เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ‘กรดไหลย้อน’

แสบร้อนยอดอก เรอเปรี้ยว ใครมีอาการมาทางนี้ เชื่อว่าอาการเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนได้ไม่น้อยเลย แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากเป็นแล้วทำอย่างไรถึงจะห่างไกลจากกรดไหลย้อน ไปติดตามข้อมูลและคำแนะนำดีๆ กับ รศ.พญ. รภัส พิทยานนท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันค่ะ

กรดทำไมไหลย้อน

กรดไหลย้อน ถือเป็นภาวะที่พบบ่อย สาเหตุเกิดจากการที่มีสารจากกระเพาะอาหาร (กรดอ่อน ด่าง หรือแก๊ส) ย้อนขึ้นมา ทำให้เกิดอาการที่รบกวนหรือมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะดังกล่าว และ/หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากสิ่งไหลย้อน เช่น การเกิดแผลในหลอดอาหาร เป็นต้น ส่วนเหตุที่ทำให้สารจากกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้นั้น เกิดได้จากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารเอง เช่น หูรูดหลอดอาหารหย่อน มีก้อนบริเวณหูรูดกระเพาะอาหาร เป็นต้น หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารที่ทำให้กระเพาะอาหารทำงานช้าลง เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นจนทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดมากกว่าปกติก็ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด ‘กรดไหลย้อน’ ขึ้นได้

อาการแบบไหน…ใช่กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. กลุ่มอาการของหลอดอาหาร (Esophageal Syndrome) ได้แก่ อาการแสบร้อนยอดอก (heartburn) หรือเรอเปรี้ยว (acid regurgitation) ซึ่งเป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับกรดไหลย้อน หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถวินิจฉัยกรดไหลย้อนได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหาร โดยอาการเหล่านี้จะต้องตอบสนองต่อการรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรด แต่หากไม่ตอบสนองหรือมีสัญญาณเตือนโรคร้าย ได้แก่ อาการกลืนติด กลืนลำบาก กลืนเจ็บ อาเจียนมีเลือดปน อาเจียนมากกว่า 10 ครั้งต่อวันโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายดำ หรือน้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ ควรได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหาร
  2. กลุ่มอาการนอกหลอดอาหาร (Extraesophageal Syndrome) ได้แก่ ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน ฟันกร่อน แน่นหน้าอก เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับภาวะกรดไหลย้อน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการได้ เช่น ผู้ที่มีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก ควรคิดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นอันดับแรก และตรวจเพิ่มเติมจนมั่นใจว่าไม่ได้มีความผิดปกติของโรคหัวใจ เป็นต้น

กรดไหลย้อน อยากหายมาทางนี้

หากมีอาการที่จำเพาะต่อกรดไหลย้อน คือ อาการแสบร้อนยอดอก หรือเรอเปรี้ยว ร่วมกับผลการตรวจร่างกายปกติ และไม่มีสัญญาณเตือนโรคร้าย แพทย์จะให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นกรดไหลย้อนและให้การรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งการรักษาจะเน้นที่การปรับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก ร่วมกับการให้ยายับยั้งการหลั่งกรด โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. การปรับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นการรักษาหลัก โดยสิ่งที่ควรปฏิบัติมีข้อมูลยืนยันว่าลดอาการกรดไหลย้อนได้ ได้แก่ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนและการนอนยกหัวเตียงสูง ด้วยการยกหัวเตียงสูงขึ้น 8 นิ้วโดยการรองหัวเตียงให้สูงขึ้น ไม่ใช่แค่การนอนหมอนสูงเท่านั้น
  • งดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง 
  • ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบเพิ่มขึ้นหลังน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • หยุดสูบบุหรี่และการงดดื่มสุรา

ทั้งนี้ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันว่าการดื่มน้ำอัดลมจะทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบหรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน เพียงแต่จะเพิ่มปริมาณลมในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการไม่สุขสบายท้องได้ นอกจากนี้การดื่มกาแฟหรือชาก็ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อน แต่ในบางรายอาจทำให้ลมในท้องมากขึ้นได้

  1. การให้ยายับยั้งการหลั่งกรด โดยในระยะแรกจะให้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากอาการดีขึ้นก็สามารถให้การวินิจฉัยกรดไหลย้อนได้ และให้ยาเดิมจนครบ 4-8 สัปดาห์ แล้วค่อยๆ ลดยาลงจนกระทั่งหยุดยาในที่สุด ทั้งนี้ต้องมีการปรับการใช้ชีวิตประจำวันข้างต้นร่วมด้วยตลอดการรักษา 

หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับยายับยั้งการหลั่งกรด โดยที่มีการรับประทานยาอย่างถูกต้องและได้ปรับการใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วยแล้ว แพทย์อาจเปลี่ยนชนิดของยายับยั้งการหลั่งกรดหรือพิจารณาส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่มีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอกและแพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ หากนึกถึงภาวะกรดไหลย้อนสามารถให้ยายับยั้งการหลั่งกรดชนิด Proton Pump Pnhibitor (PPI) วันละ 2 ครั้ง ได้ หากตอบสนองต่อการรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรดดังกล่าว สามารถวินิจฉัยว่าอาการแน่นหน้าอกเป็นจากกรดไหลย้อนได้ 

ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจะทราบดีว่า อาการกรดไหลย้อนนั้นเป็นอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตค่อนข้างมาก ซึ่งมักจะเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่จะมีสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น มีความกังวล เป็นต้น หลังรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรดเป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ตามที่แพทย์สั่งแล้วจะสามารถค่อยๆ ลดยาจนหยุดไปได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนต้องปรับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องไปตลอดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำก็สามารถรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ จนอาการหายเป็นปกติแล้วสามารถหยุดยาได้ แต่หากรับประทานยาเกิน 2 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย หมอแนะนำว่าควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแนวทางในการตรวจเพิ่มเติมและการรักษาต่อไป

อ้างอิง: Maneerattanaporn M, Pittayanon R, Patcharatrakul T et al. Thailand guideline 2020 for medical management of gastroesophageal reflux disease. J Gastroenterol Hepatol. 2021 Dec 14. doi: 10.1111/jgh.15758. Online ahead of print.

Share :
go to top