หยิบรองเท้าก้าวออกไปวิ่ง จนได้เป็นนักกีฬาวิ่งมาราธอนซีเกมส์ของ ร.อ. นพ. เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์

ใครเลยจะคิดว่าการเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพทางร่างกายนั้น จะทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกดับฝันในการเล่นกีฬาที่ชอบอย่างฟุตบอลไปได้ และเมื่อต้องแปรเปลี่ยนมองหาสิ่งใหม่ในการขับเคลื่อนชีวิต การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสก็ถือเป็นเรื่องราวที่ช่วยเติมฝันในวันที่เหนื่อยล้าได้อย่างดีทีเดียว ดังเช่น เรืออากาศเอก นายแพทย์เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทยที่ต้องเจอกับความท้าทายต่างๆ ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต การเริ่มต้นความท้าทายใหม่จากจุดเล็กๆ ของคุณหมอ ด้วยการทำสิ่งเล็กๆ เป็นประจำทุกวันจนกลายเป็นวินัยได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ที่ส่งผลให้คุณหมอได้มีโอกาสเข้าไปเป็นนักกีฬาระดับทีมชาติ ซึ่งคุณหมอเสถียรก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าทึ่งและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่มีความฝันและต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี หากคุณเองก็รู้สึกว่าความฝันและแรงบันดาลใจสามารถส่งต่อให้กันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้วละก็ มาติดตามเรื่องราวที่สร้างพลังบวกของ ร.อ. นพ. เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์ กันเลยดีกว่า

เปลี่ยน ‘อุปสรรค’ ให้กลายเป็น ‘ความท้าทาย’

“แม้ว่าในวัยเด็กของผมจะมีจุดเริ่มต้นในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องถือว่าอุปสรรคและปัญหาในวันนั้นได้จุดประกายให้ผมมองหาสิ่งใหม่เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนชีวิต เพราะเมื่อผมได้รับรู้ข่าวร้ายว่าตนเองมีปัญหาเรื่องของกระดูกสันหลัง หรือที่เรียกว่า Ankylosing Spondylitis ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อที่ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยากโรคหนึ่ง โดยอาการของโรคจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและสร้างความเจ็บปวดที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งผมมีอาการของโรคนี้ในช่วงวัยรุ่นตอนที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ไม่ง่ายเลยที่จะก้าวผ่านมันไป เพราะอาการของโรคนั้นส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ที่สำคัญนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกายแล้ว โรคนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ อีกด้วย ผมยังจำวินาทีที่อาจารย์แพทย์ผู้ตรวจอาการของผมได้บอกว่า ‘คุณต้องงดการเตะบอล’ คำตอบนี้ทำเอาผมในวันนั้นที่มีทั้งความฝันและความหวังถึงกับกลั้นน้ำตาไว้แทบไม่อยู่ เพราะนอกจาก ‘ฟุตบอล’ จะเป็นกีฬาที่ผมรักแล้ว การพบเจอเพื่อนฝูงและมิตรภาพที่อยู่ในเกมกีฬานั้นทำให้ผมรู้สึกผูกพันและมีความสุขอย่างมากในการเล่นกีฬา นอกจากจะต้องงดการเล่นฟุตบอลแล้วยังลามไปถึงกีฬาประเภทอื่นๆ ที่มีการกระทบกระทั่งค่อนข้างรุนแรงอีกด้วย เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายเกินไป ปัญหาสุขภาพที่ต้องเผชิญในวันนั้นถือเป็นข้อจำกัดที่ท้าทายซึ่งเกิดขึ้นจากโรคร้ายที่มีร่างกายของผมเป็นเดิมพัน” 

ค้นหาสิ่งที่ชอบ ตามหาสิ่งที่ใช่

“หากในช่วงชีวิตของคนเราต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพของร่างกาย จนทำให้มีข้อจำกัดในชีวิตเกิดขึ้นอย่างมากมาย เราจะรับมือและจัดการกับความรู้สึกและชีวิตของเราต่อจากนั้นอย่างไร ในวันที่รู้ว่าตัวเองไม่สามารถเล่นกีฬาที่ชอบได้เหมือนก่อนแล้ว ทำได้แค่ค่อยๆ ใช้เวลาสำรวจและเรียนรู้ถึงความเป็นไปได้ของร่างกาย โดยการทดลองเล่นกีฬาชนิดอื่นเพื่อค้นหาสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเองในเวลานั้น เริ่มจากการลองกีฬาว่ายน้ำ พอเริ่มไปซักพักก็ยังไม่รู้สึกว่าถูกจริตซักเท่าไรนัก จนเมื่ออาการปวดเริ่มดีขึ้น ผมจึงลองไปวิ่งจ๊อกกิ้งซึ่งเป็นกีฬาที่แรงกระแทกไม่ได้มากเท่ากับกีฬาฟุตบอล แต่ก็ได้เหงื่อและความสนุกในระดับหนึ่ง ในช่วง 20 ปีที่แล้วนั้นกีฬาวิ่งยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากมายเหมือนในปัจจุบัน การจะหาเพื่อนมาวิ่งด้วยกันนั้นยากมากผมเลยต้องออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งคนเดียว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรียนแพทย์ก็ค่อนข้างจะเรียนหนักและเหนื่อยมาก แต่ผมก็พยายามหาเวลาออกมาวิ่งทุกวัน ซึ่งบางวันที่เลิกเรียนดึกๆ ผมก็ออกไปวิ่งรอบโรงพยาบาลจนผู้คนที่ผ่านไปมามักจะสงสัยว่าออกมาทำอะไรดึกดื่นขนาดนี้”

ตั้งเป้าหมาย…หาความท้าทายในชีวิต

“ผมลองมองย้อนกลับไปในช่วงที่เป็นวัยรุ่นก็พบว่า ตัวเองในช่วงแรกๆ นั้นไม่ได้ชอบการวิ่งเท่าไหร่นัก แต่ด้วยภาวะจำยอมที่ทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬาอย่างอื่นได้ การวิ่งจึงเหมือนเป็นสิ่งเดียวที่จะปลดปล่อยความเครียด ช่วยผ่อนคลายจิตใจ และช่วยทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้อย่างจริงจัง ดังนั้นแม้จะไม่ได้ชอบการวิ่งมากนักในช่วงแรก แต่เมื่อได้วิ่งเป็นประจำทุกวันและพอเริ่มเข้าสู่การแข่งขันก็ทำให้ความรู้สึกของผมเริ่มเปลี่ยนไป ในช่วงที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ปีที่ 4 ผมได้รับโอกาสในการเข้าแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย โดยในอดีตเรียกว่า ‘กีฬา 13 เข็มสัมพันธ์’ (การจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมสัมพันธ์สำหรับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรทางแพทย์) ซึ่งมีการแข่งขันกีฬาระหว่างนักศึกษาแพทย์จำนวน 13 มหาวิทยาลัยด้วยกันในยุคนั้น ผมเริ่มฝึกซ้อมวิ่งแบบ 12 รอบครึ่งสำหรับการแข่งขันวิ่งครั้งแรกในระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งตอนนั้นใช้เวลาฝึกซ้อมประมาณ 1-2 สัปดาห์ ตอนนั้นผมได้รางวัลอันดับที่ 2 ก็ถือได้ว่าไม่เลวเลยสำหรับนักวิ่งมือใหม่ที่ลงแข่งขันเป็นครั้งแรก

เดิมทีผมต้องการวิ่งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ พอเปลี่ยนมาเป็นการวิ่งเพื่อเข้าเส้นชัยมันมีทั้งความสนุก ความท้าทาย และความรู้สึกแปลกใหม่ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยในครั้งนั้นทำให้ผมเริ่มคิดและปรับเปลี่ยนเป้าหมายการวิ่งของตนเองใหม่ เมื่อเป้าหมายเปลี่ยนไป การปรับตัวและการวางแผนใหม่เพื่อให้ได้ชัยชนะจึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและการทุ่มเทให้กับการวิ่งที่เพิ่มขึ้นทุกวันจึงเป็นสิ่งที่ผมพยายามทำอย่างสม่ำเสมอ กีฬาวิ่งสำหรับผมนั้นถือว่ามีข้อดีหลายอย่าง เพราะไม่ต้องใช้พรสวรรค์อย่างมากมาย เพียงแค่มีความอดทนและลุกขึ้นมาใส่รองเท้าเพื่อออกวิ่งให้ได้ในทุกๆ วันเท่านั้น แค่พาตัวเองออกไปวิ่งให้ได้ เพียงแค่นั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกฝนให้ตนเองวิ่งเก่งขึ้นและมีทักษะที่ดีขึ้นได้แล้ว” 

‘เวลา’ ไม่ใช่ข้อจำกัด

“ในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์นั้น ผมจะมีสอบทุกๆ 6 สัปดาห์โดยจะย้ายไปเรียนตามแผนกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุรกรรม สูติกรรม กุมารเวชกรรม ซึ่งเมื่อทราบตารางเวลาการเรียนและการสอบแล้วก็สามารถวางแผนการฝึกซ้อมได้ก่อนล่วงหน้า พอเปลี่ยนแผนกที่เรียนในแต่ละช่วงก็จะเริ่มฝึกซ้อมอย่างจริงจังสัก 3-4 สัปดาห์เพื่อให้ร่างกายเริ่มมีความแข็งแรง จากนั้นก็ไปร่วมแข่งตามงานวิ่งต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงนั้น ส่วนอีก 2 สัปดาห์ในช่วงท้ายก่อนสอบก็จะโฟกัสที่การอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบเป็นหลัก ในช่วงเวลานั้นงานแข่งขันวิ่งไม่ได้มีเยอะเหมือนในปัจจุบัน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ผมได้เปิดประสบการณ์ในการลงวิ่งระยะสั้นแบบ 5 หรือ 10 กิโลเมตร” 

‘เพราะทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน การบริหารเวลาให้เป็นจึงสำคัญ’

เลือกทำตามฝันบนพื้นฐานที่เป็นไปได้

แม้จะไม่ได้ชนะหรือได้รางวัลในทุกครั้งที่ลงแข่ง แต่ผมมีความรู้สึกดีๆ ที่เต็มไปด้วยความสนุกและความสุขในทุกครั้งที่เข้าถึงเส้นชัย ส่วนการได้ขึ้นไปยืนบนโพเดียมเพื่อรับถ้วยรางวัลมาครองในแต่ละครั้งนั้น ผมถือว่าเป็นการสร้างกำลังใจและทำให้เราใส่ใจในการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2558 หลังจากที่ได้มีโอกาสลงแข่งและเริ่มคว้ารางวัลมาเรื่อยๆ ผมก็พยายามหาหนทางในการพัฒนาทักษะการวิ่งของตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมจึงลองติดต่ออดีตนักกีฬาทีมชาติอย่างคุณเป้า อุ้มยศ กิจอุดม ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยที่ไม่เคยรู้จักกับคุณเป้าเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่อาศัยความกล้าและความพยายามจึงทำให้ผมมีโอกาสได้เป็นคู่ซ้อมวิ่งกับนักกีฬาระดับทีมชาติอย่างคุณเป้า ซึ่งช่วยให้ผมพัฒนาความรู้และเทคนิคในด้านการวิ่งเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากคุณเป้าให้หาโอกาสไปเข้าร่วมฝึกซ้อมในแคมป์นักกีฬาทีมชาติ ซึ่งคำแนะนำนี้ถือว่าเป็นประตูที่ทำให้ผมมีโอกาสก้าวสู่นักวิ่งมืออาชีพอย่างแท้จริงอีกด้วย”

แม้ว่าการเป็นนักกีฬาทีมชาติจะเคยเป็นความฝันในใจ การได้เข้าร่วมฝึกซ้อมกับทีมชาติก็ถือว่าเป็นการบรรลุความฝันครั้งใหญ่แล้วสำหรับผม แต่การจะไปเริ่มฝึกซ้อมกับนักกีฬาอาชีพในระดับประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะด้วยอาชีพ ‘แพทย์’ ที่มีตารางงานค่อนข้างรัดตัวทำให้ไม่มีเวลาในการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง การจะเข้าร่วมฝึกซ้อมในระดับทีมชาตินั้นต้องทุ่มเทเวลาแรงกายแรงใจทั้งหมดไปกับการเตรียมตัวและการแข่งขัน จึงถือเป็นเรื่องยากที่จะทำทั้งสองสิ่งควบคู่ไปพร้อมกัน 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผมจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผมตัดสินใจที่จะหยุดอาชีพการทำงานไว้เบื้องหลัง เพื่อไปเข้าร่วมแคมป์ฝึกซ้อมกับนักกีฬาทีมชาติไทย ต้องถือว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากมากจริงๆ ที่ต้องเลือกระหว่างความฝันกับหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่โอกาสที่จะเติมเต็มความฝันแบบนี้ไม่ใช่ของที่จะได้กันมาง่ายๆ เช่นกัน ในตอนนั้นผมกลับมาทบทวนความพร้อมของตัวเอง โดยมี 3 หลักการใหญ่ๆ ในการตัดสินใจ นั่นก็คือ คนไข้ ของผมจะต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจในครั้งนี้ ซึ่งในข้อแรกนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่เหมือนกัน เนื่องจากในโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่มีแพทย์เฉพาะทางในด้านศัลยกรรมปัสสาวะแค่ผมเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ตอนนั้นถือว่าเป็นจังหวะที่ดีมากๆ เพราะมีคุณหมอในสาขาเดียวกันเข้ามาประจำการในโรงพยาบาลที่ผมทำงานเพิ่มอีกหนึ่งคนพอดี จึงเท่ากับว่าถ้าผมลาออกก็ยังมีแพทย์เฉพาะทางในสาขานี้คอยดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลอยู่  เมื่อหมดห่วงเรื่องคนไข้ สิ่งถัดไปก็คือ เรื่องครอบครัว ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ด้วยอาชีพแพทย์และการเป็นข้าราชการนั้นถือเป็นอาชีพที่มั่นคงมากๆ การที่จะลาออกเพื่อไปเล่นกีฬานั้นถือเป็นอีกโลกหนึ่งเลยทีเดียว แต่ด้วยความรักและความเข้าใจของครอบครัว เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็น เพราะทั้งคุณพ่อและคุณแม่นั้นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในส่วนสุดท้ายที่สำคัญเช่นกันก็คือ เรื่องการเงิน เพราะในเมื่อไม่ได้ทำงานก็จะไม่มีรายได้ แต่ด้วยการวางแผนออมเงินตั้งแต่แรกที่เริ่มทำงานก็ทำให้ผมมีเงินเก็บอยู่บ้างและส่วนตัวผมก็ไม่ใช่คนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดังนั้นเรื่องของการเงินจึงหมดห่วงด้วยเช่นกัน เมื่อทบทวนรอบด้านแล้ว ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานราชการและการเป็นแพทย์เพื่อเข้าสู่การฝึกซ้อมในระดับทีมชาติได้อย่างเต็มที่”

เมื่อได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ การตัดสินใจเลือกทางเดินใหม่ให้กับตัวเองในการเข้าร่วมฝึกซ้อมกับแคมป์ทีมชาตินั้น ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะความเข้มข้นและความหนักหน่วงในการฝึกซ้อมในระดับทีมชาตินั้นคิดเป็นทวีคูณเลยทีเดียว ในช่วงนั้นผมฝึกซ้อมจนกระทั่งมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อสันหน้าแข้ง (shin splints) ทำให้มีอาการปวดและเหนื่อยล้ามากพอควร การซ้อมในแคมป์นั้นหนักมาก หนักจนกระทั่งบางวันเดินขึ้นบันไดไม่ไหวเลยทีเดียว การฝึกซ้อมในแคมป์ทีมชาติสำหรับนักกีฬาวิ่งนั้นจะเรียกการซ้อมหนึ่งครั้งเป็น ‘มื้อ’ ซึ่งในแต่ละวันจะซ้อมราวๆ 2 มื้อ โดยจะซ้อมในช่วงเช้าและช่วงเย็น แต่ละมื้อจะใช้เวลาซ้อมไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง บางทีก็ลากยาวไปจนถึง 3 หรือ 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว ในหนึ่งสัปดาห์จะซ้อมมากถึง 6 วัน ซึ่งเรียกได้ว่าการซ้อมในระดับทีมชาตินั้นทั้งเหน็ดเหนื่อยและกดดันมากพอสมควร แม้ว่าเหนื่อยสักเพียงไหนแต่ผมก็ยังรู้สึกว่าการเล่นกีฬาและการฝึกซ้อมแบบเป็นทีมนั้นส่งแรงผลักที่ดีให้แก่กันและกัน ทำให้ผมไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ทัดเทียมกับเพื่อนในทีม เพราะแทนที่จะหยุดพักจากการซ้อมหนัก แต่พอทราบถึงจุดอ่อนของตัวเองในเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผมก็ตัดสินใจสมัครฟิตเนสและไปฝึกเวทเทรนนิ่งเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อต่อหลังจากที่ซ้อมปกติเสร็จ นอกจากนี้ด้วยความเป็นแพทย์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ แต่ผมก็พยายามหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิ่ง เพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพในทีม ผมมีโอกาสได้ค้นหาข้อมูลจนพบว่านักกีฬาระดับโลกนั้นจะใช้วิธีการฟื้นกล้ามเนื้อด้วยการแช่ตัวในนํ้าแข็ง ผมจึงนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับตนเองและนำมาเป็นเทคนิคใช้กับทุกคนในทีมเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังจากที่ต้องฝึกซ้อมกันอย่างหนัก” 

ฟูลมาราธอนครั้งแรกในชีวิต เพื่อก้าวสู่นักกีฬาวิ่งทีมชาติไทยตัวจริง

“หลังจากเก็บตัวฝึกซ้อมได้ราวๆ หนึ่งเดือน โค้ชก็เล็งเห็นว่า ด้วยช่วงวัยที่มากกว่าคนอื่นอาจจะทำให้ผมเสียเปรียบในเรื่องของอายุและพละกำลัง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันและการฝึก โดยเปลี่ยนจากการวิ่งระยะสั้นในระยะ 10 กิโลเมตรไปเป็นการวิ่งระยะยาว ซึ่งโค้ชชาวเคนยา Mr.Peter Mathu Titi ได้แนะนำแนวทางและให้คำปรึกษาต่างๆ ทั้งยังช่วยดูแลตั้งแต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบและโปรแกรมการฝึกฝนให้เหมาะสมกับการแข่งขันประเภทวิ่งระยะยาว ในระหว่างการฝึกซ้อมอาจจะมีเหนื่อยบ้างท้อบ้างแต่ทุกคนก็ทำตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่ จนกระทั่งอีก 3 เดือนจะมีการคัดตัวนักกีฬาทีมชาติ ทางโค้ชได้แนะนำให้ผมไปทดสอบตัวเอง โดยการลองลงสนามจริงแบบมาตรฐานฟูลมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตรที่ใช้เกณฑ์วัดแบบสากล เพื่อที่จะดูสถิติและทำการทดสอบจิตใจและร่างกายว่าเป็นไปได้แค่ไหนกับโอกาสในการเป็นนักกีฬาทีมชาติตัวจริง ในช่วงนั้นเมืองไทยยังไม่มีการแข่งขันฟูลมาราธอนที่พร้อมและได้มาตรฐานขนาดนั้น ผมจึงเลือกที่จะไปทดสอบฝีมือและทักษะของตนเองที่ประเทศญี่ปุ่นในงานคาชิวะ โนะ ฮะ โซไก มาราธอน ที่เมืองคาชิวะ และคว้าชัยชนะมาด้วยเวลา 2.39.51 ชม. ซึ่งถือเป็นการแข่งขันในระดับประเทศที่ผมสามารถคว้ารางวัลอันดับหนึ่งได้อย่างภาคภูมิใจ ที่สำคัญการแข่งขันครั้งนี้ยังถือเป็นการลงฟูลมาราธอนครั้งแรกในชีวิตของผมอีกด้วย ซึ่งชัยชนะในการลงแข่งครั้งนี้ทำให้ผมได้กลายเป็นนักกีฬาวิ่งทีมชาติตัวจริงและได้เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์แบบที่ตัวเองฝันเอาไว้อีกด้วย”

ความสำเร็จไม่จำเป็นจะต้องมาพร้อมกับชัยชนะเสมอไป

“การได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์สำหรับผมแล้วรู้สึกว่ามาไกลเกินกว่าที่ฝันไว้มาก ในช่วงที่ไปแข่งขันหลังจากที่ได้เห็นรายชื่อผู้เข้าร่วมแข่งขันในรุ่นเดียวกันแล้ว ผมก็รู้สึกหวั่นใจอยู่บ้าง เนื่องจากมีแต่นักวิ่งเบอร์ต้นๆ ของแต่ละประเทศทั้งนั้นที่ลงสนามแข่งในรุ่นเดียวกันกับผม จนต้องปรึกษากับโค้ชว่าเราจะใช้เทคนิคในการวิ่งให้ผมเป็นตัวหลอกดีหรือไม่ เพื่อจะได้ข่มขวัญคู่ต่อสู้และให้เพื่อนร่วมทีมชาติไทยสามารถคว้าชัยชนะได้ง่ายมากขึ้น เพราะด้วยประสบการณ์และความสามารถของผมในขณะนั้น โอกาสในการเอาชนะนักวิ่งระดับท็อปถือว่าค่อนข้างน้อยมาก แต่เมื่อโค้ชบอกว่าการได้ลงแข่งในครั้งนี้ควรวิ่งให้เต็มที่เพื่อคว้าเหรียญและชัยชนะมาให้ได้ และครั้งนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวของผมที่จะได้ลงแข่งในกีฬาซีเกมส์ ด้วยข้อจำกัดเรื่องอายุของผมที่ค่อนข้างมากแล้วเมื่อเทียบกับคนอื่น ตอนนั้นผมจึงพยายามหาแนวทางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเปลี่ยนรองเท้าวิ่งให้เป็นรุ่นที่เบากว่าเดิมเพื่อที่จะเสริมฝีเท้าให้กับตัวเอง แม้จะรู้อยู่แล้วว่าสำหรับการวิ่งมาราธอนนั้น รองเท้าชนิดนี้อาจจะไม่เหมาะกับการวิ่งระยะยาวสักเท่าไหร่ เพราะไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดีในการวิ่งระยะยาวและอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ แต่ก็ดีกว่าการที่ผมจะไม่ทำอะไรเลยทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสชนะมีไม่มากนัก ในวันแข่งขันจริง ช่วงต้นของการแข่งขันผมทำเวลาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว เพราะน้ำหนักที่เบาของรองเท้าทำให้วิ่งได้เร็วขึ้น แต่ก็เป็นอย่างที่คาดไว้ เมื่อเหลือราวๆ 5-6 กิโลเมตรสุดท้ายปัญหาก็เริ่มตามมาเนื่องจากในช่วงต้นใช้ความเร็วเยอะเกินไป ช่วงท้ายของการแข่งขันผมเป็นตะคริวที่ขาจนทำให้ล้มระหว่างการแข่งขัน ในตอนนั้นผมรู้เลยว่าผมพลาดโอกาสในการชิงเหรียญแน่ๆ แล้ว แต่ในใจผมไม่ยอมแพ้นะ ผมไม่หยุดที่จะวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ ตอนนั้นผมได้แต่พยายามค่อยๆ นวดคลายกล้ามเนื้อด้วยตัวเอง แล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ ใช้การเดินสลับกับการคลายกล้ามเนื้อจนก้าวไปถึงเส้นชัยได้ในท้ายที่สุด” 

‘ชัยชนะ’ ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต

“ชีวิตคนเราก็แบบนี้ ทุกการแข่งขันในชีวิตไม่ได้จบด้วยชัยชนะทุกครั้งไป แต่แท้จริงแล้วความสำเร็จไม่จำเป็นต้องได้มาซึ่งชัยชนะเท่านั้น แต่ละก้าวที่เราได้เรียนรู้ความสุขและประสบการณ์ที่แปลกใหม่ต่างหากคือสิ่งสำคัญกับชีวิต สำหรับผมแม้ว่าการลงแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนั้นจะไม่ได้รับเหรียญใดๆ ก็ตาม แต่ผมกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ผมได้รับจากการแข่งขันนั้นมากกว่าการได้ชัยชนะเสียอีก นั่นก็คือการได้สัมผัสประสบการณ์และมิตรภาพที่มีคุณค่าเหนือสิ่งใด เรื่องราวระหว่างทางที่มุ่งหน้าตามหาความฝันนั้นมีค่าประเมินไม่ได้ การออกวิ่งทำให้ร่างกายดีขึ้น ได้เจอเพื่อนใหม่ ที่สำคัญทำให้ผมมีโอกาสได้พบรักกับภรรยาจากการวิ่งอีกด้วย บางครั้งชีวิตของคนเราจึงไม่ควรถูกจำกัดอยู่ที่ชัยชนะเสมอไป เพราะบางทีชัยชนะก็อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต”

หากอยากเปลี่ยนชีวิตใหม่ให้ลองวิ่งมาราธอน

“ผมเชื่อว่าคนเรานั้นมีความมหัศจรรย์ในตัวเองกันทุกคน ถ้าเราตั้งใจที่จะทำสิ่งใดก็ตามอย่างจริงจัง ทุกอย่างเป็นไปได้แน่นอน ดังเช่นเรื่องของการแข่งมาราธอน หากคุณอยากจะลงแข่งหรืออยากจะเริ่มต้นแล้วนั้น ‘อย่าเพียงแค่คิด…แต่ให้เริ่มลงมือทำ’ เพราะหากเราตั้งใจจริง เลือกโปรแกรมฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับตัวเอง แล้วก็หมั่นฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ก็จะสามารถไปถึงเส้นชัยและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองได้เช่นเดียวกับผมที่ได้ทดลองกับตัวเองมาแล้ว เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า

‘If you want to run, run a mile. If you want to experience a different life, run a marathon’

หากคุณแค่อยากวิ่งให้วิ่งซักหนึ่งไมล์ก็พอแล้ว แต่หากคุณอยากเปลี่ยนชีวิตใหม่ให้ลองมาวิ่งมาราธอน’

ถ้าหากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ชอบหรือถนัดเรื่องการวิ่ง เพียงแค่คุณเริ่มต้นออกกำลังกายจะเป็นกีฬาอะไรก็ได้ก็สามารถให้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น เพราะการออกกำลังกายเป็นยาวิเศษ ไม่ต้องถึงกับหนักหน่วงมากแบบมาราธอน เพียงลองเริ่มต้นแค่วันละยี่สิบนาทีหรือสามสิบนาทีตามเวลาที่คุณสะดวก แค่นี้ก็เป็นการสร้างความสุขและสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเองได้แล้ว

Share :
go to top