คลายกังวล! คู่มือการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต

Health / Urinary

เคล็ดลับเตรียมพร้อมการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตอย่างไร้กังวล

แม้ว่าโรคต่อมลูกหมากโตจะไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือเป็นมะเร็งที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วยไม่น้อย เนื่องจากทำให้ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ ซึ่งโรคนี้มักจะเกิดในผู้ชาย
ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของต่อมลูกหมากโตของตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพราะจะได้เตรียมรับมือและทำการรักษาอย่างถูกวิธี

สำหรับการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตมีหลากหลายวิธี โดยวิธีการดูแลต่อมลูกหมากโตสามารถปรับใช้ได้ทั้งผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งการดูแลโดยผู้ดูแลหลัก ๆ แล้วจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีดูแลต่อมลูกหมาก ในการปฏิบัติตัวและการรับประทานอาหาร และอีกทางหนึ่งคือการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย เนื่องจากในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิตกกังวลกับโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลมีหน้าที่ในการทำให้ผู้ป่วยคลายกังวลกับอาการที่เกิดขึ้นมากที่สุด
โดยโรคต่อมลูกหมากโต การดูแลและการรักษาสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้นความเสี่ยงในการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตนั้นก็มากขึ้นตามด้วย ดังนั้นการดูแลตนเอง
รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตเมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้วนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยวิธีป้องกันต่อมลูกหมากโต และการดูแลต่อมลูกหมากโตสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราได้รวบรวมมาไว้ให้แล้วว่าอาหารใดควรทานหรือควรหลีกเลี่ยงและพฤติกรรมใดที่ผู้ป่วยควรทำหรือไม่ควรทำ

อาหารสำหรับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต

อาหารนับว่ามีความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาหารที่ดีจะมีสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่อมลูกหมากโตเพิ่มมากขึ้น

อาหารที่ควรรับประทาน

อาหารสำหรับการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่ควรรับประทาน มีดังต่อไปนี้

  • มะเขือเทศ : อุดมไปด้วยไลโคปีนในการช่วยลดความเสี่ยงของต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากโตได้
  • ปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง : เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน มีส่วนช่วยในการป้องกันเซลล์ต่อมลูกหมากจากการถูกทำลาย
  • ชาเขียว :  มีคาเทชินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ต่อมลูกหมาก ควบคุมระดับฮอร์โมนเพศชาย ลดการอักเสบของต่อมลูกหมาก
  • ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง : เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ซึ่งมีไฟโตเอสโตรเจนที่ช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโตได้
  • ธัญพืชไม่ขัดสี : เนื่องจากมีสังกะสีและโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดการอักเสบของต่อมลูกหมากสาเหตุของอาการต่อมลูกหมากโต

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

การดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต อาหารที่ควรให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการรับประทานลง เพราะล้วนกระตุ้นให้เกิดอาการต่อมลูกหมากโตมากขึ้น เช่น

  • อาหารที่มีไขมันสูง : เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป เบเกอรี่ต่าง ๆ
  • อาหารที่มีน้ำตาลสูง : เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ขนมหวาน 
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน : เช่น เหล้า เบียร์ ชา กาแฟ เนื่องจากกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย
    อาจกระตุ้นให้เกิดต่อมลูกหมากโตได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

พฤติกรรมในชีวิตประจำวันก็ส่งผลต่อการเกิดต่อมลูกหมากโตได้โดยที่อาจจะไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่อมลูกหมากโตและลดอาการต่อมลูกหมากโตที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตอีกทางหนึ่ง

  • ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ : การดื่มน้ำเพียงพอจะช่วยให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ไม่ติดขัด ซึ่งเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ : การรับประทานอาหารที่ดีช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคต่อมลูกหมากโตได้อย่างมาก
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายช่วยให้อุ้งเชิงกรานแข็งแรง ลดแรงกดทับต่อท่อปัสสาวะและช่วยให้ปัสสาวะไหลออกได้ง่ายขึ้น 
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ : เนื่องจากผู้ชายที่มีน้ำหนักมากจะมีระดับฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้นและกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : บุหรี่และแอลกอฮอล์ทำให้เซลล์ต่อมลูกหมากได้รับความเสียหาย และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ในอนาคต
  • ไม่เครียดจนเกินไป : การเกิดความเครียดอย่างต่อเนื่องจะทำให้ความเสี่ยงของการเกิดต่อมลูกหมากโตเพิ่มขึ้น ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตจึงต้องทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย โดยอาจจะเป็นการนั่งสมาธิ หรือโยคะ 
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ : จะช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคต่อมลูกหมากโต

นอกจากการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคต่อมลูกหมากโตในระดับที่รุนแรงจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากนั้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะมีความเสี่ยงในการมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าคนที่อายุน้อย การรักษาต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาประกอบกัน เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการรักษา

การรักษาด้วยยา

การดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตด้วยการรักษาด้วยยาเพื่อลดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากมีหลายวิธี เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้อ่อนตัวลง (Alpha Blocker) เพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5 อัลฟ่ารีดักเทส (DHT) ซึ่งมีผลต่อขนาดของต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง

วิธีการรักษาด้วยการส่องกล้องผ่านกระเพาะปัสสาวะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ซึ่งต้องทำด้วยแพทย์ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น โดยสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

การรักษาทางศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP (Transurethral Resection of the Prostate)

เป็นกระบวนการที่ใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ เพื่อตัดหรือขูดต่อมลูกหมากเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยใช้เครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าแบบประจุเดี่ยวโมโนโพลาร์เพื่อตัดและหยุดเลือดพร้อมกัน กระบวนการนี้มักนำมาใช้ในกรณีที่เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของต่อมลูกหมากที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะลำบาก

การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV (Transurethral Vaporized – Resection of the Prostate)

เป็นการใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัดและจี้ด้วยไฟฟ้า โดยไม่ให้เนื้อเยื่อไหม้เกรียมมากเกินไป ระบบยังมีการช่วยระเหิดเนื้อเยื่อในกระบวนการคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์ ซึ่งเรียกว่า แวโพไลเซชัน (Vaporization)

ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์กรีนไลท์ PVP

นวัตกรรมใหม่ในเทคนิคการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต เป็นการสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านทางท่อปัสสาวะ เหมือนการผ่าตัดโดยใช้กล้อง แต่ในกรณีนี้มีการใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูงแทนการใช้เครื่องขูด เมื่อแสงเลเซอร์ยิงเข้าไปในตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นในต่อมลูกหมาก จะทำให้เนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะค่อย ๆ ระเหิดหายไปและมีการสูญเสียเลือดน้อย วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือดได้

รักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ทูเลียม

เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่มีผลลัพธ์ดีเทียบเท่ากับ PVP ความแตกต่างคือในขั้นตอนการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เครื่องมือจะตัดเนื้อให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยครั้งต่อไปในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก และสามารถใช้ในการรักษาภาวะอาการท่อปัสสาวะตีบจากพังผืดได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อผู้ป่วยได้เข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตแล้ว การดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตจะต้องมีการดูแลโดยใกล้ชิดจาก
ผู้ดูแลในระยะแรก ๆ เมื่อกลับมาดูแลรักษาตัวที่บ้านผู้ดูแลและผู้ป่วยต้องมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

  1. การดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตในช่วง 4 สัปดาห์แรก ควรระวังการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การเบ่งถ่าย การยกของหนัก การขึ้นลงบันได การซ้อนหรือปั่นจักรยาน เนื่องจากอาจทำให้แผลฉีกขาดและมีเลือกออกบริเวณต่อมลูกหมาก
  2. ดื่มน้ำสะอาดวันละ 10-12 แก้ว และรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตไม่ให้เบ่งถ่ายอุจจาระมากเกินไป
  3. งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อลดการสร้างแรงดันในช่องท้อง
  4. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง
  5. ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต การดูแลตนเองเบื้องต้นคือควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง เช่น ปัสสาวะมีสีแดง ปัสสาวะไม่ออก มีไข้หนาวสั่น ปวดบริเวณท้องน้อย หากมีอาการดังนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อเกิดขึ้น
  6. มาพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการหลังผ่าตัด และดูว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่

ต่อมลูกหมากโตเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในผู้ชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป การดูแลผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การดูแลต่อมลูกหมากโตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน ไปจนถึงวิธีดูแลต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัด ซึ่งด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์จึงมีหลายรูปแบบให้แพทย์พิจารณาการรักษาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน การผ่าตัดต่อมลูกหมากโต การดูแลหลังผ่าตัดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลและผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดอาการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง