Climate Anxiety เฝ้าระวัง ‘สุขภาพใจ’ ภัยแฝงจากภาวะโลกร้อน

Care / Self Care

ปัจจุบันคำว่า ภาวะโลกร้อน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว กลายเป็นกระแสความสนใจที่ไม่ได้แค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพราะผลกระทบจากโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องจริงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน 

ภัยแฝงจากภาวะโลกร้อนที่น่าเป็นห่วง แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ก็คือผลกระทบด้าน ‘สุขภาพใจ’ จากผลสำรวจในหลายประเทศทั่วโลกพบแนวโน้มคนป่วยด้วยภาวะวิตกกังวลจากสาเหตุภาวะโลกร้อนมากขึ้น จนเกิดเป็นคำนิยามของอาการนี้ว่า ‘Climate Anxiety’

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าความหวั่นวิตกจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ คนที่มีภาวะ Climate Anxiety อาจจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นเป็นผู้ประสบภัยจากสภาพอากาศแปรปรวนในระดับรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น พายุพัดกระหน่ำจนต้นไม้โค่นล้มใส่ทรัพย์สินเสียหาย ฝนตกหนักจนน้ำท่วมไปทั้งเมือง หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิความร้อนที่สูงทำลายสถิติจนใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ หรืออาจจะเป็นคนที่ตระหนักถึงภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน เพราะได้ดูได้ฟังข้อมูลข่าวสารที่รายงานให้เห็นกันทุกวัน ทำให้เกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลอย่างมากต่อปัญหาในอนาคตข้างหน้าแม้จะยังมาไม่ถึง

ที่จริงแล้วความวิตกกังวลนั้นถือเป็นสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติค่ะ เวลาที่เราเจอกับเรื่องยากๆ เรื่องน่าเป็นห่วง หรือสถานการณ์ไม่เป็นใจ แต่ความวิตกกังวลจะกลายเป็นความผิดปกติทันที ถ้ามันเกิดขึ้นอยู่ตลอด หรือที่เราเรียกว่าเป็นอาการเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีความเครียดมาก กระวนกระวายใจมาก จิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย คิดฟุ้งซ่าน หรือมีภาวะซึมเศร้า หดหู่ใจไปหมด มีอาการนอนไม่หลับหรือรู้สึกชาตามร่างกาย หรืออาจรุนแรงไปถึงขั้นมีความคิดเกี่ยวกับความตาย 

มีกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale ในอเมริกา ได้ศึกษาเกี่ยวกับภาวะ Climate Anxiety ของชาวอเมริกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี หนึ่งในข้อสรุปที่น่าสนใจก็คือ การแยกแยะระหว่าง กลุ่มคนที่กังวลแบบตื่นตัวต่อปัญหาโลกร้อน กับ กลุ่มคนที่มีภาวะวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อน 

นักวิจัยบอกว่าความกังวลในระดับที่ทำให้เราตื่นตัวนั้นเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องน่าสนับสนุน เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงมือแก้ไขปัญหา แต่ถ้าความวิตกกังวลนั้นกลายเป็นปัญหาเสียเอง คือวิตกกังวลมากเกินไปจนความกลัวครอบงำจิตใจ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายหรือทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน แบบนี้ไม่ดีและไม่น่าสนับสนุน

หลายคนคงสงสัยว่าตัวเองเข้าข่าย Climate Anxiety หรือเปล่า? เรามีตัวอย่างคำถามจากแบบสอบถามของนักวิจัย Yale มาให้ลองประเมินตัวเองกันเล่นๆ ค่ะ

  • เมื่อคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ฉันเสียสมาธิ
  • เมื่อคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ฉันนอนไม่หลับ
  • ฉันฝันร้ายเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน
  • ฉันร้องไห้เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน
  • ฉันโทษตัวเองที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนได้
  • ฉันเขียนความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนและวิเคราะห์มัน
  • ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ฉันไม่มีความสุขกับครอบครัวหรือเพื่อน
  • ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนรบกวนการทำงานของฉัน
  • เพื่อนบอกว่าฉันคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนมากเกินไป

ตัวอย่างคำถามเหล่านี้ช่วยสะท้อนให้เห็นความคิดเชิงลบในใจ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรควิตกกังวลได้ ถ้าใครมีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ต้องรีบปรับและรับมือให้ดีนะคะ

  • เสพข้อมูลข่าวสารแต่พอดี
    เลือกเสพข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงมากกว่าข้อคิดเห็น และไม่ควรอ่านเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะภาพหรือเรื่องราวที่สะเทือนใจอันเกิดจากภัยโลกร้อน จำกัดปริมาณการเสพข่าวสารในแต่ละวัน ยิ่งดูมากก็ยิ่งกังวลมาก และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร
  • โฟกัสแต่สิ่งที่เราพอจะทำได้

ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น หรือแก้ได้ด้วยคนไม่กี่คน แม้ว่าเรื่องนี้อาจทำให้เรารู้สึกท้อใจ แต่อย่าเพิ่งท้อถอย ให้เราโฟกัสเฉพาะสิ่งที่เราพอจะทำได้หรือควบคุมได้เท่านั้นพอ ทำในส่วนของเรา เช่น การแยกขยะในครัวเรือน สร้างขยะให้น้อยลง เลือกวิธีเดินทางที่สร้างรอยเท้าคาร์บอนให้น้อยที่สุด หรือเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เราสนใจ แม้จะเป็นเป้าหมายเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของตัวเราได้ค่ะ

  • เข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

ออกไปพบปะทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหมู่คณะกับผู้คนที่มีความใส่ใจต่อปัญหาโลกร้อนเหมือนกัน จะช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อาจจะเป็นการออกไปทำจิตอาสาช่วยเก็บขยะในพื้นที่สาธารณะ ลงพื้นที่ไปช่วยกันปลูกต้นไม้ หรือเป็นอาสาสมัครให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะก็ได้ การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีคุณค่ากับคนอื่นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความหวัง และกำลังใจ ช่วยคลายความวิตกกังวลและเพิ่มความรู้สึกดีกับตัวเองได้ค่ะ

  • สร้างพลังบวกให้ตัวเอง

อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเครียดและความกลัวมากไป พยายามหาสิ่งที่ช่วยกระตุ้นพลังบวกให้ตัวเอง เช่น การดูแลสุขภาพ ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ ดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวกับเพื่อน มองหาสิ่งบันเทิงใจเพื่อให้ตัวเราไม่จมจ่อมอยู่กับแง่ลบ มีงานวิจัยพบว่าการออกไปท่องเที่ยวหรือใช้เวลาในสถานที่ธรรมชาติช่วยบรรเทาความเครียดกังวลได้ดี 

แม้ภาวะโลกร้อนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ภาวะวิตกกังวลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก ความป่วยใจจากภาวะวิตกกังวลเรื่องโลกร้อนนั้นมีอยู่จริง นอกจากห่วงใยโลกแล้วก็ต้องหันมาห่วงสุขภาพใจของเราไปพร้อมกันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม:
5 กิจกรรมง่ายๆ แก้จิตตก
ผ่อนคลายจิตใจเพื่อสุขภาพจิตดี ด้วย Music Therapy ‘ดนตรีบำบัด’ 
Shinrin-yoku: อาบป่าเยียวยากายใจ 

อ้างอิง:
sustainability.yale.edu
nature.com
mhanational.org
neurosciencenews.com

บทความที่เกี่ยวข้อง