ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Up in the Air’ น่าจะจำฉากที่ George Clooney พระเอกของเรื่องพูดถึง “กระเป๋าเป้ใบหนัก” ได้ โดยพี่จอร์จบอกให้เราเอาผู้คนที่อยู่ในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง สามี ภรรยา เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ยัดใส่ลงไปในเป้ให้หมด พยายามรูดซิปปิด แบกเป้นั้นขึ้นบ่า และสัมผัสถึงความหนักอึ้งของมัน
แน่นอน เขาไม่ได้หมายถึงให้เราเอาคนเหล่านั้นใส่ลงไปในเป้จริงๆ แต่สิ่งที่อัดแน่นอยู่ในเป้นั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพวกเขาต่างหาก
“ความสัมพันธ์คือส่วนของชีวิตที่หนักที่สุด” พี่จอร์จว่าไว้
และกระเป๋าเป้ใบหนักที่เราต่างต้องแบกมันไปไหนต่อไหนกับเราด้วยนี้เอง คือสิ่งที่เรียกว่า “สัมภาระทางใจ” (Emotional Baggage)
“สัมภาระทางใจ” คืออะไร
Karol Ward ผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘Worried Sick: Break Free from Chronic Worry to Achieve Mental & Physical Health’ ให้คำจำกัดความว่า สัมภาระทางใจคือปัญหาทางด้านอารมณ์หรือความเครียดที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตมาในครอบครัวที่แตกแยก ชีวิตคู่ที่ล้มเหลว ความตายของคนที่รัก ฯลฯ เมื่ออารมณ์เหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือปลดปล่อย จึงส่งผลต่อมายังร่างกายและจิตใจของเราในปัจจุบัน เช่น ทำให้เราขาดความเคารพในตัวเอง ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปในชีวิตได้ และในหลายครั้งยังก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีอาการตึงที่ไหล่และคอ เหมือนกับเวลาที่เราแบกกระเป๋าใบหนักอยู่บนหลังจริงๆ
จุดกำเนิด “สัมภาระทางใจ”
เหตุการณ์ในชีวิตหลายอย่างที่เปรียบเสมือนรอยด่างหรือบาดแผลล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของสัมภาระทางใจที่เราแบกมันเดินต่อไปในชีวิต โดยรอยด่างเหล่านั้นอาจเป็นได้ทั้ง…
- บาดแผลทางใจที่ถูกคนใกล้ชิดทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คู่ชีวิต พี่น้อง เพื่อน เพื่อนร่วมงาน โดยเราไม่เคยมีโอกาสได้ระบายให้คนที่ทำร้ายเราได้เข้าใจว่าเราเจ็บปวดแค่ไหน
- อารมณ์โกรธที่เก็บสะสมมายาวนานและไม่เคยได้เปิดใจพูดคุยกับคนที่เรามีปัญหาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ทางอาชีพการงานก็ตาม
- ความรู้สึกเสียใจที่ปล่อยให้โอกาสบางอย่างหลุดลอยไป การทำผิดพลาดในอดีต หรือความสัมพันธ์ที่จบลง
- ความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนใกล้ชิด ทั้งพ่อแม่ คนรัก เพื่อน หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง
ยิ่งแบกไว้หนักเท่าไร ก็ยิ่งมูฟออนไม่ได้
คนที่มีสัมภาระทางใจมักจะฝังตัวเองไว้ในอดีตอันเลวร้ายและหวาดกลัวที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต โดยสำหรับบางคน สัมภาระทางใจที่แบกอยู่เป็นสาเหตุทำให้พวกเขาไม่สามารถละทิ้งนิสัยเสียบางอย่างและเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (อย่างหนัก) ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย หรือกินอาหารขยะ แม้ว่าลึกๆ แล้วพวกเขาอยากจะปรับปรุงให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นก็ตาม เช่นเดียวกันกับบางคนที่สัมภาระทางใจเป็นเหตุให้ขาดไฟในการทำงาน ทำให้อาชีพการงานของพวกเขาย่ำอยู่กับที่ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่านั้นมาก
สัมภาระทางใจยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในชีวิต เช่น ทำให้เราสูญเสียความไว้ใจในชีวิตคู่ หลีกเลี่ยงการทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ หรือบางคนอาจถึงขั้นกลัวการไปยังสถานที่ใหม่ๆ เช่น ร้านอาหารที่ไม่เคยไปมาก่อนเลยด้วยซ้ำ กล่าวโดยสรุปก็คือ “สัมภาระทางใจทำให้เราไม่สามารถไขว่คว้าหาความสุขให้กับชีวิตได้อย่างเต็มเปี่ยม”
ถึงเวลา “ปลดเป้” ลงจากบ่า
หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มค้นพบแล้วว่า ปัญหาบางอย่างในชีวิตที่ตัวเองข้ามผ่านไปไม่ได้สักที อาจมีสาเหตุมาจากสัมภาระทางใจที่แบกไว้โดยไม่รู้ตัว … คำถามถัดจากนั้นก็คือ แล้วเราจะวางสัมภาระเหล่านี้ลงได้อย่างไร? เมื่อไรเราถึงจะพร้อม?
คำตอบคือ เมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณแบกไว้หนักเกินกว่าที่คุณจะรับไหวแล้ว เมื่อนั้นล่ะคือสัญญาณว่าคุณพร้อมที่จะปลดสัมภาระทางใจออกจากตัวแล้ว และขั้นตอนต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรทำ
- ค้นหาสัมภาระที่ซ่อนอยู่
ลองพิจารณาดูว่ามีด้านไหนมุมไหนในชีวิตของคุณที่ไม่เป็นไปอย่างที่คุณคาดหวังไว้ โดยมากแล้วเรื่องเหล่านั้นมักจะเป็นสิ่งที่คุณอยากเปลี่ยนแปลงมานานแสนนาน แต่ยังทำไม่ได้สักที แล้วมันก็ทำให้คุณหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อนึกถึง นั่นล่ะคือ สัมภาระทางใจที่คุณต้องปลดปล่อย
- เรียงลำดับความสำคัญ
ลิสต์เรื่องที่คุณอยากเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับต้นๆ ออกมาก่อน เพื่อเริ่มต้นจากตรงนั้นเป็นอย่างแรก แล้วก็ไม่ต้องกังวลไปว่าจะมีสัมภาระไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะ Karol Ward บอกว่า ส่วนมากแล้ว สัมภาระทางใจทั้งหมดที่เราแบกไว้ มักจะมีจุดเชื่อมโยงถึงกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราปลดปล่อยสัมภาระสำคัญชิ้นแรกๆ ออก ชิ้นหลังๆ ก็จะค่อยๆ หลุดจากบ่าเช่นกัน
- ปลดปล่อย
เมื่อคุณเจอสัมภาระทางใจที่อยากจะปลดมันลงจากบ่าแล้ว อย่าลืมให้เวลาตัวเองได้สัมผัสถึงความรู้สึกนั้นอีกสักครั้ง รวมทั้งคุณยังอาจเปิดอกคุยให้คนที่คุณมีความสัมพันธ์ด้วยได้รับรู้ถึงสัมภาระที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นมากับคุณ หรือไม่ก็อาจเป็นการบอกเล่าเพื่อระบายเรื่องราวนั้นออกมากับใครก็ตามที่คุณไว้ใจให้เป็นผู้ฟัง นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะมันจะช่วยให้คุณเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง คุณไม่ควรรีบเดินหน้าต่อไปโดยไม่ได้ปลดปล่อย ระบาย หรือสัมผัสความรู้สึกนั้นอีกครั้ง
- ให้เวลาตัวเอง
สิ่งสำคัญอีกอย่างนึงคือ คุณไม่ควรรีบร้อนที่จะก้าวข้ามผ่านปัญหาและสัมภาระทางใจ แต่ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามจังหวะธรรมชาติของชีวิต อย่าฝืน อย่าเร่ง อย่าหลอกตัวเองว่าคุณพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะอย่างที่ Ward ว่าไว้ “การใช้เวลาในการเยียวยาไม่ใช่ความล้มเหลว” เพราะการให้อภัยและความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปเป็นขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว… เมื่อถึงเวลา
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากคุณไม่สามารถจัดการค้นหาปัญหาและปลดสัมภาระลงจากบ่าได้ด้วยตัวเอง คุณอาจต้องการความช่วยเหลือจากนักบำบัดหรือใครก็ตามที่สามารถจะช่วยให้คุณเข้าใจสิ่งที่คุณเป็นอยู่ รวมทั้งมีพื้นที่ให้คุณได้ระบายความรู้สึกนั้นออกมา และช่วยพาคุณเดินหน้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลง บางที อาจเป็นเพื่อนที่คุณไว้ใจมากๆ และเป็นคนที่เข้าใจคุณอย่างทะลุปรุโปร่งก็ได้
สุดท้าย เราหวังว่าบทความเกี่ยวกับ “สัมภาระทางใจ” (ฉบับย่นย่อ) ชิ้นนี้จะช่วยให้คุณปลดสัมภาระทางใจออกจากบ่าได้ ไม่มากก็น้อย และได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีใหม่อย่างที่คุณคาดหวังไว้กับชีวิต
–
แปลและเรียบเรียงจาก:
nbcnews.com
healthshots.com