ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า หรืออ้วน คือ นักข่าว/นักหนังสือพิมพ์ที่มีประสบการณ์ทำงานมาอย่างโชกโชน เธอทำงานในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง Bangkok Post มาเกือบ 20 ปี เป็นการทำงานที่เธอทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ ขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อเขียนบทความหลายร้อยชิ้น โดยมุ่งนำเสนอประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านจากปัญหาด้านโครงสร้างและนโยบาย ทั้งเรื่องที่ดิน เกษตรกรรม แรงงาน สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย คงเพราะการนำเสนอเรื่องราวดังที่กล่าวมา พร้อมบุคลิกของนักข่าวประเภทกัดไม่ปล่อยของเธอ ทำให้อ้วนไม่เป็นที่ชอบใจของบรรดาผู้มีอำนาจและผู้มีผลประโยชน์มหาศาลกับประเด็นที่ว่ามานี้ แต่สำหรับเธอแล้ว การเป็นนักข่าวที่ดี ต้องไม่มีแค่ ‘Head’ แต่ต้องมี ‘Heart’ บรรจุเป็นคุณสมบัติหลักอยู่ในนั้นด้วย เธอจึงเป็นหนึ่งนักข่าวคุณภาพที่มีเพียงไม่กี่หยิบมือในบ้านเราที่กล้าลุกขึ้นสู้เพื่อชาวบ้าน และมีเป้าหมายใหญ่คือการนำพามาซึ่งความยุติธรรมและการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมดีกว่าเดิม
ในฐานะของคนที่ทำงานใกล้เคียงกัน เรารู้ดีว่ากว่างานเบื้องหน้าสักชิ้นหนึ่งจะสำเร็จออกมาสู่สายตาคนอ่านได้ ต้องอาศัยกระบวนการหลายขั้นตอน ใช้เวลานานนับเดือนหรืออาจนานกว่านั้นในการรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์ กลั่นกรอง เรียบเรียง พร้อมกับต้องอาศัยทีมงานคุณภาพคับคั่ง ทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีของอ้วน นักข่าวที่ลงไปแสวงหาความจริงต่อประเด็นอ่อนไหวในสังคมในพื้นที่ทั่วไทยและต่างแดน ที่แม้จะไม่ใช่ประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ก็มีความสำคัญมากๆ ต่อบ้านต่อเมือง และมักส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อคนยากไร้ เราขอเพิ่มความกล้าหาญ ความเสียสละ และการยึดมั่นอยู่บนความถูกต้องเข้าไปด้วย สำหรับเราแล้ว ทุกชิ้นงานของเธอสมควรได้รับการยกย่อง ขอบคุณ และถูกพูดถึง แม้ว่าอ้วนจะชินกับการมีชื่ออยู่ในเครดิตของงาน และนั่งภูมิใจในงานของตัวเองอย่างเงียบๆ ก็ตาม
เรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ทำให้เรานึกไปถึงคำพูดที่เคยได้ยินมาว่า ‘ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ชีวิตที่มีแต่ความสุขสมหวัง ความยากลำบากคือประสบการณ์ชั้นดี เพราะมันสอนให้เราเข้มแข็ง และยังสอนให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น’ และศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ได้ทำให้เราเห็นผ่านการทำงานและการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของเธอ
ก่อร่างสร้างจากดิน
ครอบครัวของอ้วนเป็นครอบครัวคนจีนที่พ่อและแม่อพยพมาจากเมืองจีน เธอเป็นลูกคนเล็กท่ามกลางพี่น้อง 13 คน เติบโตมากับการเป็นชาวสวนมาตั้งแต่เด็ก พ่อและแม่ของเธอไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองเพราะทั้งคู่เป็นคนต่างด้าว และมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน ทำให้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตของเธอและครอบครัวไม่ได้อยู่อย่างสุขสบายนัก จะเรียกว่าเป็นชีวิตเปื้อนดินมาตั้งแต่เด็กแบบนั้นก็ได้ แต่ในสายตาของเรา เรามองเห็นว่าชีวิตของเธอไม่ได้มีแค่มุมขุ่นๆ ไปเสียทั้งหมด เพราะเธอเองได้รับความรักที่อบอุ่น จิตใจที่เอื้ออาทรและชอบช่วยคนอื่น ไปจนถึงความเป็นนักสู้ที่ถ่ายทอดมาจากแม่ ขณะเดียวกันก็ได้มรดกเรื่องความซื่อสัตย์และซื่อตรงมาจากพ่อของเธอ โดยมีอีกหนึ่งต้นทุนที่ดีในชีวิตนั่นคือการรักเรียน เรียนเก่ง แถมขยัน และใฝ่เรียน นั่นจึงเป็นใบเบิกทางให้อ้วนสามารถกระโดดจากนักเรียนวัดและมัธยมต้นฝั่งธนบุรีมาสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
“ตอนที่เตี่ยและแม่มาจากเมืองจีนใหม่ๆ ซึ่งเรายังไม่เกิด ทั้งคู่เคยโดนเจ้าของที่ดินเอาเปรียบอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อครอบครัวของเราย้ายมาอยู่ที่ฝั่งธนบุรี ก็ได้เจอเจ้าของที่ดินที่น่ารักมาก ซึ่งเวลานั้นพวกเราเองก็มีเงินพอที่จะจ่ายค่าที่ จึงไม่ถูกไล่ที่แล้ว จะโดนเอาเปรียบก็จากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อของจากสวนของเราแบบตีราคาให้ถูก เราเคยถามพี่ๆ ว่าทำไมเราไม่ไปขายเอง เขาตอบว่า เราต้องเสียค่าเหมารถไปปากคลองตลาด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและถ้าเราไม่มีฐานลูกค้า เราก็ลำบากเช่นกัน ครอบครัวเราเป็นผู้บุกเบิกที่นามาทำเป็นร่องสวน ทั้งเตี่ยและแม่ขยันทำงานมาก ส่วนพี่น้องทุกคนก็ต้องมาช่วยงานที่สวนตั้งแต่ยังเด็ก แต่ถึงจะทำงานหนัก ลูกๆ ทุกคนก็ได้รับการดูแลอย่างดี โดยเฉพาะจากแม่ของเราที่จิตใจดีมากและรักลูกทุกคน
“จริงๆ ต้องบอกว่าในตอนนั้น คนไทยจนทุกคน จำได้ว่าตอนอยู่โรงเรียนวัดก็จนเท่ากันหมด พอมามัธยมต้น เราไม่คิดว่ามีใครรวยใครจน มาช่วงมัธยมปลาย ครอบครัวเรามีเงินพอที่จะจ้างคนงานมาช่วยทำสวนได้แล้ว เรียกว่าจนกว่าชนชั้นกลางถ้าเทียบกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเตรียมฯ ในเวลานั้น แม้ครอบครัวเราจะไม่ร่ำรวยและลูกๆ ทุกคนต้องช่วยทำงานที่สวน ตัวเราเองก็รับจ้างทำงาน แต่เราชอบเรียนมากและมีผลการเรียนดีมาตั้งแต่เด็ก เรียกว่าขวนขวายและขยันมาตั้งแต่ตอนประถมแล้วที่ถึงจะต้องเดินเท้าข้ามไร่ท้องนาเพื่อไปเรียน แต่ไม่เคยไปโรงเรียนสายสักครั้ง จนถึงตอนเข้ามัธยมต้น แม้เวลาไปโรงเรียนจะต้องต่อรถสองต่อ แต่ระยะทางจากบ้านไปถึงโรงเรียนก็ไม่ได้ไกลนัก จริงๆ เตี่ยไม่อยากให้เรียนหนังสือหรอก จะให้ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นด้วยซ้ำ แต่เพราะเราเป็นคนดื้อ อะไรที่ไม่มีเหตุผลเราจะไม่ยอม ช่วงที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลาย เราหนีเตี่ยไปสมัครสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดม แล้วบอกกับเตี่ยว่า ถ้าสอบเข้าเตรียมฯ ได้ จะสอบเข้าจุฬาฯ ให้ได้แบบญาติที่เรียนหมอ จนในที่สุดเราทำแบบที่รับปากกับเตี่ยได้สำเร็จ
“หลังจากเตี่ยเสียไปหลายปี เราเพิ่งรู้จากปากของหลานชายว่า เตี่ยเคยถามเขาว่า ทำไมไม่ไปเรียนที่จุฬาฯ เหมือนกับเรา นั่นเป็นประโยคสั้นๆ ที่ทำให้รู้ว่าเตี่ยเองก็ภูมิใจในตัวเราอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่แสดงออกมาให้เห็น สิ่งที่จำได้คือวันรับปริญญา เตี่ยไปเอาเสื้อนอกอย่างดีกับรองเท้าจากไหนไม่รู้ เพราะปกติถ้าไม่สวมรองเท้าเตะก็จะเดินเท้าเปล่า แต่วันนั้น เตี่ยแต่งตัวซะหล่อเหลา นั่นคงเป็นวิธีแสดงออกของเตี่ยว่าท่านเองก็รักและภูมิใจในตัวเราอยู่เหมือนกัน (ยิ้ม)”
ชีวิตติดดิน
หลังจากเรียนจบ อ้วนทำงานด้านพัฒนาชนบทกับองค์กรเอกชน ทั้งองค์การอนุเคราะห์เด็ก (Save the Children-Norway) และมูลนิธิฟื้นฟูชนบท จากนั้นจึงไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารจัดการงานพัฒนาชนบทที่ University of the Philipines (UPLB) กระทั่งกลับมาทำงานที่มูลนิธิฟื้นฟูชนบทอีกครั้ง ก่อนจะไปเป็นลูกจ้างองค์กรระหว่างประเทศอย่าง องค์การการศึกษาไร้พรมแดน (ESF) อยู่เกือบปี แต่แล้วในปี 2536 ก็มีเหตุให้เธอได้เปลี่ยนงานสู่อาชีพที่เธอรักอย่างการเป็นนักข่าว
“ตอนนั้นตกงาน เพราะไปทะเลาะกับนายฝรั่ง เลยนั่งเปิดหนังสือพิมพ์จนเจอว่า Student Weekly กำลังรับสมัครนักข่าว ในใจคิดว่า ดีเลย สมความตั้งใจที่อุตส่าห์เรียนครุฯ มา ตอนนั้นคิดว่าถ้าได้งานนี้ เราจะได้ทำงานสอนหนังสืออย่างที่อยากทำ แต่เป็นการสอนปัญหาสังคมให้กับเด็กๆ ผ่านหนังสือ Student Weekly นี่แหละ จะได้เขียนปัญหาสังคมให้เด็กทั่วประเทศได้อ่าน แล้วพวกเขาจะได้เข้าใจปัญหาสังคม ตอนที่ทำ Student Weekly เราได้เขียนข่าวสารคดี แต่งานที่เราเขียนมักเป็นเรื่องจริงจัง เช่น ปัญหาของเด็กสลัม เรื่องเด็กข้างถนน ซึ่งกองบรรณาธิการที่เป็นฝรั่งให้คำแนะนำว่า ‘งานของเธอออกจะเป็นแนวเครียดที่เด็กไม่สนใจอ่าน’ จำได้ว่ามีหนเดียวละมั้งที่ไปสัมภาษณ์ดาราซึ่งไปเป็นครูฝึกสอน นั่นเป็นเรื่องเดียวที่อ่านแล้วผ่อนคลายที่สุดแล้ว (หัวเราะ)
“ในปี 2537 ซึ่งเราทำ Student Weekly มาได้หนึ่งปี เป็นช่วงที่นักเขียนซึ่งทำงานอยู่ Bangkok Post กำลังจะย้ายจากแผนก Perspective ที่เน้นข่าวแบบเจาะลึกไปอยู่คอลัมน์ Outlook แล้วเขาต้องหาคนมาแทนในคอลัมน์นี้ เลยเป็นจังหวะที่เขาย้ายไปแล้วเราเข้าไปแทน ซึ่งต้องขอบคุณ บก. ในเวลานั้นอย่าง พี่ทรงพล แก้วปทุมทิพย์ ที่รับเราเข้าทำงาน”
สำหรับอ้วน คำว่า ‘นักข่าว’ ของเธอคือผู้ที่เสาะแสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกด้าน ทุกชิ้นงานของเธอต้องน่าเชื่อถือด้วยหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าจากปากใครคนใดคนหนึ่ง ที่สำคัญคือนักข่าวที่ดีไม่ใช่แค่นำเสนอข้อเท็จที่ถูกต้องและมีคุณภาพ แต่ต้องใช้หัวใจทำข่าวด้วย
“กับคอลัมน์ Perspective ประเด็นส่วนใหญ่ที่เรานำเสนอจะเป็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน ความไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับ ข่าวแรกของเราคือเรื่องแผ่นปลิวประกาศจ้างงานแถวหัวลำโพง ซึ่งเอาเข้าจริง ที่ประกาศๆ กัน ไม่ได้มีงานจริงๆ แต่เป็นการหลอกคนหางานเอาค่านายหน้า หลังจากนั้น เราก็ลงไปเล่นกับประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก เรื่องการศึกษา รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นเรื่องคลองด่าน (จ.สมุทรปราการ) การปล่อยน้ำเสีย การทำงานของเราก่อนลงพื้นที่เราจะต้องหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้และพิสูจน์ได้ ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าแล้วลงพื้นที่ไปเลยโดยที่ยังไม่มีอะไรในมือ ส่วนเวลาที่ไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน เราไม่ได้ไปคุยแป๊บๆ แล้วกลับ แต่ไปกินไปอยู่ร่วมกับเขา แน่นอนว่าเราไม่เคยฟังความข้างเดียว ตอนทำงานสมัยนั้น Bangkok Post มีงบประมาณที่จะให้เราไปจ้างแล็บเอกชนเพื่อเก็บข้อมูลได้ เราจะรอบคอบในทุกขั้นตอนเพื่อให้งานที่ออกมามีข้อมูลที่เป็นจริงทั้งสองด้าน มีเหตุผล และพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ เราไม่เคยเข้าข้างใครแบบตะบี้ตะบัน ซึ่งประเด็นที่เราสนใจและอยากนำเสนอส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบ และเลือกนำเสนอในมุมของผู้ถูกเอาเปรียบ การทำงานแบบนี้ต้องมีที่ไปขัดแข้งขัดขาคนมีอำนาจในบ้านเมืองนี้อยู่แล้ว เอาจริงๆ มีเกือบตลอดเลยแหละ แต่เราตั้งมั่นว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด จะนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าจะไปกลบเกลื่อน หรือพลิกจากดำให้เป็นขาว แล้วสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่การใส่ร้ายใครเลย มันคือข้อเท็จจริง และมันจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ หากสิ่งที่เรานำเสนอออกไปได้นำพาความยุติธรรมกลับคืนสู่ผู้ที่ถูกพรากไป การทำงานลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ หลายต่อหลายครั้งที่มีผลกระทบต่อองค์กรที่เราทำงานให้ แต่ท้ายที่สุด เราก็สู้เพราะนั่นคือข้อเท็จจริงและมีผลกับชีวิตของชาวบ้านจริงๆ
“มีข่าวหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องนานมากแล้ว เป็นข่าวเกี่ยวกับน้ำเสียจากโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งถูกปล่อยลงแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดกาญจนบุรี เราลงไปนำความจริงมารายงานต่อประชาชน หลังจากบทความออกไป สิ่งที่ตามมาคือมีการแก้ปัญหาเกิดขึ้น จากที่โรงงานเคยทิ้งของเสียลงแม่น้ำแม่กลอง เจ้าของโรงงานไปซื้อที่ดินมา 12 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับเป็นบ่อฝังกลบเศษขยะต่างๆ ของเขาแทน ซึ่งทำให้ความเดือดร้อนที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านถูกแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น”
นอกจากข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีหนังสือ Violence in the Mist: Reporting on the Presence of Pain in Southern Thailand ซึ่งเป็นการรวมบทความภาษาอังกฤษของเธอที่เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post โดยนำเสนอเนื้อหาและมุมมองที่คนไทยส่วนมากไม่ค่อยได้รับรู้ เปิดเผยถึงความอยุติธรรมนานัปการที่ชาวใต้ในสามจังหวัดแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมา
“อีกหนึ่งเรื่องที่เราทุ่มเทคือการถ่ายทอดสถานการณ์และเรื่องราวผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเราได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘Violence in the Mist: Reporting on the Presence of Pain in Southern Thailand’ เป็นการรวมบทความของเราจาก Bangkok Post เวลาเดียวกันนั้น ทางบรรณาธิการของนิตยสารสารคดีโทรเข้ามาหาน้องที่ Outlook ซึ่งเคยเป็นอดีตนักเขียนที่สารคดี มาถามว่าใครเหมาะสมที่จะเขียนเรื่องภาคใต้ น้องคนนั้นเลยแนะนำว่า ‘ก็ต้องพี่อ้วนสิ’ นั่นเลยทำให้เราได้พื้นที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องภาคใต้ลงในนิตยสาร แล้วได้เป็น cover story ของสารคดีเล่มนั้นในชื่อ ‘สิ่งที่เห็นและเป็นไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ พอเขียนบทความเป็นภาษาไทยปั๊บ เราดันดังเสียอย่างนั้น (หัวเราะ) อาจารย์ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ซึ่งเป็นอาจารย์มานุษยวิทยา มาคุยกับเราตอนที่มีโอกาสไปงานประชุมที่ศูนย์มานุษยวิทยาว่า ‘คุณศุภรา งานเขียนของคุณถือเป็นงานมานุษยวิทยาเล็กๆ เรื่องหนึ่งเลยนะ’ รวมไปถึงอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ท่านก็ชมบนเวที ตอนนั้นเราเองก็รู้สึกดีนะที่ผลงานของเราเป็นที่ยอมรับและเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนไทยนอกสามจังหวัดได้รับรู้และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
ผลิตผลจากดิน
“เราเป็นคนซื่อตรงต่อวิชาชีพและเป็นคนจริงจังกับชีวิต เช่น ถ้ารู้ว่าองค์กรใดได้รับงบประมาณมาก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นภาษีของพวกเราประชาชน แต่ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ไม่มีประโยชน์ตกถึงคนและสังคม เราจะเริ่มอยากรู้แล้วว่าเรื่องนั้นจริงไหม และจะไปค้นหาคำตอบมานำเสนอให้คนได้รู้ความจริง
“เพราะการทำงานแบบนี้มาตลอด สิ่งที่เรียนรู้และได้รับจนถึงทุกวันนี้จึงเป็นการได้รู้ว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมได้ ดังนั้น ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ความตั้งใจที่เรานำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ผ่านทุกๆ ตัวอักษร คืออยากจะให้งานของเราเป็นทั้งกระบอกเสียงและช่วยขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ปัญหาส่วนใหญ่เราไม่ชนะนะ จะมีแค่บางปัญหาที่เราสู้ได้และไม่ใช่เพราะเราเพียงคนเดียว แต่เป็นเพราะองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งชาวบ้านเอง ความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งการทำงานของนักข่าวท่านอื่นๆ ที่นำเสนอประเด็นเดียวกันนี้จนมันเกิดแรงกระเพื่อมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนเยอะมาก แต่นั่นแหละ เราทำงานแบบนั้นเพราะเราอยากให้ปัญหานั้นถูกแก้ไขไปในทางที่เหมาะสม
“การเป็นนักข่าวที่ลงไปแสวงหาความจริงแบบที่เราทำมาตลอด เป็นงานที่หนักและเหนื่อยมากเหมือนกันนะ เรื่องที่ดีก็คือเรามีความสุขที่ได้ไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่เสียงน้อย ได้ช่วยให้พวกเขาคลายจากทุกข์ที่เจอ แต่อย่างที่บอก เราเป็นคนจริงจังมาก เลยแบกความทุกข์ของชาวบ้านอยู่กับตัวเรา ดังนั้น สำหรับเรา ข้อเสียที่พบคือการแบกโลกไว้กับตัวเองมากเกินไปมันไม่ดี ต้องปล่อยวางไปบ้างถ้ามันหนักเกินไป
“ชีวิตที่อยู่มาได้จนถึงวันนี้ เราได้ค้นพบความจริงว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญทั้งหมดของชีวิต ตายไปเราก็เอาไปไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ต้องมี ที่เห็นๆ คือถ้าเจ็บป่วย ต้องใช้เงินทั้งนั้น อีกอย่าง คือเราอยากให้คนไม่เพิกเฉยต่อปัญหาของคนอื่น ไม่ใช่ว่าไม่ใช่ปัญหาของเรา เป็นปัญหาของชาวบ้าน ไม่ต้องไปสนใจ ส่วนหนึ่งที่ปัญหาสังคมยังคงจนถึงวันนี้เพราะความเพิกเฉยและละเลยต่อชะตากรรมของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจและบทบาทในการดูแลคนและบ้านเมือง รวมถึงกลุ่มคนที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ซึ่งการที่เราจะไม่เพิกเฉยได้ เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองในมุมของคนอื่นว่าเขากำลังเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งถ้ามีสิ่งนี้ในสังคมมากๆ เราคิดว่าคงนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้แน่”
กลับคืนสู่ดิน
“หลังจากทำงานอยู่ Bangkok Post มาได้ 19 ปี เราขอเกษียณก่อนกำหนดตอนอายุ 52 ตอนนั้นไม่ได้เป็นนักข่าว แต่ก้าวไปทำวิจัยอยู่ที่ญี่ปุ่น เรื่องผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เพราะเรารู้ว่าผลพวงอันร้ายแรงที่ตามมาของอุบัติภัยนิวเคลียร์จะสร้างความเสียหายในระยะยาวต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน แล้วผลกระทบยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน แถมยังจะอยู่กับมนุษย์เราไปอีกยาวนานในอนาคต ทั้งการปนเปื้อนที่ทำให้คนมีความเสี่ยงที่จะป่วยหรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพทั้งกายและใจ รวมไปถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การต้องหนีจากภูมิลำเนาตัวเอง โดยไม่มีโอกาสได้กลับคืนถิ่นเนื่องจากบริเวณนั้นถูกปนเปื้อนด้วยสารพิษไปแล้ว และนอกจากวิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนยังไม่ได้รับการชดเชยด้านการเงินอย่างเป็นธรรมอีกด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่เราไปทำวิจัยเพราะเราอยากเป็นอีกหนึ่งคนที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
“เวลานั้นพี่น้องของเราไม่เห็นด้วยเลย และบอกว่าเพราะไปญี่ปุ่นเลยกลับมาพร้อมมะเร็งปอด ถ้าย้อนไป ตอนนั้นก็อันตรายจริงๆ เพราะเราไปทำวิจัยท่ามกลางมลภาวะของพื้นที่ เข้าไปในเขตหมู่บ้านต้องห้ามเพื่อเก็บข้อมูล แล้วไปแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอะไรเลย ใช้เวลาไปทำงานวิจัยที่ญี่ปุ่นอยู่หนึ่งปี (มิถุนายน 2555 – กรกฎาคม 2556) แล้วกลับมานั่งเขียนเปเปอร์ โดยทำงานภายใต้ทุนที่ชื่อ API ของ Nippon Foundation พอปลายปี 2556 เราเริ่มมีอาการไออยู่ตลอด เลยไปพบคุณหมอ กระทั่งพบว่าเราเป็นมะเร็งปอดตอนต้นเดือนมกราคม ปี 2557 แต่จะบอกว่าเพราะไปญี่ปุ่นถึงเป็นมะเร็งกลับมา คงพูดแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถฟันธงได้ คนญี่ปุ่นที่อาศัยบริเวณนั้นเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์กันมากกว่า
“หลังจากป่วย เราเลยไม่ได้ทำงานแล้ว จำได้ว่าใช้เวลาเป็นปีที่วนลูปอยู่กับความคิดว่า ทำไมเราเป็นมะเร็งนะ เพราะไปสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียคนเดียวที่ยูเครนกับคาซัคสถานรึเปล่านะ หรือสถานที่อื่นกับเพื่อน แต่เพื่อนเราที่ไปด้วยกันทริปนั้นๆ ก็ไม่เป็นอะไร แล้วคุณหมอเองไม่ได้สรุปว่าสาเหตุมาจากอะไร”
เมื่อถามไถ่ถึงเรื่องสุขภาพของเธอ คำตอบที่ได้กลับมา เราแทบไม่ได้ยินคำบ่นหรือการระบายทุกข์จากโรคที่เธอเป็น จะมีก็แต่คำขอบคุณองค์กรที่เธอเคยทำงานอยู่ที่ให้สวัสดิการหลังเกษียณซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้มาก ขอบคุณหมอและโรงพยาบาลที่ดูแลเธอเป็นอย่างดี ขอบคุณคนรอบข้าง ทั้งครอบครัวและเพื่อนที่ทั้งผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเยียน มาให้กำลังใจ ส่งข้าวของ มาดูแล รวมถึงพาไปโรงพยาบาล ตลอดจนบริษัทยาที่เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้ยาแบบ Compassionate Use ที่ช่วยให้เธอมีชีวิตอยู่ได้จนถึงวันนี้
“ถ้าถามว่าในฐานะที่เป็นคนป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายมาปีนี้เป็นปีที่ 10 เราใช้ชีวิตบนอะไร เราใช้ธรรมะมาเยียวยา เพราะเราพบแล้วว่าถ้ามัวแต่คิดว่าทำไมเราเป็นมะเร็ง เราไม่เจอคำตอบ ตอนนี้เราจึงปล่อยวางกับชีวิตได้มาก เรียนรู้หลักมรณานุสติ แบบที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วก็ต้องคิดให้บวกและมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเสมอ ซึ่งข้อดีของการที่เราคิดเพื่ออยู่กับปัจจุบัน ทำให้เราเอ็นจอยทุกโมเม้นท์ที่เรามีในแต่ละวัน เพราะเรามีชีวิตที่จำกัดและรู้แหละว่าความตายคือปลายทางของมนุษย์ทุกคน แต่จริงๆ ไม่มีใครรู้หรอกว่าตัวเราจะมีเวลาเหลืออีกสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เราจึงใช้เวลาทุกวันให้ดีที่สุด ส่วนระหว่างทาง เราก็ยังมีความหวังอยู่เสมอ เพราะเรารู้ว่ามันมียารักษามะเร็งที่รอเราอยู่ข้างหน้า
“นอกจากศึกษาธรรมะแล้ว การวาดรูป Zentangle (การใช้โครงสร้างของลายเส้นที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะร่วมสมัยและหลักการพื้นฐานของศิลปะโบราณ โดยเฉพาะลวดลายที่เกิดจากพิธีกรรมทางจิตวิญญาณของชนเผ่าต่างๆ อย่างชาวมายัน ชนเผ่าเมารี เมื่อหลายร้อยปีก่อนมาผสมผสานจนเกิดเป็นลวดลายเชื่อมต่อกัน) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้จิตใจเราจดจ่ออยู่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจริงๆ Zentangle เป็นกิจกรรมที่เพื่อนมาชวนให้ไปเรียนตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรเหล่านี้เลย เพราะเรามีชีวิตอยู่แต่กับทฤษฎี อ่านเรื่องหนักๆ มาตลอด ไม่ใช่คนประเภทรีเล็กซ์อะไรแบบนั้น จนกระทั่งปี 2565 ถึงได้เริ่มวาดอย่างจริงจัง พอได้มาวาดลายเส้นแบบนี้ ก็ทำให้ชีวิตสงบขึ้นนะ เวลาได้วาดมันทำให้จิตใจและกายเราได้จดจ่อ ได้ออกกำลังกายสมอง เพราะว่าถ้าสมองเราไม่มีอะไรคิด มันก็น่ากลัวอยู่ เพราะว่ามะเร็งอาจลุกลามไปได้ แถมพอทำไปเรื่อยๆ มันยังช่วยพัฒนาจิตใจ อารมณ์ สมอง แล้วเวลาได้เห็นแต่ละภาพเสร็จสมบูรณ์ยังทำให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจ เรายังพูดกับตัวเองอยู่บ่อยๆ เลยว่า ‘แหม เรานี่ก็ร้ายกาจไม่เบาที่คิดลวดลายนี้ได้’ (หัวเราะ) เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะมีจิตใจที่สามารถจดจ่ออยู่กับเส้น กับจุด ได้เป็นเวลานานๆ จนตอนนี้มีสมุดภาพ Zentangle เป็นเล่มๆ แล้ว (ยิ้ม)
“ถึงตอนนี้จะทำอะไรไม่ได้มาก แต่เราก็ยังพยายามช่วยคนเล็กคนน้อยอยู่ ซึ่งเราอาจช่วยคนอื่นในฐานะของการเป็นกระบอกเสียงไม่ได้แล้ว แต่เรายังสามารถช่วยเขาในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งได้ ล่าสุด ชาวบ้านในนราธิวาสที่เราเคยลงพื้นที่บอกว่าลองกองเยอะเลย ขายไม่ออก เราก็ช่วยเขาสั่งมาแล้วแจกคนที่ได้เจอกัน หรือบริจาคเงินไปช่วยเหลือเด็กข้างถนนที่พม่า ให้สภากาชาด นี่เลยเป็นสิ่งที่เราทำได้ในเวลานี้ ส่วนตอนนี้สิ่งที่เราอยากทำและพยายามจะทำอยู่ คือการทำงานเขียนเรื่องยามุ่งเป้า ด้วยประสบการณ์ของการเป็นผู้ป่วย เราอยากให้คนสามารถเข้าถึงยามุ่งเป้าได้มากขึ้นเพื่อให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะว่าผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดต้องอาศัยยามุ่งเป้าในการรักษา แต่การเข้าถึงมันไม่ใช่คนป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ เลยเป็นอีกหนึ่งงานที่อยากทำให้สำเร็จก่อนตาย (ยิ้ม)”
–
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์