แม้ว่าโรคมะเร็งจะเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทุกวันนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์มีส่วนช่วยอย่างมาก ในการตรวจพบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้นั้นมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งการป่วยในระยะแพร่กระจายแล้วก็ตาม ก็ยังสามารถยับยั้งและควบคุมไม่ให้ลุกลาม รวมทั้งยังสามารถรักษาแบบประคับประคองเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้
นอกจากการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัดแล้ว ยังมีการค้นพบการรักษามะเร็งแบบใหม่ นั่นคือ Targeted Therapy หรือ การรักษามะเร็งแบบพุ่งเป้าไปยังเซลล์มะเร็งโดยตรง
Targeted Therapy คืออะไร
ในการผ่าตัดและการฉายรังสีนั้นเป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ โดยจะทำการตัดเนื้อร้ายหรือสงสัยว่าจะเป็นเนื้อร้ายออกให้หมดหรือมากที่สุด ขณะที่การใช้เคมีบำบัดมีเป้าหมายเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง สำหรับการรักษาแบบ Targeted Therapy จะเป็นการขัดขวางการทำงานของโมเลกุลสัญญาณมะเร็ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อการสั่งการถูกยับยั้งลง ก็จะส่งผลให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตช้าลงหรือหยุดลงไปในที่สุด
เป้าหมายของการรักษา
เป้าหมายการรักษาแบบ Targeted Therapy จะขึ้นอยู่กับชนิด ระยะของโรค ปัจจัยจำเพาะ และข้อจำกัดของผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ การรักษาโรคมะเร็งเพื่อให้หายขาดในระยะแรกเริ่ม และการรักษาแบบประคับประคองเพื่อลดอาการเจ็บปวดจากมะเร็งและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ยาวนานยิ่งขึ้น
รูปแบบของยา
ลักษณะของยามะเร็งแบบ Targeted Therapy จะมีทั้งแบบยาเม็ดชนิดรับประทานและยาชนิดฉีดเข้าทางเส้นเลือด การรักษาด้วยยากลุ่มนี้สามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือสามารถให้ร่วมกับการรักษาแบบอื่น อาทิ การใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด การใช้ร่วมกับเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ Targeted Therapy สามารถใช้รักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ทั้งนี้มะเร็งแต่ละชนิดจะมีเส้นทางที่ใช้ในการเจริญเติบโตของเซลล์แตกต่างกันไป หรือแม้กระทั่งมะเร็งชนิดเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีโมเลกุลสัญญาณมะเร็งหลายรูปแบบ ดังนั้น ยา Targeted Therapy แต่ละตัวจึงมีกลไกในการออกฤทธิ์ที่เฉพาะตัว โดยแพทย์จะต้องทำการตรวจเลือดหรือตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วย เพื่อตรวจสอบชนิดของโมเลกุลสัญญาณมะเร็ง อันจะนำไปสู่การเลือกใช้ยาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป
ผลข้างเคียง
แม้ว่าการรักษาดังกล่าวจะออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์เป้าหมาย ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัด ทว่า ผู้ป่วยยังคงมีโอกาสได้รับผลข้างเคียง ซึ่งจะแตกต่างไปตามชนิดยาและปริมาณที่ได้รับ โดยอาการที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีอาการทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังอักเสบ มีผื่น ลมพิษ อาการท้องเสียหรือท้องผูก ผลข้างเคียงต่อตับ ไต และหัวใจ รวมทั้งความดันโลหิตสูงระหว่างการรับยา เป็นต้น เพราะฉะนั้น การรับยาจึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยและการตอบสนองที่มีต่อย
ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาเทคนิคการรักษาที่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้การต่อสู้กับมะเร็งทุกวันนี้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว แม้จะไม่สามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด แต่ก็สามารถตอบสนองต่อโรคได้ครอบคลุมขึ้นมาก โดยการรักษาแบบ Targeted Therapy ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกิดขึ้น
ถึงแม้การป้องกันโรคมะเร็งที่ได้ผลเต็มร้อยนั้นจะเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ ก็คือการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุด ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้สอดคล้องไปกับเพศ วัย และการใช้ชีวิต ซึ่งหากพบอาการผิดปกติที่ไม่ทราบสาเหตุ อย่ากลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงทีและเหมาะสมต่อไป
อ้างอิง:
www.bumrungrad.com
www.chularatcancercenter.com
www.thethaicancer.com