Read for the Blind ชวนเป็นจิตอาสาอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด

Care / Social Care

นอกจากการอ่านจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างสมาธิและความบันเทิงให้กับเราแล้ว หนังสือก็ยังเป็นแหล่งรวมความรู้ต่างๆ มากมาย โดยความรู้ท้ังในตำราเรียนและความรู้รอบตัวที่อยู่นอกตำรานี้เอง จะช่วยให้เราสามารถสร้างอาชีพหาเลี้ยงตนเอง เติบโตทางหน้าที่การงาน และอาศัยอยู่รอดในสังคมที่ซับซ้อนวุ่นวายได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกเราส่วนมาก การหาความรู้จากหนังสือไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา แม้จะอยากอ่านหนังสือสักเล่มเพื่อยกระดับความรู้ของตัวเอง กลับเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

hhc Thailand จึงอยากชวนเพื่อนๆ ทุกคนที่มีจิตอาสา ชอบอ่านหนังสือ และอยากเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ผู้พิการทางสายตาได้ “อ่านหนังสือ” บ้าง มารู้จักแอปพลิเคชัน Read for the Blind ที่ช่วยให้พวกเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอ่านหนังสือ บทความนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่บทความที่น่าสนใจในเว็บไซต์ เพื่อบันทึกเป็น “หนังสือเสียง” (audio books) ให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้เป็นแหล่งเก็บเกี่ยวความรู้และความบันเทิงใจ

เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่แอปฯ Read for the Blind ซึ่งถือเป็นแอปฯ แรกของโลกที่ช่วยให้เราสามารถสร้างหนังสือเสียงให้คนตาบอดได้ เป็นแอปฯ ฝีมือคนไทยโดย มูลนิธิคนตาบอดไทย (Thai Blind People’s Foundation) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้คนตาบอดสามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตในสังคมได้

แอปฯ Read for the Blind ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะทำให้พวกเราที่ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใดหรือประเทศใดก็ตาม หากสามารถดาวน์โหลดแอปฯ และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถอ่านหนังสือเพื่อบันทึกเป็นหนังสือเสียงให้คนตาบอดได้ ต่างจากสมัยก่อนที่ผู้บันทึกเสียงจำเป็นต้องเดินทางมายังห้องอัดเสียง ซึ่งการที่แอปฯ เข้ามาช่วยตัดข้อจำกัดเรื่องการเดินทางออกไปนี้เอง ก็จะช่วยให้เรามีหนังสือเสียงเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนมาก  

เมื่อเครื่องมือพร้อมเพรียงและสะดวกสบายขนาดนี้ ทีนี้ ก็เหลือแต่เพียงอาสาสมัครที่จะมาอ่านหนังสือให้คนตาบอด ถ้าใครสนใจ เรารวบรวมขั้นตอนการอ่านหนังสือเสียงกับ Read for the Blind มาให้ด้านล่างนี้แล้วค่ะ 

  • อันดับแรก ดาวน์โหลดแอปฯ Read for the Blind กันก่อนค่ะ โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากทั้ง App Store และ Google Play โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ 
  • เลือกหนังสือที่คุณคิดว่าอยากแบ่งปันให้เพื่อนคนตาบอดได้อ่านกัน
  • ส่งรายชื่อหนังสือ (ชื่อเรื่องและผู้แต่ง) ไปที่อินบอกซ์ของเพจ Read for the Blind อ่านหนังสือให้คนตาบอด เพื่อให้ทีมงานตรวจเช็กก่อนว่าหนังสือเล่มนั้นๆ มีคนอ่านไปหรือยัง คุณจะได้ไม่ต้องเปลืองแรงอ่านซ้ำค่ะ 
  • ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ตอบกลับก็เข้าไปลงทะเบียนในแอปฯ กันก่อนเลยค่ะ โดยเมื่อเข้าไปในแอปฯ แล้ว ให้คุณเลือก “ฉันเป็นอาสาสมัคร” จากนั้นก็กรอกข้อมูลลงไปค่ะ 
  • เมื่อเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาแล้ว (เจ้าหน้าที่จะตอบกลับ วันจันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00 น.) ว่าหนังสือที่คุณเลือกยังไม่มีคนอ่าน และทำการลงทะเบียนจองอ่านแล้ว ให้คุณเข้าไปในแอปฯ อีกครั้ง แล้วเริ่มสร้างหัวข้อของหนังสือที่แยกตามบทต่างๆ ก่อน เช่น ปกหน้า ปกใน คำนำ สารบัญ ฯลฯ 
  • จากนั้น ลองอ่านมาสัก 3-4 หน้า แล้วส่งลิงค์ให้เจ้าหน้าที่ฟังก่อน เผื่อว่าเจ้าหน้าที่จะมีคำแนะนำในการอ่านกลับมาให้คุณค่ะ
  • เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว ก็เริ่มค่อยๆ อ่านหนังสือเพื่อบันทึกจนจบเล่มได้เลยค่ะ 

เพจ Daisy Thailand Project – ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสัมพันธ์แห่งชาติ ระบุไว้ว่า ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทางห้องสมุดมีหนังสือเสียงที่อาสาสมัครร่วมกันอ่านเพิ่มขึ้นทั้งหมดเป็นจำนาน 80 เล่ม คิดเป็นความยาว 567 ชั่วโมง 54 นาที 

จำนวนดังกล่าวฟังแล้วก็น่าชื่นใจ แต่คงจะดีกว่านี้ถ้าทางห้องสมุดฯ จะมีอาสาสมัครหน้าใหม่ๆ มาร่วมอ่านหนังสือเสียงเพิ่มขึ้นอีก เพื่อที่ผู้พิการทางสายตาจะได้มีหนังสือเสียงให้เลือกหลากหลายขึ้น 

สำหรับมือใหม่หัดอ่าน เรามีคำแนะนำในการอ่านหนังสือเสียงมาฝากกันด้วยค่ะ 

  • อ่านออกเสียงให้ดังฟังชัด ไม่เบาจนฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่ตะโกนนะคะ
  • หาสถานที่อัดเสียงที่เงียบ ไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก
  • ระวังเสียงรบกวนที่เกิดจากการพลิกหน้ากระดาษด้วยนะคะ 
  • ถ้าอ่านผิด ไม่ต้องตกใจ หยุดแล้วแก้ไขได้ค่ะ
  • สำหรับอาสาสมัครที่ไม่รู้ว่าจะเลือกหนังสือเล่มไหนดี ลองเข้าไปดูในเพจสองเพจข้างต้นดูค่ะ เพราะแอดมินจะคอยอัพเดตให้เราเห็นรายชื่อหนังสือที่สมาชิกคนตาบอดต้องการฟัง แต่ห้องสมุดยังไม่มีทั้งตัวเล่มหนังสือและหนังสือเสียง
  • หนังสือหนึ่งเล่ม ควรใช้อาสาสมัครคนเดียวกันอ่านจนจบเล่ม ไม่ควรใช้หลายคนอ่าน เพราะแต่ละคนมีน้ำเสียง ระดับความเบา-ดังของเสียง และเครื่องมือที่ใช้บันทึกเสียงก็ต่างกันด้วย ทำให้อาจเกิดความไม่ลื่นไหลในการรับฟังค่ะ
  • อย่างไรก็ตาม หากเป็นหนังสือบางเล่มก็อาจอนุโลมให้อ่านร่วมกันหลายคนได้ แต่ไม่ควรเกิน 2-3 คน ค่ะ โดยแนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ทางเพจก่อน 

hhc Thailand อยากชวนเพื่อนๆ ให้มาช่วยอ่านหนังสือเสียงกันเยอะๆ เพราะนอกจากจะได้เผื่อแผ่ให้เพื่อนผู้พิการทางสายตาได้รับรู้เนื้อหาของหนังสือที่มีคุณค่าแล้ว เราที่เป็นผู้อ่านเองก็ยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับการอ่านและการฝึกอ่านออกเสียงไปในตัวด้วย 

ใครสนใจลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในเพจ Read for the Blind กันค่ะ ส่วนถ้าใครคันไม้คันมืออยากอ่านแล้ว แต่ยังไม่รู้จะเลือกหนังสือเล่มไหนดี เราขอแนะนำหนังสือที่เราเคยนำมาฝากกัน คือ ‘BREATH ลมหายใจมหัศจรรย์’ หรือถ้าคุณคิดว่าบทความชิ้นไหนของ hhc Thailand มีประโยชน์น่านำไปอ่าน จะลองเลือกสักบทความแล้วส่งให้ทาง Read for the Blind พิจารณา เราก็ยินดีมากๆ ค่ะ

ข้อมูลจาก:
facebook.com/readfortheblind
facebook.com/daisyth.team

บทความที่เกี่ยวข้อง