7 เมืองอัจฉริยะติดอันดับโลก ส่องเมืองเขา ส่งเสริมไทยเราให้ก้าวไกล

Care / Social Care

‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart City คือคำที่ใช้เรียกเมืองที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการเมืองนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพลเมืองให้ดีขึ้น สะดวกขึ้น ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ รวมถึงประเทศไทยของเราก็มีแผนนโยบายด้านเมืองอัจฉริยะด้วยเช่นกัน

นิยามของคำว่าเมืองอัจฉริยะนั้นมีความหลากหลาย ไม่มีความหมายตายตัว แต่เป้าหมายที่ทุกเมืองมีตรงกันก็คือ การทำให้ประชาชนในเมืองมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนนั่นเอง 

และนี่ก็คือ 7 ประเทศที่ติดอันดับเมืองอัจฉริยะระดับโลกในปี 2020 ที่ผ่านมา

ลอนดอน

ลอนดอนเป็นเมืองที่มีชาวสตาร์ทอัพและโปรแกรมเมอร์มากที่สุดในโลก เพราะเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีรอบด้าน เช่น โครงการ Civic Innovation Challenge เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพให้คิดค้นนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของเมือง หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ลอนดอนนำมาใช้คือ นโยบายการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานเอกชน องค์กรการศึกษา หรือคนทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถเกิดความสนใจและเข้ามาร่วมงานกับภาครัฐได้อย่างสะดวกที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Connected London เชื่อมต่อสัญญาณ 5G ทั่วทั้งเมือง ทุกคนสามารถเข้าถึง Wi-Fi ในอาคารสาธารณะ หรือแม้กระทั่งตามท้องถนน และเสาไฟของลอนดอนยังได้รับการติดตั้งชุดเซ็นเซอร์และจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และมีเครือข่ายระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว โดยมีสวนสาธารณะในเมืองมากกว่า 3 พันแห่งเลยทีเดียว

นิวยอร์ก

นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีมูลค่าการลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพมากถึง 70 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี มีโคเวิร์กกิ้งสเปซมากกว่า 100 แห่ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” เช่น การออกกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการปล่อยมลพิษในอาคาร รวมทั้งมีการกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ทำให้มีบริษัทสตาร์ทอัพมากมายให้ความสนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมออกมา

ล่าสุดเมืองนิวยอร์กเปิดตัวโครงการนำร่องที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์อัจฉริยะนับร้อย และเครือข่ายไร้สาย LPWN ไว้ทั่วย่านธุรกิจต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาใช้จัดการระบบเก็บขยะ หรือการติดตั้งตู้ชาร์จออนไลน์ไว้ทั่วเมือง (แทนที่ตู้โทรศัพท์แบบเดิม) เพื่อช่วยให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตราบรื่นไม่ขาดตอน ส่วนกรมตำรวจก็มีการทดสอบใช้ซอฟท์แวร์ที่ดึงข้อมูลประวัติอาชญากรรม ร่วมกับการสร้างแบบจำลองภูมิประเทศ และข้อมูลอื่นๆ มาประมวลผลเพื่อคาดการณ์และตอบสนองต่อคดีอาชญากรรมต่างๆ 

ปารีส

เมืองแห่งแฟชั่นและแสงไฟที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ มีการใช้เทคโนโลยีมาดูแลระบบระบายน้ำเสีย โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รถไฟใต้ดิน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ และมีโครงการสถาปัตยกรรม Paris Smart City 2050 ที่ตั้งเป้าหมายสร้างอาคารที่ยืนหยัดทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

ปารีสใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีเซ็นเซอร์มาช่วยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นให้ประชาชนลดการผลิตของเสีย ซึ่งผลที่ได้ก็ช่วยให้ประหยัดการใช้พลังงานของเมืองได้อย่างมาก 

โตเกียว

โตเกียวเป็นเมืองในภูมิภาคเอเชียที่มักจะติดอันดับท็อปเท็นเมืองอัจฉริยะระดับโลก มีความโดดเด่นในเรื่องความร่วมมือกันของคนในชุมชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพลเมืองผู้สูงวัย ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดตัวนโยบาย Society 5.0 ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การให้คุณค่ากับทรัพยากรมนุษย์ และการเปลี่ยนไปสู่สังคมของคนรุ่นใหม่ สร้างความมั่นใจว่าพลเมืองทุกช่วงวัยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 

โซล

กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มีนโยบายเรื่อง Smart Technology มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจของโครงการเมืองอัจฉริยะทุกโครงการของโซลเลยก็ว่าได้ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลของเมืองด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจราจร การใช้ความเร็ว หรือคุณภาพอากาศ โดยสำรวจและวัดค่าด้วยระบบเซ็นเซอร์และกล้อง CCTV ที่ถูกติดตั้งไว้ทั่วเมือง นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับพลเมืองผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว จะมีระบบตรวจจับความผิดปกติ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การเปิดปิดไฟ หรือถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ระบบจะส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลอย่างรวดเร็ว ด้านอาชญากรรมก็มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจหารูปแบบของอาชญากรรมด้วย ปัจจุบันโซลถือเป็นเมืองผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยี 5G ในการเดินทางและคมนาคมอีกด้วย

อัมสเตอร์ดัม

เมืองอัมสเตอร์ดัมริเริ่มนโยบายเมืองอัจฉริยะมาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว มีการดำเนินโครงการไปมากกว่า 170 โครงการทั่วเมือง ตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนกับรถเก็บขยะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ที่ป้ายรถเมล์ ป้ายบิลบอร์ด และเสาไฟฟ้าต่างๆ หรือการสร้างหมู่บ้านลอยน้ำเพื่อรับมือกับปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรที่หนาแน่น อาคารบ้านเรือนและธุรกิจห้างร้านนับพันทั่วทั้งเมืองต่างก็ปรับมาใช้ฉนวนหลังคาประหยัดพลังงาน ระบบเปิดปิดและหรี่ไฟแบบอัตโนมัติ มาตรวัดพลังงานอัตโนมัติ และไฟ LED ประหยัดพลังงานกันเป็นเรื่องปกติ ผู้คนส่วนมากใช้จักรยานเพื่อเดินทาง ในขณะเดียวกันก็มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย มีระบบ Car-sharing เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน และมีรถบัสขับเคลื่อนอัตโนมัติรับส่งระหว่างสถานีรถไฟใต้ดินและที่จอดรถ

สิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นเมืองขนาดเล็กที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี จนไม่น่าแปลกใจที่มักจะติดอันดับเมืองอัจฉริยะเป็นประจำ โดยมีการริเริ่มโครงการเมืองอัจฉริยะ Smart Nation มาตั้งแต่ปี 2014 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เทคโนโลยีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ก็มีระบบสุขภาพแบบดิจิทัลเข้ามารับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอลร่วมกับการใส่อุปกรณ์ IoT เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นและตรวจวินิจฉัยคนไข้ได้ ล่าสุดสิงคโปร์ได้ประกาศแผนของปี 2021 ที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาในแถบตะวันตกของสิงคโปร์ โดยมุ่งเน้นความเป็นเมือง eco-smart คือทั้งอัจฉริยะและในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยจะเป็นเมืองที่ไร้ยานยนต์ สร้างถนนและพื้นที่ปลอดภัยให้คนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน 

และนี่ก็คือตัวอย่าง 7 เมืองอัจฉริยะที่โดดเด่นระดับโลก จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ประชาชนพลเมืองมีความสะดวกสบาย ปลอดภัย ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายแล้ว การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทนก็เป็นสิ่งที่เมืองเหล่านี้ให้ความสนใจไม่แพ้กัน 

ส่วนประเทศไทยของเรานั้น แม้จะไม่ได้ไต่อันดับไปถึงระดับโลก แต่ไทยก็เริ่มนำร่อง 5 เมือง Smart City ไปแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย ภูเก็ต, ขอนแก่น, แม่เมาะ จ.ลำปาง, สามย่าน กรุงเทพฯ และวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยมุ่งสร้างเมืองเดิมให้หน้าอยู่ สร้างเมืองใหม่ให้ทันสมัย ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการบริการและบริหารจัดการเมืองอย่างเป็นระบบ จากความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน มุ่งเน้นให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน 

แหล่งข้อมูล:
earth.org
www.disruptive-technologies.com
www.asme.org
www.matichon.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง