เรารู้จักชื่อของ หมอต้น – นพ. เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ครั้งแรกจากหนังสั้นเรื่อง ‘ลมหายใจ’ (BREATH) หนึ่งในหนังสั้นจากโครงการสื่อสังคมแพทย์คุณธรรม (DDD: Doctor Do Dee) โดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและสร้างแรงบันดานใจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก จากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในอุบลราชธานี ผู้ก่อตั้ง ‘หน่วยโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก’ และ ‘กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคระบบหายใจเรื้อรัง’ รวมถึงโครงการต่อเนื่องเพื่อนำผู้ป่วยต่างชาติกลับบ้านอย่าง ‘ลมหายใจไร้พรมแดน’ คนนี้
จะว่าไป เส้นทางการทำงานของหมอต้น หากมีคำว่าจรรยาบรรณเป็นเส้นมาตรฐาน แพทย์ผู้นี้เรียกได้ว่าอยู่เหนือกว่าคำว่า ‘รักษา’ ทั่วๆ ไป ความเป็นหมอสำหรับเขาไม่ใช่การช่วยเหลือผู้ป่วยเพียงเพื่อให้มีชีวิตรอดและสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่คือการเฝ้ามองการเติบโตของคนไข้ด้วยความปรารถนาที่อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังจากนั้น แม้จะฝ่าฟันอะไรต่อมิอะไรมากว่า 17 ปี แต่ปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งขวบปีที่ท้าทายของหมอต้นกับความพยายามในการผลักดันงานดูแลผู้ป่วยเด็กโรคระบบหายใจเรื้อรังแบบครบวงจรให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมๆ ไปกับการสร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กให้สำเร็จก่อนวันเกษียณที่ใกล้เข้ามาทุกที และนี่คือเรื่องราวของหมอที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นกับการต่อลมหายใจให้กับคนไข้ของเขา หมอผู้ยืนหยัดและต่อสู้ทุกอุปสรรคด้วยความละเมียดละไมเพื่อให้ผู้ป่วยตัวน้อยมีลมหายใจ มีโอกาสได้เติบโต และใช้ชีวิตที่สวยงามในแบบที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี
หน่วยปฏิบัติการช่วยผู้ป่วยตัวน้อย
ย้อนกลับเมื่อ พ.ศ. 2548 ตอนที่หมอต้นเรียนจบใหม่ๆ คุณหมอได้เห็นเด็กๆ ซึ่งหายใจด้วยตัวเองไม่ได้นอนอยู่มุมหนึ่งของโรงพยาบาล การที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดชีวิต หมายถึงพวกเขาไม่มีสิทธิ์กลับบ้าน ขณะที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เอง ยังเป็นศูนย์ที่ต้องรับคนไข้ในจังหวัดข้างเคียง ทั้งยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหารอีกไม่น้อย ทำให้ที่นี่แม้จะดูว่ามีห้อง มีเตียง และเครื่องช่วยหายใจอยู่อย่างเหลือเฟือ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่เพียงพอ หมอต้นจึงเกิดแนวคิดที่อยากจะพาเด็กๆ กลุ่มดังกล่าวกลับบ้านโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ ทว่า ด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์มีราคาสูงมาก และยังไม่เคยมีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อน โครงการของหมอต้นจึงต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่เริ่มต้น
“ตอนนั้นทุกคนยังมองไม่เห็นภาพว่าเราจะช่วยได้อย่างไร จะทำได้จริงไหม จะคุ้มค่าไหมกับการนำสตางค์มาลงทุนซื้อเครื่องช่วยหายใจ เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์หายใจได้เองตลอดชีวิต แต่หมอเชื่อมั่นว่า ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นเราจะได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งคนไข้ที่ได้กลับบ้าน ทั้งผู้ปกครองที่ต้องมาดูแลลูกหลานเป็นปีๆ จะได้กลับไปประกอบอาชีพและสามารถลดภาระการใช้จ่ายได้อีกมากโข และเมื่อเตียงว่างลง นั่นจะมีความหมายกับชีวิตของเด็กคนอื่นๆ อีกมากมายที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วย
“เมื่อโครงการที่เสนอไปไม่ผ่าน หมอจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะหางบประมาณด้วยวิธีไหนได้บ้างล่ะ เลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเรามีความสามารถที่จะไปทำอะไรบางอย่างได้ไหม หมอจึงเริ่มสื่อสารสิ่งที่หมอตั้งใจจะทำให้กับผู้คน สื่อสารไปด้วยความรัก แต่หมอบอกว่าหมอไม่ได้ขอเฉยๆ นะ หมอจะร้องเพลงให้ฟังด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดคอนเสิร์ตการกุศล ‘เพื่อลมหายใจ’ ขึ้นมา ซึ่งทำให้เรามีเงินก้อนแรกในการจัดตั้ง ‘กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคระบบหายใจเรื้อรัง’ และขอให้ทางผู้บริหารโรงพยาบาลช่วยดูแลจัดการกองทุนฯ ให้ โดยหมอมีหน้าที่อย่างเดียวคือ ทำงาน”
จากเดือนกันยายนปี 2548 ที่โครงการเริ่มต้นขึ้น เดือนธันวาคมในปีเดียวกัน ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไข้คนแรกก็เกิดขึ้นทันที จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 17 ปีแล้วที่หมอต้นได้ช่วยเหลือเด็กๆ ในโครงการกว่า 50 ชีวิต โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศที่มีโครงการ กองทุนฯ ทีมงาน รวมถึงเครือข่ายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการพาคนไข้เด็กกลับไปรักษาตัวที่บ้านด้วยเครื่องช่วยหายใจ
คิดใหญ่ให้เริ่มจากเล็ก
“หมอมักใช้หลักการว่างานที่ยิ่งใหญ่ต้องคิดใหญ่ อย่าคิดเล็ก แต่เราไม่จำเป็นต้องเปิดให้ใหญ่ เพราะเราสามารถเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ได้ แต่จุดนั้นจะต้องดีงาม มีอุดมการณ์ มีจินตนาการ มีความมุ่งมั่น และมีประโยชน์ต่อผู้อื่นนำทาง ดังนั้น การทำงานแห่งคุณค่าแบบนี้ อาจจะไม่สำเร็จในเวลาอันสั้น หมอเองเดินทางมาเป็น 10 ปีกว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง จะต้องเรียนรู้และหมั่นเติมพลังให้กับสิ่งที่เราทำเสมอ สำคัญที่สุด หมอต้องขอบคุณคนไข้ ครอบครัว ทีมงาน คณะผู้บริหาร และชุมชนที่มอบตำราชีวิตเล่มใหญ่ให้กับหมอ และทำให้ทุกอย่างที่ดูเหมือนยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ ให้เกิดขึ้นแล้ว
“หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือ ‘ศรีสะเกษโมเดล’ ซึ่งหมอภาคภูมิใจมาก เพราะแต่เดิมที่ศรีสะเกษมักจะส่งคนไข้กลุ่มนี้มาให้หมอตลอด แต่ตอนนี้ ถ้ามีคนไข้กลุ่มนี้อยู่ที่นั่นกลับกลายเป็นว่าพวกเขาสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง สามารถหาเครื่องช่วยหายใจได้เอง และสิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่านั้นคือเขาทำได้เนี๊ยบกริบกว่าที่เราทำด้วย มีคนไข้ชื่อน้องแคนตาลูปที่สามารถกลับบ้านได้เพราะชาวบ้านช่วยกันขายข้าวสารแล้วลงขันเพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจให้ อย่างที่เรารู้เครื่องหนึ่งใช้เงินจำนวนไม่น้อยเลย จนถึงตอนนี้ น้องยังอยู่ดี มีความสุขมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้น ศรีสะเกษโมเดล จึงเป็นหนึ่งในความภูมิใจของหมอ
“อีกหนึ่งเคสคือน้องวินนี่ เป็นคนไข้ที่มาหาหมอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หัวใจน้องหยุดเต้นหลายครั้ง เราปั๊มที่โรงพยาบาลหลายรอบ จากคนไข้ที่ไม่มีความหวังว่าจะหายใจ หวังเพียงให้น้องนอนอยู่บ้านด้วยความสุขกับเครื่องช่วยหายใจ แต่ปรากฏว่าตอนนี้ วินนี่สามารถเอาเครื่องช่วยหายใจออกและไปโรงเรียนได้แล้ว ในปีนี้ วันที่วินนี่วิ่งมาหา มาสวัสดีและกอด เป็นวันที่ทำให้หมอน้ำตาไหลออกมาเหมือนกัน ทำให้รู้ว่าพวกเขานี่แหละคือพลังใจที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตของหมอ ทำให้เรียนรู้กับคำว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่สอนให้เราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น”
และสิ่งที่น่าดีใจคือ เราไม่ได้มีเพียงศรีสะเกษโมเดลเท่านั้น แต่องค์ความรู้ทั้งหมดของหมอต้นได้แผ่กระจายไปยังอีกหลายๆ จังหวัดในประเทศไทย อาทิ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และสงขลาแล้ว
ไม่แบ่งเรา…ไม่แบ่งเขา ‘ลมหายใจไร้พรมแดน’
และแล้ว โจทย์หินที่เข้ามาทดสอบความมุ่งมั่นของหมอต้นก็มาถึงจนได้ เมื่อเด็กหญิงลินลี่ คูณทวีไช ผู้ป่วยเด็กชาวลาว ได้ถูกส่งข้ามแดนมารักษาด้วยโรคสมองอักเสบ เช่นเดียวกันกับเด็กส่วนใหญ่ ลินลี่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอด นั่นทำให้เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า 3 ปี โดยมีคุณแม่หอบเอาความรักและความหวังมาพร้อมกับเธอด้วย
“น้องลินลี่มาด้วยอาการไวรัสขึ้นสมองทำให้สมองถูกทำลายไป 90% และมีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจ น้องนอนอยู่โรงพยาบาลเข้าปีที่ 3 ปี คุณแม่เข้ามาคุยกับหมอว่า อยากจะพาลูกกลับบ้าน เห็นคุณหมอช่วยคนไทยหลายคน แล้วคนลาวมีสิทธิ์ไหม? เวลานั้น บริบทในประเทศลาวเรียกได้ว่าไม่เอื้ออำนวยให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงได้เลย แต่ถ้าเรามองว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างจะจบแค่ตรงนั้น หมอมานั่งคิดต่อจากสิ่งที่คุณแม่พูด นี่คือจิตวิญญาณของแม่คนหนึ่งที่อยากจะพาลูกกลับบ้านนะ เรื่องราวของลินลี่และคุณแม่จึงจุดประกายหมอว่า จริงๆ แล้ว มันเป็นไปได้นี่นา นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการต่อเนื่องในนาม ‘ลมหายใจไร้พรมแดน’ ขึ้น
“เคสของลินลี่เรียกว่าหินเอาการ เพราะยากแรก คือเราต้องผ่านการอนุมัติจากท่านผู้นำลาวก่อน และยากที่สุดคือแพทย์ ที่อยู่ที่นั่นทั้งหมดยังไม่มีองค์ความรู้เหล่านี้เลย หมอจึงเริ่มนำบทเรียนที่เราใช้ เข้าไปคุยและทำความเข้าใจ กับด่านตรวจคนเข้าเมือง กับผู้นำทางการเมือง ผู้นำด้านสาธารณสุข คุณหมอที่นั่น เราข้ามไปจัดการประชุมวิชาการ มีการอบรมแพทย์และพยาบาลกันแบบจริงๆ จังๆ ให้เขาเลยว่า จะต้องมีขั้นตอนอย่างไร ในการเตรียมรับเด็กหนึ่งคนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมาอยู่บ้าน จากนั้นให้บุคลากรทางการแพทย์จากลาวเข้ามาฝึกงานกับเรา ส่วนเราก็ต้องไปบอกเล่าเรื่องราวให้กับญาติของเขาฟัง ออกไปดูบ้านว่าน้องสามารถกลับมาอยู่บ้านได้จริงไหม พร้อมไหม ปลอดภัยไหม หมอคิดว่า เพราะพวกเราทำบนพื้นฐานของความรักและความเห็นอกเห็นใจกัน เลยกลายเป็นว่า ทุกคนอยากจะเห็นลินลี่ได้กลับบ้าน จากการเซย์โนตอนเริ่มต้น กลับกลายเป็นความตื่นเต้น คนที่ลาวอยากช่วยให้น้องได้กลับบ้าน เราเตรียมความพร้อมกันอยู่ 8 เดือน ท้ายที่สุดแล้วเราก็สามารถส่งลินลี่กลับสู่บ้านที่เมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ได้สำเร็จ”
จากโครงการที่มีจุดเริ่มต้นจากความรักของแม่ ลินลี่นอกจากจะเป็นผู้ป่วยเด็กคนแรกของประเทศลาว ที่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่บ้าน และเป็นผู้ป่วยเด็กคนแรกที่ประเทศไทยพาน้องข้ามเขตแดนกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้แล้ว เรื่องของเธอยังจุดประกายความฝันให้กับโรงพยาบาลจำปาสัก โรงหมอที่ใหญ่ที่สุดใน 4 แขวงของลาวใต้ ในการสร้างห้อง ICU เพื่อรองรับคนไข้ที่วิกฤต โดยไม่จำเป็นต้องข้ามเขตแดนมายังประเทศไทย แต่เขาสามารถดูแลคนไข้หนักได้ด้วยตัวเอง
“ถ้าเราไม่คิดแบ่งเราแบ่งเขา ทุกคนบนโลกใบนี้ก็คือมนุษย์หนึ่งคนโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะลาว ไทย หรือประเทศไหนๆ การทำงานของหมอคือ การดูแลคนไข้ให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีครับ”
กฎของแรงกริยาเท่ากับแรงปฏิกริยา
สำหรับหมอต้นแล้ว ความเป็นหมอทำให้เขาพบว่า ‘เมื่อเราทำดี สิ่งดีๆ จะสะท้อนกลับมา’
“การมีชีวิตในฐานะแพทย์มา 25 ปี หมอถือว่าการก้าวเข้าโรงพยาบาลไม่ต่างไปจากการปฏิบัติธรรมเพราะเราได้อยู่กับการเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ตลอด ทุกครั้งที่ทำงานหมอคิดเสมอว่าวันนี้เราจะช่วยชีวิตใครได้บ้างและจะช่วยเขาอย่างไรนะ ฉะนั้น เมื่อมีความคิดแบบนี้แล้ว ความเครียดหรือสิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคจึงไม่มี แต่เป็นความรู้สึกท้าทายว่าเราจะดูแลและป้องกันสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร
“แต่ก่อน เวลาเราพูดถึงความดี เรามักสงสัยว่า “ความดีคืออะไร? เราจะแตะต้องได้ไหม?” แต่วันนี้หมอรู้แล้ว หมอเชื่อในการทำดีเสมอมาและสิ่งที่ความดีตอบแทนมายังหมอคือความอิ่มเต็ม ความมั่นคงในใจ และเป็นพลังที่ช่วยผลักดันให้หมออยากจะคิดงานต่อไปเรื่อยๆ แบบที่ปัญหาและอุปสรรคใดก็ไม่สามารถทำให้หมดแรงไปได้เลย หมอเคยคิดเหมือนกันนะว่า พลังเหล่านี้มาจากไหน จนได้คำตอบว่ามาจาก คนไข้ เหมือนกับหินก้อนเล็กๆ ที่หมอเคยโยนลงน้ำ จนวันที่หมอได้เห็นการกระเพื่อมที่แผ่กระจายออกไปอย่างต่อเนื่อง เป็นคลื่นความดีเล็กๆ หลายๆ ลูกก่อกำเนิดเป็นคลื่นที่ใหญ่และกว้างออกไป นี่เลยกลายเป็นความฝันที่เป็นจริงและความสุขที่เกิดขึ้น
“ส่วนปัจจัยภายนอกทั้งรางวัล เกียรติบัตร หรือคำเชิดชู หมอจะไม่ไปยึดติด การทำงานเพื่อคนอื่นให้สำเร็จได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือความถ่อมตน ในวันที่หมอรับรางวัลใดก็ตาม หมอรู้ว่าตัวเองยังทำงานได้ไม่เต็มร้อยหรอก ยังมีปัญหาอีกมากมาย ยังมีรายละเอียดที่บกพร่องอีกหลายส่วนที่ต้องเข้าไปแก้ไข ฉะนั้น ปัจจัยความสำเร็จภายนอกเหล่านี้ จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจว่า เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และแน่นอน รางวัลหรือคำชมต่างๆ ที่ได้รับมา ไม่ใช่ของหมอเพียงคนเดียว แต่คือรางวัลของทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นี่คือความสำเร็จของสหสาขาวิชาชีพและเครือข่าย รวมถึงคนไข้ ครอบครัวและชุมชนครับ
“การได้เป็นหมอมาจนทุกวันนี้ ทำให้มองเห็นคุณค่าของชีวิต ถึงกับเคยบอกตัวเองว่าถ้าตายไปตอนนี้ก็ไม่เสียดายอะไรแล้ว เพราะในความรู้สึก หมอได้ก้าวไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว ได้สัมผัสแล้วว่า นี่แหละคือคุณค่าของตัวเราที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่ใช่จุดที่ว่าฉันร่ำรวยที่สุด แต่คือการไปสัมผัสคุณค่าของการเกิดมามีชีวิตบนโลกใบนี้ และได้ทำหน้าที่ของความเป็นหมออย่างดีที่สุดเท่าที่หมอคนหนึ่งจะทำได้ อย่างที่บอกหมอถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรมเสมอ เมื่อเราปฏิบัติแล้ว เราจึงได้เห็นธรรม ทั้งธรรมชาติของผู้คน รวมถึงความดีงาม อย่างน้อยๆ สิ่งที่ได้กลับมา แม้อาจจะไม่ได้นำไปสอนใคร แต่เราสามารถนำสิ่งที่ได้นี้กลับมาพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้”
‘หว่อง วิริยะ’ เสียงร้องที่ต่อลมหายใจ
นอกจากบทบาทแพทย์แล้ว หมอต้นยังเป็นทั้งนักพูด นักเขียน แถมยังมีพรสวรรค์และรักการร้องเพลงอีกต่างหาก
“จริงๆ เขาเรียกหมอหว่อง เพราะหมอแซ่หว่อง มีวันหนึ่ง คนมาถามหมอว่า ถ้าเป็นหมอนักร้อง คุณหมอน่าจะมีชื่อมีฉายาด้วยเหมือนคุณกุ้ง สุธิราช คุณเบิร์ด ธงชัย รึเปล่า อยู่ดีๆ หมอก็คิดชื่อนี้ขึ้นมา เป็นการผสมระหว่าง ‘หว่อง’ ซึ่งเป็นนามสกุล ส่วน ‘วิริยะ’ แปลว่า ความเพียร แล้วหมอชื่อ เพียรศักดิ์ เลยกลายเป็น ‘หว่อง วิริยะ’ นั่นเอง
“ถามว่าชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จำความได้ หมอก็ชอบลงไปร้องเพลงในโอ่งน้ำที่ตั้งอยู่ข้างบ้านแล้วนะ (หัวเราะ) โอ่งใบนั้นยังอยู่ที่บ้านอยู่เลย จากการร้องเพลงในโอ่งอยู่ดีๆ หมอเริ่มอยากจะมาใช้พาวเวอร์นอกโอ่งบ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของความฝันแรกว่าอยากจะไปร้องเพลงบนเวที จนท้ายที่สุดเมื่อเข้าเรียนแพทย์ หมอได้ร้องเพลงตลอดนะครับเมื่อมีโอกาส ได้ร้องเพลงทั้งในมหาวิทยาลัย ไปจนถึง Thailand Coke Music Award ก็เคยขึ้นเวทีประกวดกับเขามาแล้วด้วยนะ จริงๆ หมอร้องไม่เพราะหรอกครับ แต่ชอบร้อง จนกระทั่งการร้องเพลงไม่ใช่เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมผู้ฟังเท่านั้นแล้ว แต่ยังช่วยต่อลมหายใจให้กับคนไข้ของหมอได้ด้วย สุดท้าย หมอพบว่าความรักในเสียงดนตรีของตัวเองกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราพัฒนางานของตัวเองได้เหมือนกัน”
หน้าต่างความดีนำพาความสุขให้ชีวิต
“หมอชอบจดบันทึกมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์แล้ว เนื่องจากต้องจากบ้านไปเรียนไกลมาก จากอุบลฯ ไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) แล้วมาต่อสาขากุมารเวชศาสตร์ และเฉพาะทาง โรคระบบทางเดินหายใจเด็กที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก แต่ละวันจึงชอบที่จะจดบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น เห็นใบไม้ร่วงก็เขียนแล้วว่าเราได้เรียนรู้อะไร ชอบอ่านหนังสือกลอน หนังสือคำคม หมอเขียนไม่เก่งหรอก แต่เป็นคนชอบเขียน หนังสือที่ได้เขียนจริงๆ จังๆ เริ่มเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว หลังจากที่ทำโครงการต่อลมหายใจไปแล้ว 5-6 ปี คงเป็นช่วงเวลาที่เหมือนได้ทำสมาธิ ได้มองเห็นจุดเชื่อมโยง จุดเหตุและผลของการเกิดขึ้นของอะไรบางอย่างในชีวิตมนุษย์ คล้ายๆ เป็นเกร็ดธรรมะแบบประยุกต์จากเรื่องราวที่หมอพบเจอในแต่ละวัน จนมีโอกาสถ่ายทอดความรู้สึกภายในของตัวเองเป็นหนังสือที่ชื่อว่า ‘หน้าต่างความดีงาม (The Window of Goodness)’ หมอเชื่อว่าหน้าต่างบานนี้ เป็นหน้าต่างบานเดียวที่คุณมองออกไปแล้วจะได้เห็นหนทางแห่งความสุขของชีวิต หมอจึงหยิบยกเรื่องราวที่ประสบพบเจอมารวมเล่ม ตีพิมพ์ออกมา แล้วนำไปวางไว้ที่โรงพยาบาล ใครอยากจะนำไปแจกใคร หรืออยากอ่านก็สามารถหยิบไปได้โดยไม่เสียสตางค์ หรือใครอยากจะซื้อ เราก็นำเงินที่ได้สมทบเข้ากองทุนต่อลมหายใจต่อไป”
ความสุขคือการเฝ้ามองการเติบโต
“สำหรับโครงการต่อลมหายใจ หมอเองยังต้องเดินทางต่อ โดยความฝันสูงสุดคือการผลักดันโครงการนี้ให้เป็นนโยบายของประเทศ ตอนนี้หมอผลักดันไปที่กระทรวงแล้วว่าสิ่งที่เราทำไปไม่สูญเปล่านะ เพราะสามารถช่วยเหลือชีวิตเด็กๆ ได้และยังประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลได้มหาศาลเลย ซึ่งเราเก็บสถิติและวัดผลไว้ทั้งหมด จนท้ายที่สุด กระทรวงมาดูเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว และพบว่าโครงการของเราสามารถช่วยได้ทุกมิติจริงๆ ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของอนุกรรมการกระทรวงฯ ที่จะผลักดันโครงการนี้ไปสู่ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อที่จะตั้งเรื่องการให้บริการสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยให้สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน โดยที่คนไข้สามารถเข้าถึงบริการที่ดีและกลับไปอยู่บ้านของเขาได้
“งานอีกชิ้นที่หมอทำแล้ว แต่อยากทำให้สมบูรณ์คือการทำโรงพยาบาลเด็ก เนื่องจากแผนกเด็กที่อยู่โรงพยาบาลของหมอตอนนี้มีพื้นที่ที่คับแคบเกินกว่าจะรองรับคนไข้ได้ หมอมองเห็นว่า เด็กๆ ควรจะได้รับโอกาสและสิ่งแวดล้อมที่ดี และพ่อแม่ควรจะได้ดูแลลูกๆ ด้วยความสุขที่มากกว่านี้ หมอจึงได้พาเด็กๆ 200 เตียงจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ย้ายไปอยู่ในโลกของความเป็นเด็ก ได้นอนอยู่บนเตียงที่มีระยะห่างของเตียงกว้างขึ้น ผู้ปกครองสามารถมาอยู่กับเด็กๆ ได้โดยไม่ต้องไปนั่งนอนอยู่ตามระเบียง หมอได้ปักหมุดและจัดตั้งโรงพยาบาลเด็กแห่งนี้ขึ้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา ด้วยความอนุเคราะห์และความเมตตาจากผู้บริหารโรงพยาบาล รวมถึงพี่น้องประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ทำให้อาคารโรงพยาบาลเด็กได้เกิดขึ้นจริง แม้ตอนนี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่นั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่อีกฝันของหมอคือ การก่อตั้งโรงพยาบาลแม่และเด็ก ณ จุดนั้นด้วย นี่คือความท้าทายที่หมอจะต้องทำในอีกไม่กี่ปีให้ได้ก่อนที่หมอจะเกษียณครับ”
แล้วชีวิตหลังเกษียณของคุณหมออยากจะทำอะไร? เราถามก่อนกล่าวคำลาคุณหมอในวันนั้น “ความฝันหลังเกษียณของหมอคือการขับรถไปเยี่ยมเด็กๆ กลุ่มนี้ หมอจะออกไปเยี่ยมพวกเขาในฐานะของจิตอาสา จะไปดูการเติบโตของพวกเขาให้ได้เลยล่ะ (ยิ้ม)”
_
ภาพ: วิรัตน์ รุ่งเรืองมีทรัพย์