Goodwill Compounding ทีมนักสร้างแบรนด์ที่เชื่อว่าธุรกิจที่ดีจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น

Human / Social-Inspiration

Goodwill Compounding คือบริษัทที่ปรึกษาด้านแบรนด์และความยั่งยืน (ฺBrand and Sustainbility Consultant) ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 2566 หลังจากที่พวกเขาสะสมประสบการณ์การสร้างแบรนด์และแก้ปัญหาธุรกิจผ่านการสื่อสารมากว่า 20 ปี วันนี้ถึงเวลาที่พวกเขามีเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นก็คือการทำให้โลกนี้ยั่งยืนด้วยการทำให้ทุกแบรนด์ในเมืองไทยเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน พวกเขาเชื่อว่าภาคธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กคือภาคส่วนที่ทรงพลังที่สุดในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้ เพราะทั้งเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ปราดเปรียว ฉับไว และมีความคมคายทางความคิด เมื่อใดที่ภาคธุรกิจดี นั่นจะส่งผลกระทบในทางบวกได้มหาศาลต่อคนหมู่มาก และยังเชื่ออีกว่าเจ้าของกิจการทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีในตัวที่อยากจะสร้างและส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น โดยที่พวกเขาจะเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนให้เจ้าของกิจการเหล่านั้นได้เห็นถึงเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง สามารถสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนตามกำลัง และทำได้อย่างเต็มกำลังความสามารถของตัวเอง

นี่คือวงสนทนาที่เราขอเรียกว่า ‘ที่สุดแห่งพลังบวก’ จาก Goodwill Compounding กับ ยอด – บุญชัย สุขสุริยะโยธิน (Director of Change) เบนซ์ – สายธาร ชัยพรแก้ว (Chief of Awesome Purpose) และ มัดหมี่ – วิสสุตา กัจฉมาภรณ์ (Idea Manager) ที่จะมาบอกเล่าถึงงานที่พวกเขาเคยทำ ทำอยู่ และจะทำต่อ สิ่งที่ทำให้เราเชื่อมั่นและมีความหวังท่ามกลางความขมุกขมัวของโลกใบนี้ว่า ‘ธุรกิจที่ดี จะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริงๆ’

มัดหมี่ – วิสสุตา กัจฉมาภรณ์ | เบนซ์ – สายธาร ชัยพรแก้ว | ยอด – บุญชัย สุขสุริยะโยธิน

ในวิชาลูกเสือเนตรนารี เรามักถูกสอนเรื่องการเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในป่าว่า ‘หากหลงป่าให้มองหาดาวเหนือ’ เพราะดาวดวงดังกล่าวคือดวงดาวที่มีตำแหน่งคงที่และจะคอยยืนยันตำแหน่งบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ซึ่งใช้เป็นตัวช่วยในการเดินเรือมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ การทำงานของ Goodwill Compounding ก็มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เพราะพวกเขาเชื่อว่า การค้นหาดาวเหนือของเจ้าของธุรกิจจะช่วยให้พวกเขาสามารถค้นพบเส้นทางที่ธุรกิจควรจะมุ่งไปและพบคำตอบของคำถามที่ว่า ‘คุณเกิดมาเพื่ออะไร?’

เบนซ์: “มีประโยคหนึ่งที่ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชาวอเมริกันทิ้งไว้ผ่านผลงานเขียนของเขาอย่าง The Adventures of Huckleberry Finn ว่า ‘วันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณมีอยู่สองวัน หนึ่งคือวันที่คุณเกิด และสองคือวันที่คุณค้นพบว่าตัวเองเกิดมาทำไม’ (The two most important days in your life are the day you are born and the day you find out why) เบนซ์ชอบประโยคนี้มาก และเป็นสิ่งที่ Goodwill พยายามทำมาตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง นั่นคือการหาเดย์ทูให้กับภาคธุรกิจ เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเจอแล้ว นั่นจะกลายเป็นดาวเหนือที่คอยนำทางให้การดำเนินธุรกิจของเขาว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เส้นทางไหนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งท้ายที่สุดมันกลับมาที่วัตถุประสงค์การมีอยู่ของแบรนด์ หรือ Purpose ที่จะไม่เบี้ยวและไม่แตกแถวไปในทางอื่น”

มัดหมี่: “หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าเรามี Purpose แล้วจะอย่างไรต่อ ต้องบอกแบบนี้ค่ะว่าการอยู่ท่ามกลางโลกธุรกิจที่มีทั้งโอกาสและคู่แข่งมากมายอย่างทุกวันนี้ หากเราไม่มี Purpose เราจะสะเปะสะปะแบบที่พี่เบนซ์ว่า ดังนั้น เมื่อคนมองมาที่แบรนด์ของเรา จะมองไม่เห็นความชัดเจน จะไม่รู้ว่าหากมีปัญหาแบบไหนกันนะถึงจะมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของเรา เดี๋ยวนี้ หลายๆ ธุรกิจจะชอบพูดถึงว่าเราต้องมี Customer Centric (แนวทางการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง) แม้ว่านี่จะเป็นแนวทางหนึ่งของการทำธุรกิจที่ดี แต่ในปัจจุบัน เทรนด์มาเร็วและไปเร็วมาก ลูกค้าเองก็เปลี่ยนไปเร็วมากเช่นกัน คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้นานและยั่งยืนในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่ช่วยได้คือการที่เรามี Purpose หรือดาวเหนือที่ชัดเจน แล้วเมื่อนั้น ต่อให้ลูกค้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หากเรายังยึดมั่นที่จะทำงานเราแบบนี้ เมื่อลูกค้าพบปัญหาบางอย่างและอยากได้สินค้าแบบที่เราผลิต เขาจะคิดถึงเราทันที ความเป็นแบรนด์ของเราจะแน่นมากและไม่ได้มาจากแค่โลโก้ แต่จากความตั้งใจจริงๆ ของเราในการตั้งต้นธุรกิจนี้”

เบนซ์: “ดังนั้น เวลาที่เราสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้า เราจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งไล่ลงมาพนักงานและลูกค้าของเขา เพื่อที่จะได้เห็นว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่ไม่เคยใช้ของเขา แต่ใช้ของคู่แข่ง เราจะสัมภาษณ์เหมือนกันเพื่อที่จะหาโอกาสทางธุรกิจ เพราะจริงๆ แล้ว การสร้างแบรนด์ทั่วไป ส่วนใหญ่คนมักจะนึกถึงแค่โลโก้ การออกแบบอัตลักษณ์ หรือ CI (Corporate Identity) แต่สำหรับ Goodwill การสร้างแบรนด์ไม่ใช่ว่าเราจับเขาแต่งตัวอย่างไรหรือแบบไหน แต่คือการถอดเสื้อผ้าออกทุกอย่างเพื่อให้รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงเขาคืออะไร แล้วจึงมาสร้างเป็นกลยุทธ์ของแบรนด์ โดยจะครอบคลุมตั้งแต่ Brand Purpose ว่าตัวตนของแบรนด์คืออะไร เกิดมาเพื่ออะไร รวมถึงสิ่งที่เขาจะฝากไว้ในใจลูกค้า คุณค่าของแบรนด์ จนถึงวิธีการทำงาน เราจะช่วยพวกเขาเซ็ตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และเราไม่ได้ดูแค่แบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่จะดูไปถึงธุรกิจของพวกเขาด้วย” 

ในเอกสารแนะนำบริษัทของ Goodwill Compounding บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘We don’t do’ Manifesto ดังนั้น หลักการในการรับงานของพวกเขาจึงมีอยู่สอง ‘ไม่’ หนึ่งคือไม่รับงาน ‘Greenwashing, Rainbow Washing และ Impact Washing กับสอง คือไม่รับงาน CSR ที่ทำเพื่อถ่ายรูปเอาภาพข่าว แต่ไม่สามารถวัดผลที่มีต่อสังคมได้จริงๆ สำหรับพวกเขา คุณค่าและความตั้งใจดีของแบรนด์สำคัญมากกว่าเม็ดเงิน

เบนซ์: “ปกติในหน้าแนะนำบริษัทมักเป็นหน้าที่จะบอกว่า ‘ฉันทำอะไรได้’ แต่เรามีหน้านี้เพื่อบอกว่าเราไม่ทำอะไร งานที่พวกเราจะไม่รับแน่ๆ คืองานประเภท Green Washing (การฟอกเขียวธุรกิจ หรือ การเปิดเผยข้อมูลหรือข้อความที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินความเป็นจริง เพื่อหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไรบนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม) หรือ Washing อะไรก็ตาม และสอง ถ้ามีคนอยากชวนเราไปทำ CSR แต่ CSR นั้นวัดผลไม่ได้ เราจะไม่รับเช่นกัน เราจะเปิดหน้านี้เวลาไปพรีเซ้นต์งานเสมอ จนครั้งหนึ่งมีลูกค้ามาบอกว่า ‘คุณเอาหน้านี้มาไล่ลูกค้าหรือเปล่าเนี่ย’ เอาจริงๆ ก็ใช่นะคะ หมายความว่าถ้าลูกค้าคนไหนที่ไม่ได้มาสายนี้ พอได้เห็นเขาจะรู้ทันทีว่าไม่น่าจะเข้ากับเราได้ แต่ใครที่ใช่ ถ้าเห็นหน้านี้จะรู้แล้วว่าทีมนี้แหละจะมาช่วยเขาทำอะไรได้จริงๆ ซึ่งการปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา ทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นๆ ว่าเราเป็นอย่างไร”

กลุ่มลูกค้าของ Goodwill มีหลากหลายตั้งแต่สตาร์ทอัพขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ แต่จุดร่วมเดียวกันของลูกค้าทุกคนคือการมี Purpose ที่ดีในการทำธุรกิจซึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมและโลกใบนี้ สำหรับโปรเจ็กต์แรกของ Goodwill คือ การตามหาดาวเหนือให้กับ ‘Wisible’ บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับค้นหาโซลูชั่นให้กับระบบ Sales CRM สัญชาติไทยแท้ ซึ่งมีคู่แข่งทั้งในระดับประเทศ รวมไปถึงระดับโลกอย่าง Microsoft และ Salesforce

ยอด: “ในกรณี Wisible ก่อนที่คุณโค้ก (สาโรจน์ อธิวิทวัส) จะมาก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ เขาเคยเป็นพนักงานบริษัทมาก่อนซึ่งในเวลานั้นเขาพบว่าเทคโนโลยีมีเสน่ห์มากและสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เลยนะ หลังจากนั้นจึงตัดสินใจไปลงทุนลงแรงเปิดบริษัทแรก ทำมาได้ 2 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็ยังยอมสู้ต่อจนมาเปิดบริษัทที่สองนั่นคือ Wisible ในปี 2562 แต่ยังขาดทุนอยู่ พอมาปี 2563 บริษัทเริ่มทำกำไรได้ โควิดก็เข้ามาพอดี ทำให้ลูกค้าหายหมดเหมือนกับหลายๆ ธุรกิจในเวลานั้น จนมาเจอสถานการณ์โรงพยาบาลล้นเพราะคนแห่ไปกันหาหมอจากความกลัวโรคระบาด เจ้าหน้าที่ไม่ได้พักและทางโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถรองรับปริมาณคนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องแบบนั้นได้ เขาเห็นช่องทางว่าเทคโนโลยีที่มีในมือสามารถมาช่วยคัดกรองคนได้นะ จึงไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุขว่าขออาสาเข้าไปช่วย ซึ่งไม่ง่ายเลยกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีขั้นตอนมากมาย และยิ่งในวิกฤตแบบนั้นด้วย แต่เขาพยายามเต็มที่จนสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปหาทางออกให้กับวิกฤตนั้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสักบาท พอทำให้ปัญหาใหญ่นั้นคลี่คลายลงได้ เขาจึงค่อยมาคิดเรื่องธุรกิจ

“เมื่อเราได้ฟังเรื่องราวที่ผ่านมาของเขา เรารู้สึกว่าคนนี้แหละที่มีความตั้งใจดี เป็นคนตัวเล็กที่อยากจะช่วยคนตัวเล็กด้วยกัน ยิ่งพอเราไปคุยกับลูกค้าของเขา ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ไม่ได้ใหญ่ขนาดที่จะจ่ายสตางค์ให้ Microsoft หรือ Salesforce ได้ แต่เขาต้องการไปสู้กับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ คุณโค้กจึงพัฒนาเครื่องมือที่ดีและเก่งกว่าเพื่อช่วยให้คนตัวเล็กเหล่านี้ให้เอาชนะคนตัวใหญ่ นี่เลยเป็นที่มาที่เราได้เข้าไปร่วมสร้างแบรนด์ให้กับเขาครับ เพื่อช่วยธุรกิจเล็กๆ เอาชนะคนตัวใหญ่ได้”

เบนซ์: “พวกเรามีความเชื่อว่าทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่ในตัวเสมอ เวลาที่ไปเจอลูกค้า พอเราคุย เราเห็น  และมองตาเขาแล้ว เราขนลุกว่าคนนี้แหละที่เขามีอะไรดีๆ อยู่ข้างใน หน้าที่ของเราคือการเป็นเสมือนกระจกที่ส่องให้เขาเห็นว่าเขามีเมล็ดพันธุ์นี้อยู่นะ และจะช่วยให้เมล็ดพันธุ์นี้งอกเงยขึ้นมา เช่นเดียวกับ Wisible ที่มาพร้อมกับคำถามที่ว่า ‘ธุรกิจของเขาจะแตกต่างจากคนอื่นได้เหรอ?’ ในเมื่อผู้พัฒนา Sales CRM มีหลากหลายมากในตลาด พวกเราจึงบอกกลับไปว่า ได้สิ เพราะว่าวัตถุประสงค์การมีอยู่ของแบรนด์หรือ Purpose ของคนเราไม่เหมือนกัน ในกรณีของ Wisible พี่โค้กจะมีคำที่ชอบพูดบ่อยๆ คือเขาเป็นคนตัวเล็กที่อยากสู้เพื่อคนตัวเล็ก ด้วยเส้นทางและสิ่งที่เขาทำ เรามองเห็นความสู้อยู่ตรงนั้น”

มัดหมี่: “จากการทำงานร่วมกับ Wisible เราได้เห็นว่าก่อนหน้านี้ การสื่อสารหรือว่าการเทรนพนักงานของ Wisible อาจจะกระจัดกระจาย แต่เมื่อมีการทำงานร่วมกัน ประกอบกับสิ่งที่ Wisible ยึดถือ คือ ‘Outsmart the Best’ กลายเป็นภาพในการทำงาน อย่างพี่โค้กเป็นคนที่มีความรู้มากๆ พอเขาได้ทิศทางที่เกิดขึ้นจากตัวเขาเองปุ๊บ เขาก็ไปตะลุยสอนคนตามสัมมนาต่างๆ เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการ เรียกว่าทำธุรกิจให้ Outsmart the Best จริงๆ จนสามารถเอาชนะคู่แข่งที่ตัวใหญ่กว่าด้วยวิธีที่ฉลาดกว่า หรือเวลาเขาไปออกบูธหรือไปทำอะไรกับลูกค้า ก็ใช้คำว่า Outsmart the Best โดยไม่ต้องมาอธิบาย 5 ประโยค 10 ประโยคเหมือนเดิมแล้ว เพราะจากเดิมโปรดักท์เขาเป็นโปรดักท์ที่ต้องใช้เวลามากกว่าจะเข้าใจ ตอนนี้พอมีประโยคนี้ประโยคเดียว ลูกค้าเข้าใจได้ว่า Wisible คือสิ่งนี้ และทั้งแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงโปรดักท์ก็ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามชื่อ Outsmart the Best ที่จะทำอย่างไรให้โปรดักท์ของเขาเก่งกว่าเบอร์ใหญ่ที่สุด คู่แข่งที่เบอร์ใหญ่ที่สุด ทำอย่างไรให้ลูกค้ารายเล็กๆ ของเขาสามารถเอาชนะคู่แข่งที่ตัวใหญ่กว่าได้ ซึ่งตอนนี้เขาทำสำเร็จแล้ว (ยิ้ม)”

นอกจากรายได้หลักจากการทำงานกับลูกค้าแล้ว ทีม Goodwill ยังแบ่งเวลาของพวกเขามามาริเริ่มโครงการ ‘Little By Little กลยุทธ์จากใจ เพื่อคนตัวเล็ก’ โดยให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน ธุรกิจ และการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจเล็กๆ ที่อยากสร้างความยั่งยืน หรือคนที่มีใจอยากทำแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือหากมีกำลังอยากสนับสนุนพวกเขา Goodwill ก็จะนำเงินก้อนนั้นๆ ไปช่วยเหลือคนอื่นต่อไป

ยอด: “โปรเจ็กต์ ‘Little by Little’ เกิดขึ้นเพราะเราเห็นว่ายังมีองค์กรยั่งยืนมากมายที่ทำเรื่องดีๆ แต่แรงเขาอาจจะยังน้อยอยู่ ซึ่งเรายินดีที่จะให้คำปรึกษา ไม่ว่าเป็นเรื่องธุรกิจหรือความยั่งยืน โดยจะไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะเราอยากให้พวกเขามีพลังมากพอที่ไปเปลี่ยนแปลงโลกมากยิ่งขึ้น กลุ่มที่เราเคยสนับสนุนมีตั้งแต่ทีมปลูกปั่น, Farm to Truck, Peaceful Death และกลุ่มกระบวนทัศน์ใหม่ เราเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างแนวทางเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้”

เบนซ์: “โครงการนี้เราไม่ถึงกับประชาสัมพันธ์ออกไปว่า Goodwill ทำโครงการนี้อยู่นะ แต่จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเคสที่เราช่วยแก้ปัญหาได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของเรา ซึ่งแต่ละทีมที่เข้ามาหาเราจะมาจากหลายช่องทาง เช่น ส่งอีเมลมาบอกเล่าว่าพวกเขาคือใคร ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่นะ และกำลังเจอปัญหาอะไร เขาควรจะแก้ไขอย่างไรดี จะขอเข้าร่วมโครงการนี้ได้ไหม หรือบางคนก็จะมาจากการบอกแบบปากต่อปาก  จนถึงตอนนี้ เราดูแลธุรกิจเล็กๆ ไปน่าจะ 10 กว่าแห่งแล้ว เรียกว่าเยอะว่าจำนวนลูกค้าของเราอีกค่ะ (หัวเราะ)”

นอกจากนี้ Goodwill ยังผุดอีกหนึ่งโครงการที่มีชื่อว่า ‘Kamikatsu Zero Waste’ หรือคอร์สการเรียนรู้เรื่องแนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ณ เมืองคามิคัตสึในญี่ปุ่น เมืองที่ทำเรื่องรีไซเคิลได้สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเป้าหมายของโครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้ในเรื่อง Zero Waste เท่านั้น แต่ผู้เข้าร่วมยังจะได้แรงบันดาลใจและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่แบบชาวเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอกด้วยเช่นกัน

เบนซ์: “สำหรับคอร์ส Kamikatsu Zero Waste เป็นโครงการเรียนรู้ที่เราจัดมาสามครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดคือช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่พวกเราเพิ่งเปิด Goodwill ใหม่ๆ และเราเชื่อว่าถ้าอยากรู้เรื่องอะไร ต้องไปเรียนรู้จากคนที่เก่งที่สุดในเรื่องนั้น จึงลองไปค้นหาและเจอเมืองคามิคัตสึ (Kamikatsu) แห่งนี้ เมืองที่ทำเรื่องความยั่งยืนด้าน Zero Waste ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ตอนนั้นตัดสินใจว่า เอาล่ะ เปิดบริษัทครั้งแรกในชีวิตทั้งที เราอยากเข้าไปศึกษาเรื่องความยั่งยืนกับด้วยตัวเอง การเดินทางไปหมู่บ้านแห่งนี้ถือว่ายากลำบากพอสมควร ต้องนั่งรถไฟ 5 ต่อ ตามด้วยรถบัส แต่พอไปถึง มันคุ้มค่ามากเลยค่ะที่ได้ไปที่นั่น และพบความจริงว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงๆ ถ้าตั้งใจ

“หลังจากที่ได้ไปเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว เราไม่อยากหยุดแค่นี้ เราอยากพาคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้กับประเทศไทยมาเรียนรู้จากที่นี่เช่นกัน เราจึงสร้างเป็นคอร์สการเรียนรู้ขึ้นมา นั่นหมายความว่าไม่ใช่การศึกษาดูงาน ไม่ใช่การไปเที่ยว ทุกคนที่ไปมีเป้าหมายคือเพื่อไปเรียนรู้ ในคอร์สนี้เราจะเชิญผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยกันสร้างเมือง ‘คามิคัตสึ’ ให้เป็นเมืองยั่งยืนอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และยังเป็นเมืองที่ทำเรื่อง Zero Waste สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก สามารถรีไซเคิลได้ถึง 80%  ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 19% เราเชิญพวกเขามาเล่าให้ฟังว่าทำอะไร มีกลยุทธ์และวิธีการอย่างไร เรียนรู้การสร้างการเปลี่ยนแปลงจากนักธุรกิจด้านความยั่งยืนมือต้นๆ ของประเทศ ผู้นำด้าน Zero Waste ระดับโลก ผู้นำชุมชนที่ขับเคลื่อนพัฒนาเมืองจนเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ และข้าราชการที่รักเมืองและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาขน โดยผู้เข้าร่วมจะได้ทั้งความรู้ จิตวิญญาณ Purpose ของเมืองตั้งแต่วันแรกในปี 2003 จนถึงปัจจุบัน ว่าเขาผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง ปัญหาที่เจอ และวิธีแก้ไข 

“คอร์สนี้นอกจากจะได้องค์ความรู้และประสบการณ์จากคนในหมู่บ้านที่เราเชิญมาแล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่นั่น เช่น ข้าวแต่ละมื้อที่กินจะเป็นอาหารแบบ Zero Waste Dinner เป็นข้าวและผักที่ชาวบ้านปลูกกันเอง ข้าวที่จะมีแค่ฤดูกาลนี้เท่านั้น ข้าวที่ถ้าเจ้าของร้านไปอยู่โตเกียวจะสามารถขึ้นไฟน์ไดนิ่งอย่างหรูได้เลย แต่เขาเลือกที่จะมาอยู่ในคามิคัตสึ ทุกอย่างในการเรียนรู้นี้ทำให้คนเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต ได้องค์ความรู้อีกอย่างที่หนังสือที่ไหนก็ไม่ได้บอกไว้ แต่มาจากชีวิตของคนที่นั่นที่เขาลงมือทำจริงๆ”

ยอด: “หนึ่งในผู้ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับเราที่ผมประทับใจมาก คือ คุณโทโมจิ โยโกอิชิ  (Tomoji Yokoishi) ผู้ก่อตั้งธุรกิจอิโรโดริ (Irodori Leaf Business) เป็นธุรกิจยั่งยืนที่แก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยและสร้างความเท่าเทียมให้ผู้หญิงด้วยการขายใบไม้ให้ร้านอาหารต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำรายได้ราวๆ 200 ล้านเยนต่อปี แต่ก่อนคุณโทโมจิเป็นหัวหน้ากลุ่มสหกรณ์เกษตรของเมืองคามิคัตสึ แต่ว่าเขาอยากให้ผู้หญิงพึ่งพาตัวเองได้ เพราะว่าที่นั่นมีระบบสังคมแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจะต้องรอเงินจากผู้ชาย เขาเลยไปเดินเคาะประตูบ้านบอกคนในหมู่บ้านว่าผู้หญิงต้องพึ่งพาตัวเองนะ แต่กลับโดนไล่ออกจากเมืองไปเลย ซึ่งเขาไม่ท้อและอยู่สู้ต่อ จนวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน โดยปกติแล้ว เมืองคามิคัตสึจะปลูกส้มยูซุเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ด้วยปีนั้นหนาวมากจนต้นส้มตายหมด ซึ่งถ้าจะปลูกใหม่ต้องใช้เวลา 4-5 ปีถึงจะโต แล้วจะทำอย่างไรล่ะ คุณโทโมจิเลยเห็นโอกาสตรงนั้น เขาเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อดูว่าคนในเมืองสามารถทำอะไรได้บ้าง จนได้ไปงานเทศกาลอาหารที่โอซาก้า ได้เห็นอาหารญี่ปุ่นว่าจะเสิร์ฟพร้อมใบไม้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนที่นั่นว่าอาหารต้องกินด้วยตาด้วย แล้วใบไม้จะเป็นตัวบอกว่านี่คืออาหารของฤดูกาลอะไร พอได้เห็น เขาก็คิดได้ว่าเมืองเขาที่อยู่ใบไม้เต็มไปหมดเลยเพราะเป็นป่า และใบไม้ทำเป็นธุรกิจได้นี่นา เขาจึงกลับไปชวนคนในเมืองมาเก็บใบไม้ ชาวบ้านต่างคิดว่าเขาบ้า แต่ครั้งนั้นก็โน้มน้าวจนได้คนมาร่วมทีมสี่คน แม้ครั้งแรกเขาทำธุรกิจนี้เจ๊ง แต่แทนที่จะท้อ เขากลับมาหาสาเหตุว่าทำไม่ถึงไปไม่รอด กระทั่งพบว่าใบไม้หามาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของอาหาร เขาไปตระเวนไปทั่วญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อจดบันทึกว่าร้านอาหารแต่ละประเภทในแต่ละฤดูกาลใช้ใบไม้ชนิดไหน พอทำการบ้านมากยิ่งขึ้น แล้วกลับมาทำต่อในครั้งที่สองและสาม คราวนี้แหละที่ประสบความสำเร็จมาก จนกลายเป็นว่าคนทั้งหมู่บ้านหันมาทำงานนี้และผู้หญิงก็พึ่งพาตัวเองได้จริงแบบที่เขาตั้งใจไว้ นี่เลยเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานที่พลิกเมืองไปเลยแล้วไม่ใช่แค่ผู้หญิงพึ่งพาตัวเองได้ ผู้สูงวัยที่ทำงานนี้ยังรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐนะ เพราะฉันมีรายได้ และปลายทางที่ได้คือชาวบ้านมีความสุข

“เอาจริงๆ Kamikatsu Zero Waste เป็นคอร์สที่ถ้ามองในแง่ธุรกิจไม่ควรทำเลย เพราะหนึ่ง เราจัดได้ครั้งละ 15 คน ด้วยสถานที่ที่เขารองรับได้เท่านี้ สอง ใครจะมาสนใจเรื่องการจัดการขยะขนาดที่ต้องเดินทางไปถึงญี่ปุ่น และสาม ถ้าเราจะได้กำไรนั่นหมายความว่าเราต้องรับได้เต็มจำนวน 15 คน เพราะว่า 10 คน เพิ่งเท่าทุนเอง แต่เราอยากทำ เรายอมเจ็บตัว เพราะเราได้เห็นแล้วว่าทุกคนที่กลับมาจากคามิคัตสึ ไม่ได้แค่เพียงความรู้ แต่คือแรงบันดาลใจที่จะนำไปต่อยอดในแนวทางของตัวเองได้ ยิ่งได้เห็นว่าผู้เข้าร่วมกลับมาแล้วกระจายสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกไปในแนวทางของตัวเองมากแค่ไหน เรารูสึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ตอบแทนเรา และเป็นการตอกย้ำว่าเราเปิด Goodwill มาเพื่ออะไร”

เบนซ์: “สำหรับเบนซ์ ความยั่งยืนกับธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน การทำเรื่องความยั่งยืนที่ดีจริงๆ เริ่มต้นได้ง่ายมากเลยนะคะ นั่นคือจากความตั้งใจของเรานี่แหละ แล้วให้ธุรกิจเป็นเครื่องมือ มีความเชื่อหนึ่งที่เบนซ์เคยได้ยินมาคือ ถ้ามนุษย์มาอยู่รวมกันจะเละเทะแน่ สงครามจะเกิด จะแย่งกันกินแย่งกันใช้ และสถานการณ์จะแย่มากแน่ๆ แต่หลังจากที่ไปคามิคัตสึ เบนซ์กลับมามีศรัทธาในมนุษยชาติอีกครั้งว่าถ้ามนุษย์มารวมกันจะต้องทำอะไรดีๆ ตรงนี้ได้สิ แล้วการทำงานที่ Goodwill ทำให้ภาพนั้นชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าทำได้จริงๆ นะ ถึงแม้ว่าจะยากมากก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ขับดันให้เบนซ์อยู่และทำงานในทุกๆ วัน คือเบนซ์ดีใจทุกครั้งเวลาไปเจอลูกค้าได้เห็นพวกเขาทำธุรกิจที่ดี ธุรกิจแบบนี่แหละคือความหวังของมนุษยชาติ เมื่อเขามารวมกันแล้ว เราต้องช่วยอะไรเขาได้บ้างสิเพื่อให้สิ่งดีๆ ที่เขาอยากทำไปต่อได้และไปได้ไกล การได้อยู่แวดล้อมด้วยเพื่อนที่ดี ดีแบบที่อยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น ถึงแม้จะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหน แต่ว่า Goodwill และเบนซ์อยากเป็นคนคนนั้นที่จะอยู่ข้างๆ และทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ”

มัดหมี่: “ก่อนมาทำ Goodwill มัดเข้าใจว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่พอมาทำจริงๆ จึงพบว่าคำคำนี้มีหลายแง่มุมมาก เช่น การช่วยให้คนและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความยั่งยืนสำหรับมัดคือการที่เราจะอยู่ต่อไปอย่างไรในโลกข้างหน้า เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายที่จะเกิดขึ้น เราจึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนให้เราสามารถสร้างโลกในอนาคตที่ยังสามารถอาศัยอยู่ต่อไปได้ จริงๆ เราทำเพื่อตัวเองกันนั่นแหละ แต่เป็นการทำเพื่อตัวเองในอนาคต ความยั่งยืนสำหรับมัดเลยเป็นในมุมของการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อที่เราจะยังสามารถอยู่ในอนาคตต่อไปได้”

ยอด: “ผมชอบประโยคหนึ่งที่ UN บอกไว้ คือ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) คือแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง’ เราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าดูงานวิจัยล่าสุด เขาบอกว่าเด็กที่เพิ่งเรียนจบทุกวันนี้จะมีบ้านสักหลังต้องผ่อนถึง 21 ปี 25 ปี หรือแต่ก่อนเราก็หายใจเข้าออกได้สะดวกดีเพราะอากาศดี แต่ทุกวันนี้ เราต้องใส่หน้ากากเพราะมีฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น หรือวันที่เราต้องกินหมูซึ่งเลี้ยงในหลอด เพราะว่าพื้นที่ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการผลิตอาหารสำหรับคนทั้งโลกได้แล้ว นี่เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงสร้าง Goodwill เพราะเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางภาคธุรกิจ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจเป็นตัวแปรสำคัญในการไปขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต ผมและทุกคนที่ Goodwill เชื่อเสมอว่าทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีและความตั้งใจดีอยู่ในตัว แต่เขาอาจยังมองไม่เห็น เราจึงมีความสุขเวลาที่ได้ช่วยให้พวกเขาเห็นสิ่งนี้ที่มีอยู่ในตัวเอง มีความสุขที่มีส่วนร่วมให้แต่ละคนได้เพาะเมล็ดเล็กๆ และดีงามนี้ให้เติบโตขึ้นและเยอะขึ้นเรื่อยๆ ครับ”

เบนซ์: “สำหรับเบนซ์ สิ่งที่แนะนำได้คือลองหันมาทบทวนว่าใจเราเต้นไปกับอะไร มันจะมีสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ใจเต้นแรง ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่อยากทำหรือได้ทำสิ่งนั้น หรืออาจเป็นความรู้สึกโกรธก็ได้นะคะว่าทำไมเกิดปัญหานี้ขึ้นนะ อะไรก็ตามสักแง่มุมหนึ่งในชีวิตที่เรารู้สึกว่าเราอินกับมันจังเลย อาจจะยึดสิ่งนั้นเป็นบันไดขั้นแรกที่คุณค่อยๆ ก้าวต่อไป แล้วมาดูว่าเราทำอะไรได้บ้างจากบทบาท ณ ตอนนั้นของเรา จริงๆ การทำเพื่อคนอื่นหรือการทำเพื่อสังคม จะมองว่ายากก็ยาก จะมองว่าง่ายก็ง่าย แต่จุดที่จะมองว่ายากหรือง่ายมันขึ้นกับใจเรามากกว่า ถ้าเราอินไปกับมัน เราสนุกไปกับมัน มันไม่ยากหรอก ตัวเบนซ์เอง เบนซ์เชื่อในธุรกิจ เบนซ์ก็เอาสิ่งนี้เป็นจุดเริ่ม แล้วมาดูว่าจากภาคธุรกิจเราจะไปแก้ต่ออะไร จุดไหน แล้วเรามีจุดที่เชื่อมโยงอะไรกับภาคธุรกิจได้บ้าง อารมณ์อยากหรือโกรธเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ให้เรารับรู้และวางไว้ แล้วลองค้นหาสิ่งที่ลึกไปกว่านั้นว่าทำไมเราถึงอยากทำสิ่งนี้ จากสิ่งนี้จะสามารถขยายผลไปต่อไปอย่างไรในบทบาทของตัวเอง”

มัดหมี่: “จริงๆ มัดคล้ายกับพี่เบนซ์ มัดคิดว่าถ้าเราจำความรู้สึกตัวเองได้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้ไปทำไมมันช่วยเราได้จริงๆ มีทอล์กหนึ่งที่มัดเคยอ่าน เขาบอกว่า ‘Remember why you start’ บางทีถ้าเราทำไปแล้วมันมีความเหนื่อยยาก เราจะเริ่มสงสัยว่าเรามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งการที่เราจำได้ว่าวันแรกเราโกรธอะไรสักอย่างหรือรู้สึกอินกับอะไรบางอย่าง มันจะเป็นวันที่ทำให้เรารู้ว่าทำไมฉันยังอยู่ตรงนี้และทำสิ่งนี้นะ เมื่อเจอสารตั้งต้นแล้ว หลังจากนั้น เราค่อยกระจายในบทบาทที่เรามีแบบที่พี่เบนซ์ว่า”

ยอด: “มีเรื่องเล่าหนึ่งที่ผมชอบมากคือตอนที่ John F. Kennedy เดินทางไปเยี่ยม NASA Space Center เขาเห็นภารโรงคนหนึ่งกำลังเดินถือไม้กวาดอยู่ จึงเดินไปทักทายพร้อมถามว่า ‘คุณกำลังทำอะไร?’ ภารโรงตอบกลับว่า ‘ท่านประธานาธิบดีครับ ผมกำลังช่วยพามนุษย์ขึ้นไปสู่ดวงจันทร์’ จริงๆ แล้ว สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่มันทำเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเราเสมอ การรับรู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง รู้ว่าเราเป็นที่ต้องการ รู้ว่าเรามีสิ่งที่ดีกว่า จะทำให้เรามุ่งมั่นทำงานไปข้างหน้าได้ จะสร้างความสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ ลองค้นหาและมองสิ่งนั้นให้เห็น แล้วทำให้เต็มที่ นั่นจะนำพามาซึ่งคุณค่าและประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทั้งเราและส่วนรวมได้ครับ (ยิ้ม)”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

เพิ่มเติม:
www.goodwillcompounding.com
www.facebook.com/goodwillcompounding

อ้างอิง: https://www.set.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง