เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่บริการจัดเลี้ยงนามว่า ‘เคี้ยวเขียว’ ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจที่อยากเสิร์ฟอาหารดีๆ จากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรในเครือข่ายเพื่อให้อาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย และรสชาติดี สามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภค โดยการกินดีในแบบเคี้ยวเขียวยังคำนึงไปถึงการดูแลคน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีควบคู่กันไปด้วย เรามีนัดกับ ธี – ธีรพจน์ เมฆเอี่ยมนภา ณ สวนผักคนเมือง ภายในมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อพูดคุยถึงการขับเคลื่อนบริการจัดเลี้ยงแห่งนี้ด้วยหัวใจที่รักในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาวะทางกายและใจที่ดีของผู้คนและสังคม
แคเตอริงสายกรีนที่ชวนคนมากินผัก
ธีเล่าให้เราฟังว่า แม้เขาและ มิ้ม – อธิพาพร เหลืองอ่อน จะเป็นผู้ดูแลและขับเคลื่อนเคี้ยวเขียวในปัจจุบัน แต่จุดเริ่มต้นของบริการจัดเลี้ยงแห่งนี้เกิดจากความตั้งใจของป้าหน่อย – พอทิพย์ เพชรโปรี ที่อยากผลักดันธุรกิจสินค้าอินทรีย์ ท่านจึงชักชวนสมาชิกกลุ่มให้ริเริ่ม ‘เคี้ยวเขียว’ เป็นธุรกิจรับจัดเลี้ยงขึ้น โดยมีเป้าหมายคือการชวนคนมากินผักและเลือกใช้วัตถุดิบออร์แกนิกจากเครือข่ายเกษตรกร ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากก่อตั้งได้ราว 5 ปี มิ้มมีโอกาสรับเคี้ยวเขียวมาบริหารอย่างเต็มตัวและดึงธีมาช่วยกันเพื่อต่อยอดปณิธานของเคี้ยวเขียวมาจนวันนี้
“ตอนนั้นเป็นช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ผมได้ไปทำงานจิตอาสา ออกไปช่วยหมาแมว จนผมเจอโพสต์หนึ่งที่กำลังหาอาสาสมัครมาช่วยขึ้นแปลงผักให้กับชุมชนผู้สูงอายุที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งจัดขึ้นโดยสวนเงินมีมา การไปเป็นอาสาครั้งนั้นทำให้ผมได้เจอกับมิ้มและทำให้คนเมืองอย่างผมรู้จักกับคำว่าเกษตรอินทรีย์เป็นครั้งแรก จนเกิดเป็นความสนใจและได้ศึกษาต่อเนื่อง กระทั่งได้รู้จักและร่วมงานกับป้าหน่อยจากการเชื่อมโยงของมิ้ม ท่านทำ Health Me Delivery ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในย่านราษฎร์บูรณะ หลังจากไปช่วยงาน ผมมีโอกาสได้เข้ามาเป็นผู้จัดการให้กับ Health Me Delivery ในเวลาต่อมา โดยใต้ร่ม Health Delivery ป้าหน่อยได้สร้างหลายๆ โครงการขึ้น รวมไปถึงเคี้ยวเขียวด้วย
“จุดเริ่มต้นของเคี้ยวเขียวเกิดจากป้าหน่อยอยากสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เพราะท่านต้องการให้ผลผลิตของเครือข่ายเกษตรกรถูกปล่อยออกไป ผมและมิ้มเข้ามาสานต่อหลังจากที่ป้าหน่อยตัดสินใจเกษียณอายุ การเติบโตของเคี้ยวเขียว ส่วนสำคัญมาจากตัวบรรจุภัณฑ์อย่างจานกาบหมาก เวลาเราทำงานจัดเลี้ยงจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าว้าวมากๆ และเพราะมีความต้องการจากผู้บริโภค ชุมชนผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ก็เริ่มที่จะสนุกกับการนำวัสดุที่เคยดูไม่เป็นประโยชน์มาลองทำเป็นบรรจุภัณฑ์ขึ้นมา เรียกว่าเคี้ยวเขียวได้รับอานิสงค์จากการมีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก่อน จากนั้นเราจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”
วิกฤตที่สร้างโอกาส
“ตอนที่พวกเรารับมาดูเอง นอกจากเคี้ยวเขียวเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัวบรรจุภัณฑ์แล้ว กระแสเกษตรอินทรีย์ เรื่องรักษ์โลก รวมทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุนยังเป็นแรงลมที่ช่วยให้เราได้รับความสนใจจากลูกค้า แต่เรามาเจอกับวิกฤตโควิด ผมยังจำได้ดีเลยว่ารับงานใหญ่ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปลายมกราคม 2563 งานเราถูกระงับเพื่อความปลอดภัยของทุกคน หลังจากนั้นเราถูกยกเลิกทุกงานที่ดีลมา แต่โชคดีตรงที่ว่า fixed cost ของเราน้อย และยังไม่ได้จดบริษัท พอค่าใช้จ่ายเราไม่เยอะ จึงทำให้เราไม่ล้มครืน
“ม้วนแรกเรากลับบ้านไปพักผ่อน แล้วบอกกับตัวเองว่า ชีวิตคงถึงจุดที่ต้องพักชั่วคราว มิ้มเป็นคนพนัสนิคม มีที่อยู่ครึ่งไร่ เราเลยไปลองปลูกอะไรกันที่นั่น แต่ไม่ได้ผลผลิตอะไรเลย ท้อมาก พอโควิดดีขึ้น คลายล็อกดาวน์ เราได้งานกลับมาช่วงหนึ่ง แต่ล็อกดาวน์อีกหลายรอบ ตอนแรกเราไม่เลือกทำออนไลน์เพราะรู้อยู่แล้วว่าค่า GP (Gross Profit) ซึ่งเป็นส่วนแบ่งที่ร้านค้าต้องจ่ายให้แก่แอปพลิเคชันต่างๆ สูงมาก เหมือนเป็นคนละสนามกับที่เคี้ยวเขียวเคยทำมา แต่ท้ายที่สุด เราเลือกที่จะทำ โดยกลับมาที่คาถาเดิมที่พวกเรายึดถือเวลาทำงานคือ ‘เรามีอะไรและทำอะไรได้’ ผมรู้สึกว่าถ้ามิ้มกลับไปทำสวนอีกน่าจะเครียดเพราะเราทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ มิ้มชอบทำอาหารหนิ เลยเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี เรามีผักสลัด มิ้มทำน้ำสลัดเป็นและเป็นสูตรของตัวเอง ขนมปังต่างๆ เราหาซื้อจากแหล่งที่ทำสดแบบวันต่อวันซึ่งไม่ใช้วัตถุกันเสียได้ แล้วเราก็ใช้การทำงานแบบที่จะเหลือขยะอาหารน้อยที่สุด เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกค้าสั่งเราค่อยทำ ถ้าไม่สั่ง วัตถุดิบทั้งหมดในตู้เย็น ผมจะกินเอง เราเลยตั้งเป็น ‘Triple S Kitchen’ ขึ้นมาเป็นร้านค้าออนไลน์ ปรากฏว่ามันเวิร์ก มีคนสั่งเรื่อยๆ จากเตาะแตะๆ วันละ 250 บาท ขึ้นมาเป็นวันละพันสองพันบาท จนเราเริ่มมีงานจัดเลี้ยงกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้มีเสียงมาแบบหวานๆ ที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกจากลูกค้ากลับมาหาเราว่า ‘พี่อย่าปิดนะ หนูฝากท้องไว้กับพี่แล้ว’
“จากวันนั้น เราเลยตัดสินใจก้าวไปอีกสเต็ป เริ่มรับคนประจำขึ้นมาให้มาอยู่ร้านแทนเราในวันที่เราจะต้องออกไปจัดเลี้ยง ตอนนี้ Tripple S ยังคงเปิดได้อยู่ และมีทีมเพิ่มขึ้นด้วย งานของเราค่อยๆ เติบโตขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งทำให้ผมและมิ้มตัดสินใจจะจดทะเบียนบริษัทเพื่อขยายกิจการออกไปในปีนี้ ขณะที่เรายังสนุกมากๆ กับการได้แบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้กับผู้คนผ่านทุกการทำงานของเรา แล้วพอมีน้องๆ มาร่วมงาน ถือเป็นการเติมไฟให้เราเหมือนกัน สิ่งต่างๆ ที่เขารู้ แนวเพลงที่เขามาให้เราฟัง ได้แลกเปลี่ยนกัน ผมมองว่านี่เป็นพลังงานการเคลื่อนไหวที่ทำให้รู้สึกมีไฟมากขึ้น จากเดิมที่คุมกันแค่ 2 คน ก็ทำให้เรามีความแปลกใหม่ และความปวดหัวแกมสนุกมากขึ้นด้วย (ยิ้ม)”
ล้มเท่ากับรุก
“ถ้าพูดถึงปัญหา มันเป็นสัจธรรมเหมือนกับชีวิตและการทำงานของทุกคน สำหรับเคี้ยวเขียวเราแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือปัญหาที่เกิดจากเรากับปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ถึงวันนี้ เรายังคงเจอปัญหาอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ประสบการณ์ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ได้รับฟีดแบ็กไม่ดีจากลูกค้าน้อยลงไปมาก ด้วยความที่เราทำงานพยายามเต็มที่ ส่วนหนึ่งลูกค้าคงจะมองเห็นถึงความตั้งใจด้วย
“เราเคยเจอความท้าทายใหญ่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งเลยว่าถ้าเราวางแผนอะไรไว้ชัดเจนแล้ว หากสนุกกับมันมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ เราเคยรับงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคนเข้าร่วมประมาณร้อยกว่าคน ด้วยเรื่องงบประมาณที่จำกัด เราและผู้จัดงานสรุปว่าขอเป็นอาหารจานเดียวที่มี 2 เมนูเพื่อให้คนเข้าร่วมได้กินทั้ง 2 อย่าง ตอนคิดมันสนุกนะครับ แต่พอทำจริง ปรากฏว่าเราทำงานไม่ทันเนื่องจากเราเตรียมทีมงานไปน้อยเกินไป และวัตถุดิบบางอย่างไม่เพียงพอเพราะการเฉลี่ยของส่วนผสมในแต่ละพอร์ชั่นที่ต้องเท่าๆ กัน แต่ทีมของเราทำได้ไม่เท่ากัน ในจานหลังๆ วัตถุดิบบางอย่างเลยหมด โชคดีที่เราได้อาจารย์มาช่วยในการหาวัตถุดิบที่ไม่พอ เช่น ข้าวจากโรงอาหารในมหาวิทยาลัย คนนอกครัวเขาไม่รู้ เขายังกินของเขากันไปอย่างเอร็ดอร่อย แต่ข้างในครัวคือหัวใจแตกสลายมาก เพราะก่อนหน้า เราไม่ค่อยพลาด ก่อนการทำงานทุกครั้ง เราคิดเยอะมาก เราจินตนาการกันช็อตต่อช็อตเลยว่า ในวันงานนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็น customer journey ว่าลูกค้าเดินมาอย่างไร เขาจะเจออะไรบ้าง เพื่อให้เรารู้ว่าเราจะต้องจัดเตรียมอะไรบ้าง คิดขนาดที่ว่าถ้าเราเจอเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด แผนสำรองคืออะไร เพื่อที่จะได้ตระเตรียมใจส่วนหนึ่งและช่วยลดปัญหาหน้างานถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ งานครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหาหนัก แต่เราเองได้เรียนรู้เยอะอยู่เหมือนกัน
“อีกครั้งหนึ่งโจทย์คือการจัดเลี้ยงให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอาหารที่เราจัดเตรียมไปเป็นข้าวเหนียวสังขยาชิ้นเล็กๆ ที่เราให้คุณป้าขายขนมซึ่งเป็นเครือข่ายที่เรารู้ล่ะว่าการทำอาหารของท่านพิถีพิถัน สะอาด และอร่อย แต่ก่อนจะเสิร์ฟ ทางองค์กรเข้ามาที่ห้องเตรียมอาหารและขอระงับไม่ให้ออกไปเสิร์ฟด้วยเหตุผลว่ากระทงใบเตยเล็กๆ ใช้แม็ค ซึ่งลวดเย็บกระดาษถ้าใช้กับกระดาษจะทำให้เอกสารถูกจัดเก็บและอยู่ได้นาน แต่ถ้าใช้กับอะไรที่ครั้งเดียวทิ้ง เราไม่สามารถจัดการกับลวด 300-400 เหล่านั้นที่จะกลายเป็นขยะทันทีได้ หลังจากนั้น หากมีการนำขนมหวานจานนี้มาเสิร์ฟอีก เราจะใช้ไม้กลัดตลอด เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้และได้ความรู้ เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ดังนั้น เราจึงเปิดรับความรู้และมุมมองต่างๆ จากภายนอกเสมอ ซึ่งเมื่อรู้แล้ว เราไม่เพียงจะนำมาปรับปรุงระบบการทำงานให้ดีขึ้นและเป็นสิ่งเตือนใจเราเท่านั้น แต่เรายังนำไปบอกต่อกับคนอื่นๆ ผ่านงานที่เราทำต่อไปด้วย”
สร้างความตระหนักเคียงคู่ความอร่อย
“หนึ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราสนใจคือเรื่องขยะ ซึ่งขยะยังถูกแยกออกไปเป็นมิติต่างๆ มากมาย ทั้งขยะไขมัน เศษอาหาร บรรจุภัณฑ์ พลาสติกเหลือใช้ที่จะต้องจัดการ สำหรับเคี้ยวเขียว เราเป็นธุรกิจที่ปะทะกับผู้บริโภค ฉะนั้น เราจึงพยายามสื่อสารออกไปในเรื่องของการแยกขยะมาเสมอ เพราะเราเชื่อว่าจุดเริ่มต้นที่ดีของการช่วยลดขยะได้คือตัวเราเอง ถ้าแต่ละคนต่างจัดการในเรื่องขยะของตัวเองได้ ผมว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีตามมา โดยเคี้ยวเขียวนำเสนอเรื่อง Waste Station ที่จะชวนให้ผู้เข้าร่วมมาช่วยกันคัดแยกขยะเวลาเราไปออกงานจัดเลี้ยง แต่เราไม่ได้ไปติดตั้งแบบสุ่มสี่สุ่มห้า งานนั้นๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากลูกค้าและมีภาพรวมสอดคล้องในแบบที่เราสามารถนำประเด็นของขยะไปสื่อสารในงานได้แบบไม่ประดักประเดิด
“หรือทุกวันนี้ ท้ายบิลของเคี้ยวเขียวจะมีข้อมูลว่า ขอบคุณที่คุณร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมในงานนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ด้วยการร่วมสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ด้วยการช่วยลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เรามีสูตรของเรา เป็นสูตรหลวมๆ ว่าในชุดอาหารที่คุณกินกันอยู่ สามารถช่วยลดพลาสติกได้เท่าไหร่ เราจะรายงานในบิลของเขา หรือบางงานที่เราสามารถขนส่งด้วยรถไฟฟ้าได้ เราจะแจ้งเขาไปว่า คุณสามารถช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้ นี่เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำและสื่อสารออกไป
“เพราะฉะนั้น สำหรับผมและเคี้ยวเขียว การช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมสามารถเริ่มจากตัวเรานี่แหละ แล้วถ้าเราทำจนความคิดค่อยๆ เปลี่ยนไปมากขึ้นจนอยากทำอะไรเพิ่ม เราค่อยเพิ่มไป ผมมองว่าเราไม่จำเป็นจะต้องทำแบบสุดโต่งมากๆ จนไปกดดันตัวเองและคนรอบข้าง เช่น ห้ามใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเด็ดขาด แต่อาจจะเป็นว่า ใช้ได้นะ แต่ถ้าเราใช้แล้ว เราจะนำไปไหนต่อได้ นำมาใช้ซ้ำไหม การทำงานกับเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับพวกเรา ไม่ใช่การดึงคนกลับไปเป็นคนป่าเหมือนเดิม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่คือการที่เราจะชวนคุณว่าเราอย่าเพิ่งวิ่งดูไหม การวิ่งก็คือการพัฒนาที่เร็วมากๆ ซึ่งทิ้งผลกระทบที่ทำร้ายคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย วันนี้เรายังคงไปข้างหน้านะ แต่เรามาค่อยๆ เดินไปด้วยกันไหม นี่คือสิ่งที่เคี้ยวเขียวกำลังทำอยู่”
หลากความสุขและพลังแห่งคุณค่า
“จนถึงตอนนี้ เรายังพยายามอยู่บนแนวทางซึ่งเป็นมอตโต้แรกที่ป้าหน่อยให้มาคือ ‘เคี้ยวเขียว อร่อย งดงาม บนความเรียบง่าย’ ซึ่งเคี้ยวเขียวไม่ได้ทำมาเพื่อที่จะให้เป็นจัดเลี้ยงอย่างเดียว แต่คือโอกาสในการส่งสารเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมจากงานที่เราทำอยู่ให้กับคนทั่วไปด้วย งานหลักของเราจนถึงวันนี้ คืองานจัดเลี้ยงที่จะใช้ผลผลิตออร์แกนิกเป็นวัตถุดิบให้ได้มากที่สุด เรายืนอยู่บนพื้นฐานของงบประมาณ รูปแบบงาน และความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันเรายังพยายามทำให้งานแต่ละงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เราอยากเห็นทุกคนมีความสุข สนุกกับการจัดงาน และยังส่งผลดีกับคน ตลอดจนนิเวศที่โอบล้อมเราอยู่
“เรื่องหนึ่งที่ผมอยากทำ คือการทำพื้นที่ที่ทุกคนสามารถจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกันได้ คล้ายๆ เป็น Eco Learning Space อาจจะทำเป็น QR Code ให้คุณยิงในยูทูป แล้วมาลองเล่น มาเรียนรู้ด้วยตัวเองในสเปซที่เราเตรียมไว้ให้ ในเครื่องมือที่คุณสามารถที่จะหยิบจับได้ หยิบยืมได้ นี่คือหนึ่งในภาพฝันที่ผมคิดและอยากทำ อีกโปรเจ็กต์ ผมขอเรียกว่าโปรเจ็กต์ ‘วัตถุมงคล’ ก่อน คำว่าวัตถุมงคลของผมไม่ได้หมายถึงว่าเราห้อยแล้วจะเป็นมงคลนะ แต่หมายถึงสิ่งที่เราไปเจอ เราเข้าใจ แล้วนำเอามาใช้กับชีวิตได้ นี่คือวัตถุมงคลสำหรับผม ซึ่งในชีวิตที่ดำเนินมา เราได้เครื่องมือจากสิ่งต่างๆ มาเยอะแยะมาก จากการพูดคุยและพบเจอผู้คน จากการดูรายการต่างๆ ผมอยากจะนำสิ่งเหล่านี้มาส่งต่อในแบบฉบับของตัวเอง อะไรประมาณนั้น
“หลังจากที่ผมเจอวิกฤตชีวิตตอนที่คุณแม่เสียและอะไรต่อมิอะไรก่อนที่จะมาทำเคี้ยวเขียว ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติจากที่เคยตั้งคำถามว่า ‘เราทำแล้วได้อะไร?’ มาเป็น ‘เราทำอะไรได้?’ อาจเป็นเพราะช่วงหนึ่งของชีวิต ผมรู้สึกว่าเรามีข้อจำกัดเยอะ ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำนั่นก็ไม่ดี เพราะเราขาดสิ่งนี้สิ่งนั้นจนกลายเป็นว่าเราไม่กล้าทำอะไรเลย แต่พอเปลี่ยน อย่างที่บอก ตอนนี้ทุกอย่างในชีวิตผมจะขับเคลื่อนด้วยคำถามที่ว่า ‘ตอนนี้เรามีอะไร เราทำสิ่งนี้ได้ ถ้าอย่างนั้น ทำเลยแล้วกัน’ พอเราตั้งโจทย์กับชีวิตแบบนี้ เราเลยสนุกกับงานกับการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น
“แล้วพอคิดได้แบบนี้ ความสุขทุกวันนี้ของผมเลยเกิดจากการที่เราได้ทำงานแบบนี้ ได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มีคุณค่า มีผลกระทบที่ดีต่อคนอื่นและสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าตัวเรา หรือการได้เห็นน้องๆ ในทีมได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น ได้เห็นลูกค้ามาชื่นชมกับสิ่งที่เราทำ หรือทำงานของพวกเราแม้จะไม่ได้ผลกำไรมหาศาล แต่เราสามารถเราเลี้ยงตัวเองและคนของเราได้อย่างเพียงพอนะ การได้รู้ว่าการดำรงอยู่ของตัวเรามีคุณค่าถือเป็นสิ่งที่ชุบชูใจผม ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีเครื่องมือเก็บเกี่ยวความสุขเล็กๆ น้อยๆ มารวมกันได้ แล้วผมไม่ได้เป็นคนที่มีความฝันใหญ่มาก แค่ทำในแต่ละวันให้ดี เต็มที่กับสิ่งที่ทำ ผมก็แฮปปี้แล้ว ถ้ามีอะไรที่ไม่เป็นไปตามคาดก็แค่พรุ่งนี้เริ่มใหม่เท่านั้นเอง (ยิ้ม)”
–
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: www.facebook.com/KeawKeaw.GreenCatering