ทุกวันนี้ “คุณนอนวันละกี่ชั่วโมง” แล้วมันพอแแล้วจริงหรือ?
…รู้ได้อย่างไร ว่านอนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ…
หากใครที่กำลังรู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ค่อยออก นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณกำลังนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเราสามารถสำรวจเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองได้ง่ายๆ คือหากตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ง่วงระหว่างวันอยู่บ่อยๆ ประมวลผลคำพูดความคิดได้ช้าลง รวมไปถึงมีอาการมึนงงเกิดขึ้น ก็ขอให้รู้ไว้เลยว่าคุณอาจจะกำลังอยู่ในภาวะนอนหลับไม่เพียงพอก็เป็นได้
ซึ่งหากมีการนอนหลับที่ไม่เพียงพอติดต่อกันก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายมากมายตามมา เช่น
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- เสี่ยงเกิดโรคอ้วน
- ร่างกายไม่เจริญเติบโตหรือฟื้นฟูช้า
- สมองทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
- อารมณ์แปรปรวน
- ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกิดโรคได้ง่าย เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้การนอนหลับพักผ่อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพื่อให้ร่างกายได้หยุดพักและฟื้นฟูตัวเองให้พร้อมต่อการทำกิจกรรมต่างๆ โดยในแต่ละช่วงวัยก็มีระยะเวลาที่ควรนอนหลับที่ไม่เท่ากัน ตามความแตกต่างในการใช้พลังงานและการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทาง National Sleep Foundation ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการให้คำแนะนำถึงการนอนหลับในระยะเวลาที่ยาวนานแตกต่างกันไปตามช่วงวัยต่างๆ โดยแบ่งวัยและระยะเวลาการนอนหลับได้เป็น
– เด็กแรกเกิด (อายุ 0-3 เดือน) : 14-17 ชั่วโมงต่อวัน
– เด็กทารก (4-11 เดือน) : 12-15 ชั่วโมงต่อวัน
– เด็ก (1-2 ปี) : 11-14 ชั่วโมงต่อวัน
– วัยอนุบาล (3-5 ปี) : 10-13 ชั่วโมงต่อวัน
– วัยประถม (6-13 ปี) : 9-11 ชั่วโมงต่อวัน
– วัยมัธยม (14-17 ปี) : 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
– วัยรุ่น (18-25 ปี) : 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
– วัยทำงาน (26-64 ปี) : 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
– วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) : 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
โดยการจะนอนหลับให้ได้ประสิทธิภาพนั้นบรรยากาศภายในห้องนอนหรือบริเวณที่นอนหลับควรจะมีบรรยากาศที่เงียบสงบ มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีเสียงต่างๆ ที่มารบกวนการนอนเพื่อในการนอนหลับในครั้งนั้นเป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริงนั่นเอง
แล้ววันนี้คุณนอนหลับเพียงพอแล้วหรือยัง ?
…สำรวจตัวเอง นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพที่ทุกคนต้องการ…