“อัลตราซาวนด์” หรือการนำคลื่นเสียงความถี่สูงมาใช้ประโยชน์ในการตรวจสภาวะและความผิดปกติที่เกิดขึ้นในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย นอกจากจะเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูงและสามารถทำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการแล้ว ความก้าวหน้าของอุปกรณ์ดังกล่าวยังถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากการอ่านผลแบบ 2 มิติ สู่ 3 และ 4 มิติ จนกระทั่งปัจจุบัน พัฒนาการของอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ก้าวไปอีกขั้นกับการพัฒนาเครื่องอัลตราซาวนด์ในแบบพกพา ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้การใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดข้อจำกัดทางการแพทย์และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น
Jonathan M. Rothberg ผู้ก่อตั้ง Butterfly Network ได้พัฒนาอัลตราซาวนด์แบบพกพา “Butterfly iQ” ขึ้นหลังจากลูกสาวของเขาต้องเข้ารับรักษาตัวจากโรคทูเบอรัส สเคลอโรสิส (Tuberous Sclerosis Complex) ด้วยโรคทางพันธุกรรมดังกล่าวส่งผลต่อระบบร่างกายหลายระบบ ทำให้เกิดเนื้องอกในสมองและอวัยวะสำคัญต่างๆ การตรวจร่างกายด้วยอัลตราซาวนด์จึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการรักษาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และทุกๆ ครั้ง ทั้งคู่จะต้องต่อคิวใช้บริการเป็นเวลานาน จากประสบการณ์ที่ว่าได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ Jonathan คิดหาหนทางผลิตเครื่องอัลตราซาวนด์ที่มีขนาดเล็กลง ในราคาที่จับต้องได้ ที่สำคัญคือยังคงประสิทธิภาพของฟังก์ชั่นใช้งานได้เหมือนกับอัลตราซาวนด์เครื่องใหญ่ เพื่อให้สถานพยาบาล ไม่ว่าจะขนาดใดก็ตาม สามารถมีใช้ได้อย่างเพียงพอ
บริษัทสตาร์ทอัพจากเมืองกิลฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ จึงออกแบบ Butterfly iQ โดยบรรจุความสามารถทุกอย่างที่แทบจะไม่ต่างไปจากเครื่องอัลตราซาวนด์ที่เราเห็นตามโรงพยาบาลในขนาดที่เล็กลงหลายเท่าตัว โดยมีฟังก์ชั่นซึ่งสามารถตั้งค่าการตรวจจับภาพได้ทั้งหมด 20 โหมด ครอบคลุมอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกล้ามเนื้อ ระบบหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะในส่วนช่องอก อย่างปอดและหัวใจ ไปจนถึงอวัยวะบริเวณช่องท้อง เช่น ตับและไต เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ ทีมพัฒนายังเลือกใช้เซนเซอร์ระดับจุลภาคที่รวมเอาโครงสร้างเชิงกลและวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้การแสดงผลบนหน้าจอมือถือมีความละเอียดสูงและรวดเร็วแบบเรียลไทม์ เทียบเท่ากับเครื่องอัลตราซาวนด์ขนาดใหญ่ตามโรงพยาบาล และมีคุณภาพไม่แตกต่างไปจากการแสดงผลของกล้องบนสมาร์ทโฟนที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
สำหรับการใช้งาน จะอาศัยอุปกรณ์เพียง 2 อย่าง นั่นคือเจ้าเครื่องอัลตราซาวนด์ย่อส่วนที่ว่านี้และสมาร์ทโฟนที่คุณมี เมื่อต่อสายเชื่อมจาก Butterfly iQ ไปยังโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้ก็สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันฟรีที่ถูกออกแบบมาให้รองรับทั้งระบบ iOS และ Android จากนั้นก็เลือกโหมดการใช้งานให้ตรงกับอวัยวะที่ต้องการตรวจเช็ค และวางหัวเซนเซอร์ในบริเวณที่ต้องการ โดยภาพจะแสดงผลผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถปรับสี ขยายภาพ หรือบันทึกวิดีโอเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และออกแบบแนวทางการรักษาผู้ป่วยได้ต่อไป
ด้วยการออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้แบบทุกที่ทุกเวลาด้วยขนาด 163 x 56 x 35 มิลลิเมตร กับน้ำหนัก 309 กรัม และเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานแบบทางไกลได้ นอกจากจะทำให้ Butterfly iQ มีความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะในสถานการณ์ปกติในสถานพยาบาล หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่จำกัดอย่างเช่นรถพยาบาลแล้ว เครื่องอัลตราซาวดน์ดังกล่าวยังเอื้อต่อการใช้งานท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดได้ด้วยเช่นกัน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ป่วย COVID-19 จากทางไกลได้อย่างมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยทั้งต้นทางและปลายทาง ซึ่งแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาสามารถให้คำแนะนำต่างๆ ทั้งเรื่องการใช้งาน รวมทั้งการควบคุมการตรวจแบบระยะไกลได้ด้วย ทั้งนี้ ในการใช้งานและการจัดซื้ออุปกรณ์ Butterfly iQ แพทย์จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
หากเปรียบเทียบกับเครื่องอัลตราซาวนด์ขนาดใหญ่ที่ถูกใช้ภายในโรงพยาบาล ความละเอียดของ Butterfly iQ นับว่ามีประสิทธิผลที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ที่เอื้อต่อใช้งานภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงบประมาณ สถานที่ ระยะทาง เวลา โอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งในภาวะวิกฤตจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ดังที่กล่าวไป และน่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วยประเมินสภาวะและความเสียหายของอวัยวะต่างๆ อันจะนำไปสู่การออกแบบแนวทางรักษาที่เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
อ้างอิง:
www.butterflynetwork.com