หลายคนมองว่าความแก่ชรานั้นเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ความแก่ชราก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นถึงจะกลัวแต่ The show must go on!
แล้วรู้หรือไม่ว่า เราไม่จำต้องทำใจให้แก่ชราตามอายุก็ได้นะ หรือถ้าจะเลิกนับอายุไปเลยก็ยิ่งดี เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า การที่เรารู้สึกอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงของเรา อาจช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
อายุจริง Vs อายุที่เรารู้สึก
โดยปกติเราจะนับอายุกันจากวันครบรอบวันเกิดที่ผ่านไปในแต่ละปี แบบนี้เรียกว่า อายุจริง หรือ chronological age ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่องไปตามวันเวลาที่ย้อนกลับมาไม่ได้
ในช่วงปีแรกๆ เราอาจตื่นเต้นดีใจไปกับการนับปีที่เพิ่มขึ้น แต่พอสัก 30 ปีให้หลัง การนับอายุชักจะไม่สนุก เพราะมักจะมาพร้อมความกังวลเรื่องสุขภาพและรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
นั่นทำให้เกิดการนับอายุอีกแบบที่เรียกกันว่า Subjective Age หรือ อายุที่เรารู้สึก คือไม่ยึดติดกับอายุจริงแต่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวกำหนด โดยทั่วไปวัยเด็กและวัยรุ่นมักจะรู้สึกว่าตัวเองแก่กว่าอายุจริง (เพราะอยากโตเร็วๆ) แต่วัยกลางคนและผู้สูงอายุมักจะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนกว่าอายุจริง (เพราะไม่อยากแก่เร็ว) ซึ่งวิธีคิดแบบนี้อาจดูเหมือนการหลอกตัวเอง แต่นักวิจัยกลับพบว่ามันดีต่อสุขภาพ
คนที่รู้สึกอ่อนกว่าวัย มีอายุยืนยาวกว่า
นักวิจัยจาก University College London ได้แจกแบบสอบถามให้ชายและหญิงจำนวน 6,500 คน ซึ่งมีอายุ 52 ปีขึ้นไป โดยให้ตอบคำถามว่า “คุณรู้สึกว่าอายุเท่าไหร่?” พบว่า ประมาณ 70% รู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริง ส่วน 25% รู้สึกว่าตัวเองอายุใกล้เคียงกับอายุจริง และ 5% รู้สึกว่าตัวเองแก่กว่าอายุจริง จากนั้นอีกแปดปีให้หลัง นักวิจัยได้ทำการติดตามผลจากผู้ตอบแบบสอบถาม ผลก็คือกลุ่มที่บอกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริงนั้นเป็นกลุ่มที่มีอัตรารอดชีวิตมากที่สุด
มันอาจจะเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้กลับสอดคล้องกับการติดตามศึกษากลุ่มตัวอย่างวัยกลางคนและผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า 17,000 คน โดย Yannick Stephan นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมงต์เปลลิเยร์ ในฝรั่งเศส ซึ่งพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รู้สึกว่าตัวเองแก่กว่าอายุจริง มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18-25% มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่รู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริง
ที่เป็นเช่นนี้นักวิจัยอธิบายว่า การที่เรารู้สึกว่าอายุน้อยกว่าวัย ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น มีแนวโน้มที่จะออกกำลังกายมากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้นนั่นเอง
ทัศนคติที่ดีต่อความแก่ชรา ช่วยให้รู้สึกอ่อนกว่าวัย
มาดูงานวิจัยอีกชิ้นจาก ดร. เดวิด ซินแคลร์ ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์จาก Harvard Medical School ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งสนใจเรื่องทัศนคติเชิงบวกของผู้สูงวัย
นักวิจัยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 14,000 คน โดยพบว่าผู้ที่มีความพึงพอใจสูงเกี่ยวกับการเป็นผู้สูงวัย (แก่แต่ไม่กลัว) มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่มีความพึงพอใจต่ำ (กลัวความแก่) แถมยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และโรคหัวใจ รวมทั้งการทำงานของสมองก็ดีกว่า มีภาวะเครียดน้อยกว่า ในขณะเดียวกันก็มีความกระตือรือร้นทางร่างกายมากขึ้นและนอนหลับได้ดีกว่าด้วย
สาเหตุสำคัญนั้นผู้วิจัยอธิบายว่า ทัศนคติที่ดีต่อความแก่ชรา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองนั้นอ่อนกว่าวัย ไม่ทำใจให้แก่ไปตามอายุ ส่งผลให้ยังคงมีความกระตือรือล้นที่จะดูแลตัวเอง ยังคงหากิจกรรมดีๆ ทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด ค้นหาเป้าหมายในชีวิตและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เช่น เรียนดนตรีหรือเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ และยังคงรักษามิตรภาพดีๆ มีกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อนฝูง
ตรงข้ามกับคนที่เมื่อมีอายุมากขึ้นแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแก่แบบจริงจัง ก็มีแนวโน้มที่จะละทิ้งความท้าทายหลายๆ อย่างในชีวิตไป และอยู่ในสภาวะเนือยนิ่งหรือซึมเศร้าซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพตามมานั่นเอง
ยิ่งเครียด ยิ่งแก่ สุขภาพยิ่งแย่
ทางด้านทีมนักวิจัยจาก German Centre of Gerontology ในเยอรมนีได้ทำการวิเคราะห์ผลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 5,000 คน เป็นเวลากว่า 3 ปี ผลที่ออกมาช่วยยืนยันฟันธงอีกเสียงว่าการรู้สึกว่าตัวเองอ่อนกว่าวัยนั้นส่งผลดีต่อร่างกาย เพราะคนที่รู้สึกว่าตัวเองอ่อนกว่าวัยนั้นมีทัศนคติเชิงบวกในการมองสิ่งต่างๆ และมองความแก่ชราในแง่ดี ไม่รู้สึกเครียดกังวล ซึ่งทำให้ลดผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากความเครียดได้มากมาย มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว
รู้สึกอ่อนกว่าวัยนั้นดี แต่ก็ต้องระวัง
จะเห็นได้ว่าการรู้สึกว่าตัวเองอ่อนกว่าวัยนั้นมีผลดีต่อสุขภาพจริงๆ แต่ก็มีจุดที่ต้องระวัง เพราะแม้ว่าใจจะไม่แก่ แต่ร่างกายอาจเริ่มเสื่อมสภาพไปตามวัย ควรเลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับสุขภาพร่างกาย กิจกรรมที่เคยทำได้สบายๆ ตอนหนุ่มสาว เช่น วิ่งไตรกีฬา หรือยกน้ำหนัก ก็อาจต้องเฝ้าระวังหรือลดระดับลงให้เหมาะสม เพราะอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ (อ่านเพิ่มเติม: ออกกำลังกายเบาๆ แต่ประโยชน์ไม่เบา)
โดยสรุปแล้ว การที่เรารู้สึกอ่อนกว่าวัยนั้นเป็นเรื่องดี ถ้ามันเกิดจากการที่เรามีทัศนคติที่ดีต่อความแก่ชรา ไม่เครียดกังวล และหมั่นดูแลสุขภาพกายและใจให้สมดุลอยู่เสมอ ถ้าทำได้แบบนี้ไม่ว่าจะอยู่ช่วงวัยไหนก็มีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวได้แน่นอนค่ะ
ชวนอ่านบทความเพิ่มเติมเพื่อเสริมความมั่นใจ…แม้สูงวัยก็ไม่ต้องกลัว: