกกับกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อใช้ดูแลเรื่องราวภายในของเรา” 

เธอใช้เวลาศึกษาปริญญาโทอยู่ราว 2 ปี และได้ทำงานที่อังกฤษอยู่เกือบๆ ปีหลังจากเรียนจบ จากนั้นจึงย้ายกลับมาที่เมืองไทย และเริ่มงานในฐานะนักจิตบำบัดอย่างเต็มตัวด้วย private practice ของตัวเอง ไปจนถึงการทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มของนักจิตบำบัดที่ให้บริการด้านการทำงานกับจิตใจและการสื่อสารด้วย 

บำบัดจิตด้วยศาสตร์การละคร  

“พอพูดว่า Drama Therapy คนฟังอาจเข้าใจว่า ฉันต้องแสดงละครหรือเปล่า? เป็นอย่างแรก ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เลยนะคะ Drama Therapy เป็นวิธีจิตบำบัดแบบหนึ่งที่เน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะสามารถเข้าไปเผชิญหน้าและทำงานกับเรื่องราวภายในของตัวเอง ทั้งเรื่องราวที่อยู่ในจิตสำนึก เรื่องราวที่สะสมอยู่ในร่างกาย ในความทรงจำ แล้วเราไม่ได้ตระหนักถึงมัน 

“สำหรับการทำงานของนักจิตบำบัด ต้องบอกว่าแต่ละเคสค่อนข้างต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเด็นที่แต่ละเคสเจอมา หลังจากการพรีเซสชั่นกับผู้มารับการบำบัดก่อน 30 นาที เพื่อประเมินความเสี่ยงดูว่าประเด็นที่เขาเจออยู่เป็นเรื่องประมาณไหน เขารู้สึกอย่างไรตอนที่คุยกับเรา เพราะสำหรับกิ๊ฟท์ สิ่งสำคัญของงานบำบัดคือคนที่มาหาเราจะต้องรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขาจริงๆ เป็นการคุยที่สบายใจ เคารพกัน เพราะประเด็นที่จะหยิบมาทำงานมักจะเปราะบางมากๆ ส่วนใหญ่แล้ว วิธีบำบัดที่เลือกใช้ กิ๊ฟท์จะใช้การพูดคุยผสมกับกระบวนการสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น อาจจะใช้ร่างกาย ใช้ storytelling หรือเครื่องมือทางศิลปะต่างๆ เช่น การวาดภาพ การใช้วัตถุมาเล่าเรื่องราว ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับทักษะทางศิลปะ แต่เราจะใช้กระบวนการศิลปะมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เคสได้ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเขาเอง 

“มีอยู่เครื่องมือหนึ่งที่กิ๊ฟท์สังเกตว่าตัวเองใช้บ่อยและค่อนข้างเวิร์ก เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ผู้มาบำบัดได้ลองดึงอารมณ์ความรู้สึกหรือสิ่งที่รบกวนอยู่ข้างในจิตใจของเขาออกมาเป็นตัวละคร โดยจะให้เขาลองวาดออกมา แล้วทำความเข้าใจตัวละครนั้นๆ เขียนแบ็กกราวนด์ตัวละคร ซึ่งสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาจะสะท้อนไปถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน รวมไปถึงรายละเอียดของอารมณ์ความรู้สึกนั้น พอได้ตัวละครตัวนี้มาแล้ว จากก่อนหน้าที่เวลามีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น คนเรามักจะวนๆ เวียนๆ อยู่แบบนั้นในหัว แต่การถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ กลายเป็นเรื่องราวบางอย่างที่จับต้องได้ จะทำให้เขาตระหนักรู้กับความรู้สึกหรือสิ่งที่คั่งค้างได้มากขึ้น เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก เพราะหลายๆ เรื่อง เขาไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงออก เช่น ถ้าแสดงออกกับคนใกล้ชิด ครอบครัวหรือเพื่อนอาจจะเป็นห่วง กังวล หรือบางทีเขามีประเด็นที่ไม่สบายใจกับคนใกล้วตัวมากๆ แต่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรดี เพราะเขายังไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองชัดเจน หรือบางคนอาจจะมีบาดแผลวัยเด็ก บางคนมีอาการ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) วิธีนี้จะทำให้ผู้ถูกบำบัดเริ่มเห็นเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น สื่อสารกับตัวเองได้มากขึ้น เห็นความต้องการที่แท้จริงของตัวเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครที่กิ๊ฟท์สร้างขึ้นชื่อ น้องยุกยิก หากในชีวิตประจำวันที่เริ่มเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา กิ๊ฟท์จะเริ่มเห็นเป็นภาพว่ายุกยิกมาแล้วนะ นั่นจะช่วยให้เราตระหนักรู้กับความรู้สึกนี้ชัดเจนขึ้น เมื่อมีการรับรู้ได้เร็วขึ้น เราจะรู้ว่าจะสื่อสารกับมันอย่างไร แล้วเจ้ายุกยิกนี้สามารถพัฒนาและเติบโตได้ด้วย ซึ่งเราจะต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ หาวิธีดูแล รวมทั้งอยู่ร่วมกับเจ้ายุกยิกนี้ต่อไป”

พื้นที่ปลอดภัย สร้างอย่างไรดี?

“กิ๊ฟท์รู้สึกว่าความสามารถในการอยู่กับความยากในแต่ละช่วงของชีวิต บางทีมันไม่ได้มีเครื่องมือวิเศษที่แค่ดีดนิ้วแล้วปัญหาจะหายไป ทุกอย่างเป็นเส้นทางที่เราต้องยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้นและเรียนรู้ว่าเราอยู่กับมันได้อย่างไร กิ๊ฟท์สังเกตว่าทุกๆ ครั้งที่มีความยากเกิดขึ้น เป็นปกติแหละที่เราจะรู้สึกว่า ‘ฉันไม่อยากอยู่ตรงนี้ เพราะมันยากเหลือเกิน ฉันอยากจะออกไปจากตรงนี้แล้ว’ แต่ยิ่งเราปฏิเสธ มันจะยิ่งยากขึ้นไปอีก แล้วปัญหาหรือความเครียดนั้นก็ไม่ได้หายไปไหนด้วยนะคะ เขาจะยังอยู่กับเรา แต่เมื่อเราตระหนักรู้ว่ามีความทุกข์เกิดขึ้น สามารถยอมรับและอยู่กับมันได้ คุณจะพบว่าอีกไม่นานหรอกเดี๋ยวทุกอย่างจะผ่านพ้นไป และจะมีบางอย่างเสมอที่เราได้เรียนรู้จากช่วงเวลายากๆ เหล่านั้น กิ๊ฟท์เองก็เคยนอนร้องไห้อยู่ 3 วันตอนเจอเรื่องเครียดๆ ดังนั้น กิ๊ฟท์จะซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ยอมรับความเป็นจริง และอนุญาตตัวเองให้แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน การที่เราให้พื้นที่ตัวเองได้ระบาย ได้แสดงออกจะช่วยให้เราผ่านเรื่องแย่ๆ ไปได้ แล้วหลังจากนั้นชีวิตเราจะปรับเข้าสู่สมดุลของตัวเองในที่สุด 

“ดังนั้น ไม่ว่าตอนนี้คุณจะมีความสุข หรือกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก สิ่งที่กิ๊ฟท์อยากแนะนำคือการจัดเวลาให้ตัวเองในทุกๆ วัน หรืออย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งสัก 2-3 ครั้ง ให้เราได้คุยกับตัวเอง การคุยกับตัวเองแปลว่า เราจะมีพื้นที่ให้ความรู้สึกบางอย่างได้ระบายออก อาจจะใช้การเขียนหรือการวาด มีเครื่องมือหนึ่งที่กิ๊ฟท์ใช้ตอนเรียนที่อังกฤษแล้วชอบมากและยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ คือ art journal ทุกๆ ครั้งที่เจออะไรหนักๆ รู้สึกไม่โอเคกับอะไรก็ตาม หรือเกิดความสับสนกับชีวิตในบางช่วง กิ๊ฟท์จะปล่อยความรู้สึกนั้นลงมาบนสมุดเล่มนี้โดยไม่สนใจว่าจะต้องวาดให้สวย มันอาจจะแค่การขีดเส้น ป้ายสี เป็นคำต่างๆ ที่ได้เอาความรู้สึกตัวเองออกมา ซึ่งถ้าเราอยากจะหยาบคายบ้าง สบถบ้าง เอาเลยค่ะใช้ช่วงเวลานั้นอย่างเต็มที่ ในพื้นที่นี้ มันไม่ได้ทำร้ายใคร กิ๊ฟท์รู้ว่าคนส่วนใหญ่รู้วิธีนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีอุปสรรคบางอย่างมาเป็นตัวบล็อก เช่น พอบอกว่าจัดเวลาอยู่กับตัวเองหน่อยสัก 1 ชั่วโมง เขาอาจจะรู้สึกว่า ทำอะไรกับตัวเองตั้งชั่วโมงหนึ่ง ดูทีวีดีกว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวก็นอนแล้ว หรือฉันวาดรูปไม่สวยหรอก ฉันเป็นคนเขียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องสวยหรือต้องดูรู้เรื่อง แล้วไม่ต้องให้ใครดูด้วย เพราะสมุดเล่มนี้เป็นความลับ เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเราเอง เป็นการได้เช็กและปรับจูนตัวเองเสมอๆ เพราะคนเรามีการเรียนรู้ใหม่ มีประสบการณ์ใหม่ในทุกๆ วัน

“นอกจากนี้ กิ๊ฟท์อยากให้ฟังเสียงตัวเองเยอะๆ ค่ะ สังเกตทั้งร่างกายและความรู้สึกของเรา ที่สำคัญคือเราต้องไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณจากร่างกาย เช่น เริ่มรู้สึกหายใจขัด เหนื่อยง่าย ไปจนถึงความรู้สึกในใจ เช่น เราหงุดหงิดง่ายขึ้น หรือเห็นอะไรที่ปกติแล้วไม่หงุดหงิดแต่ครั้งนี้เราหงุดหงิด อันนี้ก็อาจจะเป็นสัญญาณว่าเรามีความเครียดสะสมอยู่แบบไม่รู้ตัว หรือบางคนอาจมีอาการ Sensory Overload ที่ปกติถ้าอยู่ในที่ที่เสียงดังๆ เราอยู่ได้ แต่ครั้งนี้เริ่มรำคาญ รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว เป็นต้น เมื่อเราฟังเสียงตัวเองมากพอ เราจะรู้และเข้าใจว่าข้อจำกัด ทั้งทางร่างกาย ความสามารถ รวมถึงเรื่องภายในของเราว่ามันสุดตรงไหน จากนั้นคุณจะกำหนดได้แล้วว่า เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เช่น ฉันทำงานได้ประมาณนี้นะ ต้องพักเท่านี้ เวลาที่เหลือจัดสรรให้คนในครอบครัวนะ เป็นต้น

“มีครั้งหนึ่งกิ๊ฟท์จำได้เลยว่าชีวิตเละเทะมาก กิ๊ฟท์หยิบสมุดของตัวเองวาดเส้นไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าวาดอะไรอยู่ รับรู้แต่ว่า ความรู้สึกพังๆ เละเทะ พันๆ ยุ่งเหยิง จนถึงจุดหนึ่งที่ใจเย็นลงแล้วกลับมามองสิ่งที่วาดลงไปอีกครั้ง เส้นที่ดูเละเทะ มองอีกทีมันดูเหมือนเป็นบันไดที่ไต่ไปสู่อะไรบางอย่าง แต่ภาพนั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับเราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากการที่เราทำให้อารมณ์ความรู้สึกของเราจับต้องได้ และคีย์สำคัญไปกว่านั้น คือการที่เราให้เวลาตัวเองได้ระบายและจัดการกับความรู้สึกตัวเอง กิ๊ฟท์อยากให้ทุกคนใจดีกับตัวเองเยอะๆ เริ่มจากการให้เวลาและพื้นที่กับตัวเองค่ะ”

สมดุลชีวิตที่ออกแบบได้

“ตอนที่กิ๊ฟท์มาทำงานด้านนี้ คนรอบข้างเป็นห่วงเราอยู่เหมือนกันเพราะกิ๊ฟท์เป็นคนอ่อนไหวง่าย งานบำบัดจิตใจจะส่งผลกับจิตใจเราไหม แต่พอมาทำงานนี้จริงๆ กิ๊ฟท์ได้ใช้ความเซนซิทีฟของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ในเมื่อเราเป็นคนที่ชอบอยู่กับความรู้สึก มันเลยเหมือนกับว่าเราสามารถอิน เข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของเราไปพร้อมๆ กับเขา เป็นภาชนะที่มารองรับความรู้สึกต่างๆ ที่อาจจะยาก รุนแรง หรือเศร้ามากๆ เพื่อให้เขาสามารถปลดปล่อยออกมาได้อย่างเต็มที่ เวลาทำงาน กิ๊ฟท์จะอนุญาตตัวเองให้อินไปได้เลย รู้สึกเห็นใจ รู้สึกดิ่ง เพราะกิ๊ฟท์รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องปิดความรู้สึกตรงนั้น เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักบำบัดหน้านิ่งที่ไม่รู้สึกอะไรเลยแบบนั้น กิ๊ฟท์รู้สึกว่าการร่วมรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญในการร่วมเดินทางไปด้วยกัน พอไปอยู่ในความยาก ความมืดกับเขาแล้ว เราค่อยๆ พากันเดินทางหาแสงสว่างไปด้วยกันได้ 

“การทำงานเป็นนักจิตบำบัดจึงทำให้กิ๊ฟท์ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเคสเสมอ ทั้งที่มาที่ไปของอาการ ความรู้สึกนึกคิด เรื่องราวของครอบครัว หรือเรื่องราวชีวิตของเขา มันมีค่ามากเลยนะคะในการที่เราได้เป็นประจักษ์พยาน เป็นผู้สังเกตการณ์ และร่วมรู้สึกไปพร้อมๆ กับเขา ถึงตอนนี้ แม้กิ๊ฟท์จะมีความคิดหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่มุมมองหลักๆ ในการมองโลก มองชีวิต หรือการใช้ชีวิตของเรายังคล้ายๆ เดิม การทำงานในบทบาทนักบำบัดยิ่งมาตอกย้ำด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราเชื่อมั่นมาเสมอว่าไม่มีใครอยากจะทำร้ายใคร มีแต่มนุษย์ที่เป็นทุกข์ มีแต่มนุษย์ที่บางครั้งอาจจะไม่รู้เท่าทันใจตัวเอง หรืออาจจะมีบางอย่างที่ทำให้เขาสื่อสารออกมาไม่เป็น และอะไรต่างๆ เหล่านั้นส่งผลต่อตัวเขาเองและคนอื่นๆ ถ้าเลือกได้ พวกเขาอยากจะทำเรื่องดีๆ อยากสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและคนรอบข้างทั้งนั้น เพียงแต่ว่าความทุกข์และบาดแผลที่เกิดขึ้นกับชีวิตทำให้เขาไปถึงจุดนั้นไม่ได้ 

“ชีวิตก่อนหน้านี้ กิ๊ฟท์ทำงานข้างนอกเยอะ ลองทำนั่นทำนี่เต็มไปหมด และทำอะไรต่างๆ เพื่อคนอื่น แต่พอกลับมาดูพื้นฐานข้างในตัวเองหรือเวลาที่เราให้ครอบครัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ สามี หรือแม้แต่สุขภาพตัวเองเรียกว่าพังไปหมดเลย ไม่มีเวลาให้ใครหรืออะไรจริงๆ ทีนี้เราก็ได้เรียนรู้ว่า การสร้างอิมแพ็ค เราทำได้ในทุกๆ วันนะ กิ๊ฟท์ไม่รู้ว่าเป็นช่วงอายุด้วยไหมที่เราเริ่มลำดับความสำคัญใหม่ เราอยากดูแลคนรอบตัวเราให้ดีขึ้น ดูแลสุขภาพตัวเอง เห็นตัวเองชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา เลยเริ่มที่จะเลือกมากขึ้น ตอบปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่สำหรับตัวเองง่ายขึ้น ซึ่งโอกาสหลายๆ อย่างที่เข้ามาในชีวิตไม่ใช่ไม่ดีนะคะ เพียงแค่อาจจะยังไม่เหมาะกับเราตอนนี้ ปัจจุบันกิ๊ฟท์เลยเลือกเยอะขึ้น ทำเฉพาะในสิ่งที่เรารู้สึกว่าใช่และเหมาะสมสำหรับเราตอนนี้แบบเต็มที่จริงๆ เรียกว่าเจอจุดสมดุลของตัวเองแล้ว

“ตอนที่กิ๊ฟท์เป็นผู้ประกอบการสังคม มีบทบาทของการบริหาร ทั้งทีม เงินทุน องค์กร แต่บทบาทที่กิ๊ฟท์ชอบจริงๆ คือการเป็นกระบวนกรที่เราได้พูดคุยกับผู้คน หรือมีเวลาได้ใส่ใจคนรอบข้าง แต่น่าเสียดายที่มีโอกาสได้ทำไม่มากนัก การทำงานเป็นนักจิตบำบัดจึงเป็นการเติมเต็มสิ่งที่กิ๊ฟท์อยากทำมาตลอด นั่นคือการได้ใช้เวลากับคนตรงหน้าอย่างเต็มที่ ใน 1 ชั่วโมงนี้ได้อยู่กับเขา ช่วยให้เขาได้คลี่คลายความรู้สึกและสิ่งคั่งค้างภายในของตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่ได้เติมพลัง เรียกว่าความปิติคงจะได้ รวมทั้งการที่เรามีอิสระที่จะจัดเวลาให้กับตัวเอง ใส่ใจตัวเอง ใช้เวลาเต็มที่กับคนที่รัก กิ๊ฟท์ถือว่าตอนนี้เป็นช่วงชีวิตที่ดีที่ได้พัฒนาและเรียนรู้ทั้งในเชิงวิชาชีพและความเป็นมนุษย์ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากช่วงหนึ่งของตัวเองเลยค่ะ (ยิ้ม)”

ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 

เพิ่มเติม: 
Drama.Movement.Art Psychotherapy
www.facebook.com/DramatherapyTH  

บทความที่เกี่ยวข้อง