มีคนเคยนิยามคุณสมบัติของ ‘นวัตกร’ ว่าต้องเป็นคนที่ ‘กล้า’ ทั้งกล้าคิดนอกกรอบ กล้าเสี่ยง กล้าริเริ่ม กล้าเปิดใจ กล้าเรียนรู้ ที่สำคัญคือกล้าลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าถูกต้อง สามารถนำความเปลี่ยนแปลงในทางบวกมาสู่กลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จพร้อมใช้งาน แต่เราขอเติมเข้าไปอีกสองสามข้อหลังจากได้คุยกับ เล้ง-สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้ง DO IN THAI องค์กรวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมเมดอินไทยแลนด์ตามชื่อว่า ‘นวัตกร’ ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนกับทุกความขรุขระและยึดมั่นกับปลายทางได้อย่างดีเยี่ยม รวมทั้งต้องมีความพร้อมที่จะปะทะกับทุกความล้มเหลวและยืดหยัดที่จะลุกขึ้นสู้ต่อ เพราะงานที่ต้องลงมือ ลงแรง ลงใจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต ไปจนถึงสังคมโดยรวมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นนั้นไม่ใช่งานง่าย นี่คือเรื่องราวของนวัตกรผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ใจนำทางกับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แถมหนามระหว่างทางก็แหลมคมจนทำให้เขาบาดเจ็บอยู่หลายครั้งหลายครา แต่อย่างที่บอก เพราะเขาอึด ถึก อดทน พร้อมมีใจอาสาแบบเต็มร้อย ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ขอเชิญมาทำความรู้จักและรับพลังงานดีๆ จากผู้ชายคนนี้ได้เลย
ก่อนจะเป็นนวัตกร
ในชีวิตการเรียน แม้เล้งจะอยู่ในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงโท ที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่เขายอมรับว่าตัวตนของเขานั้นไปในทางปรัชญามนุษย์และสังคมมากกว่าเทคโนโลยี เขาจึงเลือกเรียนต่อปริญญาเอกที่ University of Cape Town ด้าน Social Innovation and Entrepreneurship
“ผมเลือกเรียน Social Innovation and Entrepreneurship ตอนปริญญาเอกซึ่งเป็นสาขาที่คนเรียนน้อยมาก เพราะเป็นสาขาที่เอามนุษย์กับคอมพิวเตอร์มาหาจุดตรงกลางระหว่างกันว่ามนุษย์จะพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้ดีขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีได้อย่างไร ฉะนั้นตัวตนและความสนใจของผมจึงมาทางมนุษย์และสังคมเสียมากกว่า”
ระหว่างที่กำลังเรียนปริญญาโทและเอก เขามีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศ ตั้งแต่การเข้าร่วมโปรเจ็กต์ชื่อ Loon (www.loon.com) ที่แอฟริกาใต้ซึ่งดำเนินการภายใต้ Google X ในเวลานั้น ที่นั่นเล้งได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องการแบ่งปันอาหารใหักับเด็กๆ ชาวเคนย่า โดยการทำงานของแอปฯ ที่ว่านี้จะต้องมีจิตอาสาที่รายงานเข้ามาว่าเด็กในหมู่บ้านไหนต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นจิตอาสาจึงใช้ยานพาหนะของตัวเองไปรับอาหารเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ หลังจากที่เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำไปใช้งาน มันได้ช่วยให้ชาวบ้านสามารถแบ่งปันอาหารจากร้านค้าในเมืองให้กับเด็กๆ ที่อยู่ตามชายขอบของตัวเมือง และสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือแอปพลิเคชันนี้ถูกใช้งานเพียงแค่ 2 ปี แต่จนถึงวันนี้ซึ่งผ่านมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ระบบความช่วยเหลือยังคงดำเนินต่อ โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีนี้แล้ว เพราะซอฟท์แวร์ได้เกิดขึ้นในหัวใจคนที่นั่นเรียบร้อยแล้ว
“ผมได้เรียนรู้อย่างมากในเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ได้แข่งเพื่อเอาชนะกันเหมือนวัฒนธรรมบ้านเราที่ต้องเก่ง ดี หรือสมบูรณ์แบบที่สุดถึงจะเป็นคนที่ได้รับความชื่นชมและมีเกียรติ เพราะเขามองว่าการเติบโตที่ดีที่สุดของมนุษย์ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว เรียกว่าเป็นการแข่งกันล้มเหลวแบบนั้นเลย และเหตุการณ์หลังจากที่แอปพลิเคชันที่ผมร่วมพัฒนาถูกนำไปใช้ที่นั่นได้เปลี่ยนความคิดของผมในแง่ที่ว่า ‘ไม่มีซอฟท์แวร์ไหนที่เขียนขึ้นมาโดยมนุษย์ที่จะเปลี่ยนโลกได้ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นจากซอฟท์แวร์ในหัวใจของคนเท่านั้น’ โดยที่เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างแรงผลักดันแรกให้คนมาช่วยเหลือกัน ทุกวันนี้ผมยังเล่าได้อย่างภาคภูมิใจว่าผมไม่ใช่คนที่ทำให้เขาแบ่งปันอาหารกัน แต่ที่ทุกอย่างยังคงอยู่มาจากหัวใจของพวกเขาเอง ผมเป็นคนแค่เขียนซอฟท์แวร์ตัวหนึ่งเท่านั้น
“คำว่า ‘อาสา’ สำหรับผมไม่ได้สร้างจากการอยากเป็นคนดีหรือเพราะตัวเองเป็นคนดีและอยากช่วยคนอื่น แต่มาจากการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และหล่อหลอมเบ้าคิดเหล่านี้ระหว่างคนด้วยกันจนเกิดจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันโดยอัตโนมัติ นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากแอฟริกาใต้ คนแอฟริกาใต้บอกกับผมว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่สุดยอด เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกหรือภาษาไหนในโลกที่มีคำพ้องความหมายของคำว่า ‘อาสา’ อย่าง ‘เอื้อเฟื้อ’ ‘เผื่อแผ่’ ‘แบ่งปัน’ ‘เกื้อหนุน’ ‘เจือจุน’ ได้มากเท่าเมืองไทย ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนจนมาย้อนมองว่าคงเพราะรากเหง้าของสังคมและวัฒนธรรมเราเป็นแบบนี้ และวันนั้นผมถึงเห็นความสวยงามในมุมใหม่ของประเทศตัวเอง
“ช่วงที่เรียนอยู่ต่างประเทศก็มีภารกิจขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) ที่ห้องปฏิบัติการประมวลผลภาพอวกาศ (Space Imagery Laboratory) เข้ามาพอดี ผมเลยลองสมัครดูจนได้เข้าไปทำงานในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์เครือข่ายวิจัยข้อมูลจากอวกาศ โดยประจำอยู่ในรัฐอริโซน่า หลังจาก 1 ปีที่ทำงานอยู่ที่นั่น ผมได้รับข้อเสนอว่าอยากเป็นประชากรของเขาไหม ในมุมหนึ่งของเด็กที่โตมาในต่างจังหวัด การมีโอกาสได้เรียนสูงๆ ได้ทำงานที่ตัวเองรักและทำเป็นอาชีพด้วยเรียกว่าเกินฝันไปมากแล้ว ซึ่งการได้ใช้ชีวิตและทำงานที่ต่างประเทศอาจทำให้ผมมีชื่อเสียงและเงินทองเพิ่มขึ้น แต่ ณ จุดนั้นผมมีคำถามกับตัวเองว่าความสุขในชีวิตคืออะไร จริงๆ ในวัย 25 คำถามแบบนี้ดูค่อนข้างไกลตัว แต่ผมมีคำถามนี้ในใจเร็วเพราะคงถูกเลี้ยงมาโดยคุณยายที่อยู่ในธรรมะมาตั้งแต่เล็ก ผมถามตัวเองว่า ถ้าความสุขของการอยู่ตรงนั้นคือการได้สำรวจอวกาศไปสุดขอบจักรวาลเลย เราจะมีความสุขไหม หรือความสุขของเราคือการถอยหลังกลับมา 2 เซนติเมตรข้างในหน้าอกของตัวเอง แล้วถามว่าเราอยากได้อะไร คำตอบของผมง่ายมากคือ ‘กลับบ้าน’ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ผมมีไปทำให้บ้านของผมดีขึ้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการมาเป็นนวัตกรครับ”
องค์กรโดยคนไทย เพื่อคนไทยและโลกใบนี้
“ผมเริ่มทำ DO IN THAI ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร DO IN THAI ในเวลานั้นเป็นการรวมกลุ่มของเพื่อนๆ ที่อยากเดินทางและแบ่งปันความรู้ เป็นเว็บไซต์คนไทยแห่งแรกที่ทำเรื่องการแบ่งปันการศึกษาในเขตต่างจังหวัดที่เราจะสร้างเครือข่ายในการส่งต่อองค์ความรู้จากครูในเมืองสู่ครูต่างจังหวัด ผมตั้งชื่อนี้เพราะผมอยากทำงานนี้ในเมืองไทย ทำโดยคนไทย ปักธงชาติไทยให้ทั้งโลกเห็นว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้ไม่ได้มีดีแค่แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม แต่เราเจ๋งพอที่จะมีนวัตกรที่สร้างนวัตกรรมได้และสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก เรียกว่าเป็นแพชชั่นความแรงของวัยรุ่นในช่วงนั้นครับ (หัวเราะ) อีกข้อหนึ่งคือเรื่องทางเทคนิคซึ่งสมัยนี้ทำไม่ได้แล้ว คือการจดโดเมนด้วยตัวอักษร 2 ตัว นั่นก็คือ www.do.in.th ทุกวันผมใช้อีเมลที่ลงท้ายด้วย do.in.th ซึ่งเป็นเรื่องของแบรนดิ้งที่บอกถึงวิชั่นของผมได้ในตัวด้วย
“เพราะ DO IN THAI เป็นบริษัท R&D เราจึงใช้ต้นทุนสูง เราต้องสร้างนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ แล้วเกิดกรณีศึกษาก่อน จากนั้นค่อยนำเอากรณีศึกษานั้นไปสร้างรายได้ ไม่ใช่หารายได้ ไม่ใช่การระดมทุนหรือมูลนิธิ รายได้ของเราเกิดจากการ self-fund ตัวเอง 5 ปี ดังนั้น เราจึงต้องหาเงินจากช่องทางอื่นโดยเราร่วมก่อตั้งอีก 2-3 บริษัท อย่าง Perpetual Innovation ที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการเงิน รวมถึง Marvelous Studio ที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลและส่งเสริมการศึกษาด้านดิจิทัล เพื่อหาเงินเข้ามา self-fund ตัวเองก่อน เพราะเวลาทำงานเชิงสังคม ถ้างานนั้นยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมจะไม่มีใครมาลงทุน ฉะนั้น ความรวยและการเติบโตของเรามีน้อย บางโปรเจ็กต์เราทำมา 7 ปี ล้มเหลวมาตลอด แต่พอสำเร็จปุ๊บเข้าวินเลย บางโปรเจ็กต์ทำมา 5 ปีเพื่อนับหนึ่งในปีที่ 6 ฉะนั้น ทุกๆ งานคือการเสียสละ รอเวลา และยากจน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”
ในปี 2010 พวกเขาได้พัฒนาแนวคิดแรกในโลกที่ทำให้คนตาบอดมองเห็นได้ผ่านโครงการ BrailleEye ซึ่งกลายเป็น 15 นวัตกรรมสุดท้ายในโลกที่ชนะรางวัล Microsoft ที่ประเทศโปแลนด์ โดยงานของพวกเขายังรวมไปถึงการออกแบบนวัตกรรมการบินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การออกแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เพื่อติดตามการเดินทางของกาแฟตลอดทั้งวงจรเพื่อสร้างความปลอดภัยและมีคุณภาพให้กับผู้ที่อยู่ในนิเวศของอุตสาหกรรมดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ, การพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศแบบใหม่ให้กับประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนการพยากรณ์ในประเทศให้แม่นยำขึ้น และโปรเจ็กต์ล่าสุดอย่างหุ่นยนต์พะยูนซึ่งเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ว่ายน้ำกับพะยูนเพื่อสำรวจชีพพะยูนโดยไม่มีมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยว
“เราทำงานตั้งแต่บนฟ้ายันมหาสมุทร เราออกแนวจับฉ่ายที่ทำทุกเรื่องแต่อยู่บนพื้นฐานคือสิ่งนั้นต้องเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน สัตว์ สังคม หรือสิ่งของบางอย่างที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง จะเล็ก จะใหญ่ จะสำเร็จระดับหมู่บ้านหรือโลก เราไม่ได้สนใจ เราสนใจว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดสามารถแก้ปัญหาในสังคมผ่านเทคโนโลยีได้แค่ไหน ตอนเป็นเด็ก ผมคิดว่าอยากทำ DO IN THAI เพื่อเอาธงไทยไปติดให้ทุกคนยอมรับประเทศของเรา ผ่านมา 10 ปี เป้าหมายของผมและทีมเปลี่ยนไป แค่สิ่งที่เราทำได้ช่วยและเปลี่ยนแปลงชีวิตใครสักคน ทำให้เราเข้าใจชีวิตของคนสักคน ไม่ว่าจะมาก จะน้อย จะผิดหวัง สมหวัง แต่อย่างน้อยถ้าเราทำแล้วมีความสุขและรู้สึกว่าใจเราเต็มเปี่ยมไปกับการช่วยเหลือคนอื่น สิ่งอื่น และอะไรที่ใหญ่กว่าแค่ตัวเอง นั่นคือการบรรลุเป้าหมายของ DO IN THAI แล้ว ซึ่งผมต้องขอบคุณเพื่อนร่วมทางทุกคนที่เสียสละเวลาและความสุขส่วนตัวเพื่อมาทำสิ่งเหล่านี้ และคนเหล่านี้มีอยู่จริงๆ ครับ”
เราถามเล้งต่อว่า แล้วจิตอาสาของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่เดย์วันเลยไหม คำตอบที่เล้งให้ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย เขาบอกกับเราว่าเบ้าหลอมของจิตอาสาในมุมของเขาไม่ได้สร้างขึ้นมาได้เอง แต่ต้องพาตัวเองออกไปถูกเจียระไนและขัดเกลาจากความล้มเหลว ความเจ็บช้ำ ความทุกข์ของคนอื่น
“ผมบอกน้องทุกคนที่เข้ามาในออฟฟิศว่าทำงานกับพี่คือต้องร้องไห้ คนที่ร้องไห้เป็นจะเข้าคนที่ร้องไห้เวลาไปเจอเขาร้องไห้เหมือนกัน ฉะนั้น ผมเลยรู้สึกว่าการที่เราจะอาสาทำอะไรเพื่อใครสักคนได้ การที่เราอยากลุกขึ้นมาปกป้องอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่น มันไม่ใช่แค่เราต้องรู้จักเขา แต่เงื่อนไขอะไรที่อยู่หลังจากนั้นไปอีกที่ไม่ใช่เพียงแค่เรารู้จักกันเราเลยอยากช่วย อะไรคือสิ่งที่อยู่หลังคำว่าอาสาจริงๆ คำตอบก็คือเราเห็นชีวิตเขา ไปซึมซับกับชีวิตของเขา และมองเห็นว่าการเป็นส่วนหนึ่งของเขาสามารถเข้าไปช่วยเขาได้ ซึ่งมันไม่มีทางจะเกิดขึ้นในห้องที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้ ฉะนั้น 10 ปีที่ผ่านมาก่อนโควิด เราทำงานแบบที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราเดินทาง 15 วัน ทำงาน 15 วัน เราสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ใครฟังก็หาว่าบ้า เพราะธุรกิจเขาไม่ทำอย่างนี้ ควรจะเป็นเงินกำไรของบริษัท 40% แต่บริษัทติดลบ 13% ผมเลยรู้สึกว่าความละเมียดของคำว่าอาสาที่ผมได้สัมผัสไม่ได้เกิดจากการที่เราอยากแบ่งปันอะไรให้ใคร แต่มันเกิดจากความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน บางคนอาจจะไม่เคยอาสาในชีวิตมาก่อนเลย แต่ผมเชื่อว่าในใจลึกๆ เรามียักษ์ตัวนี้หลับอยู่ในหัวใจของทุกคน ถ้าเหตุการณ์มันเอื้อให้เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อใครซักคน ต่อให้เราเป็นคนที่ไม่ดีมาตลอดชีวิต ในมุมของผม ถ้าเหตุการณ์ตรงหน้ามันเอื้อให้เราต้องทำสิ่งที่ดีเพื่อคนอื่น ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนทำได้ จนถึงวันนี้ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกอาชีพนวัตกรไปตลอดชีวิตครับ”
ล้ม ลุก คลุก คลาน
“สิ่งที่ทุกคนเห็นว่า DO IN THAI มีงานซึ่งเป็นรูปธรรมออกมาหลายโครงการก็จริง แต่งานที่ล้มเหลวยังมีอีกเป็นพันครับ (หัวเราะ) และมีทุกปีด้วย ผมคิดว่าที่ผ่านมาไม่มีงานไหนง่ายเลยเพราะสิ่งที่เราทำเป็นงานยากและซับซ้อน เหตุการณ์หนึ่งที่ยังตรึงตราแบบที่นึกถึงทีไรก็เจ็บช้ำทุกครั้ง คือโครงการที่เราทำร่วมกับเกษตกรกลุ่มหนึ่งในการปรับเปลี่ยนจากแปลงนาเคมีมาเป็นแปลงนาอินทรีย์ ในบริบทของสุขภาพและราคา หากเปลี่ยนได้ ราคาของผลผลิตจะสูงขึ้นและสุขภาพจะดีขึ้น เพียงแค่ใช้เวลาในการปรับตัวสักหน่อย ซึ่งฟังดูดีและไม่น่าเป็นงานที่ยากอะไร แต่ในความเป็นจริงคือยากมากเลย เพราะอย่าลืมว่าในห่วงโซ่อุปทานของคำว่า ‘ข้าวและนา’ ยังมีโรงสี ร้านปุ๋ย และคนที่มีอิทธิพลในพื้นที่อยู่ด้วย ความเจ็บปวดของผมคือการที่ชาวนากลุ่มหนึ่งตกลงมาช่วยเราเพื่อทำเคสนี้เพราะเขาเห็นใจเด็กรุ่นใหม่อย่างเราที่อยากทำเคสนี้ให้เป็นกรณีศึกษาได้สำเร็จ แต่เขาไม่บอกเราแม้แต่คำเดียวว่า การที่เขามาช่วยเราทำเคสและปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีการทำงานจะทำให้เขามีปัญหา
“กระทั่งวันที่ลูกชายของคุณลุงชาวนาโทรมาบอกว่าคุณลุงเผานา ตอนนั้นผมและทีมงงกันว่าเกิดอะไรขึ้น จนได้ไปพบและทราบว่า คุณลุงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เคสนี้สำเร็จจนถึงจุดหนึ่งที่ท่านปกป้องงานไม่ได้แล้ว เพราะเกิดปัญหากับคนที่อยู่ในห่วงโซ่นั้น แต่ไม่กล้าบอก เพราะเกรงใจน้ำใจของพวกเรา เลยตัดสินใจจบโปรเจ็กต์นี้ด้วยการเผานาเพื่อบอกว่า ‘เดี๋ยวฉันจะไปเป็นทาสของระบบเดิม’ คุณลุงบอกว่าไม่ได้เผาเพื่อหนีปัญหา แต่ทำเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและความตั้งใจ ที่สำคัญคือความปลอดภัยของพวกเราจากกลุ่มที่มีอิทธิพลด้วย และถ้าลุงจะกลับไปยอมโรงสี ก็ไม่ควรเอาข้าวพวกเราที่อุตส่าห์ทำมาไปให้เขา แม้นี่จะเป็นเหตุการณ์ที่เราเสียใจมากเพราะคิดว่าได้ทำเพื่อช่วยเหลือคน แต่การช่วยของเรากลับไปทำร้ายเขา แล้วเขาต้องทำร้ายตัวเองเพื่อปกป้องเราอีก ความละเมียดของจิตใจคุณลุง คำพูด และการปกป้องของท่านในวันนั้นทำให้เราเลิกท้อและเดินหน้าต่อ ฉะนั้น ผมและทีมกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดยที่ธงยังอยู่บนยอดเขาเดิมไม่ได้เปลี่ยน แต่เส้นทางเดินอาจจะเปลี่ยน และแม้จะมีขวากหนามในวันข้างหน้า เราก็แค่เปลี่ยนทางใหม่เท่านั้นเอง
“ผมคิดมาตลอดว่าตราบใดที่เรามีความหมายและเป็นความทรงจำที่ดีของคนอื่น นั่นคือสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ของผม จะรวยหรือจนไม่สำคัญ ผมเลยใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นมาตลอด แต่การทำงานเพื่อคนอื่นมาตลอดส่งผลให้ผมล้มเหลวในพาร์ทชีวิตส่วนตัวอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อมีชีวิตคู่ การทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานทั้งหมด ไม่มีวันหยุด ถึงแม้คนข้างๆ เราจะอยู่ด้วยกันกับเรา มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นและทำ แต่กลับกลายเป็นว่าผมได้บังคับให้คู่ชีวิตกระโดดเข้ามาเดินบนเส้นทางเดียวกัน โดยที่เขาไม่มีพื้นฐานแบบนั้น ทั้งๆ ที่วิถีของชีวิตคู่ที่ควรจะเป็นคือการที่เราต่างมีถนนของตัวเอง และเดินเคียงข้างกันไป เราทั้งสองรักกัน แต่ว่าการดำเนินชีวิตแบบนั้นทำให้ความรักของเราไม่เฮลตี้ สุดท้ายความสัมพันธ์ของผมและภรรยาต้องจบลง นั่นเป็นความล้มเหลวที่ผมเสียใจและยอมรับ แต่ในวันนี้ผมรู้สึกดีขึ้นแล้วและดีใจที่ได้เห็นเขามีความสุขในเส้นทางที่ควรจะเป็น ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นอีกด้านหนึ่งของผมที่ได้สูญเสียไปเพื่อแลกกับการทำงานตรงนี้ด้วย”
“นวัตกรคืออาชีพที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหา เราไม่สามารถวิ่งหนีความทุกข์ ปัญหา หรือความยากได้เลย มันไม่มีอะไรง่ายหรือไม่มีปัญหาหรอก เผลอๆ เรายังพบปัญหาซ้อนปัญหาไปอีก เราไม่ได้เก่งกว่าใคร เพียงแต่ว่าเราอาจจะมีพลังและความอดทนที่จะอยู่กับปัญหาได้นานกว่าคนอื่น ซึ่งการที่เราจะทนอยู่ในปัญหานั้นได้นานหลายปีคือการหาความสวยงามในปัญหานั้นให้เจอ ถ้าวันนั้นผมตื่นขึ้นมาแล้วมีงานที่ต้องเดือดดาล หัวร้อน ต้องคิดอะไรเยอะมากแบบที่ชีวิตไม่โอเคเลย วิธีที่ง่ายที่สุดที่ผมทำเลยในการผ่านวันที่ยากๆ คือนั่งรถเมล์สุดสาย ท้อตอนไหน ผมจะเดินไปบอกน้องๆ ว่าขอเวลา 3 ชั่วโมง การนั่งรถเมล์ทำให้ผมได้ออกจากตัวเอง ไปดูชีวิตคนอื่นๆ และไปสัมผัสกับความสวยงามของชีวิตคนอื่น ไปรับพลังดีๆ แล้วกลับมาแก้ปัญหาใหม่”
ของขวัญจากการให้
“ทักษะที่ได้จากการทำงาน ผมแตกออกเป็น 3C โดย C แรกคือ Culture เพราะผมให้ความสำคัญกับเรื่องเบ้าหลอมมาก ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรไหนให้เป็นองค์กรที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในได้เลยถ้าเขาไม่มีวัฒนธรรมความเป็นมนุษย์ที่ดี ฉะนั้น ผมจะไม่เทรนเด็กๆ ให้เก่งที่สุด คัดเลือกเด็กๆ จากเรซูเม่ที่ดีที่สุด แต่ผมเลือกคนที่อยากมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี แล้วเราก็สร้างเบ้าหลอมนั้นไปพร้อมๆ กันด้วย C ที่สอง Clarify ถ้าทำอะไรแล้วไม่ชัดเจน ปากกับใจไม่ตรงกัน สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำคนจับต้องไม่ได้ ที่สำคัญการมี Heartful Innovation ที่ทำด้วยความรู้สึกที่อยากทำด้วย เราไม่มีทางที่จะสร้างนวัตกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงให้คนอื่นเชื่อและมองเห็นได้ สุดท้ายคือ Communication ยกตัวอย่างเช่นว่าถ้าเราไปเจอคุณยายคนหนึ่งและเราอยากช่วยคุณยายมากเลย แต่ถ้าเราสื่อสารให้น้องๆ เข้าใจและอินไม่ได้ เราก็ช่วยยายไม่ได้ เพราะว่าเราคนเดียวทำไม่ไหวอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมีคัลเจอร์ งานอาสาจะไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมีความชัดเจนและตรงไปตรงมา การไปทำอะไรที่ดี ทุกคนก็อยากร่วมทำ และสุดท้ายคือการสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร และสิ่งที่เราทำนั้นใครจะได้หรือเราไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมได้มา
“ผมมีอาชีพเป็นนวัตกรที่สร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา แต่ในใจลึกๆ ของผมกลับหวงแหนความเป็นตัวเอง กลับไม่ยอมทำอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเองเลย มัวแต่ไปสร้างสิ่งใหม่และทำเพื่อคนอื่น แต่เมื่อผ่านเรื่องที่ทั้งดี สวยงาม และล้มเหลวมาแล้ว ผมมองเห็นว่าชีวิตคนคือการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น พอคนเรามีบทเรียนที่แรงมากพอ และคงเพราะผมเติบโตขึ้นด้วยแล้ว สุดท้ายสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การอยู่เป็นอมตะ แต่คือการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองให้เราอยู่อย่างเข้าใจในสิ่งต่างๆ แล้วปรับตัวไปตามนั้น ผมรู้สึกเลยว่าความเข้มแข็งของชีวิตผมสูงขึ้น รวมทั้งยอมรับและเคารพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็หวงแหนความเป็นตัวเราและวิถีชีวิตของเราน้อยลงด้วย
“ที่ผ่านมาการทำงานกับการใช้ชีวิตของผมกลมกลืนกันมากจนบางครั้งเรียกได้ว่างานกลืนกินชีวิตเราไปด้วย ตอนนี้ผมเลยเริ่มคลายความเป็นตัวเองออกมามากขึ้น แต่ยังไม่เก่งหรอกครับ ถ้าเปรียบคงเหมือนเด็กเพิ่งคลอด แล้วนวัตกรรมแรกที่ผมสร้างให้ตัวเองเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีใหม่ที่ผ่านนี้เอง นั่นคือการจองตั๋วไปหลวงพระบาง ไปเที่ยวคนเดียวแบบทะลุทะลวงทุกตรอกซอกซอยโดยไม่มีงานจริงๆ เชื่อไหมครับตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นการเที่ยวครั้งแรกที่เป็นการเที่ยวจริงๆ สำหรับผมนี่คือนวัตกรรมที่ใหม่มาก แต่เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปเลย (หัวเราะ) ข้อดีที่ยอดเยี่ยมที่สุดของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือผมไม่เคยเห็นแม่มีความสุขขนาดนี้มาก่อน เมื่อก่อนเราหลอกตัวเองว่าแม่เราเข้าใจเราแหละ แต่การที่เราไปเที่ยว ได้ออกมาเดินเล่นทุกวันคือสิ่งที่แม่อยากเห็นมากกว่า แม่บอกผมว่าถ้ารักตัวเองมากขึ้นสุดท้ายเราจะรักคนอื่นได้มากกว่าเดิมอีก ผมจึงเห็นมุมมองความรักของคนอื่นและมองเห็นตัวเองได้กว้างขึ้นเมื่อผมรักตัวเองมากขึ้น”
‘บ้านไร่กระบองไผ่’ โรงบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่
“ก่อนโควิดผมมีโอกาสไปบรรยายที่ประเทศอินเดียเรื่อง Life Innovation และ Heartful Innovation ได้เล่าเรื่องความล้มเหลวในชีวิตให้ผู้เข้าร่วมงานฟังและบอกเล่าว่าความสวยงามในความล้มเหลวมันดีขนาดไหน วันนั้นมีผู้เข้าฟังคนหนึ่งตั้งคำถามผมว่า ‘ชีวิตที่ได้สร้างนวัตกรรมมาขนาดนี้แล้ว นวัตกรรมสุดท้ายในชีวิตของผมหน้าตาจะเป็นอย่างไร?’ผมตอบเขาไปว่า จริงๆ ผมมีความคิดนี้มานานแล้ว แต่ว่ายังไม่กล้าคิดชัดๆ และไม่กล้าพูดออกมาจนวันที่เขาถามบนเวทีถึงกล้าคิดดังๆ ผมตอบเขาไปว่า ‘เท่าที่สร้างนวัตกรรมมาในชีวิต สิ่งที่เรียนรู้มาเรื่องหนึ่งคือชีวิตคนเราสั้นมาก การไปอยู่ในภาคอวกาศมาเป็นปีๆ ผมรู้เลยว่าชีวิตมนุษย์กับโลกของเราเล็กนิดเดียว เลยคิดว่าชีวิตนี้คงทำนวัตกรรมได้ไม่กี่อันหรอก ดังนั้น นวัตกรรมสุดท้ายที่ผมอยากจะทำคือการสร้างสถานที่ไว้สำหรับสร้างนวัตกรรม’
“ฉะนั้น ปีหน้าผมจะกลับไปสร้าง ‘บ้านไร่กระบองไผ่’ ที่จังหวัดยโสธรซึ่งเป็นที่ที่ผมเติบโตมา ผมเอาคำสองคำมาผสมกัน ‘กระบองเพชร’ ที่ร้อน แห้งแล้ง ปล่อยความชื้นตอนกลางคืน กับ ‘ต้นไผ่’ ที่ชื้นแต่ดูดน้ำใต้ดินเกลี้ยงไปหมดเลย สิ่งมีชีวิตที่ภายนอกจะดูขัดแย้งกันแต่กลับมีความสัมพันธ์กันอยู่ เหมือนกับนวัตกรรม ที่นั่น ผมจะสร้าง Open Garage ให้เด็กๆ ได้มาแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาคิดและอยากทำ โดยผมอยากช่วยพวกเขาสร้างมายด์เซตของตัวเอง ไม่ใช่ช่วยเขาสร้างโปรเจ็กต์นะครับ แต่เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในใจและในความคิดของพวกเขา เพื่อให้เขาสร้างอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงสิ่งอื่น และโรงรถแห่งนี้จะไม่มีคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ผมอยากให้พวกเขามาระเบิดไอเดียและออกไปด้วยรู้สึกว่าอยากจะทำ ดังนั้น ปีหน้าผมจะมากรุงเทพฯ 7 วัน อีก 21 วันในแต่ละเดือน ผมจะกลับบ้านและสร้างพื้นที่แห่งนี้ เขาบอกว่าชีวิตจะเริ่มต้นจริงๆ ตอน 40 เลยคิดว่านวัตกรรมสุดท้ายในชีวิตจะเริ่มทำตอนอายุ 35 นี่แหละ และผมจะตั้งตารอดูว่าอีก 5 ปีข้างหน้าหลังจากที่ไปสร้างพื้นที่นี้แล้ว ชีวิตผมจะเป็นอย่างไร ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันนะ (ยิ้ม)”
–
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
DO IN THAI: www.facebook.com/dointhai