เหตุการณ์สะเทือนใจเสี่ยงต่อโรค PTSD (โรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง)

Brain / Health

PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง คือภัยเงียบที่กำลังส่งผลเสียต่อสุขภาพใจและกายของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตพบว่าคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรค PTSD ตลอดช่วงชีวิตร้อยละ 0.9 หรือประมาณการณ์ว่ามีผู้ป่วยมากถึง 470,000 คนเลยทีเดียว เราเลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับโรค PTSD ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เฝ้าระวังและหาวิธีรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้อาจใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

โรค PTSD คืออะไร?

โรค PTSD คือภาวะป่วยทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุการณ์จี้ปล้น ฆาตกรรม ก่อการร้าย การจลาจล สภาวะสงคราม การพบเจอสถานการณ์ที่คุกคามชีวิต หรือความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้มักได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างหนัก และเกิดสภาวะเครียดอย่างรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง

ใครบ้างควรเฝ้าระวัง?

โรค PTSD สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จากสถิติพบว่าผู้หญิงมีโอกาสได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า เพราะผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางกายและถูกคุกคามทางเพศมากกว่านั่นเอง

นอกจากนี้กลุ่มคนที่ควรเฝ้าระวังภาวะ PTSD เป็นพิเศษก็คือ คนที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาก่อน เช่น ถูกทำร้ายตอนยังเด็ก คนที่มีอาการทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล หรือคนที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว และคนที่ชอบดูข่าวและเสพข้อมูลที่สะเทือนใจเป็นประจำก็อาจเป็นโรค PTSD ได้แม้เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดกับตัวเอง

ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกเกิดความกระทบกระเทือนทางใจจากการสูญเสียคนที่รัก สูญเสียโอกาสทางการงาน และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างกะทันหัน โดยประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมากกว่าเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรค PTSD เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

หมั่นสังเกตอาการต้องสงสัย

อาการของโรค PTSD มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละคน รวมถึงช่วงเวลาที่มีอาการก็ต่างกัน บางคนมีภาวะ PTSD เฉียบพลันหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงทันที แต่บางคนอาจผ่านไปเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าอาการจะปรากฏ บางคนมีอาการบ่อยๆ บางคนมีอาการนานๆ ครั้ง หรือบางคนก็เป็นๆ หายๆ โดยทั่วไปสามารถแบ่งอาการออกเป็น 4 แบบดังนี้

  1. มองเห็นภาพเหตุการณ์สะเทือนใจย้อนมาบ่อยๆ เกิดภาพหลอน หรือฝันร้าย นำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์ทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเหงื่อออก
  2. ไม่กล้าพูดถึงและไม่กล้าเผชิญหน้ากับสถานที่ ผู้คน หรือสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจนั้น
  3. มีภาวะตื่นกลัว ตกใจง่าย ถูกกระตุ้นง่าย หงุดหงิดโมโหบ่อย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และวิตกกังวล
  4. อารมณ์ความคิดเปลี่ยนไปในทางลบ มองโลกในแง่ร้าย มองตัวเองในแง่ลบ ไม่มีความสุข ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง และอาจนำไปสู่ความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังที่กล่าวมานี้ต่อเนื่องยาวนานเกิน 1 เดือน หรืออาจไม่ถึง 1 เดือนแต่มีอาการหนักมากจนใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง หรือทำงานไม่ไหว ให้สงสัยว่าเข้าข่ายเป็นโรค PTSD และรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที 

โดยสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอาการได้ที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลต่างๆ และโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีรับมือและการรักษา

  • ผู้ที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญควรสังเกตอาการผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ 
  • เมื่อพบสัญญาณของโรค PTSD ก่อนอื่นต้องยอมรับให้ได้ว่าตัวเรากำลังมีปัญหา กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว และกล้าที่จะไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยตรง 
  • วิธีการรักษาของแพทย์มีทั้งการกินยา ร่วมกับการทำจิตบำบัดเพื่อฝึกให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะ PTSD ด้วยตัวเอง เช่น ฝึกให้ปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เคยหวาดกลัว รวมทั้งการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด คือการพูดคุยแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกกับกลุ่มคนที่เคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน 
  • ระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนแตกต่างกัน แปรผันไปตามความรุนแรงและความยาวนานของเหตุการณ์ที่เจอ และความสามารถในการรับมือของแต่ละคน
  • พยายามหาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง หากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจ และฝึกเบี่ยงเบนความคิดเมื่อเกิดความเครียด เช่น ทำสมาธิ หรือกำหนดลมหายใจ 

ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับ ‘ใจ’​ นั้นมักถูกมองข้าม  เพราะบางคนคิดว่าเป็นแค่ภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวและคงหายเองได้ แต่ที่จริงความเจ็บป่วยทางใจก็สำคัญไม่แพ้ความเจ็บป่วยทางกาย และต้องการการดูแลรักษาที่เหมาะสมและทันเวลาเช่นกัน

– 

ที่มา: 
psychcentral.com 
www.rama.mahidol.ac.th
chulalongkornhospital.go.th
www.thaiheartfound.org
www.who.int

บทความที่เกี่ยวข้อง