How-to เทคแคร์ ‘ผู้ดูแล’ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์

Brain / Health

ด้วย ‘อัลไซเมอร์’ หรือโรคที่เกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมองทำให้ผู้ป่วยมีความถดถอยในกระบวนการทางความคิด ความจำ การเรียนรู้ และการรับรู้ เกิดการหลงลืมที่ไม่ใช่เพียงวัน เวลา หรือสถานที่ แต่ลืมแม้กระทั่งครอบครัวหรือผู้ดูแล ไปจนถึงการลืมวิธีการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมและถูกวิธี

โรคดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลงเรื่อยๆ แล้ว ยังส่งผลให้ผู้ดูแลที่ทำหน้าที่นี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน เกิดความอ่อนล้าทั้งทางกายและใจ เกิดความเครียดสะสม และความวิตกกังวล บทความนี้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของ ‘ผู้ดูแล’ (Caregiver) กลุ่มคนสำคัญที่มักถูกลืมและละเลย เพื่อร่วมหาทางออกให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและมีความสุขร่วมกัน

การเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นอกจากจะต้องมีความรับผิดชอบ มีความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาการของโรคที่จะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยแล้ว ด้วยโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตผู้ดูแล ทำให้ผู้บริบาลจำเป็นต้องปรับตัวในหลายๆ ด้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด โดยจะแสดงออกมาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดศรีษะ หรือในบางรายอาจเกิดอาการหดหู่ เบื่อหน่าย และท้อแท้ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้มักเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของโรค ส่งผลให้ผู้ดูแลต้องเผชิญกับความเครียดจากการปรับตัวมากขึ้นตามไปด้วย 

แล้วเราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร? 

แน่นอนว่า การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงชีวิตของคนเรา เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย สิ่งแวดล้อม หรือบทบาทที่แตกต่างไป ในบริบทนี้ เมื่อเราต้องเปลี่ยนแปลงมาสู่การเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ต้องเผชิญกับสิ่งไม่คาดคิด หรืออยู่นอกเหนือการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เราสามารถป้องกันและจัดการความเครียดได้หลายวิธีด้วยกัน 

1. การยอมรับ เข้าใจ และปล่อยวาง 

เนื่องจากอาการของโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียความทรงจำ แต่คือความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ความสามารถในการสื่อสาร และในบางรายอาจมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งเป็นพัฒนาการของโรคเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ ดังนั้น การจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ประการแรก คือการโอบรับความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยสติและยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในชีวิตมนุษย์ 

แต่การจะยอมรับและปล่อยวางได้นั้น ต้องเริ่มจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจในตัวโรคของผู้ดูแลเสียก่อน เช่น การหาความรู้เกี่ยวกับตัวโรคเพื่อเข้าใจถึงสาเหตุ พัฒนาการของโรค ตลอดจนผลกระทบจากโรคที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เมื่อใดที่มีความเข้าใจต่อโรคและได้รับข้อมูลการดูแลที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว นอกจากจะช่วยให้การบริบาลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดความเครียดและสามารถรับมือกับสถานการณ์ในแต่ละวันได้ดีขึ้นด้วย และสุดท้าย คือการมีความรัก ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องเผชิญและแสดงออกมา เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากตัวโรค ไม่ใช่จากตัวผู้ป่วยเอง 

2. การวางแผนการดูแลผู้ป่วยล่วงหน้า 

เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ครอบครัวหรือผู้ดูแลสามารถจัดการวิกฤตเหล่านั้นได้ด้วยการวางแผนการดูแลร่วมกับแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องเมื่ออยู่ที่บ้าน รวมถึงมีการวางแผนการดูแลที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องการเงิน การปรับปรุงพื้นที่อาศัยให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต การอำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแลเอง ไปจนถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อผู้ป่วย

3. การดูแลตัวเองของผู้ดูแล

3.1 การไม่รับภาระหนักเพียงคนเดียว 

นอกจากสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลเองก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลเช่นกัน สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลจะต้องคำนึงถึงความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยของตัวเองด้วย เช่น มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างเหมาะสม และไม่ควรมอบหมายหน้าที่ให้ใครคนใดคนหนึ่งดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาโดยไม่มีการหยุดพัก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ดูแลได้

3.2 การขอความช่วยเหลือ 

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ดูแลรู้สึกไม่ไหว และไม่สามารถผลัดเวรกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นได้ หรือท่านเป็นสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวโดยไม่มีสมาชิกคนอื่นสามารถมาผลัดเวรกันดูแลได้ การเรียกใช้บริการภายนอก เช่น บริการทำความสะอาด บริการการดูแลผู้ป่วยแบบรายวัน หรือการจ้างพยาบาลวิชาชีพ จะช่วยลดภาระ ตลอดจนความเครียดให้เบาลงได้มาก

3.3 การมีเวลาดูแลตัวเองและได้ผ่อนคลาย

การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความเครียดได้ การเอาใจใส่ตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ดูแล โดยสามารถเริ่มต้นได้จากการกินอาหารที่ดี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอและมีคุณภาพ รวมถึงด้านจิตใจ เช่น การได้ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมที่ชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ดูแลมีกำลังกายและกำลังใจในการทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 

เมื่อเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ ตั้งแต่หลงลืมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงผู้ป่วยในระยะท้ายที่สื่อสารและช่วยเหลือตัวเองทำได้น้อยลง การสื่อสารกับผู้ป่วยอาจต้องใช้วิธีที่ยืดหยุ่น นุ่มนวล และมีเมตตาต่อผู้ป่วยอยู่เสมอ เช่น 

– การพูดช้า ชัดเจน ใช้คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ กระชับ และตรงไปตรงมา 

– การสื่อสารด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ไม่ตะโกนหรือพูดเสียงดัง โดยอาจใช้ภาษากายร่วมด้วยกับการพูด เช่น การยิ้ม สบตา การสัมผัส ไปจนถึงการใช้สิ่งของประกอบการพูดเพื่อให้เข้าใจในเรื่องที่พูดง่ายขึ้น เช่น ภาพถ่าย เป็นต้น 

– การเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผู้ป่วยคุ้นเคย เช่น เรื่องราวของชีวิต ครอบครัว เพื่อน สถานที่ที่ผู้ป่วยเคยไป หรือเรื่องงานที่ผู้ป่วยเคยทำ เป็นเรื่องราวซึ่งเป็นความทรงจำที่ดีและมีความสุขในอดีต 

– ไม่ซักไซ้หรือถามคำถามที่รู้อยู่แล้วว่าผู้ป่วยตอบไม่ได้ เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวล เครียด และอาจกล่าวโทษตัวเองว่าเป็นคนที่บกพร่องและเป็นภาระของผู้ดูแล

– ไม่วิจารณ์ ต่อว่า โต้เถียง หรือใช้น้ำเสียงที่รุนแรงกับผู้ป่วยต่อหน้าผู้อื่น โดยเฉพาะเวลาที่ผู้ป่วยจำอะไรไม่ได้  เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความอับอาย อีกทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการทำโทษผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผิดซึ่งสามารถนำไปสู่อาการทางจิตได้

เราเชื่อว่ามนุษย์สามารถสร้างความผูกพันใหม่ได้เสมอ แม้ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่หลงลืม ไม่สามารถจำคนในครอบครัวได้เองก็ตามที่ยังสามารถเริ่มต้นสร้างความผูกพันใหม่ได้ ดังนั้น การใช้เวลาร่วมกัน พูดคุย การทำกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าเขาเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ในสถานะใดในครอบครัว อาศัยอยู่ที่ใด และผู้ดูแลคือใคร จะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างสัมพันธภาพและความผูกพันได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้แล้ว อาจจะเลือกกิจกรรมที่ผู้ป่วยชอบทำและสามารถทำได้บ่อยครั้ง ยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกฝนความคิด เพิ่มความจำ ได้ออกกำลังกายไปในตัว รวมถึงสามารถทำร่วมกับคนอื่นได้ จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้สุขภาพผู้ป่วยดีขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมระลึกถึงความทรงจำดีๆ ในอดีต หรือ Reminiscence Therapy อย่างการพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตในช่วงวัยต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีความสุข โดยอาจใช้รูปถ่าย วิดีโอ หรือ สิ่งของที่เป็นตัวแทนของช่วงเวลานั้นๆ มาเป็นตัวช่วยในการทบทวนความทรงจำในอดีต โดยกิจกรรมนี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถตระหนักถึงอัตลักษณ์และคุณค่าของตัวเอง และอาจช่วยกระตุ้นความจำได้อีกด้วย

สุดท้ายคือการแสดงออกถึงความรัก การใช้เวลาร่วมกัน การพูดคุย ช่วยเหลือ ดูแล และใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ การสัมผัส โอบกอด ปลอบประโลม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยชะลอพัฒนาการของโรค และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วยได้อีกด้วย

อ้างอิง:
พญ. กนกวรรณ โมสิกานนท์ 
จิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จ

บทความที่เกี่ยวข้อง