เมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากความเสื่อมนั้นเกิดขึ้นที่สมองหรือที่เราเรียกว่า ‘โรคสมองเสื่อม’ นั่นจะทำให้บุคคลนั้นจากที่มีสติปัญญาดี สามารถจดจำ และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข กลายเป็นบุคคลที่มีภาวะถดถอยของสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
สำหรับโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญลำดับต้นๆ เนื่องจากเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และมีตัวเลขของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นในประชากรกลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ โดยพบว่าประชากรกลุ่มนี้จะมีภาวะสมองเสื่อมเฉลี่ยร้อยละ 2-10 และจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อระยะเวลาผ่านไปทุกๆ 10 ปี
สำหรับโรคสมองเสื่อม มักมีความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่าเป็น ‘โรคอัลไซเมอร์’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมองเสื่อมคือโรคที่มาพร้อมอาการผิดปกติอันเป็นผลมาจากความเสื่อมของสมองในหลายส่วน โดยร้อยละ 20 เป็นภาวะที่หากตรวจพบสาเหตุ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ขณะที่ร้อยละ 80 เกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งมาจากหลายปัจจัยและมีอาการที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สมองเสื่อมจากพาร์กินสัน (Parkinson Disease) ซึ่งเป็นความเสื่อมของสมองและมีความเกี่ยวเนื่องกับการควบคุมการเคลื่อนไหว, สมองเสื่อมจากภาวะสมองขาดเลือด (Vascular Dementia) อันมีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยมีเส้นเลือดสมองตีบ แตก เซลล์สมองเกิดความเสียหายหรือตายไปบางส่วนจนนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม, สมองเสื่อมจากเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น จากพันธุกรรม โรคสมองอักเสบ หรือการได้รับสารเคมีบางชนิด รวมไปถึงโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคสมองเสื่อม จึงทำให้คนทั่วไปคิดว่าเมื่อเป็นโรคสมองเสื่อมจะหมายถึงเป็นโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง
‘อัลไซเมอร์’ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของโปรตีนในสมอง
ในปี 2558 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 6 แสนคน โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นราว 100,000 รายต่อปี อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มสูงขึ้นราว 1,177,000 คน โดยกลุ่มวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนในการเป็นโรคดังกล่าวประมาณร้อยละ 5-8 และเมื่อมีอายุ 80 ปี สัดส่วนของการเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดนี้จะสูงถึงร้อยละ 50 ฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่คนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น
สำหรับสาเหตุหลักของโรคอัลไซเมอร์เกิดจากความผิดปกติของโปรตีนสองชนิด ได้แก่ โปรตีน ‘เบตา–อะไมลอยด์ (Beta-amyloid)’ และ ‘โปรตีนทาว (Tau Proteins: P-Tau)’ เมื่อใดก็ตามที่โปรตีนทั้งสองชนิดนี้เกิดการสะสมที่มากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของเซลล์ประสาท เกิดการสูญเสียการทำงานและเซลล์ประสาทตาย โดยจะเหนี่ยวนำความผิดปกติจากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่งต่อเนื่องกันจนทำให้องค์ประกอบโดยรวมของเซลล์ประสาทและเซลล์ค้ำจุนทำงานแย่ลง ส่งผลให้เนื้อสมองฝ่อลีบ การหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ จะแปรปรวน ความสามารถของสมองจะค่อยๆ ลดประสิทธิภาพลงอย่างช้าๆ โดยมีผลต่อเนื่องที่ทำให้ความจำแย่ลง มีความผิดปกติและความถดถอยทางอารมณ์ พฤติกรรม และการรู้คิดของผู้ป่วยจนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมในที่สุด
‘APOE-4’ ยีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้ เมื่อเราพูดถึงโรคอัลไซเมอร์ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่พูดถึงยีนที่ชื่อ Apolipoprotein E (APOE) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการดำเนินไปของอัลไซเมอร์ ต้องเกริ่นก่อนว่าในโครโมโซมของมนุษย์คู่ที่ 19 จะมียีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า APOE อยู่ ซึ่งยีน APOE นี้มีหน้าที่และกลไกสำคัญในการสร้างสมดุลคอเลสเตอรอลในร่างกาย มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการขนส่งไขมัน ลิพิด ตลอดจนสารต่างๆ ไปยังหรือออกจากอวัยวะต่างๆ โดยมีสามรูปแบบ (Alleles) หลัก ได้แก่ APOE-2, APOE-3 และ APOE-4 ตามลำดับ
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การสะสมของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ในเซลล์ประสาทสัมพันธ์ไปกับโอกาสในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ขณะเดียวกันการสะสมของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์นี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับยีน APOE เช่นเดียวกัน กล่าวคือ APOE มีหน้าที่สำคัญในการขจัดโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ออกจากเซลล์ประสาท โดย APOE แต่ละรูปแบบจะมีความสามารถในการขจัดโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ที่มีรูปแบบของ APOE ซึ่งสามารถขจัดโปรตีนชนิดดังกล่าวได้น้อย จะทำให้เกิดการสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ในเซลล์ประสาทมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้นตามมา โดย APOE-4 ถือเป็นรูปแบบของยีน APOE ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากมีผลต่อการเผาผลาญไขมันในเซลล์สมองที่อาจทำให้ความจำบกพร่องและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
แต่ต้องย้ำก่อนว่า APOE-4 ไม่ใช่ยีนที่ก่อโรค การมีหรือไม่มี APOE-4 ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นเป็นหรือไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่การมีความผิดปกติของยีน APOE-4 จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคสูงกว่าคนทั่วไป โดยหากบุคคลนั้นมียีน APOE4 อยู่ 1 ข้าง จะเพิ่มโอกาสการเป็นอัลไซเมอร์ได้ 2-3 เท่า และถ้ามี APOE-4 อยู่ 2 ข้างหรือหนึ่งคู่ จะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 8-12 เท่า
บทบาทของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์, โปรตีน ทาว, และยีน APOE-4 ในการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์
ในปัจจุบัน การวินิจฉัยว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ไม่ได้พิจารณาจากลักษณะของอาการ การซักประวัติ หรือการตรวจร่างกาย ทั้งการใช้เครื่องมืออย่างการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ไปจนถึงการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพียงเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้บทบาทของการวินิจฉัยโรคชนิดนี้พัฒนาไปอย่างมาก โดยเราสามารถพิสูจน์และวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้แม่นยำขึ้นหลายเท่าตัวจากการใช้เทคนิคภาพวินิฉัยหรือ Brain Imaging เพื่อการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีความผิดปกติของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์และโปรตีนทาวหรือไม่ รวมถึงสามารถตรวจยีน APOE เพื่อใช้ในการพยากรณ์โรคและการวางแผนการรักษาได้เช่นกัน และในอนาคตอันใกล้นี้ เรายังสามารถเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ได้ว่า เรามีความผิดปกติของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์หรือไม่ ตลอดจนการตรวจ APOE Genotype ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ของโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่สามารถนำไปเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาได้ต่อไป
การพิสูจน์ว่าคนไข้มีความผิดปกติของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์หรือโปรตีนทาวหรือไม่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การวางแผนการรักษาเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการอนุมัติให้ใช้ยากลุ่มใหม่ นั่นคือ ‘ยากำจัดโปรตีนอมิลอยด์จากเนื้อสมอง (Anti Amyloid Antibody)’ สำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นแอนตี้บอดี้ที่จะไปยับยั้งและทำลายโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์โดยตรง อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนการพยากรณ์โรคและสามารถชะลอการดำเนินโรคได้ โดยยาชนิดนี้มีแผนจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2568-2569 ที่จะมาถึง
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่เห็นผลอย่างชัดเจน แต่เราสามารถคาดการณ์ภาวะสุขภาพของตัวเองได้จากการตรวจสุขภาพดังที่กล่าวมา แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราสามารถดูแลร่างกายและจิตใจของเราตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ โดยเริ่มจากการกินอาหารให้ครบหมู่ การออกกำลังกายตามความเหมาะสมของวัยและสภาพร่างกาย รวมทั้งการนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สามารถทำควบคู่กันไปกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน เตรียมตัว และชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างทันท่วงที
–
อ้างอิง:
นพ.วิกรม วรัญญูวงศ์
อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา พฤติกรรมประสาทวิทยา
โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์