ทำความรู้จัก Hyperbaric Oxygen Therapy ที่รักษาได้หลายโรค

Health / Others

เรารู้จักการบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) กันดีอยู่แล้ว ว่าคือ การให้ออกซิเจนเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดและปอดแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxemia) เช่น ผู้ป่วยโรคปอดบวม มะเร็งปอด โรคปอดอุดตันเรื้อรัง และโรคโควิด-19 ฯลฯ แต่ยังมีการบำบัดด้วยออกซิเจนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้เป็นเป็นเพียงการช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้นหรือยืดอายุขัยของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสามารถรักษาโรคได้หลายโรค นั่นคือ การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy หรือ HBOT)

‘การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง’ คืออะไร

ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง จะถูกนำเข้าไปในห้องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric Chamber) ที่มีความดันภายในสูงกว่าปกติ 1-3 ชั้นบรรยากาศ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ในปริมาณที่สูงกว่าการหายใจในชั้นบรรยากาศปกติหลายเท่าตัว ปริมาณออกซิเจนที่ได้รับนี้จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่ขาดเลือดได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ลดอาการบวม ช่วยให้แผลหายเร็ว และกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อ รวมทั้งช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย 

ปัจจุบัน ทางการแพทย์ใช้การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงในหลายโรค เช่น

  • ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ (CO poisoning) 
  • ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์ (Cyanide poisoning)
  • แผลฉกรรจ์หรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการบีบหรือบดทับ (Crush injury)
  • ภาวะเนื้อตายเน่า (Gangrene) 
  • โรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ
  • โรคฟองอากาศอุดตันในหลอดเลือด (Air or gas embolism)
  • โรคแอคติโนมัยโคซิส หรือ การติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรัง (Actinomycosis)
  • แผลจากเบาหวานที่ไม่สามารถรักษาได้ (Diabetic wounds)
  • โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) 

ขั้นตอนการบำบัด

ห้องปรับบรรยากาศที่โรงพยาบาลส่วนมากในประเทศไทยเปิดให้บริการอยู่ คือ ห้องเดี่ยว (Monoplace chamber) ที่มีลักษณะเป็นท่อใสขนาดยาว คล้ายเครื่อง MRI โดยก่อนเข้ารับการบำบัด ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ จากนั้นเมื่อนอนลงบนเตียง จะถูกเคลื่อนเข้าไปภายในยังท่อดังกล่าว และแพทย์จะเปิดออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% โดยค่อยๆ ปรับเพิ่มความดันออกซิเจน

ในระยะแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อ คล้ายเวลานั่งเครื่องบิน แต่แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น แพทย์หรือพยาบาลจะคอยสังเกตอาการผู้ป่วยตลอดเวลา โดยในบางแห่งอาจมีเครื่องมือที่ใช้ติดต่อกับผู้ป่วยระหว่างที่อยู่ในห้องปรับบรรยากาศ ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัดแต่ละครั้งอยู่ที่ราว 45-90 นาที ขึ้นอยู่กับอาการป่วยของแต่ละคน โดยระหว่างที่อยู่ในห้อง ผู้ป่วยสามารถผ่อนคลาย นอนหลับพักผ่อน หรือดูโทรทัศน์ได้

ความปลอดภัย

การรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงจัดเป็นการรักษาเสริมวิธีหนึ่งที่ใช้ร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรม เป็นการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และจัดว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง โดยได้รับการรับรองจากสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูง (Undersea and Hyperbaric Medical Society)

อย่างไรก็ตาม การรักษาชนิดนี้ไม่ควรใช้กับผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหรือมีการบาดเจ็บในช่องหู เป็นไข้หวัด มีไข้ หรือป่วยด้วยโรคทางปอดบางประเภท ส่วนผู้ป่วยทั่วไปอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น หูอื้อ ปวดหู ปวดไซนัส แต่อาการจะไม่มากนัก ส่วนอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่พบได้น้อยมาก คือ ภาวะออกซิเจนเป็นพิษ

จากอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางราย แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องที่สุดว่าผู้ป่วยสามารถเข้ารับการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงได้

ที่มา:
hopkinsmedecine.org
si.mahidol.ac.th
chulalongkornhospital.go.th
bamrungrad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง