นพเก้า เนตรบุตร ศิลปะจาก ‘เส้นด้ายและปลายเข็ม’ สู่อิสรภาพแห่งชีวิต

Human / Self-Inspiration

หลายๆ ครั้งที่เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานมักจะเปิดขึ้นเสมอ และทำให้เรามีโอกาสไปเจอะเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ของชีวิตผ่านประตูบานที่ว่า ประตูที่เปิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจ เปี่ยมไปด้วยพลัง รอยยิ้ม และความรัก เช่นเดียวกันกับชีวิตของ นพเก้า เนตรบุตร หรือ ‘ครูอ๋าย’ ที่ก่อนจะมาเป็นศิลปินปักลวดลายผ้าอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เธอคือสาวนักโฆษณาที่ได้ทำงานที่รักกับองค์กรในฝัน ความสำเร็จของเธอการันตีด้วยรางวัลมามากมาย ทว่าการใช้ชีวิตคร่ำหวอดอยู่ในวงการโฆษณาอยู่ถึง 20 ปีเต็ม แม้จะเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุก แต่ไฟที่เคยครุกรุ่นกลับค่อยๆ หมอดลงไปอย่างช้าๆ กระทั่งเธอพบว่านั่นไม่ใช่ชีวิตอย่างที่ต้องการ เธอรู้สึกว่างเปล่าภายในใจตัวเอง ครูอ๋ายจึงตัดสินใจลาออก หันหลังให้กับเงินเดือนสูงลิ่ว ถอดหัวโขนที่เคยสวมไว้ และเลือกกลับมาใช้ชีวิตให้ช้าลง อยู่อย่างเรียบง่ายขึ้น โดยมีรายได้จากการเป็นครูสอนปักผ้า งานที่เธอบอกกับเราว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขและความสบายใจในทุกวันๆ งานที่ทั้งสร้างความสนุกสนาน ส่งต่อแรงบันดาลใจ และเติมเต็มหัวใจให้กับตัวเองและลูกศิษย์ของเธอ เป็นงานที่เธออยากจะทำไปตลอดชีวิตนี้ 

จากนักโฆษณาสู่ศิลปินปักผ้า

“เราเรียนนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา เพราะตั้งใจแต่แรกว่าจะมาสายโฆษณา และปักหมุดว่าอยากทำงานที่ Ogilvy พอเรียนจบเราเริ่มทำงานที่บริษัทโฆษณาเล็กๆ จากตำแหน่งทราฟิก (traffic) ที่ประสานงานระหว่างครีเอทีฟกับ AE จนในที่สุดก็ได้เป็นโปรดิวเซอร์ที่ Ogilvy อย่างที่ตั้งใจไว้ แม้จะได้ทำงานโฆษณาและอยู่ในบริษัทที่ฝันไว้ แต่ในช่วง 20 กว่าปีกับการทำงานโฆษณากลับกลายเป็นว่าไม่ใช่ชีวิตที่เราอยากได้ ภาพภายนอกคนอาจมองว่างานที่เราทำดูแล้วน่าสนุก ซึ่งมันมีมุมสนุกอยู่ก็จริง แต่งานที่ทำไม่เป็นเวลา ทุกงานกระชั้นไปเสียหมดจนไม่มีเวลาได้ทำงานแบบสบายๆ เลย ตอนนั้นเรารู้สึกเหนื่อย กดดัน และเครียดมาก ยิ่งอายุเยอะขึ้น ร่างกายเริ่มไม่ไหวกับวิถีของงานโฆษณา จนไม่อยากจะอยู่ในจุดแบบนั้นแล้ว เป็นจุดที่ตัวเองเกือบจะเป็นโรคซึมเศร้า ตื่นเช้ามาแล้วไม่อยากไปทำงาน จำได้ว่าปีนั้นเป็นปี 2012 ที่เขาทำนายว่าโลกจะแตก เราถึงขั้นลุ้นทุกวันเลยนะว่าเมื่อไหร่โลกจะแตก อยากให้โลกแตกมากเลย 

“แต่จุดที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองหาทางออกจากภาวะ burn-out ได้ก็จากเฟซบุ๊กนี่แหละ เพราะเราเห็นเพื่อนคนหนึ่งไปเรียนปักผ้า แม้จะเป็นการปักภาพง่ายๆ ณ เวลานั้น แต่เรากลับรู้สึกว่าเป็นงานที่วิเศษมากๆ จึงตัดสินใจตามไปเรียน ตอนแรกเรายังไม่ชอบ เพราะตัวเองไม่ใช่คนที่มาแนวเย็บปักถักร้อย แต่ออกจะลุยๆ เร็วๆ เสียมากกว่า ช่วงแรกๆ ที่ฝึกยังทำไม่ค่อยได้หรอก แต่อาศัยฝึกฝนและลองปรับตัวเองใหม่ พอตกผลึกได้ก็รู้สึกหลงรักไปเสียแล้ว ช่วงเวลาที่เราเหนื่อยจากงานโฆษณา การปักผ้าจึงช่วยให้ผ่อนคลายลงไปมากและเป็นสิ่งที่เราตั้งตารอที่จะกลับบ้าน วันเสาร์อาทิตย์ก็อยากปักผ้า ทุกครั้งที่ทำงานเราจะโพสต์งานในเฟซบุ๊ก จนสตูดิโอ Joy Luck Club ที่เราไปเรียนเขาเห็นเข้า ประจวบเหมาะกับครูที่สอนเขาเสียชีวิต ช่วงรอยต่อที่ไม่มีครู เราเลยมีโอกาสได้ไปสอนแทนช่วงสุดสัปดาห์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ปรากฏว่าพอได้สอนก็ชอบมาก แต่ตอนนั้นยังไม่คิดจะลาออกนะ 

“กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยน วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เราปักผ้าอยู่ถึงจนตีหนึ่ง ก่อนจะเข้านอน เราทำโยคะนิดหนึ่งเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเมื่อยล้า ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุ ขาไปฟาดตู้กระจกทำให้เอ็นที่ข้อเท้าทั้งสองข้างขาดจนเดินไม่ได้ ช่วงพักฟื้นประมาณ 1 เดือน บริษัทเขาอนุญาตให้ทำงานอยู่บ้านได้ ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่มีคำว่า work from home แบบทุกวันนี้ เราทำงานติดต่อประสานงานช่วงครึ่งเช้า ส่วนครึ่งบ่ายที่เป็นภาคโปรดักชั่นจะถูกส่งต่อให้พนักงานคนอื่นๆ ในบริษัทไปดูแทน ช่วงบ่ายเลยมีเวลาไปปักผ้า ตอนนั้นเองที่พบว่าเราทำงานอยู่บ้านได้หนิ เมื่อก่อนเราลังเลนะว่าถ้าลาออกมา แล้วทำงานแฮนด์เมดอย่างเดียวจะพอเลี้ยงชีพไหม และถ้าไม่มีสังคมเลยแล้วอยู่กับบ้านคนเดียว เราจะอยู่ได้ไหม จึงได้คำตอบว่าเราอยู่ได้นะ หลังจากนั้นเลยเริ่มวางแผนชีวิตว่าถ้าจะลาออกจากงานแล้วไปให้รอดจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง เราเริ่มจัดการเรื่องการเงินเพื่อไม่ให้เป็นหนี้และมีเก็บเงินมากพอที่จะอยู่ได้สัก 6 เดือนแบบสบายๆ หากไม่มีรายได้เข้ามา หลังจากนั้นจึงลาออกมาเป็นครูสอนปักผ้าเต็มตัว ซึ่งถือว่าโชคดีมากเพราะจังหวะที่ออกมา ยังไม่มีสตูดิโอที่สอนงานคราฟท์ แล้วการที่คนจากสายโฆษณามาทำงานปักผ้าเลยดูแปลกและน่าสนใจ ทำให้เราเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เรียกว่าประสบความสำเร็จในสายปักผ้าเลยก็ว่าได้ จึงได้ทำงานปักผ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตอนนี้ก็ 10 ปีได้แล้วนะ”

ศิลปะดูแลใจ

“จากการเป็นพนักงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ข้อดีก็คือเราค่อนข้างเป็นอิสระ ทำงานตามที่เรากำหนดได้ อยากได้เยอะ เราก็ทำเยอะ อยากได้น้อย ก็ทำน้อย อยากพักผ่อนก็ไม่ต้องทำ แต่สิ่งที่ต้องรับมือให้ได้คือความไม่แน่นอน อย่างแรกคือรายได้ที่จะขึ้นอยู่กับเราว่าจะขยันและมีวินัยขนาดไหน เราจึงขยันเพื่อที่จะหารายได้ให้ใกล้เคียงกับที่เคยได้รับ บางเดือนที่อาจจะไม่เท่าทำให้เราเครียดอยู่บ้าง เพราะรายจ่ายมีแน่นอนในแต่ละเดือน แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ เราก็ผ่านมาได้

“ตอนนี้นอกจากงานสอนแบบตัวต่อตัว สอนออนไลน์  ทำเวิร์คช็อป และทำชุด kit สำหรับคนที่สนใจอยากทำงานปักแล้ว เรารับทำภาพประกอบด้วยเพราะใช้ Photoshop เป็น แต่เวลาทำงานอื่นๆ เราจะคิดว่าเมื่อไหร่จะเสร็จนะ เพราะอยากจะไปปักผ้าแล้ว เราทำงานทุกวันเลย ไม่ได้กำหนดวันพัก เพราะทำงานจนติดมือแบบที่ถ้าวันไหนไม่ได้ทำจะคิดถึง คงเพราะทำด้วยความรักความชอบ อย่างสมัยทำงานโฆษณาจะรอแต่วันหยุด (หัวเราะ) แต่นี่อยากทำงานทุกวัน ตื่นมาแทบจะเด้งตัวไปทำงาน อารมณ์นั้นเลยค่ะ (ยิ้ม)” 

ศิลปินปักผ้าไม่ต่างไปจากศิลปินที่ทำงานศิลปะแขนงอื่นๆ ที่พวกเขาใช้ผ้าเป็นเสมือนกระดาษ ใช้เข็มและด้ายแทนพู่กันและสี ใช้ความรู้สึกข้างในเป็นต้นน้ำในการบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึก ซึ่งความสนุกคือการได้คิดค้นและผสมผสานเทคนิคต่างๆ นำวัสดุรอบตัวมาเป็นองค์ประกอบเสริม ผสมรวมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง 

“การปักผ้าเหมือนกับการสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทอื่นๆ ที่ช่วยจรรโลงใจ ยิ่งงานปักผ้าเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก ทำให้เรามีโอกาสได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ทุกฝีเข็มที่ปักลงไป จะเกิดเป็นความคืบหน้าของงานที่เรากำลังทำ เราได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำเราในทุกๆ วินาที ซึ่งงานฝีมือลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวเราเข้าสู่ความจริงของโลก พอเราได้ทำอะไรแบบนี้ทุกวันเหมือนเป็นการได้ฝึกตัวเองทีละน้อย จนกระทั่งตัวเองและคนรอบข้างสัมผัสได้ว่าบุคลิกของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากคนที่ทำงานโปรดิวเซอร์มาก่อน ต้องดีลกับผู้คนมากมาย ต้องคุยกับใครต่อใครทั้งวัน คนที่เคยคิดไว พูดไว ขี้วีน ขี้หงุดหงิด เรากลายเป็นคนพูดและทำอะไรช้าลง ใจเย็นมากขึ้น ไม่โกรธง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว เรากลายเป็นคนที่เข้าใจโลกมากขึ้น ใจดีกับตัวเองและคนอื่นมากขึ้นเยอะ จะพูดว่ายอมรับความจริงและปล่อยวางมากขึ้นก็ได้ นี่คือข้อดีที่ได้จากการปักผ้า ซึ่งหลายๆ คนที่ได้ลองทำงานศิลปะแขนงนี้พูดตรงกันว่างานผ้าปักเป็นตัวช่วยเยียวยาชีวิตและจิตใจได้”

ไม่มองปัญหาเป็นปัญหา

“การมองและจัดการปัญหาคือการไม่มองว่าเป็นปัญหา ถ้าเราย้อนกลับไปบอกอะไรตัวเองตอนที่เป็นวัยรุ่นได้ เราคงบอกว่าอย่าไปจริงจังหรือซีเรียสกับปัญหาเลย เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวมันก็ไม่มีอะไร เพราะยิ่งเราไปปะทะ จะยิ่งเป็นเรื่องต่อไปไม่รู้จบ ซึ่งถ้าเราปล่อยวางได้ ช่างมัน ชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะเลย แต่ถ้าเราไปบอกตัวเองตอนวัยรุ่นก็คงจะไม่ฟังหรอก (หัวเราะ) เอาจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ดีหากปล่อยให้ตัวเราไปปะทะกับปัญหาดู เพราะเราจะได้รู้ว่าวิธีไหนที่ไม่ควรทำ เหมือนเป็นประสบการณ์ที่ต้องเจอ เรื่องแบบนี้ไม่มีทางลัดเลยนะ เราคิดว่าควรให้ชีวิตสอนว่าการมองและแก้ปัญหาแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุด แล้วเราจะตกผลึกเองว่าอะไรควรหรือไม่ควร พอถึงตอนนี้เลยรู้สึกว่าชีวิตไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะไม่มองว่าเป็นปัญหาอีกต่อไปแล้ว มองแค่ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ต้องทำคือการดีลกับมันไป แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อย แล้วไปทำอย่างอื่น 

“ที่คิดอย่างนี้ได้คงเพราะวัยและการปักผ้าที่ทำให้เราเหมือนนั่งนับประคำอยู่ทุกวัน พอใจเราเย็นและสงบลงจึงไม่ไปโกรธใคร หรือมองอะไรว่าเป็นปัญหา เพราะถ้ามีเรื่องให้โกรธ เราจะมีเวลาได้คิดและตกผลึกว่าอย่าโกรธ อย่าทะเลาะ คือไม่ปะทะกับใครแล้ว ถ้ารู้สึกโกรธก็จะเงียบ แล้วไปทำอย่างอื่นอย่างไปปักผ้าเดี๋ยวก็ลืม พอเราใจเย็น ไม่หงุดหงิด เวลามีแรงปะทะอะไรเข้ามา เราจึงโต้ตอบไปด้วยความไม่โกรธ ทุกอย่างในชีวิตเลยสงบขึ้น”

งานที่ทำจากความรัก

“ความคิดต่อการทำงานของเราเปลี่ยนไปมากเลยทีเดียวถ้าเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีก่อน งานที่ดีและมีคุณค่าสำหรับเราในเวลานี้คืองานที่ทำจากความรัก คือต้องสนุกและอยากทำ ถึงจะทำ ดังนั้น ถ้างานไหนไม่รู้สึกสนุก ไม่ชอบ หรือไม่อยากทำ เราจะไม่ทำ จะไม่ฝืนตัวเอง และไม่ทำงานที่ประมาณว่า ‘โอเคเงินเยอะ ทำดีกว่า’ จะไม่มีแบบนั้นแล้ว แต่เราไม่ได้โลกสวยจนเกินไป เรื่องเงินเราต้องคิดอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่จะเอาใจเป็นที่ตั้งก่อนและทำออกมาให้ดีที่สุด แบบนั้นจะดีกว่าที่จะไปมัวโฟกัสกับเรื่องต้นทุน การตลาด หรือการใช้เงินนำทาง พูดง่ายๆ คือทำงานด้วยใจ แล้วสิ่งตอบแทนไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ความสำเร็จ ความสุขจะตามมาเอง 

“แต่เราไม่ได้สนับสนุนว่าถ้าเบื่อ เหนื่อย เครียด ให้ลาออกไปซะเดี๋ยวนี้ ดังนั้น สำหรับคนที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะ burn-out เราคิดว่าต้องมองหลายๆ ปัจจัยซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน บางคนที่แม้จะ burn-out แต่มีปัจจัยเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง ต้องหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นแบบนี้ คำแนะนำคืออย่าเอาใจไปกลุ้มกับงานมาก ทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบของเราให้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเก็บไว้ก่อน แล้วเอาใจไปอยู่ที่อื่น ไปมีความสุขและสนุกกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตแทน เป็นต้นว่า วันหยุดให้ไปหาความสุขจากการท่องเที่ยว หางานอดิเรกทำ แต่ถ้าชีวิตเป็นอีกแบบ อย่างเช่นตัวเราเองที่ไม่มีครอบครัว ภาระเดียวที่ต้องรับผิดชอบคือตัวเราและแมว จากประสบการณ์ คืออยากให้คนที่มีชีวิตใกล้เคียงกันลองหาอะไรทำ หาอะไรเรียน หางานอดิเรก หากิจกรรมหลากหลายทำ แล้วดูว่าเราชอบอะไร หากเราชอบกิจกรรม A ลองมาดูว่าแล้วสามารถสามารถต่อยอดจากสิ่งที่ชอบเพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้ไหม เดี๋ยวจะเจอ จะรู้เองว่าเราไปต่อไหวไหม การเริ่มต้นใหม่แน่นอนว่าเราจะกลัว เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกังวลหรือกลัวจนเกินไป ให้ลองทำดูก่อน เพราะอย่างน้อยๆ เราจะรู้ว่าโอเค เราไม่ชอบสิ่งนี้นะ” 

ความไม่สมบูรณ์ที่สมบูรณ์แบบ

“จริงๆ เป้าหมายในชีวิตตอนนี้มีอยู่ไม่กี่เรื่องและเป็นเป้าหมายง่ายๆ ที่เราอยากทำให้สำเร็จในแต่ละวัน เราใส่นาฬิกาที่จะบอกว่าวันนี้นอนเท่าไหร่ เดินเท่าไหร่ เบิร์นเอาท์ไปเท่าไหร่ ถ้าทำได้ตามเป้า ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่เราเก็บเกี่ยวได้ 

“อีกอย่างคืออยากรวยกว่านี้ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็มาจากความกระตือรือร้นและขยันของเรานี่แหละ ส่วนสิ่งที่อยากจะทำให้ได้ เรื่องแรกคืออยากเขียนหนังสือแนวปรัชญา โดยเล่าผ่านการปักผ้า วิถีเข็ม และเทคนิคต่างๆ ว่าแต่ละลายบ่งบอกอะไร เราอยากเขียนเล่าให้ลึกซึ้ง แล้วมีภาพประกอบเป็นงานปัก จริงๆ มีเขียนไปได้สักบทสองบท แต่ก็มีงานเฉพาะหน้าที่ต้องหาเงินมาทำก่อน เรื่องเขียนหนังสือ เราคิดมาตั้งแต่ก่อนออกจากงานแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอัน เลยเหมือนยังติดค้างอยู่ในใจว่าฉันอยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ ประมาณนั้น อีกเรื่อง เราอยากมีสตูดิโอปักผ้าที่เป็นคลับปักผ้าให้คนเข้ามานั่งปักผ้า มาแฮ้งก์เอาท์กันได้ทั้งวัน แบบที่ใครอยากเข้ามาเรียนวันไหนก็เข้ามาเรียนได้เลย อยากทำอะไรแบบนั้น แน่ล่ะมันต้องใช้เงินพอสมควร เราเลยอยากรวยขึ้นและต้องรอเศรษฐกิจดีๆ ด้วย เพราะถ้าทำ เราอยากจะทำแล้วแน่ใจว่าจะไปรอด ต้องเอาให้แน่ใจจริงๆ ก่อน ตอนนี้แม้จะยังไม่ได้ทำ แต่เรามีเป้าหมายอยู่ว่าวันหนึ่งอยากจะทำให้ได้ 

“จริงๆ ความสุขทุกวันนี้ของเราก็เรียบง่ายมาก ได้อยู่กับแมวอย่างเจ้าม้งเม้งกับพี่อ้วน เพราะทุกวันนี้เราไม่มีครอบครัว ชีวิตเลยขึ้นอยู่กับแมว 2 ตัวที่เลี้ยง ทำงานหาเงินซื้ออาหารแมว ซื้อทรายแมว ดูหนัง ดู Netflix อ่านหนังสือ ได้ปักผ้า รวมทั้งการได้เห็นลูกศิษย์ที่มาเรียนกลับไปแล้วเขามีความสุข ได้เห็นพัฒนาการของพวกเขา ได้เห็นว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดทำให้เขาสามารถนำไปต่อยอดและหาเลี้ยงชีพเขาได้ นั่นหมายความว่างานที่เรารักได้สร้างรอยยิ้มและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ด้วย สำหรับชีวิตตอนนี้ เราถือว่าเพียงพอแล้วนะ (ยิ้ม)”

หากเปรียบชีวิตของครูอ๋ายเป็นลวดลายบนผ้าปัก ภาพนี้คงเป็นภาพผู้หญิงที่มีบาดแผลตามที่ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งบ่งบอกถึงร่องรอยของประสบการณ์ชีวิตที่ได้เรียนรู้มาจนเป็นตัวเธอในทุกวันนี้ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สำหรับเธอไม่ใช่การมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เพราะเราต่างมีข้อบกพร่อง มีบาดแผล มีความผิดพลาด มีอะไรเลวร้ายที่ไม่ได้อยากนึกถึง แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น เธอยังยิ้มได้ เธอรักทุกบาดแผลที่ตัวเองมี รักชีวิตในแบบของเธอ และคงเป็นความรักที่เธอมีต่อตัวเองในวันนี้ การเป็นเธอในเวอร์ชั่นที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบคือความสมบูรณ์แบบในแบบของเธอแล้ว  

ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 
Doknommeaw Play: www.facebook.com/doknommeawhandmade

บทความที่เกี่ยวข้อง