รู้หรือไม่? การขาดวิตามิน B12 ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

Health / Others

มีวิตามินอยู่หลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องรับวิตามินจากอาหาร อาหารเสริม หรือการฉีดวิตามิน อย่างเช่น วิตามิน B12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เสริมสร้างกระบวนการทำงานของเซลล์ การทำงานของระบบประสาท และสร้างสารพันธุกรรม (DNA) เป็นต้น 

วิตามิน B12 พบมากในเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ตับ ผลิตภัณฑ์จากนม และแทบไม่พบเลยในพืช ยกเว้นสาหร่ายทะเล แต่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามิน B12 จากพืชได้ดีเท่าจากเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้ที่กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดหรือวีแกน (Vegan) ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B12 นอกจากนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B12 ยังรวมถึง ผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยลง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในลำไส้ กระเพาะอาหาร และตับอ่อน ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และผู้ที่กินยาที่มีผลข้างเคียงไปลดการดูดซึมวิตามิน B12 ของร่างกาย เช่น ยารักษาโรคเบาหวานชนิดเมทฟอร์มิน (Metformin) และยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารกลุ่ม Histamine-2 blockers หรือ Proton Pump Inhibitors

อาการของผู้ที่ขาดวิตามิน B12 

หากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น ลองสังเกตอาการเหล่านี้ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามิน B12

เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ภาวะซีด โลหิตจาง

เมื่อขาดวิตามิน B12 ร่างกายจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ลดลง รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ร่างกายผลิตขึ้นจะมีขนาดใหญ่และรูปทรงวงรี (ในขณะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงจะเป็นทรงกลมและมีขนาดเล็ก) เมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่และรูปทรงผิดปกติ จะไม่สามารถเคลื่อนจากไขกระดูกเข้าไปยังกระแสเลือดในอัตราที่เหมาะสมได้ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามิน B12 (Megaloblastic Anemia) ซึ่งเมื่อเกิดภาวะโลหิตจาง ร่างกายก็จะไม่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงเพียงพอเพื่อนำออกซิเจนไปยังอวัยวะสำคัญต่างๆ ทำให้ผู้ที่ขาดวิตามิน B12 เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

มีอาการของโรคหลอดเลือดและหัวใจ

ในกระแสเลือดของเราจะมีสารชนิดหนึ่งเรียกว่าโฮโมซิสทีน (Homocysteine) หรือสารที่เกิดจากการย่อยสลายกรดอะมิโน สารโฮโมซิสทีนไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซ้ำยังเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด หากอยู่ในระดับที่มากเกินไป อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วร่างกายจะมีสารโฮโมซิสทีนอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งกระบวนการในร่างกายจะพยายามเปลี่ยนสารโฮโมซิสทีนให้เป็นสารซิสทีนแทน แต่เมื่อร่างกายขาดวิตามิน B12 สารโฮโมซิสทีนจะสูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดตีบและอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง

มีปัญหาในการมองเห็น สูญเสียการมองเห็น

สารโฮโมซิสทีนในกระแสเลือดที่สูงเกินกว่าปกติยังอาจส่งผลถึงการมองเห็นอีกด้วย โดยเฉพาะโรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ

สุขภาพจิตอ่อนแอ มีภาวะซึมเศร้า

วิตามิน B12 มีส่วนสำคัญในการสร้างสารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารเคมีในร่างกายที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ช่วยให้อารมณ์ดี มีสมาธิ คิดและตัดสินใจได้ดี แต่หากร่างกายมีสารเซโรโทนินไม่สมดุล อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิต รวมถึงภาวะซึมเศร้า

หลงลืม ความจำถดถอย

วิตามิน B12 จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยของสมอง โดยเฉพาะสมองในส่วนที่เกี่ยวกับความทรงจำถดถอยและความจำเสื่อม แต่หากขาดวิตามิน B12 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านความทรงจำมากขึ้น

เมื่อวิตามิน B12 มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญมากมายขนาดนี้ เราจึงควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน B12 ให้เพียงพอ หรือสำหรับคนที่กินมังสวิรัติ มีความผิดปกติทางร่างกาย หรือกินยาที่ลดการดูดซึมวิตามิน B12 ก็ควรกินหรือฉีดวิตามิน B12 เสริมให้กับร่างกาย ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับตัวคุณ

ที่มา:
healthline.com
webmd.com
si.mahidol.ac.th
pobpad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง