อัพเลเวลแยกขยะอีกขั้น หันมาช่วยกันแยก ‘ขยะกำพร้า’ 

Care / Social Care

เมื่อช่วงเร็วนี้ๆ มีโพสต์ใน Facebook เกี่ยวกับการแยกขยะอันหนึ่งที่เป็นไวรัลไปทั่ว โดยโพสต์ที่ว่าถือเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการแยกขยะที่ต้นทาง เพราะจะช่วยให้พนักงานเก็บขยะทำงานได้ง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องมาคอยคัดแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปเมื่อเก็บขยะขึ้นรถ ซึ่งการคัดแยกขยะที่กลางทางของพนักงานก็ไม่สามารถทำได้ประสิทธิภาพเต็มร้อยด้วย เพราะในถุงขยะหรือในถังขยะใบใหญ่นั้นมักเต็มไปด้วยขยะมากมาย ทำให้คัดแยกได้เฉพาะที่ตาเห็น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือมีขยะรีไซเคิลอีกมากมายหลุดรอดปะปนไปกับขยะที่จะถูกนำไปฝังกลบ

สำหรับชาว hhc Thailand ที่รักสุขภาพ รักสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่าหลายคนแยกขยะที่ต้นทางกันเป็นนิสัยอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากการแยกขยะออกเป็นขยะเปียก ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังมีขยะอีกชนิดนึงที่เราอยากเชิญชวนคุณมาทำความรู้จักเพื่อแยกมันออกมาจาก ‘ขยะทั่วไป’ จากนั้นจึงส่งไปเผาทำลายเป็นเชื้อเพลิงด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนที่จะปล่อยให้มันหลุดออกไปปะปนในธรรมชาติ โดยขยะที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘ขยะกำพร้า’ (Orphan waste)

วิธีอธิบายที่ง่ายที่สุดว่าขยะกำพร้าคืออะไร เราคงต้องขอทบทวนถึงขยะที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้วสองประเภทก่อน คือ หนึ่ง-ขยะเปียก ที่หมายถึงเศษอาหาร ผักผลไม้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และสอง-ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว อะลูมิเนียม ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ คือขยะที่ซาเล้งรับซื้อเพื่อไปขายโรงงานรีไซเคิล เมื่อคุณรู้จักแล้วว่าขยะอะไรบ้างที่เป็นขยะเปียกและขยะรีไซเคิล ที่นี้ก็มักจะเหลือขยะอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง คือ ย่อยสลายตามธรรมชาติก็ไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่ได้ หรือ… รีไซเคิลได้ แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย (จึงไม่มีใครอยากนำไปรีไซเคิล) นี่แหละค่ะคือขยะกำพร้า 

สำหรับการแยกขยะกำพร้าออกจากขยะเปียกนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่หลายคนมักเข้าใจว่าขยะกำพร้าหลายชิ้นคือขยะรีไซเคิล เราจึงต้องขอย้ำกับคุณสักเล็กน้อยว่า ‘ไม่ใช่กระดาษ พลาสติก ทุกชิ้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้” เพราะพลาสติกที่เป็นพลาสติกอ่อน เช่น ถุงแกง ถุงขนมกรุบกรอบ กล่องอาหารพลาสติกแบบอ่อน และพวกแผ่นพลาสติกที่ใช้เป็นแพ็กเกจจิ้งสินค้าต่างๆ ไม่สามารถรีไซเคิลได้นะคะ หรือ… ถึงได้ก็ไม่คุ้มค่า ทำให้ไม่มีใครอยากนำไปรีไซเคิล เช่นเดียวกันกับกระดาษที่มีเทปกาวติด เช่น กล่องพัสดุ ก็ต้องลอกเทปกาวออกก่อน และกระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เลย แต่จัดเป็นขยะกำพร้า คือ กระดาษที่ติดกาว เช่น กระดาษกาวลูกกลิ้ง เป็นต้น 

มีขยะอยู่หลายประเภทมากกว่าที่คุณคิดที่จัดเป็นขยะกำพร้าค่ะ ซึ่งถ้าคุณอ่านคำอธิบายด้านบนแล้ว ยังนึกไม่ค่อยออก เราขอยกตัวอย่างมาให้เห็นด้านล่าง โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้คร่าวๆ ดังนี้ค่ะ 

ภาชนะอาหาร-เครื่องดื่ม

  • กล่องพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบอ่อน)
  • หลอดพลาสติก
  • ถุงแกง ซองขนมกรุบกรอบ ซองบะหมี่สำเร็จรูป ซองเครื่องปรุง (ถ้าเป็นน้ำส้ม พริกน้ำปลา ต้องเทออกก่อน)
  • ซองกันชื้น
  • แคปซูลกาแฟ
  • กระดาษฟอยล์ เช่น ถาดฟอยล์ใส่เค้ก ฟอยล์ห่อขนม
  • กล่องโฟม
  • โฟมห่อผลไม้

บรรจุภัณฑ์ (packaging)

  • พลาสติกห่อสินค้า
  • ริบบิ้น ป้ายราคา เชือก ฯลฯ 
  • ถุงหูหิ้วพลาสติกชนิดต่างๆ ซองบรรจุสินค้า เช่น ผ้าสปันบอนด์ (ที่ใช้ไปนานๆ จะแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกได้)
  • แผงยา
  • ซองอาหารหมา แมว
  • พลาสติกกันกระแทก
  • กระดาษกาวชนิดต่างๆ 

เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

  • เสื้อผ้าเก่าที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว
  • ชุดชั้นใน (ไม่มีโครงเหล็ก)
  • ผ้าขี้ริ้ว 
  • ฟองน้ำล้างจาน
  • แปรงสีฟัน
  • แปรงขัดห้องน้ำ (แบบไม่มีลวด)

ของใช้เกี่ยวกับสุขอนามัย

  • หน้ากากอนามัย (ของผู้ที่ไม่ป่วย ม้วนแล้วมัดใส่ถุงให้เรียยร้อย)
  • ชุดตรวจ ATK (ของผู้ที่ไม่ป่วย)
  • ชุดตรวจครรภ์
  • ถุงมือยาง (ตากแดดจัดก่อน)
  • เจลลดไข้
  • พลาสเตอร์ยา (ที่ไม่ปนเปื้อน)

จริงๆ แล้ว ขยะกำพร้ายังมีอีกมาก ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว คือ กระดาษและพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ หรือรีไซเคิลได้แต่ก็ไม่คุ้มค่า

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจมีคำถามว่า ถ้าเราไม่แยกขยะกำพร้าออกจากขยะทั่วไป แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

ถ้าไม่มีการแยกขยะกำพร้าออกจากขยะทั่วไปหรือขยะเปียก ขยะกำพร้าก็มักจะถูกนำไปยังหลุมฝังกลบ (landfill) ร่วมกับขยะเปียก ซึ่งเมื่อขยะกำพร้าคือขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นร้อยๆ ปี อย่างพวกขยะพลาสติก เป็นต้น ก็จะเท่ากับว่าเราไปเพิ่มขยะให้กับโลก ที่สำคัญ เมื่อขยะกำพร้าที่เป็นพลาสติกถูกนำไปยังหลุมฝังกลบหรือออกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งความร้อนและน้ำ มันก็มีแนวโน้มจะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงไปในดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งสุดท้ายแล้วไมโครพลาสติกเหล่านั้นก็อาจกลับมาสู่ร่างกายของเราผ่านทางใดทางหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังมีการสันนิษฐานอีกว่า ในบ่อขยะรวมที่เต็มไปด้วยเศษขยะอาหารนั้น บางครั้งอาจเกิดการหมักหมมจนเกิดความร้อน และเมื่อมีขยะกำพร้าที่ถูกเผาไหม้ได้ง่ายปะปนลงไป ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้บ่อขยะได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเผาไหม้ที่ไม่มีการควบคุมมลพิษ ทำให้สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนใกล้เคียงอย่างที่เราเคยเห็นข่าวกันบ่อยๆ

ปัจจุบัน ในบ้านเรามีองค์กรที่รับบริจาคขยะกำพร้าเพื่อไปเผาทำลายอย่างถูกวิธี โดยหนึ่งองค์กรที่หลายคนรู้จักกันดีและเราชาว hhc Thailand ก็นำขยะกำพร้าไปบริจาคให้พวกเขาเป็นประจำตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ  N15 Technology 

สำหรับใครที่อยากส่งขยะกำพร้าไปให้ N15 Technology เผาทำลายอย่างถูกวิธีในโรงงานที่มีการควบคุมมลพิษ ควบคุม PM2.5 มีการบำบัดก๊าซพิษ และยังได้พลังงานทดแทนการใช้ถ่านหิน เราแนะนำให้ติดตามเพจ N15 Technology เพราะเขาจะคอยเวียนมาเปิดจุดรับบริจาคขยะกำพร้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทุกวันนี้ก็มีหลายจุดมากและเริ่มขยายไปถึงบางจังหวัดอีกด้วย

ส่วนใครที่ไม่สะดวกไปตามจุดรับบริจาค สามารถเดินทางไปที่โรงงานของ N15 ด้วยตัวเอง หรือแพ็กแล้วส่งไปตามที่อยู่นี้ N15 Technology 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 (คุณสมบูรณ์ 086-334-2612)

ก่อนแยกขยะกำพร้าเพื่อส่งไป N15 เราแนะนำให้คุณอ่านเกี่ยวกับขยะที่ N15 ไม่รับบริจาค รวมทั้งวิธีการแพ็กและส่งอีกนิดนึงที่ “แนะนำ 3 ช่องทางดีๆ เพื่อส่งต่อ ของบริจาคและขยะกำพร้า” เพื่อจะได้ช่วย N15 ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วยค่ะ

สุดท้าย ในฐานะที่เราแยกขยะกำพร้าส่งให้ N15 มาตลอด (ตั้งแต่เขายังไม่เปิดจุดรับบริจาคตามที่ต่างๆ เลยด้วยซ้ำ) บอกได้เลยว่า การแยกขยะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือวุ่นวายอะไรเลยค่ะ ลองทำเป็นประจำแล้วคุณจะรู้สึกดีมากๆ ที่แยกขยะประเภทต่างๆ ออกอย่างเป็นระเบียบระบบ เพื่อช่วยลดภาระพนักงานเก็บขยะ และช่วยลดขยะให้แก่โลกที่เราอาศัยอยู่ เคล็ดลับนิดนึงคือ พวกถุงอาหารต่างๆ คุณไม่จำเป็นต้องล้างจนหมดจดก็ได้ ถ้าเป็นอาหารเปียกแค่ล้างน้ำสะอาด ตากไว้ให้แห้ง หรือสำหรับอาหารแห้งก็แค่เทอาหารออกให้หมด แต่ถ้าเวลาเก็บสะสมไว้ กลัวมดขึ้น ก็ให้ใส่ถุงซิปล็อก แล้วค่อยนำไปส่งให้ N15 เวลาเขามาเปิดจุดรับบริจาคใกล้บ้าน



อ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม: facebook.com/n15technology

บทความที่เกี่ยวข้อง