หากสูงวัยแล้ว ‘สั่น’ อาจต้องเฝ้าระวังพาร์กินสัน

Brain / Health

ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสารพัดโรคภัยมากเท่านั้น แต่หากเรารู้จักคอยหมั่นสังเกตอาการให้ดี ก็จะสามารถเฝ้าระวังและรักษาได้ทันท่วงที อย่างเช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) โรคที่มักเกิดในผู้สูงอายุ และหลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้วว่าทำให้เกิดอาการสั่น แต่อาจยังไม่รู้จักต้นตอของโรค รวมทั้งวิธีสังเกตอาการได้ละเอียดเพียงพอ 

พาร์กินสันคืออะไร?

โรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยปกติแล้วเซลล์ประสาทส่วนนี้จะผลิตสารเคมีของสมองที่สำคัญชนิดหนึ่ง นั่นคือ โดปามีน (Dopamine) ดังนั้นเมื่อเซลล์ประสาทส่วนนี้เสื่อมถอยลง ร่างกายจึงมีโดปามีนน้อยลง ทำให้ส่งผลกระทบไปยังการเคลื่อนไหวของร่างกาย

สาเหตุการเกิดพาร์กินสัน 

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เซลล์ประสาทส่วนนี้เสื่อมถอยลงได้ แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ พอจะสรุปปัจจัยความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดพาร์กินสันได้ดังนี้

  • อายุ: เมื่ออายุมากขึ้น สมองก็ชรามากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเซลล์ประสาทต่างๆ ในสมองจึงมีโอกาสเสื่อมถอยลงได้ จากสถิติ ผู้ป่วยพาร์กินสันส่วนมากเริ่มต้นมีอาการเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป มีเพียง 5-10% ที่มีอาการก่อนอายุ 50 ปี
  • การใช้ยาบางชนิด: เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านโดปามีน ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด ยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ยาแก้เวียนศีรษะ ยาแก้อาเจียน เป็นต้น
  • ความผิดปกติในสมอง: หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองขาดออกซิเจน (เช่น จากการจมน้ำ จากการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร) สมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนสมอง (เช่น จากกีฬาชกมวย) และได้รับสารพิษที่ทำลายสมอง (เช่น สารแมงกานีสในโรงงานถ่านไฟฉาย สารคาร์บอนมอนนอกไซด์)
  • พันธุกรรม: การถ่ายทอดโรคพาร์กินสันทางพันธุกรรมพบได้ 10-15%

วิธีสังเกตอาการระยะเริ่มต้นของพาร์กินสัน

ในระยะเริ่มแรกของโรค ผู้ป่วยหลายรายมักมีเพียงแค่อาการสั่นเล็กน้อยที่มือข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ทำให้แทบจะไม่ทันสังเกต หรือหากสังเกตเห็นก็เข้าใจว่าเป็นความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยที่สูงขึ้น แต่นอกจากอาการสั่นที่เรารู้จักกันดีแล้ว ผู้ป่วยพาร์กินสันยังมีอาการอื่นร่วมด้วย โดยผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวควรทำความรู้จักอาการเหล่านี้ เพื่อที่จะได้สังเกตอาการเริ่มต้นของพาร์กินสันได้ทันท่วงที

  • อาการสั่น: มักเกิดที่มือและเท้า โดยเฉพาะเวลาที่อยู่นิ่ง แต่เมื่อเคลื่อนไหว อาการสั่นจะหายไป 
  • อาการเกร็ง: กล้ามเนื้อตึงเกร็ง ปวดเมื่อย โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อในส่วนนั้นหนักเกินไป 
  • เคลื่อนไหวช้า: ขาดความคล่องตัวกระฉับกระเฉง บางรายลุกจากเก้าอี้ได้ลำบาก
  • ท่าเดินผิดปกติ: มักก้าวเดินสั้นๆ ในช่วงแรกๆ จากนั้นจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ ในจังหวะที่เร็วมากและหยุดไม่ได้ในทันที รวมทั้งอาจเดินตัวงอ หลังค่อม ไม่แกว่งแขนเป็นธรรมชาติ ตัวแข็งทื่อ
  • พูดเสียงเบา: พูดด้วยน้ำเสียงเครือ เบา เมื่อพูดนานๆ เข้า เสียงจะค่อยๆ หายไปในลำคอ 
  • ไม่สามารถแสดงออกอารมณ์ทางสีหน้าได้: ใบหน้าเฉยเมย ไม่สามารถแสดงออกอารมณ์ได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดี
  • เขียนหนังสือลำบาก: เขียนช้า เขียนได้ยาก และตัวหนังสือบิดเบี้ยวหรือตัวเล็กลงเรื่อยๆ

นอกจากนั้น ผู้ป่วยพาร์กินสันหลายรายให้ข้อมูลตรงกันว่า ก่อนจะมีอาการสั่น พวกเขามีปัญหานอนไม่หลับ ท้องผูก และสูญเสียการได้กลิ่น

วิธีการรักษาพาร์กินสัน

แม้พาร์กินสันจะไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้

  • การใช้ยา: ยาในกลุ่มเลโวโดปา (Levodopa) หรือสารเคมีธรรมชาติที่เมื่อผ่านเข้าสู่สมองแล้วจะกลายเป็นสารสื่อประสาทโดปามีน จะช่วยเพิ่มปริมาณโดปามีนในสมองของผู้ป่วยให้เพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกายได้ นอกจากนั้น แพทย์ยังอาจสั่งยาที่กระตุ้นให้สมองสร้างโดปามีน (Dopamine agonist) ควบคู่กับเลโวโดปาด้วย 
  • กายภาพบำบัด: เป็นการบรรเทาอาการที่เกิดจากตัวโรค เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เช่น ฝึกเดินให้ก้าวขาแต่พอดี แกว่งแขวนขณะเดินเพื่อช่วยการทรงตัว ฝึกการพูด ยืดเหยียดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและลดความเกร็งตึง
  • กระตุ้นไฟฟ้าที่สมองส่วนลึก: สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาในระดับที่น่าพึงพอใจนัก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการกระตุ้นไฟฟ้าที่สมองส่วนลึก เพื่อหยุดอาการสั่นและให้สมองสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น แต่ข้อเสียของวิธีการรักษานี้คือค่าใช้จ่ายสูงมาก

นอกจากวิธีการรักษาข้างต้น ผู้ป่วยยังควรดูแลในเรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย เช่น โยคะ ไทชิ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ นวดเพื่อลดความตึงเครียด เหนือสิ่งอื่นใด ความเข้าใจและเอาใจใส่จากสมาชิกในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะโรคพาร์กินสันต้องใช้ความอดทนเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับมันได้

ที่มา:
si.mahidol.ac.th
siphhospital.com
nia.nih.gov

บทความที่เกี่ยวข้อง