ส่องแนวคิดเรื่อง ‘ธรรมะ’ ผ่าน ‘มังงะ’ ญี่ปุ่น

เมื่อพูดถึง ‘การ์ตูน’ ประเทศที่เรานึกถึงเป็นลำดับแรกย่อมหนีไม่พ้นญี่ปุ่น ประเทศที่อุตสาหกรรมการ์ตูนเติบโตอย่างมากและส่งอิทธิพลไปทั่วโลก สำหรับคนญี่ปุ่น – การ์ตูนไม่ได้ถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระหรือเป็นเรื่องของเด็กๆ เท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่กลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตผู้คนทุกเพศทุกวัยมาหลายทศวรรษ ทั้งยังสร้างรายได้มหาศาลทั้งในและนอกประเทศ 

ในภาษาญี่ปุ่น คำที่ใช้เรียกการ์ตูนคือคำว่า มังงะ (Manga) เป็นคำเรียกกว้างๆ ที่ครอบคลุมผลงานการ์ตูนทุกรูปแบบ ส่วนเนื้อหาของมังงะนั้นก็มีมากมายหลายประเภท ตอบโจทย์ผู้อ่านที่มาจากคนทุกเพศทุกวัยและทุกไลฟ์สไตล์ สำหรับมังงะที่ได้รับความนิยมก็มักจะถูกนำไปต่อยอดเป็นการ์ตูนแอนิเมชัน และอาจลามไปถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาด้วย

หนึ่งในเนื้อหาของมังงะที่น่าสนใจมากๆ ที่ ชีวิตดี by hhc Thailand อยากชวนพูดคุยในวันนี้ ก็คือ มังงะแนวศาสนา ซึ่งมีนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นผลิตผลงานแนวนี้ออกมาเยอะพอสมควร หลายๆ เรื่องมีการผสมผสานแนวคิดเรื่องศาสนาเข้ากับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืน บางเรื่องไม่ได้กำลัง ‘สอน’ เราตรงๆ แต่กระตุ้นให้เราคิด และอีกหลายเรื่องก็มีทั้งความกวน ความฮา และความแหวกแนวที่ทำให้เราต้องตกตะลึงไปพร้อมกับตั้งคำถามบางอย่างในใจ 

Yankee to Jushoku by Yoshiyuki Kondo

เมื่อนักบวชกับนักเลงมาเจอกัน

ในการ์ตูนเรื่อง Yankee to Jushoku นำเสนอเรื่องราวมิตรภาพที่ไม่น่าจะมาเจอกันได้ระหว่างพระภิกษุหนุ่มกับนักเรียนชายที่เป็นสมาชิกแก๊งมอเตอร์ไซค์ จุดนี้เองที่ทำให้ความสนุกบังเกิดขึ้นเพราะตัวนักเรียนชายในคราบนักเลงนั้นเป็นฝ่ายที่มีความเข้าใจในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ในขณะที่ฝ่ายนักบวชกลับเป็นฝ่ายที่มีปัญหากับการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ บทสนทนาของทั้งคู่ทำให้ผู้อ่านทั้งตลก ทั้งชวนตีความไปกับแนวคิดของศาสนาพุทธ คำพูดห้วนๆ สั้นๆ ของตัวนักเรียนนักเลงนั้นมักจะกระตุกความคิดให้กับนักบวช (และผู้อ่าน) ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นเสมอ

นักวาดการ์ตูนเรื่องนี้คือนักบวชวัย 37 ปี โยชิยูกิ คอนโดะ ผู้มีความสนใจในศาสนาพุทธอย่างจริงจังมาตั้งแต่อายุ 14 หลังลาออกจากการเป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย เขาตัดสินใจนำความชอบด้านวาดรูปมาสร้างเป็นผลงานการ์ตูนสอนธรรมะ และหลังจากที่โพสต์ผลงานลงในโซเชียลมีเดีย อดีตนักเรียนคนหนึ่งได้ส่งข้อความมาบอกว่า “น่าสนใจมาก” นั่นทำให้เขามีกำลังใจ และเห็นว่ามังงะอาจเป็นสื่อกลางที่ดีในการถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธศาสนาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ 

Saint Young Men by Hikaru Nakamura

เรื่องวุ่นๆ ของสองศาสดาผู้ยิ่งใหญ่

Saint Young Men เป็นมังงะที่เขียนโดย นาคามุระ ฮิคารุ ภายใต้สำนักพิมพ์โคดันฉะ เล่าเรื่องราวเหนือจินตนาการของสองเพื่อนสนิท ‘บุดด้า’ และ ’เยซู’ ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของโลกที่ขอลาพักร้อนจากภารกิจบนสวรรค์มาอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ ณ อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในโตเกียว เกริ่นมาแค่นี้ก็คงพอเห็นภาพความเหนือจริงซ้อนจริงที่ชวนให้ปวดหัวเบาๆ เรียกได้ว่างานชิ้นนี้จัดอยู่ในรูปแบบ parody คือการเลียนแบบหรือล้อเลียนเพื่อหวังผลบางอย่าง เช่น เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตัวงานนั้น หรือกระตุ้นให้ฉุกคิดอะไรบางอย่าง ในที่นี้ก็คือแนวคิดของศาสนาพุทธและคริสต์นั่นเอง 

ตามปกติแล้วการจะเข้าใจมุกล้อเลียนแบบ parody ได้ เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในผลงานต้นฉบับให้ได้ก่อน ดังนั้นการจะขำไปกับมุกต่างๆ ในเรื่อง Saint Young Men ได้เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในศาสนาพุทธและคริสต์อยู่พอสมควร 

มังงะเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากมาย ด้วยเนื้อเรื่องที่แหวกแนวไม่ซ้ำใคร นักวิจารณ์หลายคนมองว่านี่เป็นการดึงศาสนาเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงอย่างแยบยล กระตุ้นให้เราตั้งคำถามว่าคำสอนทางศาสนาที่มีมายาวนานนั้นจะสามารถปรับเข้ากับบริบถของวิถีชีวิตยุคใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบและการตีความของแต่ละคนก็คงแตกต่างกันไป แต่ที่แน่ๆ ผู้อ่านได้ตรวจสอบความคิดของตัวเองขณะอ่านไปโดยไม่รู้ตัว

Buddha by Osamu Tezuka

พุทธประวัติในมุมมองของเทพเจ้าแห่งการ์ตูน

มังงะเกี่ยวกับศาสนาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ Buddha ผลงานของ ‘เทพเจ้าแห่งการ์ตูน’ เท็ตสึกะ โอซามุ นักวาดการ์ตูนระดับตำนานของญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของผลงานขึ้นหิ้งอย่าง เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) และ แบล็คแจ็ค หมอปีศาจ (Black Jack) สำหรับเรื่อง Buddha นี้เป็นมังงะที่เขียนขึ้นในช่วงปี 1972 – 1983 บอกเล่าเรื่องราวพระพุทธเจ้าย้อนไปในในชมพูทวีปสมัยโบราณผ่านมุมมองของอาจารย์โอซามุ โดยใช้จินตนาการและการตีความส่วนตัวเข้ามาผสมผสานด้วย มีตัวละครที่เสริมเข้ามาใหม่ และมีการใส่มุกตลกเสริมให้สนุกสนาน ประกอบกับวิถีความเชื่อด้านศาสนาพุทธของคนญี่ปุ่นมีรูปแบบที่ต่างกับบริบทของคนไทย ดังนั้นเรื่องราวจึงมีความแตกต่างจากพุทธประวัติที่คนไทยเราคุ้นเคยกันอย่างมาก แต่ตัวละครหลักของเรื่องยังคงเป็น สิทธัตถะ โคตมะ ซึ่งจะได้พบกับความรัก ความสูญเสีย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต และสร้างอิทธิพลให้กับชีวิตของผู้คนมากมาย สำหรับผู้อ่านชาวไทยที่สนใจสามารถซื้อฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์มาอ่านกันได้ 

และนี่ก็คือตัวอย่างมังงะแนวศาสนาที่ชวนให้เรามองผ่านเปลือกหรือภาพลักษณ์บางอย่างที่เราเคยชินให้ทะลุไปถึงแก่นแท้ของความคิด บางเรื่องอาจทำให้ผู้อ่านคนไทยตกใจได้ไม่มากก็น้อย อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์และสังคมของไทยกับญี่ปุ่น (และนั่นก็ทำให้มังงะหลายๆ เรื่องไม่สามารถนำมาแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยได้) อย่างไรก็ตาม ความคิดความเชื่อทางศาสนานั้นถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล และในแต่ละสังคมก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป จึงไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ว่าใครดีใครด้อยกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ…

ขอให้ความคิดความเชื่อนั้นสามารถทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขเท่านั้นก็พอ

อ้างอิง:
www.statista.com
www.asahi.com
www.thematter.co

Share :
go to top