วิรตี​ ทะพิงค์แก​ ผู้สื่อสารความคิด​เพื่อการมีชีวิตที่เกื้อกูล

Human / Self-Inspiration

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2541 แอม-วิรตี ทะพิงค์แก คือบัณฑิตจบใหม่จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ (ปัจจุบันเป็นคณะการสื่อสารมวลชนแล้ว)​ ในเวลานั้นเป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศไทยประสบวิกฤติการณ์ฟองสบู่แตกทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมไปถึงวงการสื่อมวลชน เธออาจไม่ได้ทำงานในสื่อหลักที่กำลังล้มพังไม่เป็นท่า​ หากการเริ่มต้นงานแรกกับมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนาในฐานะกองบรรณาธิการวารสารเกษตร​กรรมธรรมชาติก็ช่วยก่อรูปการทำงานในฐานะนักสื่อสารและเล่าเรื่องที่ต้องลงพื้นที่​ เขียน​บทความ สัมภาษณ์และถ่ายภาพด้วยตัวเองทั้งหมด​ ก่อนที่เส้นทางชีวิตนำพาไปสู่งานเขียนในฐานะนักสื่อสารมวลชนอย่างเต็มตัว เธอทำงานให้กับนิตยสารชีวจิต ตามมาด้วย Health & Cuisine สองนิตยสารภายใต้ชายคาสำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งฯ แอมขยับบทบาทจากการเป็นนักเขียนระดับจูเนียร์ มาเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ จนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร 

หลังจากคลุกคลีอยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์ได้ 10 กว่าปี เธอตัดสินใจย้ายกลับไปบ้านเกิดที่เชียงใหม่ พร้อมหมวกใบใหม่ในฐานะคุณแม่ฟูลไทม์ ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียนอิสระให้กับสื่ออีกหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์แนว parenting เป็นผู้แต่งหนังสือ ‘เตรียมหนูให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล’ ให้กับอมรินทร์พริ้นติ้งฯ เป็นนักเขียนแนวกรีนและเจ้าของคอลัมน์ ‘จักรวาลในจานข้าว’ ให้กับเว็บไซต์ Greenery.org ที่ชวนสำรวจและเรียนรู้ระบบนิเวศ ตลอดจนวิธี​คิด​ภูมิปัญญาผ่านอาหารพื้นบ้านของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างสรรค์คอนเทนต์เรื่องการเลี้ยงลูกในวัย pre-teen และการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ให้กับแมกกาซีนออนไลน์ Thepotential.org ตลอดจนผลงานล่าสุดของเธออย่าง ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ หนึ่งในหนังสือนิทานชุด ‘อ่านดอยสุเทพ’ ที่คว้ารางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 20 (พฤศจิกายน 2564) ประเภทงานเขียน ทั้งยังได้รับคำชื่นชมในแง่ของการเป็นนิทานที่สามารถเล่าเรื่องระบบนิเวศอันซับซ้อนให้เข้าใจง่าย โดยประสบการณ์ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้เปรียบเสมือนสถานบ่มเพาะและกล่อมเกลาตัวเธอในมิติของชีวิตที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์ไปกับโลกและธรรมชาติอย่างกลมกลืน

ในวันที่แอมเดินทางมากรุงเทพฯ เราจึงถือโอกาสชวนเธอมานั่งคุยถึงประเด็นข้างต้น ตลอดจนการเดินทางในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของนักเขียน​ นักสร้างสรรค์เนื้อหา นักถอดบทเรียน ​บรรณาธิการ และคุณแม่คนนี้ ซึ่งคำตอบของเธอได้ทิ้งร่องรอยของวิธีคิดที่น่าสนใจไว้มากทีเดียว

ก้าวที่ 0 บนถนนสายเกื้อกูล

“ช่วงปี 2541 ที่เรียนจบใหม่ หลายๆ วงการรวมทั้งงานสื่อสารมวลชนอยู่ในช่วงดาวน์กันหมด งานแรกเลยเป็นการทำงานภายใต้มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ซึ่งที่นี่มี 2 โครงการหลัก หนึ่งคือ​ ‘โครงการกระดาษเพื่อต้นไม้’​ ที่จะรับกระดาษใช้แล้วจากสำนักงานไปเข้าสู่ระบบรีไซเคิล​ ส่วนอีกงานคือ​ ‘วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ’​ ที่เป็นสิ่งพิมพ์ที่สื่อสารเรื่องเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแอมได้ทำหน้าที่เป็นกองบรรณาธิการ​ จำได้ว่าสมัยนั้นบริบททางสังคมยังไม่มี awareness ในเชิงสิ่งแวดล้อม หรือไม่รู้จักคำว่าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกเลย​ด้วยซ้ำ​ เลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำงานที่นี่ ได้เจอปราชญ์ชาวบ้านในช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลายเป็นคนที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องชีวิตที่เชื่อมโยงไปกับโลกและธรรมชาติในลักษณะของการเกื้อกูลกัน

ถ้ามองในเชิงภาพรวมในเรื่องการเข้าใจชีวิตของตัวเอง แอมคิดว่า นอกจากประสบการณ์การทำงานในที่ต่างๆ แล้ว การได้เกิดและเติบโตที่เชียงใหม่ในช่วงเวลาที่ธรรมชาติทุกอย่างยังสมบูรณ์อยู่ ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ได้อยู่อย่างเป็นอิสระและใกล้ชิดกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมแบบนี้เป็นต้นทุนทางใจที่สำคัญมาก​ จนได้รับการเติมเต็มในชีวิตเรื่องการภาวนากับหลวงปู่ติ​ช​ นัท​ ฮันต์ แห่งหมู่บ้านพลัม ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจว่า ‘สติเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม’ ตรงนั้นถือเป็น turning point อันหนึ่งว่าการมี ‘สติ’ ซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจของมนุษย์​ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปในทางปฏิบัติ รวมถึงการได้ไปภาวนาในป่าที่เชียงดาวกับพี่อ้วน-นิคม​ พุทธา นักอนุรักษ์ป่าเชียงดาว และการเรียนรู้เรื่อง nature connection กับพี่อ้อย-ดร.สรณรัชฎ์​ กาญจนะวณิชย์ ที่อธิบายความเชื่อมโยงกับธรรมชาติในเชิงวิทยาศาสตร์ ความรู้สึกนึกคิดของคนเราจะมีคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สามารถจูนตัวเองให้ใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ของโลกหรือ earth beatได้ เราจะสามารถเชื่อมโยงปัญญาญาณทุกอย่างได้ สิ่งเหล่านี้ได้ตกตะกอนจนทำให้เราเป็นเราและมีความรู้สึกนึกคิดในแบบทุกวันนี้”

เล่าเรื่องการเคารพโลกผ่านนิทานภาพ 

นอกจากการเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติจะเป็นหมุดหมายหนึ่งที่แอมอยากจะทำในชีวิตนี้แล้ว เธอยังคิดว่าเด็กๆ คือกลุ่มคนสำคัญที่เราสามารถส่งมอบเมล็ดพันธุ์การเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับบ่มเพาะความคิดการเกื้อกูลและการเคารพโลกเพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกายใจเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับโลกต่อไปในอนาคต

“แอมเลี้ยงลูกเองมาตั้งแต่แรกเกิด ชอบอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เด็กๆ ตอนที่ลูกอายุสัก 5-6 ขวบ​ เขาชอบรถถังมาก​ เวลาฟังนิทานจบ​ เราจะคุยกับลูกไปด้วย ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แล้วจะเป็นอย่างไรต่อได้บ้างนะ ปรากฎว่าสิ่งที่เราแม่ลูกคุยกันสามารถต่อยอดจนกลายเป็นพล็อตนิทานขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อว่า ‘รถถังนักปลูกต้นไม้’ ซึ่งลูกเป็นคนวาดรูปและแต่งเรื่อง​ เแอมช่วยเขียนคำ​ แล้วทำเป็นเล่มนิทานแบบง่ายๆ ในกระดาษพับทบไปมา​ ต่อมาเอามาจัดพิมพ์สนุกๆ เพื่อเป็นค่าขนมให้ลูกด้วย นิทานเล่มนี้เป็นเรื่องราวของรถถังที่หลงเข้าไปในป่า แล้วหาทางออกจากป่าไม่ได้ จนบังเอิญไปเจอกับเจ้านก ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกันและช่วยกันปลูกป่า กระทั่งต้นไม้และสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นจนป่าแห่งนั้นอุดมสมบูรณ์” ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดของนิทาน ‘รถถังนักปลูกต้นไม้’ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของนิทานอีกเล่มหนึ่งอย่าง ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ โดยบังเอิญด้วย

‘ป่าดอยบ้านของเรา’ คือนิทานที่นำเสนอให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนและธรรมชาติ การก่อเกิดระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันของป่า ภูเขา เมฆฝน และเกิดเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ปิง แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน พบเจอเรื่องราวมากมายก่อนไหลถึงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความน่าสนใจของนิทานเล่มนี้คือการเล่าเรื่องระบบนิเวศที่ซับซ้อนอย่างความสัมพันธ์ของป่าและดอย ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของสัตว์ป่า สรรพชีวิตน้อยใหญ่ และเป็นบ้านหลังใหญ่ของมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยกัน ออกมาให้สามารถเข้าใจได้ง่าย

“นิทานป่าดอยบ้านของเรา​ เกิดจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งอยากจะทำโครงการทดลองในรูปแบบนิทานสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มต้นที่เชียงใหม่​ ภายใต้แนวคิดชื่อว่า​ ‘อ่านดอยสุเทพ’​ และแอมคือหนึ่งในสามนักเขียนที่ถูกเลือกมาสื่อสาร​ สำหรับแอม ดอยสุเทพเป็นมากกว่าภูเขา ที่นั่นคือจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของป่า-น้ำ-ชีวิต เลยอยากนำเสนอในมิติแบบนั้น แต่ประเด็นเหล่านี้อาจจะยากสำหรับเด็กๆ จึงต้องมาดูว่า แล้วเราจะนำเสนอผ่านอะไรได้บ้างเพื่อให้พวกเขาเข้าใจและสามารถเห็นความเชื่อมโยงในสิ่งที่ตามองไม่เห็น ซึ่งสิ่งที่ช่วยทำให้นิทานเล่มนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้นมากคือ ภาพประกอบของครูโก้-จันทิมา​ กิติศรี ที่สามารถถ่ายทอดสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างดี รูปวาดของครูโก้มีชีวิตชีวา ทั้งเส้นสายและการลงสี แม้จะเรียบง่าย แต่ก็มีความหมายและเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กที่เชื่อว่า​ ‘ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีชีวิตทั้งหมด’​ 

“เอาจริงๆ แอมไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะชอบ แต่การได้รับคำชมทั้งจากคุณครู ผู้ปกครองที่ได้อ่าน​ นายแพทย์ประเสริฐ​ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งเป็นคุณหมอด้านจิตวิทยา รวมไปถึงการได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ทำให้แอมดีใจว่านิทานเรื่องนี้เป็นประโยชน์ และการได้รางวัลจากเรื่องป่าดอยบ้านของเรา​ก็สร้างความหวังอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเราสามารถทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย​ อย่างการเชื่อมโยงตัวเรากับธรรมชาติที่นิทานเล่มนี้ได้ทำเอาไว้ เราก็น่าจะสื่อสารเรื่องยากๆ ในประเด็นอื่นได้เหมือนกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถปลูกฝังเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ให้แก่เด็กๆ ได้เท่านั้น แต่อาจเป็นสะพานที่เชื่อมไปยังผู้ใหญ่ให้สามารถเรียนรู้เรื่องซับซ้อนและเชื่อมโยงได้มากขึ้นหลังจากนี้ด้วย”

แปลงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต

ว่ากันว่า เด็กเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตที่รอการเติบโตเพื่อเป็นพืชพรรณของวันใหม่ ผลิดอกออกผลในท้องทุ่งของอนาคต ทว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น มิอาจเติบใหญ่ได้บนพื้นดินที่แห้งแล้งและกันดาร แต่จะงอกงามบนแผ่นดินอันร่มรื่น ชุ่มชื้น มีอุณหภูมิพอเหมาะ และมีอิสระเสรี เพื่อให้การฝังรากนั้นสามารถหยั่งลึกและยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน

“การเลี้ยงน้องธันว์ (ลูกชาย) แอมไม่ได้ตั้งเป้าหมายหรือตีกรอบว่าลูกจะต้องทำหรือเป็นอะไร แต่จะใช้ทุกชั่วขณะเวลากับลูกอย่างเต็มที่ เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แอมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนถึง 3 ขวบ​ อ่านหนังสือ เล่านิทานทุกวัน​ ซึ่งตอนนั้นเขาต้องการสิ่งนี้จากเรา และในวันที่เขาอยากเรียนรู้โลก เราทั้งครอบครัวพ่อแม่ลูกก็ไปเรียนรู้โลกด้วยกัน​ เช่น​ เดินป่า​ เที่ยวธรรมชาติ​ แอมจะค่อยๆ จัดระยะและเรียนรู้ว่าแต่ละช่วงวัยของเขามีความต้องการอะไร อย่างตอนนี้ลูกเข้าสู่วัย pre-teen เป็นวัยที่ต้องการพื้นที่ เริ่มเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าการเคารพตัวเอง สามารถตัดสินใจได้เองในบางบริบท​ เราก็จะให้สิ่งนั้นกับเขา​ และจะอยู่ในทุกๆ present moment ร่วมกัน” 

ปลูกบ้านในหัวใจ

“คำว่า ‘บ้าน’ เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความหมายในเชิงกายภาพสักเท่าไหร่ แต่เป็นสิ่งที่มีความหมายในเชิงจิตใจ ให้ความรู้สึกถึงความมั่นคง ปลอดภัย บ้านที่ดีคือสถานที่ที่ทำให้คนอยู่รู้สึกสุขสันติ เป็นพื้นที่ที่สามารถชาร์จพลังให้เรามีเรี่ยวมีแรงที่จะออกไปเผชิญโลกข้างนอกหรือโอบกอดเราในวันที่ใจเราแตกสลาย คุณจะสามารถกอบกู้ตัวเองขึ้นมาใหม่ได้จากบ้าน แต่บ้านในหลายครั้งเป็นเรื่องที่เราเลือกไม่ได้ เราเลือกครอบครัวหรือพ่อแม่ไม่ได้ ซึ่งบ้านที่แอมให้ความสำคัญคือ ‘บ้านในใจ’ ทุกคนสามารถเป็นบ้านให้กับตัวเองได้นะ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเหมือนกัน เพราะทุกคนมีเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน เพียงแต่อยากจะยืนยันว่าบ้านไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ได้เป็นสิ่งปลูกสร้าง แต่คือพื้นที่ที่เราสามารถสร้างให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง ดังนั้น หากเราสามารถสร้างบ้านหลังนี้ในใจเราได้ ต่อให้คุณไม่เคยมีครอบครัว อยู่คนเดียว หรือต้องผ่านประสบการณ์อะไรก็ตามมา เราจะมีบ้านที่สุขสันติได้ในชีวิตนี้และเป็นบ้านของเราอย่างแท้จริง”

ทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา

“มนุษย์ส่วนใหญ่น่าจะมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือ ลึกๆ แล้วเราต้องการค้นหาความหมายในชีวิตว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร มันมีความหมายมากกว่าการทำงานแล้วได้เงินเท่าไหร่หรือว่าเราจะมีชื่อเสียงไหม สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีผลในเชิงจิตใจ เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นคุณค่าที่ตอบสิ่งซึ่งเป็นแก่นแท้ของตัวเรา สำหรับแอม คุณค่านั้นจะเกิดขึ้นได้จากการมีชีวิตที่อยู่อย่างเกื้อกูล คำว่า ‘เกื้อกูล’ คือการเกื้อกูลตัวเอง ผู้อื่น สังคม และโลก ซึ่งสามารถเริ่มได้จากตัวเราและพื้นที่ของเรานี่แหละ อย่างเช่น การสร้างพื้นที่ว่างหน้าบ้านของตัวเองให้เป็นแหล่งอาหารให้กับคนไม่มี เช่น ฉันมีชะอม เธอมีผักไชยา ถ้าเรานำมาปักกิ่งไว้หน้าบ้าน พอพืชผักเติบโต นอกจากเราจะเก็บมาทานได้แล้ว คนไม่มีบ้านอยู่หรือเข้าถึงแหล่งอาหารลำบากก็สามารถเก็บไปปรุงเป็นอาหารได้ด้วย เรื่องการเกื้อกูลมันง่ายขนาดนั้นเลยนะ แอมรู้สึกว่าโลกอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรยิ่งใหญ่จากเรา แต่อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่มีความหมาย 

“เพราะฉะนั้น ลองเริ่มจากตัวเรา ครอบครัวเรา ทำหน้าที่ของเราให้ดีก่อนเป็นลำดับแรก เมื่อชีวิตคุณดีในบ้านของตัวเองได้แล้ว ลองนึกดูสิว่าถ้าทุกบ้านสามารถทำไปพร้อมกันได้ สิ่งดีๆ จากหน่วยเล็กๆ จะค่อยๆ ขยายไปสู่หน่วยที่ใหญ่ขึ้น จากบ้านไปเป็นหมู่บ้าน ชุมชน จังหวัด และประเทศในที่สุด แอมเชื่อว่านี่คือหนทางที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้น และจะเป็นการเปลี่ยนโลกและสังคมเราได้อย่างยั่งยืนด้วย”


ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่: สวนโมกข์กรุงเทพ

บทความที่เกี่ยวข้อง