ก้าวข้ามความกลัวเพื่อเติบโตและเปลี่ยนแปลงในแบบ ภารดี อาภาธร

Human / Self-Inspiration

การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงมักมาพร้อมกับความกลัวและความท้าทายอยู่เสมอ เพราะเราไม่รู้เลยว่า สิ่งเหล่านั้นจะนำพาเราไปเจออะไร ต้องทำอะไร และผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นแบบไหน หลายๆ ครั้ง เราเลยเลือกที่จะไม่ทำอะไรเพราะสิ่งและพื้นที่ที่ยืนอยู่นั้นดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับ ฝ้าย – ภารดี อาภาธร เพราะเธอเลือกจัดการกับความท้าทายและความกลัวเพื่อเติบโตและเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ต่างออกไป 

ฝ้ายเลือกเรียนด้าน CG (Computer Graphics) ในช่วงเวลาที่น้อยคนนักจะหันมามอง เพราะเป็นสาขาการออกแบบที่ทั้งยากและใหม่มากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก่อนที่เธอจะผันตัวไปทำงานกราฟิก งานออกแบบนิทรรศการ และอินทีเรีย แบบไม่มีพื้นฐานมาโดยตรง แต่อาศัยทักษะพื้นฐานด้านออกแบบ ความชอบ ความขยัน และตั้งใจ เก็บเกี่ยวความรู้ ตลอดจนประสบการณ์จากการลงมือทำจริง จนขยับสถานะจากนักออกแบบจูเนียร์สู่ดีไซเนอร์ที่งานชุกมากคนหนึ่ง ในทางคู่ขนาน เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งร้านกาแฟสไตล์วินเทจอย่าง Oldman Café กับเต้ (คุณพรพจน์ พลายงาม) คู่ชีวิตของเธอ และเป็นนักเซิร์ฟสเก็ตที่เริ่มต้นจากความกลัว แต่เลือกที่จะกระโดดข้ามพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองด้วยการฝึกยืน ฝึกเทิร์น ฝึก carve จนปัจจุบันฝ้ายคือแฟนตัวยงของกีฬาดังกล่าวและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสนามเซิร์ฟสเก็ตนามว่า ‘Moldna Club’ พื้นที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่ฮับแห่งใหม่ของเหล่าสเก็ตเตอร์ แต่คือชุมชนที่เกิดขึ้นเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและพลังงานดีๆ ให้แก่กันอีกด้วย  

เซิร์ฟเลยเฟ้ย ไม่กลัวแล้ว

เพราะเป็นคนบ้างาน ใช้ร่างกายหนัก และมีความเครียดสะสม แต่ทุกครั้งที่ไปออกกำลัง ฝ้ายพบว่าเธอมักได้รับพลังงานดีๆ กลับมาเสมอ เธอเริ่มต้นจากการเล่นโยคะและเวทเทรนนิ่งจนร่างกายยืดหยุ่นและแข็งแรงมากพอ จากนั้นจึงต่อยอดไปสู่กีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่นๆ ทั้งปีนหน้าผา ดำน้ำ สโนวบอร์ด รวมทั้งเซิร์ฟบอร์ด สำหรับฝ้าย การออกกำลังกายเป็นการเปิดรับพลังบวกและบอกรักตัวเธอเอง 

“การออกกำลังกายคือการได้คืนพลังงานดีๆ ให้กับตัวเอง เป็นการขอบคุณตัวเอง ทุกกิจกรรมที่ทำ ฝ้ายรักเขามากเพราะแต่ละอย่างให้ประโยชน์และมีความสนุกต่างกันออกไป จนกระทั่งสองปีก่อน พี่แน็ท (ปิยะนันท์ อัศวธนัทพงศ์) ที่ฝ้ายสนิทชวนเล่นเซิร์ฟสเก็ต (surfskate) แต่ฝ้ายไม่เล่น เพราะสัญญากับตัวเองไว้ว่า ‘ฉันจะออกกำลังกายตลอดชีวิต’ ดังนั้น ฝ้ายจะเข้มงวดกับการดูแลตัวเองเอามากๆ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้บาดเจ็บ เรียกได้ว่าปฏิเสธการเล่นเซิร์ฟสเก็ตมาตลอด จนพี่คนเดิมแกออกแบบเซิร์ฟสเก็ตมาและขอให้ช่วยถ่ายภาพคู่เพื่อนำไปรีวิว นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเลยค่ะ

จริงๆ แล้ว พี่แน็ทบอกแต่แรกว่าฝ้ายไม่จำเป็นต้องขึ้นไปเล่น แค่ยืนเฉยๆ แล้วถือก็พอ แต่ด้วยนิสัย ฝ้ายเป็นคนประเภทที่ชอบความท้ายทาย และจะไม่ยอมพูดว่าทำไม่ได้จนกว่าจะทำแล้วทำไม่ได้จริงๆ เลยจัดเซอร์ไพรซ์ให้เขาด้วยการฝึกประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเล่นเลย เพื่อให้เขาได้ภาพสวยๆ ไปรีวิว และการเล่นครั้งนั้นเหมือนเป็นการปลดล็อคในสิ่งฝ้ายบอกตัวเองมาตลอดว่า ฉันไม่เล่นหรอกเดี๋ยวเป็นแผล เดี๋ยวเจ็บตัว จนได้ไปเล่นเองอีกครั้งที่สนามหลวงในช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ด้วยอากาศที่ดีมากและคนไม่พลุกพล่านเพราะเป็นช่วงล็อคดาวน์ ฝ้ายเลยเล่นได้อย่างอิสระและสนุกจริงๆ เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับตอนที่ฝ้ายอินเลิฟกับออกกำลังกายชนิดอื่นๆ ที่เคยทำมาว่านี่เป็นการมอบสิ่งดีๆ ให้ร่างกายเราอีกแล้ว แล้วบรรยากาศรอบๆ ตัว แบบที่คนเล่นก็เล่นไป คนไม่ได้เล่นก็นั่งรอ เปิดเพลงฟัง นั่งเชียร์อยู่รอบๆ ทำให้ฝ้ายเห็นถึงคอนเน็คชั่นที่ดีมาก เป็นบรรยากาศที่ต่างฝ่ายต่างส่งพลังงานบวกออกมาให้แก่กัน”

Moldna Club พื้นที่แห่งรอยยิ้ม

ในการตัดสินใจทำธุรกิจแต่ละครั้ง หมุดหมายปลายทางที่เจ้าของมักปักธงไว้ในใจคงไม่ห่างไกลไปจากผลกำไรในรูปแบบของเม็ดเงิน แต่หลายครั้งหลายครา เราได้เห็นกิจการน้อยใหญ่มี ‘ความรัก’ ‘ความฝัน’ และ ‘ความรู้สึก’ เป็นจุดตั้งต้น ก่อนจะแปลงเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปสู่อะไรๆ ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ด้วยปลายทางคือการสร้างคุณค่าให้กับชีวิตตัวเองและส่งต่อคุณประโยชน์บางอย่างให้กับผู้อื่น เช่นเดียวกับการปลุกปั้น Moldna Club ของเธอ 

“ตอนแรกฝ้ายไม่ได้ตั้งใจจะทำ Moldna Club ให้เป็นพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ คิดแค่ว่าเราอยากจะทำแรมป์ (ramp) ไม้ให้คนมาเล่น และในเมื่อเรามีช่างเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว น่าจะทำอะไรที่แตกต่างและเป็นแนวทางแบบที่ตัวเองชอบได้ ตอนแรกคิดแค่นั้นเอง ไม่ได้อยากจะเปิดร้านเปิดอะไรเลย จนมีโอกาสมาเจอโลเคชั่นนี้ พอไปดูก็หลงรักทันทีเพราะว่าพื้นที่ที่ใหญ่เพียงพอ อยู่ในร่ม มีต้นไม้ใหญ่ จากโครงการเล็กๆ ฝ้ายเริ่มเห็นภาพของการสร้างที่นี่ให้เป็นพื้นที่ที่คนสามารถมาส่งพลังงานดีๆ ให้แก่กันได้ มีบรรยากาศที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างคนเล่นและคนไม่ได้เล่นให้มาสร้างแรงบันดาลใจแก่กันได้ ฝ้ายอยากให้ทุกคนเข้ามาแล้วรู้สึกดีแบบที่ฝ้ายเคยได้รับตอนยืนอยู่บนเซิร์ฟสเก็ต

Moldna Club เรียกได้ว่าเป็นตัวตนฝ้ายเลย เพราะฉะนั้นการออกแบบจึงเป็นสไตล์บีชคลับแบบที่ฝ้ายชอบ ข้างหน้าจะมีความเป็นบาหลีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเชื่อมโยงไปถึงต้นกำเนิดของเซิร์ฟสเก็ต ซึ่งเกิดจากการที่คนเล่นนำแผ่นเซิร์ฟมาใส่ล้อ แล้วเล่นบนบกในวันที่ทะเลไม่มีคลื่น ภายในมีการออกแบบให้มีบรรยากาศแบบทะเล รู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ”

จากสนามฟุตซอลเก่าที่ตั้งอยู่ในโกดังย่านจรัญสนิทวงศ์ 92 บนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ได้ถูกรีโนเวตขึ้นใหม่จนกลายเป็นสนามเซิร์ฟสเก็ตและคาเฟ่ในบรรยากาศบีชคลับ ประกอบไปด้วยแรมป์สเก็ตขนาดใหญ่ 4 สเตชั่น ได้แก่ Moldna Lagoon, Infinity Loop, Beachfront Ramp และ Peanut Bowl ที่ถูกแยกตามรูปลักษณ์และระดับความยากง่ายเพื่อให้นักเซิร์ฟทุกรุ่นทุกวัยได้ลองอัพสกิล โดยแต่ละแรมป์ผลิตขึ้นจากโครงไม้จริงปิดผิวด้วยไม้บีชอย่างพิถีพิถัน และยังมีอีก 2 โซนด้านนอก อย่างคาเฟ่จำหน่ายเครื่องดื่มและอาหาร ไปจนถึง OLD MAN WEEKEND โซนนั่งชิลล์กับเพื่อนๆ ก่อนกลับบ้านด้วย

สำหรับที่มาของชื่อ Moldna Club เราคงต้องย้อนไปถึง Oldman Café คาเฟ่ลุคดิบเข้มในย่านบางขุนนนท์ อันเป็นตัวแทนในพาร์ทของชายหนุ่ม ซึ่งฝ้ายและคู่ชีวิตของเธอร่วมกันสร้างขึ้น “ถ้าสังเกตดีๆ คำว่า ‘Oldman’ กับคำว่า ‘Moldna’ จะใช้ตัวอักษรเดียวกันหมดเลย แค่สลับที่ ซึ่งทั้งฝ้ายและพี่เต้เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ เพราะฉะนั้น ลานสเก็ตที่เราออกแบบ นอกจากจะเน้นเรื่องการโฟลว์และการวิ่งของเซิร์ฟสเก็ตแล้ว ทุกแรมป์คืองานประติมากรรมที่สามารถเล่นได้ ซึ่งคำว่า ‘mold’ แปลว่าแม่พิมพ์ คำนี้ถูกใช้ในงานประติมากรรม และยังพ้องเสียงกับคำว่า ‘Moana’ (moh-AH-nah-มัวอาน่า) ในภาษาพอลินีเชียน (Polynesian) ที่แปลว่ามหาสมุทรด้วย ทุกอย่างเลยลงตัวที่ชื่อนี้”

เปลี่ยนแปลงเพราะเปิดใจ

“ตอนนี้ถือว่าเป็นระยะเวลาสั้นมากที่อาจจะยังตัดสินอะไรไม่ได้และฝ้ายยังไม่อยากดีใจไปกับมันเยอะ เพราะว่าคิดว่าเราควรมองตามความเป็นจริง สถานการณ์ของโควิดเป็นอย่างไร แต่โดยรวมสำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ฝ้ายแฮปปี้เลยแหละ ปลื้มปริ่มที่ได้เห็นสิ่งที่เราอยากเห็น คุณแม่ของฝ้าย ท่านอายุ 70 แล้ว พอได้มาเห็น ท่านยังงงว่าคืออะไรกันนะเจ้าเซิร์ฟสเก็ต แต่พอท่านได้อยู่ใน Moldna Club ท่านเองก็ได้รับพลังงานแบบที่ฝ้ายได้รับเหมือนกัน พลังงานบวกจากคนที่มาเล่น ทั้งเด็กๆ อายุ 5-6 ขวบ ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 50 กระโดดไปมา ได้เห็นความเชื่อมโยงของคนต่างวัยที่นี่ ซึ่งถ้าไม่เล่นเซิร์ฟหรือโรลเลอร์สเก็ตก็ไม่เป็นไรเลย เพราะคุณสามารถมานั่งอยู่ที่คาเฟ่ได้ ฝ้ายออกแบบคาเฟ่ให้สามารถมองเห็นในสนามและตั้งใจให้คนที่อยู่ตรงนั้นซึมซับกับบรรยากาศดีๆ แบบนี้ไปด้วยเหมือนกัน หลายๆ คนอาจรู้จักหรือมาที่นี่เพราะมีเซิร์ฟสเก็ตเป็นตัวจุดประกาย สำหรับฝ้าย Moldna เป็นมากกว่ากิจการๆ หนึ่ง ที่นี่คือชุมชน คือพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมารับความรู้สึกดีๆ ด้วยกันได้ เป็นโอเอซิสในแง่จิตใจ อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา บรรยากาศที่เกิดขึ้นที่ Moldna ทำให้ตลอดทั้งปี 2021 ของฝ้ายได้พลังงานที่ดีเยอะเลยค่ะ 

อีกสิ่งที่ฝ้ายได้รับและเรียนรู้จากการทำ Moldna Club คือเรื่องของทีมเวิร์ก ฝ้ายขอยกเครดิตทั้งหมดให้กับพาร์ทเนอร์และทีมงานทั้งหมด ตั้งแต่พี่เต้ที่ทำให้แบบของฝ้ายเกิดขึ้นจริง โดยพาร์ทเนอร์อีก 3 ท่าน เข้ามาช่วยฝ้ายในเรื่องต่างๆ เยอะมาก ทั้งน้องไปท์ (คุณชัยชนะ ฉัตรแก้ว) ที่นำเข้าเซิร์ฟสเก็ต, พี่วัฒน์ (จิรวัฒน์ มหาทรัพย์ถาวร) เป็นช่างภาพในสายแมกกาซีน ซึ่งภาพสวยๆ ของ Moldna ก็มาจากฝีมือพี่วัฒน์นี่แหละ และสุดท้ายคือ น้องนีน (ทวิชาติ พึ่งโพธิ์สถ) ที่ใช้ชีวิตอยู่กับสเก็ตมาทั้งชีวิต จะเป็นคนเข้ามาทดสอบและวัดคุณภาพแต่ละแรมป์ว่าได้มาตรฐานและปลอดภัยกับคนเล่นแล้วรึยัง พวกเราเหมือนเป็นอเวนเจอร์ที่มาประกอบร่างกัน เป็นพาร์ทเนอร์ที่ลงตัว ทุกคนมีทักษะของตัวเอง และฝ้ายเชื่อว่าพาร์ทเนอร์ทุกคนตั้งใจทำที่นี่มากจริงๆ เอาจริงๆ ทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้แบบนี้เลยหากไม่มีพวกเขา การทำที่นี่เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับฝ้าย ทั้งเรื่องเซิร์ฟสเก็ตเอง การทำงานร่วมกันกับคนอื่น การปรับตัว การรับฟังความคิดเห็น การเปิดใจ การหาจุดตรงการระหว่างความต้องการของเราและความคิดของคนที่ทำงานร่วมกัน สมัยก่อนเวลาฝ้ายทำร้านเราจะเข้มงวดกับเรื่องรายละเอียดยิบย่อยเอามากๆ แต่ที่ Moldna Club ทำให้ฝ้ายเห็นวิธีการทำงานอีกแบบที่ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน แบบที่เราไม่จำเป็นต้องตึงหรือเครียดขนาดนั้น ฝ้ายมีความอลุ้มอล่วยมากขึ้น ได้พัฒนาทั้งความคิดและวิธีการทำงานในอีกรูปแบบหนึ่งเลย ซึ่งถ้าเป็นฝ้ายเมื่อ ห้าปีก่อน ความคิดหรือวิธีการแสดงออกคงไม่ใช่แบบนี้”  

ความสุขคืออิสระ

“ฝ้ายเคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องวาบิซาบิ ซึ่งเป็นแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซ็นของญี่ปุ่น มีประโยคหนึ่งเขียนไว้ว่า  ‘ความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์พร้อม’ แค่อ่าน ฝ้ายเหมือนได้สัจธรรมเลยนะคะว่าตัวเราไม่จำเป็นจะต้องเป๊ะขนาดนั้นก็ได้นะ ถ้าคุณแฮปปี้กับกับสิ่งที่คุณทำ นั่นคือความงามในแบบของคุณแล้ว ฝ้ายเชื่อเสมอว่าความสุขของแต่ละคนไม่เคยเท่ากัน บางคนแค่ใบไม้แห้งก็รู้สึกมีความสุขแล้ว ดังนั้น เราไม่จำเป็นเลยที่เราจะเอาความสุข ความฝัน การมองคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือชีวิตของเราไปเทียบกับใครๆ ความสุขและ comfort zone เป็นเรื่องปัจเจก แค่ฟังเสียงใจตัวเองว่า ณ ขณะนั้น เรารู้สึกดีไหม มีความสุขไหม นั่นน่าจะเพียงพอแล้ว 

มีหลายๆ คนบอกว่า คุณต้องออกจาก comfort zone บ้าง ออกจากกรอบที่คุณเคยอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย รู้สึกสบายบ้าง ฝ้ายอาจจะเห็นต่างออกมาสักหน่อย เอาจริงๆ ฝ้ายโอเคมากเลยนะคะหากใน comfot zone นั้น คุณอยู่แล้วมีความสุข ไม่อึดอัด สุขที่กาย สบายที่ใจ บางทีเราไม่จำเป็นจะต้องตะเกียกตะกายออกมาเพราะคำพูดหรือความคิดของคนอื่น และเมื่อเจอจุดที่คุณแฮปปี้แล้ว อย่าหยุด อย่าเลิกทำ ไม่ว่าคุณจะเดินอยู่บนหิน บนดิน บนทราย ปีนหน้าผา หรืออยู่บนเซิร์ฟสเก็ต ทำต่อไปค่ะ แค่ถามตัวเองก่อนว่าเรามีความสุขไหม แค่นั้นจริงๆ 

ส่วนใครที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่แค่เซิร์ฟสเก็ตนะคะ ทุกอย่างที่เรารู้สึกสนใจ อยากลอง อย่าเพิ่งให้ความคิดว่า ‘ทำไม่ได้’ มาเป็นสิ่งขวางกั้นเรา ฝ้ายอยากให้ลงมือทำดูก่อนจะบอกว่าฉันทำไม่ได้ ซึ่งคุณอาจจะพบว่าช่วงเวลาที่คุณได้ทดลองกับอะไรที่ไม่คุ้นเคยเป็นการคลายน็อตอะไรบางอย่างให้ตัวเองเหมือนกับกับฝ้ายก็ได้ว่า โอ้! เซิร์ฟสเก็ตเป็นอย่างนี้ ทำให้รู้สึกดีแบบนี้นี่เอง (ยิ้ม)”  

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
ภาพบางส่วน: Moldna Club
ขอบคุณสถานที่: Moldna Club

บทความที่เกี่ยวข้อง