หนึ่งในดาวเด่นแห่งวงการเทคโนโลยีผลิตอาหาร (Food Tech) ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ แน่นอนว่าต้องมี Plant-based Meat รวมอยู่ด้วย
Plant-based Meat คืออะไร
Plant-based Meat คือเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช ซึ่งผ่านกระบวนการทดลองศึกษาพัฒนาจนมีความคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์จริงๆ มาก ทั้งในเรื่องรูปร่างหน้าตา สัมผัส และรสชาติ ถึงขนาดที่สเต็กจาก Plant-based Meat ของบางเจ้าจะมีเลือดไหลเยิ้มออกมาเมื่อคุณค่อยๆ ใช้มีดกรีดหั่นลงไปเลยทีเดียว! (แน่นอน นั่นไม่ใช่เลือดจริง แต่เป็นน้ำบีทรูทที่เป็นส่วนผสมหนึ่งในเนื้อสังเคราะห์ยี่ห้อนั้นๆ)
ปัจจุบัน หลายประเทศมี Plant-based Meat ออกมาให้เลือกกันหลากหลายแบรนด์ โดยแต่ละแบรนด์ก็มีสูตรส่วนประกอบที่แตกต่างกันไป อย่าง Beyond Meat จะใช้โปรตีนจากถั่วฝักเป็นส่วนประกอบหลัก, Impossible Food ใช้โปรตีนสังเคราะห์ที่สกัดจากรากของพืชตระกูลถั่ว (soy leghemoglobin), Omnipork ใช้ทั้งถั่วฝัก ถั่วเหลือง เห็ด และโปรตีนจากข้าว และ Karana แบรนด์ Plant-based Meat เจ้าแรกของเอเชีย (จากสิงคโปร์) ก็แหวกแนวออกไปจากแบรนด์ฝรั่งเล็กน้อย ตรงที่เนื้อหมูสังเคราะห์ของพวกเขาทำมาจากส่วนประกอบหลักคือขนุนออร์แกนิกที่อิมพอร์ตเข้ามาจากศรีลังกา
ทำไมต้อง Plant-based Meat
ความนิยมใน Plant-based Meat เริ่มต้นมาจากความตระหนักในเรื่องผลกระทบมหาศาลที่อุตสาหกรรมอาหารส่งไปยังสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการผลิตเนื้อสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการ นั่นคือราว 6 เท่าตัว เมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปีก่อนหน้า การทำฟาร์มปศุสัตว์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์จำเป็นต้องถางป่าเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่ฟาร์ม และยังต้องนำผืนป่าอีกเป็นจำนวนมากมาใช้เพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มอีกด้วย
นอกจากนั้น การทำฟาร์มโคยังส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เพราะวัวจะมีกระบวนการหมักในลำไส้ (enteric fermentation) ที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้น โดยวัวจะปล่อยทั้งก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาผ่านการผายลมและเรอ ซึ่งมีส่วนสร้างภาวะเรือนกระจกแก่โลก ไม่นับที่การทำปศุสัตว์จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วย
เมื่อกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์แบบเดิมๆ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากมายเช่นนี้ หลายคนจึงหันมาให้ความสนใจ Plant-based Meat มากขึ้นเรื่อยๆ การช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนก็ไม่ใช่ประโยชน์เพียงข้อเดียวของ Plant-based Meat เท่านั้น แต่เนื้อสัตว์ที่สังเคราะห์จากพืชนี้ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของพวกเราอีกด้วย
ทำไม Plant-based Meat ถึงให้คุณประโยชน์มากกว่าเนื้อสัตว์จริงๆ
Plant-based Meat มีปริมาณโปรตีนมากพอๆ กับเนื้อสัตว์จริง แต่มีแคลอรีและไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า และมีไฟเบอร์สูงกว่า อย่างที่ทราบกัน ไขมันอิ่มตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะคลอเลสเตอรอลสูง อันนำไปสู่โรคเกี่ยวกับหัวใจและเบาหวานประเภทที่ 2 ยังไม่นับที่การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิต (processed meat) เช่น ไส้กรอก แฮม อาหารกระป๋อง ฯลฯ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งในทางเดินอาหารและลำไส้อีกด้วย ในทางตรงกันข้าม ไฟเบอร์ที่มีมากกว่าใน Plant-based Meat จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งในทางเดินอาหาร
Plant-based Meat ไม่ได้เพอร์เฟกต์เลิศเลอไปหมดทุกอย่าง
แน่นอน Plant-based Meat เองก็มีข้อเสีย… นอกจากสนนราคาของเนื้อสังเคราะห์ของแต่ละแบรนด์จะค่อนข้างสูงลิ่วแล้ว อีกอย่างที่เราจำเป็นต้องรู้คือ การจะทำให้ Plant-based Meat มีรสชาติที่น่ารับประทานและสามารถวางขายได้นานโดยไม่หมดอายุนั้น จำเป็นต้องใส่โซเดียมลงไปเป็นปริมาณมาก และโซเดียมก็คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน
นักโภชนาการจึงแนะนำว่า การบริโภค Plant-based Meat นั้น ควรจะบริโภคในปริมาณที่พอดี คือไม่เกิน 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
Plant-based meat ช่วยลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์
แม้จะยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่าสาเหตุของโรคความจำเสื่อม (Dementia) และอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) นั้นคืออะไร แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า โรคความจำเสื่อม โรคหัวใจ และหลอดเลือดนั้น มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเป็นไปได้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคความจำเสื่อมนั้น คือ ภาวะคลอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวที่มากเกินไป และโรคเบาหวาน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมากทั้งนั้น
การบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณน้อย โดยหันมาใช้ Plant-based Meat เป็นแหล่งโปรตีนอีกทางเลือกหนึ่ง จึงมีแนวโน้มว่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์เช่นกัน
นอกจากนั้น Plant-based Meat ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ และโพรไบโอติกส์ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย อย่างไรก็ตาม เราก็ควรบริโภค Plant-based Meat ในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้นจึงจะได้คุณประโยชน์มากกว่าโทษ
อ้างอิง:
plantbasednews.org
cigna.com
insider.com
springwise.com
livekindly.co
greenpeace.org