สุขภาพใจนั้นสำคัญไม่แพ้สุขภาพกายเลย เพราะสุขภาพใจที่ดีไม่เพียงทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างเบิกบานมีความสุขเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์และความเครียดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นอีกด้วย
จริงอยู่ที่บางครั้งปัญหาสุขภาพใจจะเกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม ประสบการณ์เลวร้ายในอดีต แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เราสามารถดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพใจของเราให้เข้มแข็งได้ด้วยกิจวัตรประจำวันง่ายๆ 8 ข้อด้วยกัน
1 นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ
hhc Thailand ย้ำเรื่องการนอนให้เพียงพอและนอนให้ได้คุณภาพกันมานักต่อนักจนคุณอาจเริ่มเบื่อแล้ว แต่เพราะการนอนเป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆ ไม่ว่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ช่วยให้สมองในส่วนระบบความจำ การคิด และสมาธิได้พักผ่อนฟื้นฟูตัวเอง และยังช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า (อ่านได้ที่นี่: นอนน้อย นอนไม่ได้คุณภาพ เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง) เพราะฉะนั้นพยายามนอนหลับและตื่นให้เป็นเวลา จะช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพ และอย่าลืมนอนให้ได้วันละ 7-9 ชั่วโมง ไม่ควรน้อยกว่านี้และไม่ควรมากกว่านี้ เพราะ นอนมากไป ก็ไม่ดีเหมือนกัน
2 กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพใจ
มีอาหารอยู่หลายอย่างที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราโดยตรง เช่น แซลมอนที่มีไขมันโอเมก้า 3 และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่อุดมไปด้วยแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) โดยสารอาหารทั้งสองนี้ช่วยลดภาวะซึมเศร้า / กล้วยที่อุดมไปด้วยวิตามิน B6 ช่วยเพิ่มสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ เช่น โดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) / ถั่วและเมล็ดพันธุ์ เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัต เมล็ดฟักทอง งาดำ เมล็ดทานตะวัน ที่มีทริปโตเฟน (Typtophan) กรดอะมิโนที่ช่วยสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการนอนหลับและความสุข คือ เซโรโทนินและเมลาโทนิน ((Melatonin) เป็นต้น
3 ขยับแข้งขยับขา ออกกำลังกายในแบบของคุณ
ข่าวดีคือ การออกกำลังกายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องออกไปวิ่งหรือเข้ายิมอย่างหนักหน่วง แต่คุณสามารถเลือกวิธีการขยับเขยื้อนร่างกายในแบบที่คุณชอบได้ เช่น จัดปาร์ตี้เต้นรำ ทำสวน พาหมาออกไปเดินเล่น ทำความสะอาดบ้าน เดินเล่นชายหาด หรือแม้แต่หาเวลาพักจากการทำงานทุกชั่วโมงเพื่อลุกขึ้นมายืดเหยียด (stretching) ก็ช่วยคลายเครียดได้ดีทีเดียว เพราะการออกกำลังกายและการยืดเหยียดจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนไหลเวียนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข
4 ปลีกตัวออกจากโซเชียลมีเดียบ้าง
โซเชียลมีเดียมีประโยชน์ถ้าเราใช้ให้ถูกทาง เช่น ใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ หาข้อมูลความรู้ อ่านข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ฯลฯ แต่ถ้าใช้แบบติดหนึบ โพสต์อะไรไปก็ต้องมาคอยนั่งเช็กว่ามีใครมากดไลก์บ้าง หรือตามติดชีวิตคนอื่นอย่างกับ reality show อันนี้ไม่ดีแน่ เพราะเรื่องราวที่คนส่วนมากโพสต์เกี่ยวกับชีวิตตัวเองก็มักจะเป็นแต่เรื่องในด้านดี อย่างเที่ยวโรงแรมหรู กินอาหารอร่อย ส่วนรูปภาพก็ใช้แอปฯ แต่งจนสวยใสหุ่นเป๊ะ ทำให้หลายคนที่เสพเรื่องพวกนี้มากๆ เข้าก็เกิดเอามาเปรียบเทียบกับตัวเอง น้อยใจว่าทำไมฉันไม่มีชีวิตที่ดูเพอร์เฟกต์แบบนั้นบ้าง จนอาจกลายเป็นอาการซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้น ใช้โซเชียลมีเดียให้พอดีกันดีกว่าค่ะ หรือหากบางวันจะวางสมาร์ทโฟนไว้ไกลๆ ตัวบ้าง ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพใจของคุณเอง ไม่เชื่อลองทำดู
5 ดูแลรักษาความสัมพันธ์ให้ดี
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แม้แต่คนที่รักสันโดษ ชอบอยู่คนเดียว อินโทรเวิร์ต หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ย่อมต้องการสังคม และมีความสุขกับการได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนที่รู้ใจอย่างน้อยนานๆ ครั้งก็ยังดี เราจึงแนะนำให้คุณพยายามหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนฝูง เช่น หาเวลากินข้าวด้วยกันเดือนละครั้ง นัดกันไปออกกำลังกาย ออกทริปเที่ยวต่างจังหวัด เพื่อที่คุณจะได้พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ รวมทั้งปรึกษาปัญหาชีวิตระหว่างกัน หรือหากไม่สะดวกที่จะนัดกันบ่อยๆ ก็อย่าลืมส่งข้อความหากัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ ซึ่งในส่วนนี้การใช้โซเชียลมีเดียอย่างถูกวิธีสามารถช่วยได้มากทีเดียว
6 รับแสงแดดธรรมชาติ
การใช้ชีวิตเอาท์ดอร์ สัมผัสสายลม แสงแดด ต้นไม้เขียวๆ ฟังเสียงนกร้อง ดูกระรอกวิ่งไล่กันอย่างสนุกสนาน ทำให้เรามีความสุขและรู้สึกเพลิดเพลินได้อย่างง่ายดาย ยังไม่นับที่แสงแดดธรรมชาติจะเพิ่มวิตามิน D แก่ร่างกาย ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย สำหรับคนในเมืองใหญ่ที่ห่างไกลธรรมชาติสักหน่อย คุณไม่จำเป็นต้องออกมาใช้เวลาอยู่กลางแจ้งนานนักก็ได้ แค่ลองออกมาเดินเล่นในสวนสาธารณะสัก 10-15 นาที นั่งคุยงานใต้ต้นไม้ หรือแม้แต่เปิดหน้าต่างโต๊ะทำงานรับแดดอุ่นๆ และชื่นชมต้นไม้เขียวๆ สักพัก แค่นี้ก็ดีต่อใจมากมายแล้ว
7 ปิดสวิทช์ความคิดลงบ้าง
หาเวลาสัก 5-10 นาทีในแต่ละวัน ปิดมือถือ ปิดทีวี และลองนั่งนิ่งๆ กำหนดจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่คิด ไม่ตัดสิน จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือไม่ก็ลองหลับตาทำสมาธิ เพียงเท่านี้ คุณอาจพบความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพใจที่ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้งอาจทำให้คุณมีไอเดียบรรเจิดและมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้นด้วย
8 ค่อยเป็นค่อยไปในวันที่หนักหนา
อาจมีบางวันที่ปัญหามากมายรุมเร้าหรือจู่ๆ สภาพจิตใจก็ดำดิ่งลงจนไม่นึกอยากขยับตัวทำอะไรที่ว่ามาเลยสักอย่างเดียว ไม่เป็นไรค่ะ เราเข้าใจว่าบางเวลาอาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ แต่เราอยากให้คุณลองพยายามดูแลตัวเองในเรื่องพื้นฐาน เช่น ลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน หากอาบน้ำไม่ไหว เช็ดเนื้อเช็ดตัวสักหน่อยก็ยังดี และอย่าลืมกินอาหารให้ครบมื้อ ที่สำคัญ หากวันนั้นของคุณหนักหนาเกินรับได้จริงๆ คุณควรขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด
ไม่ยากเกินไปใช่ไหมสำหรับกิจวัตรประจำวัน 8 ข้อนี้ หากใครทำได้ครบแล้วลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงของคุณดู … เราขอให้ทุกท่านมีสุขภาพใจที่สมบูรณ์แข็งแรงค่ะ
–
แปลและเรียบเรียงจาก: healthline.com
ข้อมูลเพิ่มเติม: webmd.com