ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ รู้ก่อน ป้องกัน และรักษาได้

Cancer / Health

มะเร็งเต้านมในผู้ชายแม้โอกาสการเกิดโรคตามสถิติแล้วยังอยู่ในระดับต่ำราว 0.5-1% ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมผู้หญิง 100 คน แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยชายที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมมีอัตราต่ำ ทำให้การศึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับโรคมีน้อยและเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าผู้ชายเองก็มีโอกาสจะเป็นมะเร็งเต้านมได้ อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการสำรวจเต้านมของตัวเอง โดยในรายที่พบ มักอยู่ในระดับของโรคที่รุนแรงและลุกลามแล้ว ซึ่งยากต่อการรักษาและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องของโรค การเฝ้าระวัง การประเมินความเสี่ยง และพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบความผิดปกติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกันและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนที่ระบุถึงสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายก็ตาม แต่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายเป็นโรคมะเร็งชนิดดังกล่าว โดยสาเหตุสำคัญของมะเร็งเต้านมในเพศชายนั้นคล้ายกับเพศหญิงในหลายๆ ประการ 

  • การมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ที่สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการมีความผิดปกติของ DNA นั่นคือการมี DNA ของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่กำเนิด  โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า ไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter’s Syndrome) ส่งผลให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลง ซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน
  • การมียีนส์ที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ ยีนส์ BRCA2 โดยผู้ชายที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม หากสืบประวัติทางพันธุกรรมจะพบว่า มีสมาชิกสายตรงในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก หากเมื่อใดที่พบประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว นี่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังว่ามีโอกาสที่จะมียีนส์ BRCA2 ดังกล่าว  

ปัจจัยอื่นๆ ยังรวมไปถึง

  • มีการใช้หรือการรับประทานยาบางอย่างที่มีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป 
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือการมีดัชนีมวลกาย (BMI) เท่ากับหรือมากกว่า 30 
  • ผู้มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีหรือได้รับรังสีบริเวณทรวงอก 
  • อายุที่มากขึ้น เนื่องจากโอกาสที่ผู้ชายจะเป็นมะเร็งเต้านมได้จะมีอายุระหว่าง 60–70 ปี โดยตามสถิติพบว่า ผู้ป่วยชายส่วนใหญ่จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคตับแข็ง เนื่องจากตับเสื่อมสภาพส่งผลให้ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ 

สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าก้อนเนื้อที่อกผู้ชายจะกลายเป็นมะเร็งได้นั้นมีลักษณะคล้ายกับการพบก้อนเนื้อในผู้หญิง นั่นคือ

  • การคลำพบก้อนแข็งที่เต้านม เมื่อบีบแล้วไม่รู้สึกเจ็บ
  • หัวนมมีความผิดปกติ เช่น หัวนมยุบบุ๋ม หัวนมบอด เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรัง มีสีแดงจนผิดสังเกต มีของเหลว เช่น น้ำหรือเลือดออกมจากเต้านม 
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม มีรอยเหี่ยวย่น หรือมีรอยแดง

อาการของผู้ป่วยในระยะลุกลาม

  • ปวดกระดูก
  • รักแร้มีอาการบวมเนื่องจากการลุกลามของมะเร็งที่เข้าสู่ระบบต่อมน้ำเหลือง 
  • เหนื่อยกว่าปกติ
  • หายใจหอบถี่ 
  • คลื่นไส้
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

มะเร็งเต้านมในผู้ชายนั้นมีวินิฉัยและการรักษาเช่นเดียวกันกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง โดยเริ่มจากการตรวจด้วยการคลำ การทำอัลตร้าซาวด์ การตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยวิธีดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ซึ่งเมื่อตรวจคัดกรองและได้รับการวินิฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพของโรค ระยะ ลักษณะของชิ้นเนื้อ

  • หากพบในระยะแรกสามารถที่จะใช้วิธีการผ่าตัดก้อนมะเร็งและตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านมออก 
  • สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำสูง แพทย์อาจพิจารณาให้มีการใช้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา เพื่อช่วยควบคุมการเจริญของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย หรือการให้กลุ่มยาต้านฮอร์โมนเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เป็นต้น
  • อันดับแรก หากมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชาย แนะนำให้มีการสำรวจและตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหากตรวจพบว่ามียีนส์พันธุกรรมเสี่ยงมะเร็ง ควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านมปีละ 1 ครั้ง
  • งดหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณน้อย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์และครบหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

แม้ว่าโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายจะมีอัตราส่วนที่น้อยมากๆ ซึ่งทำให้ผู้ชายมักมองข้ามและไม่ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องมะเร็งเต้านม รวมถึงไม่สงสัยในความผิดปกติของเต้านมตัวเอง เนื่องจากมักคิดว่าโรคดังกล่าวเกิดขึ้นได้เฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชายสามารถเกิดขึ้นได้ และผู้ป่วยที่พบมักเป็นผู้ป่วยในระยะลุกลามซึ่งยากการรักษาให้หายขาด สิ่งสำคัญคือควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่พบความผิดปกติซึ่งเข้าข่าย หรือเป็นอาการผิดปกติที่ไม่แน่ใจ การพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษา จะช่วยเพิ่มโอกาสให้หายจากโรคได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาได้ผลดี สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั้งในเพศหญิงและชายได้  

อ้างอิง: ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

บทความที่เกี่ยวข้อง