‘วิชาเบาใจ’ ความสุขที่ยั่งยืนของ พริยาณีย์ นุติภัสสร์

Human / Self-Inspiration / Social-Inspiration

ครูพีซ-พริยาณีย์ นุติภัสสร์ คือนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญการฝึกทักษะด้านอารมณ์และการสื่อสารที่เชื่อว่า ‘ผู้ที่มีความสุขระดับลึกและสมดุลในตัวเองจะเป็นฟันเฟืองที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน’ เธอก่อตั้งสถาบัน ‘Taksa Chivit Academy’ หรือ ‘ทักษะชีวิต อะคาเดมี’ ขึ้นเพื่อเป็นแพลทฟอร์มในการสร้างความสุขที่ว่านี้ โดยบูรณาการความรู้ด้านศิลปะ จิตวิทยา การบริหารอารมณ์ และความสัมพันธ์เข้าด้วยกัน กับเป้าหมายสูงสุดที่ไม่ใช่เพียงแต่นำทางคนคนหนึ่งให้สามารถยอมรับ พอใจ และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อมอบพลังงานที่ดีให้กับคนรอบตัวเท่านั้น แต่คือการบ่มเพาะให้จิ๊กซอว์เล็กๆ เหล่านี้ให้มีความสุขสงบในแบบที่เป็น และสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจ ตลอดจนสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมในมิติที่กว้างและลึกขึ้นได้ และนี่คือสิ่งที่ครูพีซจะมาบอกเล่าให้เราฟังผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้

ศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘มนุษย์’ 

ย้อนเวลากลับไป ครูพีซคือนักศึกษาด้านการแสดงและกำกับการแสดงคนหนึ่งในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เริ่มต้นทำงานด้านสื่อสารมวลชนและบันเทิง ก่อนจะย้ายสายไปศึกษาด้านจิตวิทยาอย่างจริงจังในสาขาจิตวิทยาครอบครัวในระดับปริญญาโท ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศิริราชพยาบาล และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนของเธอในวันนั้น?

“พีซทำงานกับมนุษย์และการสื่อสารมาโดยตลอด ถ้าลองนับดูตั้งแต่ปี 2545 ก็น่าจะ 20 กว่าปีได้แล้วค่ะ เริ่มจากงานในแวดวงบันเทิงและสื่อสาร ขณะที่อีกวงการหนึ่งที่ทำควบคู่มาด้วยคือด้านการศึกษาที่จะเน้นด้านพัฒนาบุคลิกภาพให้กับเด็กๆ ผ่านศิลปะรูปแบบต่างๆ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2556 จนวันหนึ่งพีซได้เจอเคสที่น้องมีความต้องการพิเศษ น้องเป็น Asperger Syndrome หรือกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องด้านพัฒนาการทางระบบประสาทซึ่งมักเกิดในเด็ก โดยจัดอยู่ในกลุ่มอาการเดียวกับออทิสติกที่จะส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ภาษา การสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในสังคม ในเวลานั้นพีซยังไม่เข้าใจจึงไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือและแนะนำคุณแม่อย่างไรให้เหมาะสม เลยกลับมาพิจารณาดูและพบว่าความรู้ของเราตอนนี้คงไม่พอแล้วที่จะไปช่วยและเราไม่อยากช่วยแบบคนไม่รู้ แต่อยากช่วยด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะพีซมองว่าชีวิตเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงตัดสินใจไปค้นหาดูว่ามีที่ให้ความรู้ด้านไหนบ้างนะที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ด้วยพีซเรียนสายศิลป์มาก่อน การเปลี่ยนสายมาด้านทางการแพทย์จึงต้องใช้สมองอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่เคยใช้มาก่อน แต่โชคดีที่ได้รับความเมตตาและความช่วยเหลือจากทั้งรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ก่อนแล้ว และพี่ๆ ที่ดูแลห้องสมุดว่าจะต้องอ่านหนังสือเล่มไหนบ้าง โดยใช้เวลาเตรียมตัวอยู่ 1 ปีเต็ม ทั้งอ่านหนังสือและเตรียมพอร์ตผลงานเพื่อใช้ในการสมัครเข้าเรียนปริญญาโท เมื่อได้เรียน ความรู้ที่ได้รับสามารถตอบในสิ่งที่เราอยากรู้ได้หมด ทำให้พีซเข้าใจทั้งความปกติและความไม่ปกติของมนุษย์มากขึ้น อธิบายเป็นหลักการมากขึ้น พอเรียนจบ พีซจึงได้มาทำงานเป็นนักจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว ได้ทำงานเป็นนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนทันทีที่เรียนจบค่ะ

“พีซมองว่าความรู้ทั้งด้านศิลปกรรมและจิตวิทยาเป็นสาขาวิชาที่มีความเชื่อมโยงกัน นั่นคือเกี่ยวข้องกับมนุษย์ สำหรับด้านศิลปกรรมทำให้พีซมีโอกาสได้ศึกษาศิลปะในชีวิตมนุษย์ ขณะที่ด้านจิตวิทยาเป็นการศึกษามนุษย์ในอีกมิติหนึ่งบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการรวมสองศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันทำให้พีซสามารถช่วยเหลือคนได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ทักษะชีวิต อะคาเดมี

ครูพีซก่อตั้งแพลทฟอร์มที่ชื่อว่า ‘ทักษะชีวิตอะคาเดมี’ โดยให้คำปรึกษาใน 2 รูปแบบ แบบแรกคือ Private Practice for Holistic Balanced Life ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาแบบแบบ 1 on 1 เพื่อหาเส้นทางของการมีความสุขอย่างยั่งยืนให้กับผู้มาใช้บริการ และ Taksa Chivit Academy ซึ่งเป็นการรวมเอาความรู้เชิงจิตวิทยา การบริหารอารมณ์ และความสัมพันธ์ มาออกแบบเป็นโปรแกรมในการจัดการอารมณ์และความรู้สึกตัวเองให้ดีขึ้น ในรูปแบบที่ทุกคนเข้าเรียนได้ตามเวลาที่สะดวก

“สำหรับ Private Practice for Holistic Balanced Life จะเป็นการดูแลแบบส่วนตัวโดยเน้นให้คนตรงหน้าได้ฝึกฝนทักษะเพื่อหาวิธีจัดการกับความท้าทายต่างๆ ในชีวิตจริงที่ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเครียดหรือความกังวล ซึ่งส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะเป็นผู้ประกอบการหญิง เป็นคุณแม่ของลูกวัยรุ่น และบุคคลสาธารณะ ที่พีซจะเข้าไปฝึกโดยให้พวกเขาใช้เครื่องมือใหม่และวิธีใหม่ในการมองและแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการให้ความรู้แบบออนไลน์ให้หัวข้อต่างๆ ตัวอย่างเช่น ‘วิชาใจเบา’ ที่จะแนะนำแนวทางว่าทำอย่างไรให้ฉันใจเบาได้มากขึ้นที่ไม่ใช่แค่นั่งคิดนะ แต่ลงมือทำอย่างไรกับตัวเองได้บ้าง หรือ Homemade Self-healing การเยียวยาและดูแลอารมณ์ที่คั่งค้างในใจตัวเองที่เราสามารถเอาออกมันไปอย่างไรได้บ้าง โดยทุกๆ หลักสูตรจะถูกอธิบายบนหลักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งแต่ละหัวข้อจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยให้ผู้คนสามารถนำไปใช้พึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น 

“ที่ผ่านมา พีซประทับใจทุกเคสเลยนะคะ แต่ถ้าจะยกตัวอย่างคงเป็นเคสที่พีซมีโอกาสเข้าไปดูแลคุณแม่นักธุรกิจที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น เคสนี้มาด้วยปัญหาชีวิตคู่ ซึ่งเต็มไปด้วยความโกรธและสั่นคลอนมากๆ เมื่อมีการฝึกทักษะไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขามีแนวทางและมุมมองในการมองปัญหาเปลี่ยนไป สามารถพบคุณค่าในตัวเอง มีเป้าหมายที่ต้องการให้ชีวิตไปสู่เส้นทางสงบและผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งโฟกัสไปที่การดูแลจิตใจตัวเองเป็นหลัก เมื่อความคิดเปลี่ยนจากที่มองปัญหาไปที่คนอื่น แล้วกลับมาดูแลและให้ความสำคัญกับตัวเอง ปรากฏว่าครอบครัวสามารถกลับมาเข้าใจกันมากขึ้น รักกันยิ่งกว่าเดิม แถมทักษะที่ฝึกฝนกันไปได้ช่วยให้คุณแม่ท่านนี้สนิทใจกับลูกมากขึ้นด้วย ดังนั้น การเลือกที่จะโฟกัสตัวเองก่อน กลับมาเคลียร์ใจและยอมรับตัวเองในทุกๆ อย่างทำให้สถานการณ์จากเดิมที่เปราะบางมากๆ กลับกลายเป็นดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกวันนี้คุณแม่ท่านนี้พอใจกับตัวเองมากๆ บรรยากาศในครอบครัวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่ตั้งใจมาเพื่อแก้ปัญหาเดียวคือสามีนอกใจ กลายเป็นยกระดับความสุขไปทั้งครอบครัวเลย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเคสที่ประทับใจเพราะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ที่สำคัญคือส่งผลกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวด้วย”

ละเอียดอ่อน แต่เบาสบาย

“การทำงานที่ต้องรับฟังปัญหาและความทุกข์ของผู้อื่นอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือเราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม เรื่องส่วนตัวจะต้องทำให้โปร่ง โล่ง สบาย ไม่ติดขัด ถ้ามีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้น เราต้องมาจัดการตัวเองให้ใจว่างอย่างรวดเร็วก่อนเพื่อให้ใจเราพร้อมจะดูแลคนตรงหน้า พีซจะรู้ลิมิตตัวเองว่าเราถนัดและไม่ถนัดเรื่องไหน เรื่องไหนที่ไม่เชี่ยวชาญหรือยังขาดความรู้ พีซไม่รอที่จะขอให้ทีมเข้ามาช่วย เช่น ถ้ามีเคสที่พีซรู้สึกว่ามีความซับซ้อนนะ พีซจะขอให้อาจารย์ คุณหมอ นักบำบัด หรือบางคนดูแล้วว่าเหมาะกับ energy healing หรือโค้ช พีซจะพาคนที่เหมาะสมที่จะพาเขาไปถึงจุดหมายร่วมกันเข้ามาเป็นทีมเสริมเพื่อช่วยกันดูแล โดยจะไม่ได้แบกทุกอย่างไว้กับเราเพียงคนเดียว เมื่อยึดแนวทางนี้ พีซเลยไม่เคยกดดันตัวเอง รู้สึกสบาย และมีความสุขทุกๆ ครั้งที่ได้เข้าไปดูแลทุกคน

“ส่วนในวันที่เจอกับปัญหา มีความเครียดเข้ามาให้ต้องจัดการ พีซจะเน้นการเข้าใจธรรมชาติ อาจจะดูเหมือนว่าพีซเรียนมาหลากหลาย แต่พีซยึดอยู่หลักเดียวคือธรรมชาติ คงเพราะตัวเองที่อยู่กับธรรมะมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นพีซมีโอกาสได้ศึกษาปรัชญาเต๋าทั้งตำราและการปฏิบัติด้วย จึงยังนำมาผสมผสานกับศาสตร์ต่างๆ ที่ได้เรียนมา ซึ่งทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางแบบเดียวกัน เลยทำให้เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรเข้ามา พีซจะไม่ต่อต้าน เพราะถ้าเราต่อต้าน เราจะทุกข์ แต่หากยอมรับได้ นั่นจะทำให้เราสบายใจ นี่เลยกลายเป็นวิธีคิดที่พีซใช้ในวันที่เจอเรื่องท้าทายในชีวิตค่ะ

“ถ้าถามว่ามีจุดในที่วิกฤตที่สุดไหม สำหรับพีซทุกๆ จังหวะของของชีวิตจะมีบททดสอบเข้ามาให้เราแก้โจทย์อยู่เสมอ และ ณ เวลานั้น ในวันที่เรายังไม่มีเครื่องมือหรือภูมิคุ้มกันที่มากพอกับปัญหาที่ใหญ่กว่า เรามักจะรู้สึกหนักอึ้งที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเมื่อผ่านมาได้ แล้วหันกลับไปมอง เหตุการณ์นั้นสอนและให้อะไรกับเราบ้าง พีซจะขอบคุณทุกความท้าทายในชีวิตเสมอ แม้เวลานั้นเราจะทรมาน แต่เราได้สะสมทักษะและบทเรียนชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทำให้พีซมองทุกเรื่องอย่างเป็นกลาง และอาจเป็นความคิดที่มองแบบเป็นกลางแบบนี้ละมั้งที่ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่าครั้งใดครั้งหนึ่งหนักที่สุดหรือยังมีปมที่คั่งค้างในใจ

“ถ้าย้อนเวลากลับไป เวอร์ชั่นในอดีตตั้งแต่เด็กๆ จนถึงช่วงจบปริญญาตรีและทำงานแรกๆ จะเป็นเด็กสาวชื่อพีซที่ตั้งอกตั้งใจใช้ชีวิต แบบที่ชีวิตเราต้องปัง มีถ้วยรางวัลเต็มบ้าน ชอบจัดแจง ทุกอย่าง คำที่เพื่อนจะนิยามคือคำว่า ‘เป๊ะ’ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมามันดีมากนะคะ แต่ว่าข้างในกลับมีความเครียดสูงมากๆ แล้วดันไม่รู้ตัวด้วย พอ 10 ปีให้หลัง พีซเริ่มเดินทางสู่ความเป็นจริงมากขึ้นว่ามนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ทันทีที่เข้าใจและยอมรับข้อจำกัดของตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ไหล่ที่เคยแบกอะไรหนักอึ้งก็ผ่อนลง บุคลิกพีซเปลี่ยนไปเลย คำว่า ‘เป๊ะ’ ที่เคยมีก็ยังมีอยู่บ้างในบางโอกาส แต่นั่นจะเป็นการเลือกของเราว่าอยากเป๊ะในโอกาสไหนบ้าง และไม่ให้ ‘ความเป๊ะ’ มาครอบเราอีกแล้ว กลายเป็นตอนนี้พีซใช้ชีวิตด้วยความเบาสบายและสุขสงบมากขึ้น พร้อมที่จะซัพพอร์ตผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่แค่ความคิดแต่มันไปทั้งร่างกาย อารมณ์ และสังคมรอบข้างอย่างนั้นเลย

“พีซเคยได้ยินเรื่องหนึ่งจากหนังสือชื่อ ‘Zarathustra’ (ซาราธุสตรา) เขียนโดย Friedrich Nietzsche (ฟรีดรีช นิทเช่, 1844-1900) นักปรัชญาชาวเยอรมนี ซึ่งตรงกับชีวิตพีซมากๆ เขาบอกว่าชีวิตมนุษย์มี 3 ระยะ ระยะที่ 1 คือเราเป็นเหมือน ‘อูฐ’ ระยะที่สองเป็น ‘สิงโต’ และสุดท้ายคือ ‘เด็ก’ คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตจะเป็นแบบนี้ ครั้งแรกที่ได้อ่าน พีซงงมากว่าเกี่ยวอะไร แต่เมื่อมาพิจารณา ก็พบว่า สเตจของอูฐคือช่วงชีวิตที่เราแบกรับความคาดหวังไว้ทั้งหมด ทั้งจากสังคม ครอบครัว และตัวเอง ชีวิตเวลานั้นของพวกเราจึงหนักไปหมด เป็นวัยที่เราจะต้องอึด ถึก ทน สเตจที่สองอย่างสิงโต คือผู้มีอำนาจ แบบที่ไปที่ไหนก็มีแต่คนเกรงขาม ต้องการอะไรดีดนิ้วได้หมด ขณะที่สเตจที่สาม เป็นสเตจที่คนมักไปไม่ถึง นิยามของสเตจนี้คือชีวิตที่ล้มง่าย ลุกง่าย ทำทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยความกลัว เป็นชีวิตที่ความรู้สึกข้างในเป็นเหมือนเด็ก พีซรู้สึกว่าภายในของตัวเองค่อนมาทางนี้ ซึ่งหวังว่าเราจะไปใกล้ในจุดนี้มากขึ้นๆ ค่ะ”

นักจิตวิทยาในห้องสมุดขนาดใหญ่

“ในบทบาทของการเป็นนักจิตวิทยา เหมือนพีซได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ทุกวัน งานนี้สอนให้พีซไม่ตัดสินคน ต่อให้เคสที่มาจะมีความคล้ายคลึงกันมากแค่ไหน แต่ทุกคนแตกต่าง และเราจะต้องวางสิ่งที่เคยรับฟัง แล้วจดจ่อกับแค่คนตรงหน้าว่าเขามีปัญหาอะไรที่เราจะต้องเข้าไปช่วยดูแล หรือบางคนที่เป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกสังคมบอกว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พีซไม่เคยสนใจอะไรที่เรารับรู้มาเลย แต่โฟกัสคนที่อยู่ตรงหน้ากับเราเท่านั้นว่าจริงๆ เขาเป็นอย่างไร ซึ่งช่วยให้พีซบริหารเรื่องการมองคนอย่างเป็นกลางและไม่ตัดสินคนเป็นอย่างมาก  การได้ฝึกให้ตัวเราไม่ตัดสินคนในทุกๆ การทำงานของเรา ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะสังคมทุกวันนี้ชวนให้เกิดการตัดสินกันอยู่ตลอด

“อีกสิ่งหนึ่งที่พีซเรียนรู้ คือจากเดิมที่พีซโฟกัสคือการดูแลเด็กๆ เป็นหลัก การได้มาทำงานกับผู้ใหญ่ เป็น self-care and well-being psychologist ทำให้พีซค้นพบว่าเด็กจะปรับตัวได้ดีและเร็วมากเมื่อคุณแม่ผ่อนคลาย มีความสุข และมีวิธีที่ถูกต้อง การปรับที่แม่คุ้มค่ามากเพราะจะช่วยสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคม เมื่อพลังงานแม่สมดุล โลกเปลี่ยนไปเลยนะคะ ถ้าเทียบธรรมชาติ แม่เหมือนพลังงานของน้ำซึ่งมีปริมาตร 3/4 ของโลก ถ้าน้ำสะอาด น้ำดี มีคุณภาพไป 3 ส่วน 4 ของโลก ต้นไม้ก็สามารถเติบโตและงอกงามได้อย่างดีและเต็มที่  ดังนั้น ในเวลานี้พีซเลยโฟกัสที่การดูแลผู้หญิงเป็นหลักค่ะ”

บำบัดทุกข์ เพิ่มพูนสุขแบบ Bio – Psycho – Social

“เรื่องความกังวลและความเครียด คนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่ามันอยู่ในระดับของความคิด เมื่อเกิดความเครียดหรือกังวลใจ เรามักจะบอกตัวเองว่า ‘เราไม่ได้คิดอะไรนะ คงไม่เครียดและกังวลหรอก’ เราไปโฟกัสที่ความคิดเสียมาก ซึ่งความคิดลักษณะนี้อาจจะทำให้เราไม่ได้แก้ปัญหาที่รากสักเท่าไหร่ พีซอยากสะท้อนว่า ลองฟังเสียงร่างกายให้มากขึ้น เช่น ที่เรานอนไม่หลับ ที่ไหล่เราตึง คอเราแข็งขนาดนี้ เขากำลังบอกอะไรเรา เขาอยากให้เราขยับหน่อยไหม หรือท้องของเราที่กำลังปั่นป่วน เขาตะโกนบอกอะไรเรา เราลองทานแบบพอดีๆ ดูไหม ร่างกายเขาพยายามจะส่งเสียงบอกเราตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนว่าเรามีความเครียดและความกังวลที่ต้องจัดการซึ่งบางทีสิ่งเหล่านั้นนึกเป็นคำหรือเป็นเรื่องไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเราเครียดหรือกังวลจากอะไร แต่มันได้ถูกสะสมไว้แล้ว ดังนั้น หลักการง่ายๆ คือ Bio – Psycho – Social (ชีวะ-จิต-สังคม) Bio คือเริ่มที่ร่างกายก่อน ฟังเสียงร่างกายว่าเขากำลังบอกอะไรและจัดการเขา เมื่อร่างกายของเราดี เรานอนดี ย่อยดี กล้ามเนื้อทุกอย่างแข็งแรงและผ่อนคลาย นั่นจะส่งผลต่ออารมณ์จะดีตามไปด้วย เมื่อภายในจิตใจเราดีแล้ว พลังดีๆ จะส่งต่อไปยังคนรอบข้าง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นได้แบบไม่ต้องพยายามค่ะ

“เมื่อเรา ‘สอดคล้อง’ ทั้งภายในและภายนอก ความสุขจะมาเองโดยธรรมชาติ แทบจะไม่ต้องสร้างเลย หมายความว่า ถ้าวันนี้ตัวเราไม่พร้อมที่จะเจอคน เราเพียงแค่ทำให้สอดคล้องกับความรู้สึกของเรา กล่าวขอโทษคนที่ชวนว่า ‘เป็นไปได้ไหมถ้าวันนี้เราขอเลื่อนออกไปก่อน แล้วพบกันคราวหน้า’ หรือ ในวันนี้เรารู้สึกว่าอยากแบ่งปัน เราอาจจะถ่ายคลิปเพื่อบอกเล่าสิ่งที่เราอยากส่งต่อกับทุกคน เป็นต้น แบบนี้ที่พีซเรียกว่าสอดคล้อง คนจำนวนมากไม่มีความสุขเพราะว่าข้างในกับการแสดงออกคนละแบบ สำหรับพีซยิ่งฝืนจะยิ่งเหนื่อย พีซจะฟังเสียงใจของเราและซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ที่สำคัญคือจะทำบนความเคารพและให้เกียรติผู้อื่นเสมอ”

สิ่งดีๆ จากคนรอบตัวสร้างคุณค่าให้ชีวิต

ครูพีซบอกเราว่า เธอคือนักสังเกตการณ์ที่ชอบเก็บเล็กผสมน้อยสิ่งดีๆ จากคนรอบตัว การที่เธอเป็นเธอในทุกวันนี้ เกิดจากส่วนผสมในเรื่องความเย็นและเบาสบายจากคุณยาย การเป็นซัพพอร์ตเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและความสุขของคนในครอบครัวจากคุณแม่ รวมถึงอารมณ์ขัน การปล่อยวาง และการมองปัญหาแบบมุมบวกจากคุณพ่อ  

“นอกเหนือจากครอบครัวแล้ว พีซจะแบ่งต้นแบบชีวิตของตัวเองออกเป็นอีก 2 แบบ คือ ‘มนุษย์’ และ ‘อมนุษย์’ มนุษย์คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ทั้งด้านธุรกิจ กฎหมาย ความสัมพันธ์ ธรรมะ การบริหารคน ซึ่งบุคคลนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่พีซมีโอกาสได้ใช้เวลาด้วยกันกับเขาจริงๆ แบบที่เราได้สัมผัสความเป็นเขาแบบตัวเป็นๆ ดังนั้น อะไรที่ดี พีซจะซึมซับและนำมาปรับใช้กับตัวเราเอง ส่วนฝั่งที่เป็นอมนุษย์ พีซจะมองแบบอย่างจากภูเขา สายน้ำ สัตว์ป่า พีซชอบดูสัตว์ป่าว่าเขาคิดอะไร ทำอะไร พลังจากแก่นธรรมะที่จะหยิบมาเติมพลังให้ตัวเองในแต่ละสถานการณ์และบริบท คงเพราะทีมของพีซเยอะมาก เลยไม่หมดแรงง่ายๆ (หัวเราะ) เหมือนกับว่าพอเราจะหมดแรงปุ๊บ ก็จะมีสิ่งรอบตัวให้เราได้ศึกษาและรับพลังต่อไปได้อีก 

“การได้เห็นคนที่พีซเข้าไปดูแลรู้คุณค่าและความสามารถในตัวเอง รวมถึงการยอมรับความจริงได้ เห็นพวกเขาเติบโต แข็งแรง และส่งต่อพลังงานที่ดีให้คนรอบข้างโดยไม่ต้องพยายาม ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ แต่ทำด้วยหัวใจที่ผ่อนคลายและอยากจะทำ เห็นเขาเบาลงและมีทักษะที่สามารถเผชิญโจทย์ยากๆ ในชีวิตมากขึ้น ทุกครั้งที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรแบบนี้จากใครก็ตาม นอกจากจะรู้สึกภูมิใจในตัวพวกเขาแล้ว ยังทำให้หัวใจของพีซทั้งพองโตและอิ่มเอมค่ะ (ยิ้ม) ยิ่งไปกว่านั้น คือพีซภูมิใจที่ตัวเองมีบทบาทในการเป็นเบื้องหลังของบุคคลเหล่านี้ บุคคลที่จะนำพลังงานดีๆ ไปส่งต่อให้กับคนรอบข้าง หรือใหญ่กว่านั้นคือสังคม ประเทศ และโลกใบนี้ต่อไป

“ทุกวันนี้ พีซรู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลาในการรอเพื่อที่จะได้ดูแลใครสักคน คนที่จะไปเป็นแสงสว่างดวงใหญ่ให้กับตัวเขาเอง ครอบครัว และสังคมของเรา การได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังแสงสว่างเหล่านั้น เป็นแรงขับดันให้พีซอยากเตรียมความพร้อมให้ตัวเองอยู่เสมอ คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าพวกเขาคือเหตุผลที่พีซทำให้พีซอยากจะตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้าค่ะ (ยิ้ม)”

ช่างภาพ: สราวุฒิ ขันโปธิ
เพิ่มเติม: krupeacefamily.com 

บทความที่เกี่ยวข้อง