เมื่อ ‘มือ’ ไม่สบาย: เช็คให้ดีเพราะอาจเป็นอาการประสาทมือชา!

Health / Others

คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือเปล่า? รู้สึกชา เป็นเหน็บ หรือปวดแสบปวดร้อนเหมือนมีไฟช็อตที่บริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้งและนิ้วชี้ และบางครั้งปวดชาไล่มาตั้งแต่แขนจนถึงหัวไหล่ หรือถึงขั้นมือไม้อ่อนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้อย่างที่เคยทำ

อาการตามที่กล่าวมาข้างต้นบ่งบอกได้ว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับกลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome หรือ CTS) หนึ่งในโรคยอดฮิตของคนเมืองปัจจุบันที่ติดมือถือ ใช้คอมพิวเตอร์ และสายเกมเมอร์!

สาเหตุ

อาการประสาทมือชาเกิดจากการกดทับหรือบีบอัดที่เส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ที่วิ่งลงมาตามแขนผ่านเข้าไปยังโพรงข้อมือ (Carpal Tunnel) และสิ้นสุดที่มือ โดยเส้นประสาทมีเดียนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วต่างๆ ยกเว้นนิ้วก้อย

การกดทับที่เส้นประสาทมีเดียนอาจเกิดจากการใช้งานมือและข้อมือที่ไม่เหมาะสม อย่างการใช้มือที่อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในท่าที่ต้องงอข้อมือ เช่น เวลาใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือ ทำสวน ทำอาหาร เย็บผ้า เป็นต้น แต่นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว อาการข้อมือชายังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น ข้อมือได้รับบาดเจ็บ เส้นประสาทถูกทำลายจากภาวะเบาหวาน ภาวะอ้วนจนทำให้เส้นประสาทข้อมือถูกบีบอัด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวัยหมดประจำเดือนจนเกิดภาวะของเหลวคั่งในร่างกาย และโรคอื่นๆ เช่น ไฮโปไทรอยด์ รูมาตอยด์ เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์มักเริ่มต้นตรวจอาการของโรคด้วยการเคาะที่บริเวณเส้นประสาทมีเดียนตรงข้อมือ หรือทำให้เส้นประสาทตึงด้วยการดัดข้อมือ เพื่อให้ผู้ป่วยแสดงอาการผิดปกติที่ชัดเจนขึ้น แต่เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีการต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • เอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ หรือสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจสอบกระดูกและเนื้อเยื่อ
  • การตรวจวินิจฉัยไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ (Electromyography) เพื่อตรวจหาความเสียหายของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

การรักษา

อาการประสาทมือชามักเป็นๆ หายๆ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายเลือกที่จะปล่อยอาการทิ้งไว้ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น และยากต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อมีอาการที่เข้าข่ายกลุ่มอาการประสาทมือชา ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ในระยะเบื้องต้น

หลังทำการวินิจฉัย แพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาตามความเหมาะสมของอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน: หากอาการชาเกิดจากการใช้ข้อมือในท่าเดิมเป็นเวลานาน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพยายามลดกิจกรรมนั้นๆ ลง รวมทั้งพักมือให้บ่อยขึ้นระหว่างทำกิจกรรมนั้น
  • ออกกำลังกายข้อมือ: ด้วยการยืดเหยียดข้อมือ
  • ใส่เฝือกหรืออุปกรณ์ช่วยพยุง: เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือและแรงกดบนเส้นประสาทมีเดียน โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่เฝือกหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงขณะนอนหลับเพื่อลดอาการชาหรือเป็นเหน็บที่มักเกิดขึ้นหลังตื่นนอน รวมทั้งจะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • รักษาด้วยยา: ยาแก้อักเสบ หรือยาสเตียรอยด์ (ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน)
  • การผ่าตัด: หากวิธีการรักษาเบื้องต้นที่กล่าวมาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงข้อมือและระงับการกดทับลงบนเส้นประสาท

การป้องกัน

เป็นการดีกว่าที่เราจะป้องกันอาการประสาทมือชาก่อนที่จะเกิดขึ้นกับเรา โดยแพทย์มีคำแนะนำสำหรับปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • พยายามทำให้ข้อมืออยู่ในท่าเหยียดตรง 
  • เมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์ พยายามทำให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง ให้มืออยู่สูงกว่าข้อมือเล็กน้อย และปล่อยไหล่ตามสบาย
  • พยายามพักการใช้มือในกิจกรรมระหว่างวันให้บ่อยที่สุด 
  • หากต้องพิมพ์คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ
  • บริหารข้อมือด้วยการเหยียดแขนไปข้างหน้า ตั้งฝ่ามือขึ้น ค่อยๆ เคลื่อนไหวข้อมือเพื่อให้มือชี้ลงพื้น จากนั้นใช้มืออีกข้างช่วยดัดมือเข้าหาตัว เพื่อให้ข้อมือตึงขึ้นอีกเล็กน้อย ทำค้างไว้ 15-30 วินาที 

ที่มา:
webmd.com
pobpad.com 
med.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง