หนึ่งในภัยเงียบด้านสุขภาพที่กลายเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลกไปแล้วในตอนนี้ ก็คือภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) และกระดูกบาง (Osteopenia) ซึ่งมักจะไม่มีสัญญาณเตือนให้เห็นชัดเจน มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่กระดูกแตกหรือหักอย่างไม่คาดคิด โดยอาจมาจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หรือแค่กิจกรรมธรรมดาในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง
ปัญหากระดูกแตกหรือหักนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ โดยเฉพาะในผู้สูงวัย เพราะอาจนำไปสู่ความพิการ เดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ความแตกต่างระหว่างกระดูกพรุนกับกระดูกบาง
เมื่อพูดถึงกระดูกพรุนและกระดูกบาง หลายคนสงสัยว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ความจริงแล้วทั้งสองอาการนี้เกี่ยวข้องกับภาวะที่ ‘กระดูกอ่อนแอลง’ เหมือนกัน แต่จะต่างกันตรงที่ระดับความรุนแรง
- ภาวะกระดูกบาง เกิดขึ้นเมื่อมวลและความหนาแน่นของกระดูกมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน แต่ก็ยังไม่น้อยจนถึงขั้นเป็นอันตราย และยังไม่ถือว่าเป็นโรค แต่ถ้าตรวจพบว่ามีภาวะกระดูกบางแล้วไม่ดูแลร่างกายให้ดี ไม่หาวิธีเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก จากภาวะกระดูกบางก็อาจนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้
- ภาวะกระดูกพรุน คือภาวะที่มวลและความหนาแน่นของกระดูกนั้นลดลงอย่างมาก โครงสร้างคล้ายรังผึ้งภายในกระดูกมีรูพรุนมากขึ้น ทำให้มีช่องว่างมากขึ้น กระดูกเลยมีความเบาและเปราะบาง มีความเสี่ยงสูงที่จะแตกหัก ถือว่ามีความรุนแรงมากกว่าภาวะกระดูกบาง และจัดว่าเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
สาเหตุของกระดูกพรุนและกระดูกบาง
ภาวะกระดูกพรุนและกระดูกบางเป็นอีกหนึ่งความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถฟันธงได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และอาจไม่ได้มาจากสาเหตุเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น ต้องพิจารณาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ตัวอย่างเช่น
- อายุ กระดูกนั้นเป็นเนื้อเยื่อมีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา มวลกระดูกจะมีการสลายและสร้างใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยการสร้างกระดูกจะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงวัยเด็ก และเมื่อเข้าวัยผู้ใหญ่มวลกระดูกจะเริ่มคงที่ (อายุประมาณ 30-35 ปี) จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะมีปัญหาเรื่องภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ นั่นเอง
- เพศ ในเพศหญิงมีโอกาสเกิดปัญหากระดูกบางและกระดูกพรุนมากกว่าเพศชายเพราะ ธรรมชาติของเพศหญิงจะมีโครงสร้างที่เล็กกว่า ทำให้มีการสร้างมวลกระดูกน้อยกว่า นอกจากนี้ เมื่อผู้หญิงอยู่ในภาวะหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะเริ่มลดลง การขาดเอสโตรเจนจะทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานได้น้อยลง ในขณะที่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ
- พฤติกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กระดูกเสื่อมได้ เช่น การมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ยืนนั่งนอนในท่าเดิมเป็นเวลานานโดยขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำก็อาจทำให้ร่างกายสร้างกระดูกได้น้อยลง และอาจทำให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้น
กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก
อย่าปล่อยให้กระดูกเสื่อมโดยไม่รู้ตัว หากรู้ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่ามีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนหรือไม่ เช่น เป็นผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อยู่ในภาวะหมดประจำเดือน มีน้ำหนักตัวน้อย เคยกระดูกหักมาก่อน มีประวัติการกินยาบางชนิดที่มีผลให้มวลกระดูกลดลง หรือเป็นโรคที่ทำให้มวลกระดูกลดลง (เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป)
วิธีการตรวจที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันก็คือ การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Minineral Density-BMD) ด้วยเครื่องมือการตรวจทางรังสี ซึ่งช่วยให้พบภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เป็นการตรวจที่ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องมีการงดน้ำและอาหาร ได้รับปริมาณรังสีปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นอันตราย ตำแหน่งที่ตรวจคือ กระดูกข้อมือ กระดูกหลัง และ กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นบริเวณที่พบปัญหากระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนมากที่สุด
นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตใส่ใจร่างกายของตัวเองเป็นประจำ อาการของโรคกระดูกพรุนมักจะปรากฏขึ้นทีละน้อย ทำให้หลายคนไม่รู้ตัว หรือไม่คิดว่าเกี่ยวกับโรคกระดูก โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากรู้สึกปวดตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะหลัง เอว ข้อมือ หรืออาจมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น ส่วนสูงลดลง หลังโก่ง หรือไหล่งุ้ม หากพบอาการเหล่านี้ และเป็นผู้มีความเสี่ยง ให้รีบไปตรวจมวลกระดูกทันทีก่อนที่จะสายเกินไป
การดูแลและป้องกัน
สำหรับผู้ที่ตรวจพบภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกบาง แพทย์อาจสั่งยาเพื่อรักษา ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย โดยเฉพาะเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย พฤติกรรมที่ทำให้กระดูกแข็งแรงสามารถทำได้ดังนี้
- กินอาหารดีมีประโยชน์ ควรเลือกกินอาหารมีประโยชน์ให้สมดุลและหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูงและวิตามินดีสูงเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงเป็นพิเศษ เช่น นม โยเกิร์ต ชีส ถั่ว งาดำ ผักใบเขียว บรอกโคลี กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กตัวน้อย และปลาแซลมอน เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแพทย์อาจแนะนำให้กินแคลเซียมเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายไม่เพียงช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ยังรวมถึงกระดูกด้วย มีการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight Bearing Exercise) เช่น การเดิน การวิ่ง การเต้นแอโรบิก กีฬาแบดมินตัน บาสเกตบอล หรือฟุตบอล สามารถช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกได้ดี เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสะสมของแคลเซียม กระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกให้ทำงาน และกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรง ยืดหยุ่น และทนทานต่อแรงแรงกระแทกได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนควรปรึกษาแพทย์เป็นรายบุคคลว่าเหมาะสมกับการออกกำลังกายแบบไหน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ออกไปเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อให้ร่างกายรับแสงแดดในยามเช้าที่อุดมด้วยวิตามินดี รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ก็มีผลเสียต่อการสร้างกระดูกของร่างกาย ทำให้การดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ลดลง เป็นต้น
ความแข็งแรงของกระดูกเป็นเรื่องสำคัญและใกล้ตัวกว่าที่คิด อย่ามองข้ามและปล่อยให้สายเกินไป ควรใส่ใจดูแลตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อสะสมแคลเซียมและความแข็งแรงของกระดูกเอาไว้ให้มากที่สุด เปรียบเหมือนการหยอดกระปุกเก็บสะสมเงินไว้ เริ่มดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ จะได้เป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีในวันข้างหน้า
–
ที่มา:
www.medicalnewstoday.com
radiology.md.chula.ac.th
chulalongkornhospital.go.th
www.si.mahidol.ac.th
www.health.harvard.edu