5 ข้อควรรู้หลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ความหวังที่จะหยุดการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้พุ่งเป้าไปที่วัคซีน แต่เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ และวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ก็มีเวลาคิดค้นและผลิตขึ้นอย่างจำกัด หลายคนจึงเกิดความกังวล รวมทั้งมีคำถามมากมายว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้วควรดูแลตัวเองอย่างไร มีอะไรที่ต้องงดหรือไม่ควรทำบ้าง และจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้วัคซีนที่ฉีดเข้าไปมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ดีขึ้น

ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีคำถามเหล่านี้กวนใจอยู่ เรามีข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์มาให้ศึกษาก่อนที่จะไปฉีดวัคซีนกัน

เฝ้าระวังสังเกตอาการ 48 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน

องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) และรัฐบาลในหลายประเทศให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกันไว้ว่า อาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้รับวัคซีน แต่มีโอกาสเกิดที่น้อยมาก โดยอาการดังกล่าว เช่น อาเจียน หมดสติ คันตามร่างกาย หายใจลำบาก มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่คุณต้องอยู่สังเกตอาการภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์หลังฉีดวัคซีนเป็นเวลา 30 นาที 

หลังจากนั้น เมื่อกลับถึงบ้าน อาจเป็นไปได้อีกเช่นกันที่ผู้รับวัคซีนจะเกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นไข้ หรือปวดบริเวณแขนข้างที่ฉีดวัคซีน ปกติแล้วอาการเหล่านี้มักหายไปใน 1-2 วัน โดยคุณควรพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำเยอะๆ เอาผ้าชุบน้ำหมาดๆ ประคบแขนข้างที่ปวด และอาจรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรืออาการปวด แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่แพทย์กำหนดเท่านั้น หรือหากคุณมีอาการรุนแรงขึ้นและไม่หายเป็นปกติในหนึ่งสัปดาห์ เช่น ปวดหัวรุนแรง เมื่อรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น วิงเวียนศีรษะ อาเจียน สายตาพร่ามัว หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก มีอาการบวมที่ขา หรืออ่อนเพลียติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด 

ยาแก้ปวดกินได้ “หลังฉีดวัคซีน” เท่านั้น “ไม่ควรกินก่อนฉีดวัคซีน”

อย่างที่บอกไปข้างต้น คุณสามารถกินพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ได้หากเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เพราะไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่ายาเหล่านั้นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานด้อยประสิทธิภาพลง แต่! แพทย์ไม่แนะนำให้คุณกินยาแก้ปวด/ลดไข้ เพื่อดักอาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น “ก่อนฉีดวัคซีน” เพราะนอกจากจะไม่สามารถดักไข้หรือป้องกันอาการได้แล้ว การกินยาก่อนฉีดวัคซีนยังอาจรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย 

Note: สำหรับสตรีมีครรภ์ แพทย์แนะนำให้ใช้ยาแก้ปวดประเภทอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือ พาราเซตามอล มากกว่ายาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ส่วนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive) คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังฉีดวัคซีนได้ไหม?

ถามว่าได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้ แต่ควรไหม… แหม ก็ไม่ควรหรอก เอาเป็นว่าไม่แนะนำก็แล้วกัน เพราะหลังฉีดวัคซีน คุณจะรู้สึกอ่อนเพลียกว่าปกติอยู่แล้ว และในขณะที่ร่างกายของคุณกำลังเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับเชื้อโรค คุณก็ไม่ควรเติมอะไรที่เป็นพิษต่อร่างกายลงไป ไม่ใช่เหรอ?

ยังไม่นับที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งนำไปสู่อาการปวดศีรษะและปวดเมื่อย อาการ “แฮงค์” เหล่านี้ใกล้เคียงกับอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนมาก มันจึงอาจทำให้คุณแยกแยะไม่ออกอีกด้วยว่ากำลังแฮงค์หรือว่าป่วยเพราะวัคซีนกันแน่

ออกกำลังกายเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

World Economic Forum เพิ่งตีพิมพ์บทความที่บ่งชี้ว่า คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำหรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนได้มากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายถึง 50% แต่เดี๋ยวก่อน นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณควรออกกำลังกายทันทีหลังฉีดวัคซีน!

แล้วคุณจะเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อไร? แพทย์หลายรายแนะนำว่าคุณควรงดออกกำลังกายอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน จากนั้นคุณก็ต้องฟังเสียงจากร่างกายของคุณ หากคุณยังรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็จงอย่าฝืน พักผ่อนให้เต็มที่ก่อนแล้วค่อยลุกมาออกกำลังกายเมื่อร่างกายของคุณพร้อม ที่สำคัญ ค่อยๆ เริ่มจากการเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ เพื่อที่คุณจะได้ค่อยๆ สังเกตอาการเหนื่อยล้าหรืออาการผิดปกติอื่นๆ ที่ยังอาจตกค้างอยู่

ชีวิตแบบ New Normal ดำเนินต่อไป

Uma Karmarkar นักประสาทเศรษฐศาสตร์ (Neuroeconomist) จาก University of California กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “การฉีดวัคซีนไม่ใช่การตีตั๋วกลับอดีตไปยังปี 2019” หลังฉีดวัคซีนแล้ว เราจึงไม่ควรคิดว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตปกติสุขแบบเดิมได้อย่างไร แต่เราต้องมองว่า “เราจะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไร” (หลังจากที่โควิดถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก)

แน่นอน วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์ และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้หรือเปล่า สิ่งที่วัคซีนให้แก่เราคือ การลดโอกาสการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อเท่านั้น ดังนั้นเราจึงยังคงต้องดำเนินชีวิตแบบ New Normal ของเราต่อไป นั่นคือ สวมแมสก์ ล้างมือ และหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะภายในอาคารที่อากาศไม่ถ่ายเท 

แต่ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนฝูงทุกคนได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 2 สัปดาห์เรียบร้อยแล้ว การสังสรรค์กันโดยไม่ต้องใส่แมสก์จึงจะมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ และในกรณีที่คนในชุมชนมากกว่า 70% มีภูมิคุ้มกันแล้ว การสังสรรค์ รับประทานอาหารในร้าน และการใช้ขนส่งสาธารณะร่วมกัน ก็จะมีแนวโน้มที่จะปลอดภัยจากการติดโรคได้มากขึ้นเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งรีบร้อนถอดแมสก์แล้วกลับไปหาวิถีชีวิตแบบเก่า (เพราะเราคงกลับไปไม่ได้อีกแล้ว)​ เพราะยังคงมีอีกหลายสิ่งเกี่ยวกับโควิด-19 และวัคซีน ที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องทดลองหาคำตอบ และกระบวนการที่ว่าก็ต้องอาศัยเวลาที่มากกว่านี้

ที่มา:
elemental.medium.com
nytimes.com
gov.uk
unicef.org

Share :
go to top