Telemedicine: ไกลแค่ไหนก็ใกล้หมอได้

Care / Social Care

โทรเวชกรรม หรือ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) หมายถึง การให้บริการทางการแพทย์ในระยะไกลโดยที่ผู้ป่วยและแพทย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน เดิมทีนั้นเทเลเมดิซีนเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ลำบาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เรามีทั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยหลายอย่าง ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดใหญ่จากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เทเลเมดิซีนกลับมาได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงเวลานี้ เพราะตอบโจทย์ในเรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างกันและลดความแออัด

โดยทั่วไปแล้วเทเลเมดิซีนแบ่งออกกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ซิงโครนัส (synchronous) คือการบริการทางแพทย์แบบเรียลไทม์ แพทย์และผู้ป่วยมีการโต้ตอบกันแบบทันทีทันใด ผ่านทางวิดีโอคอลโดยใช้อุปกรณ์สื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือคอมพิวเตอร์

2. อะซิงโครนัส (asynchronous) คือการบริการทางการแพทย์ที่ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องสนทนาโต้ตอบกันแบบเรียลไทม์ ไม่จำเป็นต้องมีเวลาว่างตรงกัน เปรียบเหมือนการส่งอีเมล์ที่ผู้ส่งรู้ว่าผู้รับนั้นอาจจะไม่ได้ตอบกลับมาในทันทีทันใด แต่จะตอบกลับในเวลาที่ว่าง นอกจากการส่งข้อความสนทนากันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์แล้ว ยังรวมถึงการส่งข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาด้วย เช่น ผลตรวจจากห้องแล็บ รูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลเวชระเบียนต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึง Chatbot ที่ช่วยประเมินอาการเบื้องต้นได้ผ่านข้อมูลที่ป้อนไว้ในระบบ 

ข้อดีของ Telemedicine

  1. สะดวกสำหรับผู้ป่วย อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าจุดเริ่มต้นของเทเลเมดิซีน คือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เดินทางลำบาก (ทั้งในแง่ของระยะทางและค่าเดินทาง) แต่นอกเหนือจากนั้นเทเลเมดิซีนยังเหมาะกับผู้ป่วยที่งานยุ่ง ไม่มีเวลาไปหาหมอ ไม่สามารถไปนั่งรอคิวที่สถานพยาบาลได้เป็นเวลานานๆ รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก และเด็กเล็กที่การไปหาหมอแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน การหาหมอแบบเทเลเมดิซีนช่วยลดขั้นตอนยุ่งยากไปได้มากมาย
  2. สะดวกสำหรับคุณหมอ เป็นที่รู้กันดีว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่งานยุ่งมากถึงมากที่สุด ไม่ค่อยมีเวลาว่าง คนไข้รอคิวเยอะ และบางคนอาจต้องเดินทางไปตรวจรักษาในหลายสถานที่ ดังนั้น การบริการเทเลเมดิซีนจึงอาจช่วยให้คุณหมอสามารถตรวจคนไข้ได้มากขึ้นบ้าง (ไม่มากก็น้อย) ภายในเวลาเท่าเดิม เพราะสามารถเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง 
  3. เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หลายคนไม่มาพบแพทย์ตามนัด เพราะเดินทางลำบากบ้าง ขี้เกียจเดินทางบ้าง หรือเพราะไม่อยากไปรอคิวนานๆ และเผชิญความแออัดในสถานพยาบาล แต่การพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนช่วยตัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ ทำให้การพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น เกิดความต่อเนื่องในการรักษา เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น ในบางกรณีการที่แพทย์ได้เห็นผู้ป่วยในสภาพแวดล้อมที่บ้านก็อาจช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการรักษาได้แม่นยำขึ้นอีกด้วย

อาการป่วยแบบไหนใช้ Telemedicine ได้

สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอก็คือ แม้เทเลเมดิซีนจะมีข้อดีหลายข้อ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการพบหมอแบบปกติได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ใช่ทุกโรคที่จะสามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาผ่านหน้าจอที่มีแค่ภาพและเสียงได้ 

เทเลเมดิซีนเหมาะสำหรับ “เป็นทางเลือก” ในการคัดกรองวินิจฉัยเบื้องต้น และการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง แบบที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือการตรวจของแพทย์ร่วมด้วย เน้นการซักถามประวัติ สอบถามอาการ และสังเกตจากภาพเป็นหลัก เหมาะกับผู้ป่วยที่แพทย์ต้องการติดตามอาการอยู่เป็นระยะ (follow up) และผู้ป่วยที่ต้องมีการปรับลดยาตามอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

การพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนอาจจะเริ่มและจบลงในการพบแพทย์ครั้งนั้นได้เลย หรืออาจเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่การนัดหมายเพื่อพบแพทย์แบบเจอตัวกันในภายหลังก็ได้ บ่อยครั้งอาการป่วยที่ดูเหมือนจะไม่รุนแรง แต่แพทย์อาจมีความเห็นว่าเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป 

โดยทั่วไปการพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนนั้น ผู้ป่วยสามารถอยู่ที่บ้านได้ แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องมาทำการตรวจด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลร่วมด้วย เช่น การตรวจเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ ตรวจเลือด หรือวัดความดัน เป็นต้น เพื่อจะได้นำผลตรวจที่ได้นี้ไปใช้ในการพบแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เตรียมตัวอย่างไรก่อนพบหมอผ่าน Telemedicine

  • เตรียมนัดหมายให้พร้อม
    สถานพยาบาลแต่ละแห่งมีระบบการนัดหมาย และระเบียบวิธีการใช้เทเลเมดิซีนที่แตกต่างกันไป (ภายใต้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข) เมื่อเลือกสถานพยาบาลที่เราต้องการพบแพทย์ได้แล้ว ควรศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดของสถานพยาบาลนั้นๆ ว่ามีขั้นตอนการนัดหมายและวิธีการพบแพทย์อย่างไร โดยส่วนใหญ่แล้วข้อมูลเกี่ยวกับเทเลเมดิซีนจะอยู่ในเว็บไซต์ของโรงพยาบาล และสำหรับคนที่มีประกันภัยด้านสุขภาพ อย่าลืมเช็คข้อมูลกับบริษัทประกันเพื่อตรวจสอบสิทธิ์และความคุ้มครองก่อนด้วย
  • เตรียมใช้เทคโนโลยีให้คล่อง
    ก่อนจะใช้บริการเทเลเมดิซีน เราต้องมีความรู้พื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีอยู่บ้าง ไม่จำเป็นต้องเก่งกาจระดับโปรก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องรู้จักแอปพลิเคชันและอุปกรณ์ที่เราจะใช้งาน เคล็ดลับการใช้เทคโนโลยีให้คล่องคือการทดลองใช้ให้เกิดความคุ้นเคย เช่น โหลดแอปมาลองใช้ หรือลองวิดีโอคอลหาเพื่อน เพื่อทดสอบสัญญาณภาพและเสียงของเรา ถ้ามีข้อผิดพลาดจะได้เตรียมแก้ปัญหาไว้ก่อน
  • เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม 
    เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ชาร์จแบตให้พร้อม (เตรียมอุปกรณ์ชาร์จไว้ใกล้ๆ มือด้วย) และควรเตรียมแผนสำรองเผื่อไว้ในกรณีที่เครื่องที่ใช้งานอยู่เป็นประจำมีปัญหา จะได้สลับมาใช้งานอีกเครื่องได้ทันที ที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งคือ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณอยู่ในจุดที่สัญญาณแรงที่สุด (และอย่าลืมจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตและค่าโทรศัพท์ก่อนด้วยนะ!)
  • เตรียมข้อมูลให้พร้อม
    เตรียมข้อมูลที่จำเป็นให้พร้อม เช่น บันทึกสุขภาพ ข้อมูลอาการเจ็บป่วย ผลตรวจจากห้องแล็บ (ถ้ามี) น้ำหนัก-ส่วนสูง รายละเอียดของยาที่ใช้อยู่ หรือคำถามที่ต้องการถามแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรเตรียมเหมือนเวลาไปหาหมอแบบปกตินั่นเอง แต่อย่าลืมว่าการพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนเป็นการตรวจวินิจฉัยโดยการสอบถามข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ยิ่งเราเตรียมข้อมูลให้พร้อมมากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณหมอจะวินิจฉัยได้แม่นยำก็ยิ่งมีมากขึ้น 

Telemedicine ในประเทศไทย

ทุกวันนี้ บริการสาธารณสุขระบบทางไกลหรือเทเลเมดิซีนในประเทศไทยถูกเร่งให้ตื่นตัวขึ้นเพราะสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แม้ว่าเรายังอยู่ในช่วงทดลองและพัฒนาระบบอยู่ แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นความสนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล หรือบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ 

ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เพิ่มการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับการหาหมอแบบเทเลเมดิซีนสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง เพื่อเว้นระยะห่างและลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยเก่าที่เป็นโรคเรื้อรัง มีอาการคงที่ ไม่รุนแรง โดยมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในระยะเริ่มต้นจำนวน 15 แห่ง ได้แก่ 

  • โรงพยาบาลศิริราช 
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี 
  • โรงพยาบาลราชวิถี 
  • โรงพยาบาลประสาทวิทยา 
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 
  • โรงพยาบาลกลาง 
  • โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 
  • โรงพยาบาลตากสิน 
  • โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ 
  • โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 
  • โรงพยาบาลสิรินธร 
  • โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 
  • โรงพยาบาลลาดกระบัง 
  • โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง 
  • โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย Home Isolation กลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นขึ้นมาในตอนนี้ เพื่อลดปริมาณผู้ป่วยไม่ให้ไปแออัดกันที่โรงพยาบาล โดยแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย สามารถแยกไปกักตัวเองที่บ้านได้ ผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรับอาหาร ยา เวชภัณฑ์ และการดูแลรักษาผ่านเทเลเมดิซีน ซึ่งมีการระดมทีมแพทย์และพยาบาลจิตอาสาจากทุกภาคส่วนมาช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อให้เข้าถึงการดูแลจากแพทย์โดยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล รวมทั้งได้รับการสั่งยาพื้นฐานที่จำเป็น

– 

แหล่งข้อมูล: 
www.medscape.com
www.health.com
www.matichon.co.th 
www.redcross.or.th/www.nhso.go.th

บทความที่เกี่ยวข้อง