สังเกตตัวเองและคนรอบข้าง ‘ภาวะถดถอยทางสมอง’ อาจนำไปสู่อัลไซเมอร์ได้

Brain / Health

21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันอัลไซเมอร์โลก (World’s Alzheimer’s Day) และตลอดทั้งเดือนกันยายนถือเป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทุกประเภท

ตั้งแต่ปี 2019 องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International หรือ ADI) ได้พยายามเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะอาการหลงๆ ลืมๆ หรือความจำเสื่อมที่คนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอัลไซเมอร์ที่จะตามมาได้ ในปี 2022 นี้ ธีมหลักของวันอัลไซเมอร์โลกใช้ชื่อว่า ‘Know Dementia, Know Alzheimer’s’ หรือการทำความรู้จักโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ โดยเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคและการดูแลผู้ป่วย

hhc Thailand ขอเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม ด้วยข้อมูลน่ารู้ (แต่หลายคนยังไม่เคยรู้) เกี่ยวกับ ‘ภาวะถดถอยทางสมอง’ (Mild Cognitive Impairment หรือ MCI) ที่อาจมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่อัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ ได้ 

เหมือนจะปกติตามอายุ แต่ ‘ภาวะถดถอยทางสมอง’ ไม่ใช่เรื่องปกติ

หลายคนเข้าใจว่าอาการหลงลืมๆ เบลอๆ ของผู้สูงอายุเกิดขึ้นตามปกติเมื่ออายุมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว มันมีความแตกต่างกันระหว่างอาการหลงลืมตามปกติเมื่อเข้าสู่วัยชราและภาวะถดถอยทางสมอง เช่น หากลืมข้าวของบ้างเป็นครั้งคราว นึกคำพูดที่อยากจะใช้ไม่ออกบ้าง หรือลืมจ่ายบิลรายเดือนบ้าง อันนี้ถือเป็นเหตุการณ์ปกติ แต่หากลืมโทรศัพท์มือถือหรือกุญแจบ้านบ่อยๆ โดยไม่รู้ว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน ลืมนัดสำคัญที่ไม่น่าจะลืม หรือคิดหาคำพูดที่ต้องการสื่อความหมายได้ยากลำบากเป็นประจำ… นี่คือสัญญาณของภาวะถดถอยทางสมอง

ผู้ที่มีภาวะถดถอยทางสมองจะมีอาการหลงลืมและกระบวนการคิดถดถอยมากกว่าคนในวัยเดียวกัน โดยความรุนแรงของภาวะถดถอยทางสมองจัดอยู่ตรงกลางระหว่างอาการหลงลืมตามปกติของวัยชราและอัลไซเมอร์/โรคสมองเสื่อม กล่าวคือ ผู้ที่มีภาวะถดถอยทางสมองจะยังสามารถดูแลตัวเองและทำกิจวัตรประจำวันได้

ภาวะถดถอยทางสมองอาจพัฒนาสู่อัลไซเมอร์ได้

เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางสมองก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดย 10-20% ของผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางสมอง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นอีก เช่น พันธุกรรม โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และโรคหลอดเลือดสมอง 

ผู้ที่มีภาวะถดถอยทางสมองจะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาไปสู่อัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม จากข้อมูลของ alzheimers.gov ผู้ที่มีภาวะนี้จำนวน 1-2 คน จากกลุ่มตัวอย่าง 10 คนที่อายุ 65 ขึ้นไป จะพัฒนาไปสู่อัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมภายในเวลาหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขตายตัว และผู้ที่มีอาการภาวะถดถอยทางสมองหลายคนก็ยังคงมีอาการคงเดิมหรืออาจมีอาการดีขึ้นด้วยซ้ำ

บริหารสมอง… ชะลออัลไซเมอร์

เช่นเดียวกับอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ปัจจุบัน ยังคงไม่มียาที่สามารถรักษาภาวะถดถอยทางสมองได้ ดังนั้นผู้ที่สงสัยว่าตนเองหรือคนในครอบครัวกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางสมอง จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อให้อยู่ในความดูแลและเฝ้าระวังของแพทย์ โดยควรตรวจเช็คอาการทุก 6 หรือ 12 เดือน นอกจากนั้น ยังมีวิธีการดูแลตัวเองที่ควรทำเป็นประจำ เช่น

  • ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองตามปกติอย่างที่เคยทำ
  • เตือนความจำตนเองด้วยการจดลงแพลนเนอร์หรือสมุดโน้ต
  • จัดวางข้าวของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไว้ในที่เดิม
  • เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น เล่นดนตรี ภาษา
  • ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ
  • ร่วมทำกิจกรรมชุมชน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงทุกวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
  • ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดเมื่อมีอาการซึมเศร้า

หากภาวะถดถอยทางสมองพัฒนาไปสู่อัลไซเมอร์ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมียาบางชนิดที่จะช่วยชะลออาการ และหากรู้จักวิธีการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้

แปลและเรียบเรียงจาก:
alzint.org
alzheimers.gov

บทความที่เกี่ยวข้อง