หลายๆ คนอาจเคยประสบปัญหาหลงลืมสิ่งของ ทำของหาย หาของไม่เจอ นึกชื่อคนที่เจอไม่ค่อยออก พอเจอเหตุการณ์ที่ตัวเอง “ลืม” บ่อยครั้งขึ้น ก็มักเกิดความสงสัยว่า เป็นแค่การหลงลืมธรรมดาหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับความจำแบบโรคอัลไซเมอร์ที่ต้องพบแพทย์ และอยากหาทางแก้ไข ป้องกันให้ตัวเองไม่หลงลืมเพิ่มขึ้น
การทำงานของสมองลดลง แค่จำไม่ได้จริงหรือ?
เรามักจะคิดว่าการทำงานของสมองที่ลดลง อาจส่งผลแค่อาการหลงลืมและจำอะไรไม่ค่อยได้เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ความจำถดถอยไม่ได้มีเพียงแต่ความบกพร่องของความจำระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบความถดถอยลงของการทำงานของสมองขั้นสูง หรือที่เรียกว่าสมองด้านพุทธิปัญญา (cognitive function) ด้านอื่นๆ ร่วมด้วยได้แก่
โดยทุกด้านต้องเทียบกับพื้นฐานเดิมที่เคยเป็น เช่น เดิมหลงทางจำเส้นทางไม่ได้อยู่แล้ว ตอนนี้จำไม่ได้เท่าเดิม
แบบนี้นับว่ายังปกติ แต่ถ้าจำเส้นทางไม่ได้มากขึ้น กรณีนี้นับว่ามีความผิดปกติ
จำอะไรไม่ค่อยได้ ลืมว่าใครพูดอะไร…เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนไหน
รูปภาพจำลองภาพด้านข้างของสมองและการทำงานของสมองส่วนความจำระยะสั้น
เวลาใครบอกอะไรเรามา หรือว่าเราต้องการจะจำอะไร ข้อมูลความจำเหล่านั้นจะส่งเข้าผ่านสมองเพื่อไปจัดเก็บผ่านทางสมองส่วนหน้า (A) จากนั้นจะวิ่งเข้าไปจัดเก็บในกล่องเก็บความจำระยะสั้นที่อยู่ในสมองส่วนใกล้กับตำแหน่งทัดดอกไม้ (B) เวลาที่เราต้องการนึกคิด ความจำต่างๆ ก็จะย้อนออกมาทางเส้นทางเดิม (C) ทั้งหมดนี้คือเส้นทางของความจำระยะสั้น ถ้าเราเจอเหตุการณ์หรือความจำเหล่านี้ซ้ำๆ หรือเพียงครั้งเดียวแต่เป็นเหตุการณ์ที่เราสนใจมากๆ หรือฝังใจมากๆ สมองก็จะเอาความจำนี้ไปเก็บในส่วนของความจำระยะยาวที่กระจายอยู่ในส่วนต่างๆของสมอง
ความผิดปกติของความจำระยะสั้น
ความผิดปกติหลักๆ มักจะเกิดที่สมอง 3 ส่วน
ส่วนแรก คือสมองส่วนหน้า (A)
เราไม่มีสมาธิที่จะจดจำความจำเหล่านั้นตั้งแต่แรก อาจจะเป็นเพราะเราทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน หรือเป็นช่วงที่มีปัญหา มีความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สมาธิไม่ดี ความสนใจจดจ่อต่อสิ่งที่จะจำแย่ลง ก็ทำให้เราไม่ได้นำความจำต่างๆ เข้ามาในสมองของเราตั้งแต่แรกหรืออาจเข้ามาได้เพียงบางส่วน
ส่วนที่สองคือ มีปัญหากล่องเก็บความจำเล็กลง (B)
ซึ่งมักเกิดในคนไข้อัลไซเมอร์ ลักษณะเหมือนกระเชอก้นรั่ว คือความจำเข้ามาได้แต่ไม่สามารถเก็บไว้ได้ เข้ามาเท่าไหร่ก็หายไปหมด หรือเก็บได้เพียงแค่บางส่วน ไม่ว่าเราจะให้เวลาฉุกคิด พยายามใบ้ อธิบาย หรือบอกคำตอบในส่วนที่ลืมไปยังไงก็จะจำไม่ได้อยู่ดี
ส่วนที่ 3 คือส่วนทางเดินของความจำ (C)
ในกรณีที่สมองส่วนหน้าปกติ ความจำเข้ามาได้ เก็บความจำก็ดี แต่ในบางครั้งเรามีความผิดปกติของเนื้อสมอง เช่น มีหลอดเลือดสมองตีบ มีก้อนในเนื้อสมอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจขัดขวางทางเดินของความจำที่เราต้องการดึงออกมา แต่เมื่อให้เวลาคิดให้คำใบ้หรือบอกความจำที่ลืมไป คนที่มีความผิดปกติในส่วนนี้ก็มักจะนึกและคุ้นกับคำตอบที่ได้รับ
ลืมวันละเรื่องสองเรื่อง…เมื่อไหร่เราควรพบแพทย์
เราสามารถไปพบแพทย์ได้ 2 กรณี
กรณีแรก คือยังไม่มีความผิดปกติของความจำ แต่ไปพบเพื่อตรวจร่างกาย ทำแบบทดสอบด้านความจำเก็บไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ข้อดีคือสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ เพื่อดูว่ามีการทำงานของสมองด้านไหนถดถอยลดลงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ
กรณีที่สอง คือรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติของการทำงานของสมองในส่วนของความจำด้านต่างๆ หรือคนใกล้ชิดทักว่ามีความผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าความผิดปกตินั้นรบกวนการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลืมนัดหมายที่สำคัญ ลืมว่าทานอาหารไปแล้ว หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง หลงทางในที่ที่คุ้นเคย ไม่สามารถดูแลตัวเอง ไม่สามารถใส่กระดุมหรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้ที่ควรจะมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุให้เร็วที่สุด เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ ภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ ถ้าเกิดได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจทำให้ความจำกลับมาดีขึ้นหรือกลับมาเทียบเท่าภาวะปกติได้
มีวิธีใดช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ได้บ้าง?
หลายๆ คนมักกลัวที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อัลไซเมอร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคความเสื่อมของสมองในหลายๆ โรคที่สามารถพบได้ เพียงแต่เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด
การลดความเสี่ยงหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์สามารถทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงการเกิดการบาดเจ็บต่อศีรษะ
- ฝึกฝนการใช้ความคิดและความจำ ฝึกการใช้สมองในด้านต่างๆ เช่น วาดรูประบายสี ต่อจิ๊กซอว์ เล่น sudoku เวลาไปซื้อของฝึกการคำนวณบวกเลข ลบเลขด้วยตัวเอง ลองหากิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำและทดลองฝึกฝน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมความดันโลหิต ระดับไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดหรือเลิกสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อความคิดและความจำ เช่น ยานอนหลับและยาแก้แพ้ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ในกรณีที่พบว่ามีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษา เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลความจำระยะสั้นและเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้
–