นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์ หรือหมอเปียง คือแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นี่เป็นปีสุดท้ายของการเรียนแพทย์เฉพาะทางของหมอเปียงก่อนเขาจะหันหางเสือไปทำงานด้านวิชาการในตำแหน่งอาจารย์แพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตามสเต็ปชีวิตที่ตั้งใจไว้
ขณะที่ชีวิตในอีกด้านหนึ่งของเขาเรียกว่าไปคนละทางกับวิชาชีพที่ทำอยู่ เพราะเขามี ‘ศิลปะ’ เป็นเสมือนเพื่อนร่วมทางที่เติบโตด้วยกันมา ความรักในศิลปะของเขามีมากขนาดไหนนะเหรอ จะเรียกว่าเป็นนักล่ารางวัลก็คงไม่ผิด ทั้งการร่วมแข่งขันประกวดศิลปะในระดับจังหวัดและระดับภาคก็ทำมาแล้ว จากศิลปะสีน้ำ สีชอล์ก สีน้ำมัน และสีอะคริลิก หมอเปียงเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับงานกราฟิกด้วยตัวเอง จนกระทั่งเข้าปี 1 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงเวลาที่เขาได้จับกล้องเป็นครั้งแรก และตั้งแต่วันนั้น เขาก็ไม่วางมันลงอีกเลย ความหลงใหลในสื่อกลางชิ้นใหม่อย่างการถ่ายภาพได้นำทางคุณหมอคนนี้สู่การเป็นนักเล่าเรื่องการเดินทางในโลกออนไลน์ที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘PYONG Traveller X Doctor’ การจดบันทึกการเดินทางออกมาเป็นพ็อคเก็ตบุคชื่อ ‘PYONG See What I See ทริปฉุกเฉินของหมอเปียง’ รวมไปถึงการถูกชักชวนให้ไปจัดนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองอย่าง ‘SEE WHAT I SEE : PYONG : Traveller X Doctor 1 ST EXHIBITION’ ที่เชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน
และบทสนทนาต่อจากนี้ หมอเปียงจะมาขยายความชีวิตของเขาก่อนจะมาเป็นหมอฟื้นฟูแบบในปัจจุบัน ความหลงใหลในโลกศิลปะ บทบาทของการเป็นช่างภาพควบคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไปจนถึงเป้าหมายในอาชีพอย่างการบูรณาการความรู้ทางการแพทย์และศิลปะที่เขารักเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้คน ตลอดจนปลายทางชีวิตกับการเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมและโลกใบนี้
โลกใบที่หนึ่ง: ชีวิตของหมอฟื้นฟู
“ตอนเด็กๆ ผมเคยดูรายการทีวี ได้เห็นการทำงานของหมอผ่าตัดที่ช่วยชีวิตคนว่าพวกเขาเป็นเหมือนฮีโร่คนหนึ่ง มองว่าแพทย์เป็นอาชีพที่เท่มาก รู้สึกอย่างนั้นเลยนะครับ พอโตขึ้นมาจึงฝันว่าจะเป็นหมอให้ได้ แต่แทนที่จะคิดว่าหมอแค่เท่อย่างเดียว ผมยังพบว่าอาชีพนี้มีความท้าทายและมีความหมายในการทำอะไรต่อมิอะไรให้คนไข้คนหนึ่งได้เยอะมาก ผมเองมีแพชชั่นที่อยากจะทำงานแบบนั้นบ้าง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจจะเรียนแพทย์ครับ”
สำหรับสาขา ‘เวชศาสตร์ฟื้นฟู’ หรือเรียกย่อๆ ว่า ‘หมอฟื้นฟู’ ที่หมอเปียงเรียนอยู่นั้นเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เป็นสาขาวิชาที่จะทำงานร่วมงานกับสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด รวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ โดยนำองค์ความรู้ในแต่ละสาขาอาชีพมาบูรณาการเพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพทางร่างกายถดถอยไปด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรค และสภาวะที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ในแบบองค์รวม โดยเวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมให้มีดีมากขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
“อย่างคนป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ในเคสลักษณะนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปฝึกเขาเดินนะครับ แต่เราจะทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัดที่จะช่วยให้เขาค่อยๆ เรียนรู้ที่จะกลับมาเดินได้อีกครั้ง รวมถึงนักกิจกรรมบำบัดที่จะฝึกผู้ป่วยใช้ร่างกายในการประกอบกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน ทั้งการทานอาหาร การเคลื่อนย้ายตัว การใช้รถเข็น การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ กิจกรรมที่เขาควรจะทำได้เพื่อให้การใช้ชีวิตเป็นอิสระโดยตัวคนเดียวได้ หรือถ้าในคนปกติซึ่งไม่ได้เป็นโรคอะไรซับซ้อน บทบาทของเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการฟื้นฟูความผิดปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ อาการออฟฟิศซินโดรม เรื่องของ Ergonomics (การยศาสตร์) การนั่ง การเดิน การออกกำลังกาย การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูจากภาวะเจ็บป่วยต่างๆ รวมทั้งการดูแลนักกีฬา ซึ่งในแต่ละเคสเราจะดูข้อบ่งชี้ว่าคนไข้ควรจะได้รับการฟื้นฟูในแง่ไหนบ้าง จากนั้นจึงส่งไปที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ต่อไป
“เอาจริงๆ จนถึงตอนนี้ผมยังคิดว่าหมอเป็นอาชีพที่เท่มากอยู่นะครับ แต่นอกจากความเท่แล้ว พอได้มาทำงานจริง ผมยังเห็นคุณค่าจากงานที่ทำอยู่ว่าแต่ละวันเรามีบทบาทกับชีวิตของผู้ป่วยคนหนึ่งมากขนาดไหน ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทั้งหมด เพียงแค่บางครั้งพวกเขาอาจจะยังไม่เห็นหรือเชื่อว่าตัวเองทำได้ แพทย์จะเป็นคนหนึ่งที่พวกเขาเชื่อ เพราะฉะนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการดูแลและให้คำแนะนำคนไข้เสมอ รวมทั้งตั้งใจที่จะใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือของวิชาชีพเพื่อส่งเสริมให้พวกเขามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
โลกใบที่สองที่ชื่อ ‘ศิลปะ’
“ผมชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก จำความได้ก็รู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบวาดรูปมากแล้ว ผมมีโอกาสได้ไปประกวดหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม เริ่มจากสีชอล์กมาใช้สีโปสเตอร์ สีน้ำ สีอะคริลิก หัดสเก็ตซ์ภาพและวาดรูปอะนิเมะ จนค่อยๆ มาจับในด้านดิจิทัลมากขึ้นในช่วงมัธยมปลาย ฝึกใช้โปรแกรมภาพถ่าย การตัดต่อ การรีทัช ตอนนั้นเป็นช่วงที่สมาร์ตโฟนเริ่มเข้ามา ผมเลยได้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการถ่ายทอดแพชชั่นด้านศิลปะของตัวเอง นั่นเป็นก้าวแรกๆ ของการเล่นกล้อง
“พอเข้าเรียนแพทย์ ผมเริ่มถ่ายภาพมุมต่างๆ ในโรงพยาบาลเพราะยังไม่ได้มีโอกาสไปไหนมากนัก เวลานั้นยังไม่มีแพชชั่นเรื่องท่องเที่ยว ไม่เรียกว่างานอดิเรกด้วยซ้ำ เป็นแค่สิ่งที่จะทำระหว่างวัน แบบที่เจอมุมตรงไหนสวยก็ถ่ายเก็บไว้ แล้วลงใน IG ส่วนตัว หลังจากนั้นผมค่อยๆ จริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น เริ่มมีกล้องเป็นของตัวเอง เป็นกล้อง mirrorless ธรรมดาๆ ตัวหนึ่งนี่แหละ
“ศิลปะและการถ่ายภาพให้อะไรกับผมบ้างนะเหรอ ทุกครั้งที่ผมได้ทำสิ่งเหล่านี้อย่างการถ่ายภาพ ผมรู้สึกเป็นตัวของตัวเองและมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้จับกล้อง คุณเชื่อไหม ในมุมเดียวกัน เพียงแค่เวลาที่ต่างกัน แสง เงา มีคนหรือไม่มีคน องค์ประกอบต่างๆ ที่ว่านี้ทำให้อารมณ์ของภาพเปลี่ยนไปได้แล้ว ซึ่งเสน่ห์และความงามในแต่ละครั้งที่ผมกดชัตเตอร์มีความเฉพาะตัวและไม่เคยซ้ำกัน ภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจึงไม่เคยน่าเบื่อ ต่อให้เราไปที่เดิมแต่เรายังสามารถเก็บเรื่องราวใหม่ๆ มาเล่าได้ตลอด นี่คงจะเป็นเซฟโซนอันหนึ่งของผมที่ไม่ว่าจะกลับไปทำเมื่อไหร่ ผมยังสนุกอยู่เสมอ ผมทำเพจผ่านมา 5 ปี ซึ่งถ้านับรวมตั้งแต่เริ่มต้นถ่ายภาพก็มากกว่า 10 ปีแล้ว แพชชั่นนี้ยังไม่หมดไป แต่ยังสร้างอีกหนึ่งอาชีพอย่างการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ให้ผมไปแล้ว (ยิ้ม)”
โลกใบที่สาม: ชีวิตนักเดินทาง
หลังจากเริ่มจับกล้อง หมอเปียงค่อยๆ พัฒนาทักษะการถ่ายภาพเรื่อยมา จนกระทั่งขึ้นชั้นปีที่ 5 ที่คุณหมอมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยหมุดหมายครั้งนั้นคือประเทศภูฏาน สถานที่ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
“ภูฏานเป็นประเทศที่มีทัศนียภาพ ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่าทุกอย่างที่ได้เจอว้าวไปหมด การเดินทางครั้งนั้นเป็นทริปเปลี่ยนโลกผมเลยนะครับว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งในโลกกว้างใบนี้ และยังมีสถานที่อีกมากมายให้ผมได้เรียนรู้ ค้นหา และเก็บประสบการณ์กลับมา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมหลงรักการเดินทาง จนถึงช่วงเวลาที่ผมไปใช้ทุน เวลานั้นผมมีอิสระมากขึ้น ไม่ได้ผูกติดกับการสอบและการอ่านหนังสือหนักเท่าสมัยเรียน ผมจึงใช้โอกาสนั้นทำอะไรจริงจังมากขึ้น”
เพจ Pyong Traveller X Doctor จึงถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ด้วยความตั้งใจที่อยากใช้พื้นที่ดังกล่าวเล่าเรื่องสถานที่และประสบการณ์จากการเดินทางของเขา
“ผมนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมเคยไปมาทำเป็นคอนเทนท์ในช่วงแรกเริ่ม ซึ่งก็ได้เพื่อนๆ ช่วยกันสนับสนุนกันเยอะมาก เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หมอที่ถ่ายรูปได้และทำเพจยังมีไม่มากนัก และคงเพราะคาแร็คเตอร์ของความเป็นหมอ สไตล์ภาพที่แปลกตา ทำให้เกิดการตอบรับจากที่ดีและทำให้เพจนี้เป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว ผมจึงเริ่มทำเนื้อหามากขึ้น โดยจัดสรรเวลาทำทริปตามเวลาที่เอื้ออำนวย ช่วง 6 เดือนแรกเรียกว่าเป็นงานหินเหมือนกันกับการโดดมาทำอะไรที่ไม่เคยทำ แต่ผมตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่สามารถสื่อสารตัวตนและมุมมองของผมผ่านภาพถ่าย รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวในสถานที่ต่างๆ ที่ผมไปด้วย”
เรื่องราวในช่วง 6 เดือนแรกนี้ยังถูกนำไปเล่าในหนังสือ ‘PYONG See What I See ทริปฉุกเฉินของหมอเปียง’ พ๊อกเก็ตบุคที่บันทึกการเดินทางของคุณหมอผู้หลงใหลในโลกกว้างคนนี้ และยังต่อยอดไปสู่นิทรรศการ ‘SEE WHAT I SEE : PYONG : Traveller X Doctor 1 ST EXHIBITION’ ในปี 2562 ณ Viridian Art Gallery จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดแสดงภาพและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตการเดินทางคู่ขนานของหมอเปียงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายผลงานภายในนิทรรศการครั้งนั้นยังได้ถูกนำไปบริจาคเพื่อการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านห้วยปูเลย ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
“นอกจากประสบการณ์ต่างๆ จะช่วยขัดเกลาและบ่มเพาะให้ทักษะการถ่ายภาพและการเล่าเรื่องของผมดีขึ้นตามลำดับแล้ว บทบาทคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังนำพาผมไปพบผู้คนและสถานที่ต่างๆ ซึ่งสร้างคุณูประการให้กับชีวิตส่วนตัวและอาชีพหมอของผม ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมเข้าใจผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้มากขึ้นเยอะ เพราะคนไข้ที่มาหาเรา เขาไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ตัวโรค แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน สังคมรอบๆ ตัว อาชีพของเขา หรือสิ่งที่เขาเจอมาด้วย ดังนั้น ยิ่งผมได้เจอคนหลากหลายวิชาชีพมากเท่าไหร่ ผมยิ่งเข้าใจการใช้ชีวิตของผู้คนที่มีความหลากหลายมากเท่านั้น และทำให้ผมสามารถเข้าถึงคนไข้ได้ถูกทางมากขึ้น ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในหนังสือหรือครูคนไหนจะมาสอนได้”
รู้จักตัวตน ค้นพบตัวเอง
“ก่อนหน้าจะมาเป็นหมอฟื้นฟู ผมอยากเป็นหมอผ่าตัดมาก่อน ซึ่งการเบนเข็มมาสู่การเรียนเวชศาสตร์ฟื้นฟูถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผมเลย เพราะเส้นทางของหมอทั้งสองสาขาเรียกว่าไปคนละทางเลยนะครับ เหตุผลที่ผมเปลี่ยนใจเนื่องจากเวลานั้นผมเริ่มทำเพจของตัวเองและพบว่างานงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นโลกอีกใบหนึ่งของผมไปแล้ว ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจเลือกในเส้นทางที่ยังสามารถใช้ความรู้ในการดูแลคน ขณะที่ยังสามารถมีเวลามากพอที่จะให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตด้านอื่นๆ โลกนี้ด้วย
“แต่ก่อนที่จะตัดสินใจแบบเด็ดขาด ผมเองก็กลับมาทบทวนตัวเองหลายๆ ครั้งว่าแท้จริงแล้ว ผมชอบและเหมาะกับอะไร จนกระทั่งพบว่าจริงๆ ตัวตนของผมมาทางสายฟื้นฟูตั้งแต่ต้น ทั้งความสนใจเกี่ยวกับการเข้าใจคนในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงความชอบเรื่องศิลปะและการออกแบบซึ่งสามารถบูรณาการไปใช้กับเรื่องของการฟื้นฟูได้เยอะเลย นี่จึงเป็นบทเรียนหนึ่งในชีวิตเหมือนกันกับการต้องเลือกระหว่างความฝันกับความสนใจและทักษะที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับเรามากกว่า บทเรียนครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผมเล่าให้น้องๆ ฟังเสมอครับว่า เราตั้งใจได้นะ แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นว่าอะไรไม่เหมาะกับตัวเอง เราไม่จำเป็นจะต้องฝืนตัวเองเพียงเพราะนั่นคือความฝัน เพราะยังมีอย่างอีกหลายอย่างที่เราอาจจะทำได้ดีและมีความสุขกับมันแบบที่เราเองไม่รู้เลยด้วยซ้ำ”
บูรณาการความรู้เพื่อมวลชน
“ด้วยความที่ผมเจอคนหลากหลายจากทั้งการทำงานในโรงพยาบาลและการทำงานเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผมพบผู้คนที่สนุกกับการใช้ชีวิตและสามารถทำทุกอย่างที่อยากทำได้ ทั้งหาเลี้ยงตัวเองได้ มีเวลามากพอในการทำกิจกรรมที่ชอบ และยังสุขภาพแข็งแรงอยู่ แม้บางท่านจะอายุมากแล้ว ผมมองบุคคลเหล่านี้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตว่าหากวันหนึ่งที่ผมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผมอยากจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสระในการทำอะไรก็ได้ที่ผมอยากทำและยังแข็งแรงได้อยู่เช่นกัน เมื่อตั้งเป้าหมายว่าเป็นแบบนั้น ผมจึงต้องมาวางแผนชีวิตว่าเราจะดำเนินไปอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ได้บ้าง ผมจึงต้องลงทุนตั้งแต่วันนี้ในการสร้างฐานที่มั่นคงในอาชีพที่เราทำได้ดี ตั้งใจทำทุกอย่างให้เต็มที่ในเส้นทางของตัวเอง ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองเพื่อให้เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะมีกำลังมากพอในการใช้ชีวิตแบบที่ต้องการด้วยความสุข ผมอยากโตไปเป็นคนดีที่มีคุณภาพครับ
“สำหรับวิชาชีพของผม ด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีเนื้อหาหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องไปกับการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอุปกรณ์ การออกแบบเพื่อปรับที่อยู่อาศัย เพื่อคนพิการ และการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design ซึ่งผมจึงมีความตั้งใจว่าอยากจะใช้ความชอบและทักษะที่ถนัดในเรื่องศิลปะและการออกแบบมาบูรณาการกับอาชีพแพทย์ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จริงๆ ตอนนี้ในเมืองไทยมีอะไรแบบนี้อยู่แล้วนะครับ เช่น การร่วมมือระหว่างคณะแพทย์กับสาขาวิชาอื่นๆ อาทิ สถาปัตย์และวิศวกรรมเพื่อร่วมกันค้นคว้าวิจัย รวมถึงออกแบบสิ่งประดิษฐ์ แต่เรื่องงานวิจัยของไทยอาจยังไม่ได้ไปถึงจุดที่จะนำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไปสู่สาธารณชนได้มากนัก เลยทำให้เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หรือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้แบบจริงจังและเป็นวงกว้างได้ แต่ในต่างประเทศที่เขาจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เขาพัฒนาถูกนำออกมาสร้างเป็นโปรดักท์ที่ใช้ได้จริงๆ และผู้คนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการบูรณาการความรู้เหล่านั้นได้ ผมอยากเห็นประเทศไทยไปถึงจุดนั้น อยากทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก และอยากให้สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่ผมมีส่วนร่วมในการพัฒนาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นและช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งครับ”
–
ติดตามหมอเปียง นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์ ได้ที่: PYONG Traveller X Doctor
ภาพ: เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล / Tianrasin Suwanrungsikul