7 ของใช้ในชีวิตประจำวันที่แค่เปลี่ยน…โลกก็เปลี่ยน

Care / Social Care

เป็นความเข้าใจผิดๆ นะคะ ที่ว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แพง และจุกจิกวุ่นวายเสมอไป เพราะบางครั้ง การทำสิ่งดีๆ เพื่อโลกของเราก็เป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แถม… ยังประหยัดเงินในกระเป๋าของเราด้วย! เช่น การเปลี่ยนของใช้บางอย่างในบ้านของเรา แค่นั้นเองค่ะ

มีของใช้ในบ้านของเราอะไรบ้าง ที่แค่ ‘เปลี่ยน’ ก็ดีต่อโลกแล้ว วันนี้ hhc Thailand เลือกของใช้ง่ายๆ ที่คุณอาจคิดไม่ถึงมาให้ดูกัน 7 ชิ้นค่ะ

ไม้แขวนเสื้อที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุด เรียกว่าบ้านไหนๆ ก็ใช้กัน คือ ไม้แขวนเสื้อที่ข้างในเป็นลวด ส่วนด้านนอกหุ้มพลาสติกสีสันหลากหลาย โดยสาเหตุที่หลายบ้านเลือกใช้ไม้แขวนเสื้อแบบนี้ก็เพราะหาซื้อง่ายและราคาถูก จริงไหมคะ

แต่เมื่อใช้งานไปได้สักพัก ไม้แขวนเสื้อที่ว่าเมื่อโดนแดดโดนลม ตัวพลาสติกก็มักจะหลุดร่อนออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วลวดด้านในก็ขึ้นสนิม เผลอๆ พอพลาสติกส่วนที่หุ้มปลายหลุด ลวดแหลมๆ ก็ทิ่มเรา แถมพอจะโยนทิ้งก็จัดเป็นขยะที่แยกยากมากๆ ค่ะ

ใครที่เจอปัญหานี้ เราแนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นไม้แขวนเสื้อสแตนเลส เพราะทนทานมาก และถ้าจะใช้ของดีไปเลย ก็ควรเป็นสแตนเลส เกรด 304 ที่ไม่เป็นสนิมค่ะ ยิ่งถ้าเลือกแบบหนาหน่อยก็ยังรองรับน้ำหนักได้มากอีกด้วย แม้ว่าราคาของไม้แขวนเสื้อสแตนเลสจะแพง แต่เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องคอยซื้อเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ถือว่าคุ้มค่าที่สุดแล้วค่ะ

เช่นเดียวกับไม้แขวนเสื้อนั่นแหละค่ะ เพราะพอเป็นพลาสติกที่ต้องใช้งานแบบตากแดดตากฝน พอจะหยิบไม้หนีบผ้ามาใช้ทีก็หักเป๊าะหักแป๊ะคามือ กวนใจคุณแม่บ้านใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนมาเป็นไม้หนีบผ้าแสตนเลสดีกว่าค่ะ (รวมถึงไม้หนีบผ้าแบบเป็นพวงที่ใช้แขวนชุดชั้นใน ถุงเท้า ด้วย) รับรองว่าใช้งานได้ยาวนาน ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนบ่อยๆ 

แต่… ปัญหากวนใจปัญหาเดียวของไม้หนีบผ้าสแตนเลสก็คือ หลายคนอาจไม่ชอบที่ทำให้ผ้าเป็นรอยชัดกว่าไม้หนีบพลาสติก เอาเป็นว่าถ้าใครรับไม่ได้จริงๆ ลองพิจารณาไม้หนีบผ้าที่ทำจากไม้ไผ่ดูแล้วกันค่ะ 

การเปลี่ยนของชิ้นนี้ เราคงต้องขอให้คุณยอมควักเงินในกระเป๋ากันมากขึ้นหน่อยค่ะ แต่ถ้าใครที่อยากจะลดปริมาณการใช้พลาสติกในบ้าน โดยเฉพาะของใช้ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารที่คุณอยากให้ปลอดภัยจากไมโครพลาสติกมากขึ้น เราก็แนะนำให้เปลี่ยนจากฟองน้ำล้างจานแบบเดิมๆ มาเป็นฟองน้ำล้างจานแบบธรรมชาติ เช่น ฟองน้ำที่ทำจากเยื่อฝ้าย หรือ ผ้าคอตตอน (สำหรับด้านจับ) และใยมะพร้าว หรือ ใยบวบ (สำหรับด้านขัด) เพราะจะไม่มีไมโครพลาสติกแตกตัวออกมาแน่นอน แถมเมื่อหมดอายุการใช้งานก็ยังย่อยสลายตามธรรมชาติได้อย่าง 100% 

hhc Thailand แนะนำ: ฟองน้ำล้างจานแบบธรรมชาติมีให้เลือกอยู่พอสมควร แต่ถ้าให้เราแนะนำ เราขอเลือกฟองน้ำล้างจานของ SuperBee Wax ที่ทำจากใยบวบและผ้าฝ้ายแบบออแกนิก 100% ที่สำคัญลวดลายสีสันบนผ้ายังน่ารักน่าใช้ด้วยค่ะ

หลังจากมีอาหารเหลือจากการกินแต่ละมื้อ หลายบ้านมักเปิดลิ้นชัก หยิบเอา plastic wrap หรือแผ่นพลาสติกใสบางๆ เป็นม้วน ออกมาปิดปากภาชนะ ก่อนจะนำเข้าตู้เย็น และพอจะเอามาอุ่นกินอีกรอบ ก็หยิบเอาพลาสติกแผ่นบางนั้นออก แล้วโยนทิ้งถังขยะ

ถ้าคุณอยากช่วยโลกลดขยะพลาสติกและประหยัดเงินในกระเป๋า เราแนะนำให้คุณเปลี่ยนจากพลาสติกแรปเหล่านั้นมาเป็นกล่องเก็บอาหารสแตนเลส แก้ว หรือพลาสติกแบบฟู้ดเกรดที่สามารถนำมาล้างทำความสะอาดและใช้ซ้ำได้ หรือ… อีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนยังไม่เคยรู้ก็คือ ผ้าไขผึ้งห่ออาหาร (beeswax wrap) ที่สามารถใช้แทนพลาสติกแรปได้เลย แถมยังนำมาใช้งานซ้ำได้ยาวนาน ไม่ต้องหาซื้อเปลี่ยนบ่อยๆ ที่สำคัญอีกอย่าง คุณยังสามารถใช้ผ้าไขผึ้งห่ออาหารห่อผักผลไม้สดเพื่อช่วยรักษาความสดใหม่ได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย 

hhc Thailand แนะนำ: ขอออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใดนะคะ แต่เพราะ SuperBee Wax ที่เราบังเอิญไปเจอเขาเปิดขายของที่เชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว มีสินค้ารักษ์โลกหลากหลายที่น่าสนใจจริงๆ รวมถึงผ้าไขผึ้งห่ออาหารลายน่ารักน่าชังที่มีหลายแบบหลายขนาดให้เลือกตามการใช้งาน หากใครสนใจ เราแปะลิงค์ไว้ให้ที่ท้ายบทความนะคะ

แม่บ้านท่านไหนยังใช้เขียงพลาสติกทำครัวอยู่บ้างคะ ถ้ามี เราแนะนำให้เปลี่ยนเป็นเขียงไม้ทันทีเลยค่ะ ไม่ใช่เพื่อโลกอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองด้วย

เหตุผลเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ว่าก็คือ เขียงพลาสติกจะมีรูพรุนขนาดเล็กที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ เช่น แบคทีเรียอีโคไลที่อาจปนเปื้อนมาจากเวลาที่คุณหั่นเนื้อสัตว์ดิบ ผักดิบ และไม่ได้ทำความสะอาดเขียงอย่างถูกวิธี ในขณะที่เขียงไม้ หากเจอกับแบคทีเรียเหมือนกัน โอกาสสะสมเชื้อไว้จะน้อยกว่าเพราะไม้มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นจากผิวสัมผัสของแบคทีเรีย ทำให้เชื้อโรคตายง่ายกว่า

นอกจากนั้น เขียงพลาสติกบางประเภทยังอาจทำจากพลาสติกที่มีสาร BPA (Bisphenol A) ทำให้อาจปนเปื้อนอาหารได้ ยังไม่นับที่เขียงไม้ทนทานกว่าพลาสติก สามารถรับแรงกดได้มากกว่า ไม่เกิดเป็นรอยถลอกได้ง่าย และเวลาหั่นก็ไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกออกมาปนเปื้อนอาหารและแหล่งน้ำด้วย

hhc Thailand แนะนำ: แต่เขียงไม้ก็ต้องการการทำความสะอาดที่ถูกต้องเหมือนกัน โดยวิธีง่ายๆ คือใช้เกลือโรยบนเขียง แล้วนำมะนาวที่ฝานเป็นแว่นๆ มาถูทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อ จากนั้นล้างเขียงด้วยน้ำร้อน นำไปตากให้แห้งสนิท หรือหากเขียงมีคราบดำ ให้ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ทาลงบริเวณที่มีคราบดำ ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วขัดคราบออกด้วยแปรงหรือฟองน้ำ จากนั้นล้างด้วยน้ำร้อน ก่อนนำไปตากจนแห้งสนิท

พรมเช็ดเท้าแบบที่มีแผ่นกันลื่นติดอยู่ด้านหลังอาจช่วยกันลื่นให้เราได้ดีจริงๆ แต่ว่าเมื่อซักนานๆ เข้า แผ่นกันลื่นที่เป็นวัสดุพลาสติกชนิดหนึ่งจะค่อยๆ กรอบและแตกตัวออกมาทุกครั้งที่เราซัก หยิบจับทีก็ร่วงกราว ซึ่งไม่ใช่แค่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกเท่านั้น แต่ยังจะไปอุดตันในเครื่องซักผ้า ทำให้ซักไม่สะอาดอีกด้วยค่ะ 

ใครที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้ เราแนะนำให้เลือกซื้อพรมเช็ดเท้าแบบที่ไม่มีแผ่นกันลื่นด้านหลัง และหาแผ่นยางรองกันลื่นมาใช้แยกอีกชิ้นต่างหาก โดยติดแผ่นยางที่พื้นก่อนแล้วค่อยวางพรมเช็ดเท้า เรียกว่าไม่ได้ยุ่งยากอะไรขึ้นมากมายเลย แต่ก็กันลื่นได้เหมือนกัน แถมยังลดปัญหาเศษขยะตกค้างในเครื่องซักผ้า หรือถ้าบ้านไหนไม่ได้ใช้งานพรมเช็ดเท้าหนักหนามากนัก รวมทั้งคุณแม่บ้านพ่อบ้านไม่เกี่ยงเรื่องการซักผ้าด้วยมือ หากคุณเลือกใช้พรมเช็ดเท้าแบบมีแผ่นกันลื่น ก็อาจยืดอายุการใช้งานด้วยการแช่ทิ้งไว้แล้วซักด้วยมือ 

ยังจำภาพอันน่าเศร้าที่ม้าน้ำในท้องทะเลเกี่ยวคอนตอนบัดอันเล็กๆ พาว่ายน้ำติดไปกับตัวของมันด้วยได้ไหมคะ คอตตอนบัดหรือสำลีก้านเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่งที่เราสามารถเปลี่ยนเพื่อช่วยโลกได้ค่ะ โดยจากคอตตอนบัดก้านพลาสติกเดิมๆ แค่เวลาไปช็อปปิ้ง ให้คุณมองหาคอตตอนบัดก้านไม้ ที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าสำลีก้านพลาสติก

ทุกวันนี้ คอตตอนบัดก้านไม้มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อและหาซื้อได้ง่ายมากๆ ค่ะ อ้อ… และถ้าจะให้ดีกว่านั้น เราแนะนำให้เลือกสำลีผ้าฝ้าย 100% ที่ปราศจากสารเรืองแสงเพราะจะปลอดภัยต่อตัวเราอีกด้วยค่ะ

เห็นไหมคะว่า ของ 7 อย่างที่ว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตเรายุ่งยากอะไรขึ้นเลย แถมยังดีต่อสุขภาพและบางชิ้นก็ประหยัดเงินในกระเป๋าของเราด้วย มาเริ่มต้นช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้กันดีกว่าค่ะ เพราะถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าเราช่วยกัน ก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนได้


เพิ่มเติม: https://superbee.me/

บทความที่เกี่ยวข้อง