5 ขั้นตอนของการดูแลแบบประคับประคอง

Care / Family Care

เราเคยแนะนำให้คุณได้รู้จัก ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ แล้ว ว่าไม่ใช่การดูแลสำหรับผู้ป่วยโรคร้ายแรงระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่ผู้ป่วยในทุกโรคและทุกระยะสามารถเข้ารับการดูแลแบบประคับประคองควบคู่ไปกับการรักษาตัวโรค โดยการดูแลแบบประคับประคองนั้นจะช่วยลดอาการข้างเคียงจากการรักษาที่ไม่พึงประสงค์ ช่วยคลายความเครียดและวิตกกังวล หรือกล่าวโดยรวมคือช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ hhc Thailand จะมาแนะนำการดูแลประคับประคองให้คุณรู้จักเพิ่มเติมมากขึ้นอีก ว่าสามารถแบ่งขั้นตอนการดูแลออกเป็น 5 ช่วง ดังต่อไปนี้ 

1. วางแผนการดูแล

เมื่อตกลงเข้ารับการดูแลแบบประคับประคอง บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในทีมผู้ดูแลจะทำการศึกษาตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น ยาที่ใช้ในการรักษา และคาดการณ์อาการของโรคที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต ทั้งหมดเพื่อที่จะได้วางแผนการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ทีมผู้ดูแลจะถามถึงความต้องการต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น วิธีการรักษาแบบไหนที่ผู้ป่วยต้องการ ผู้ป่วยต้องการรักษาตัวที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล ฯลฯ เพราะอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการดูแลแบบประคับประคองคือการทำตามความต้องการของผู้ป่วย นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจแจ้งความประสงค์แก่ทีมผู้ดูแลไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หากผู้ป่วยไม่ได้สติ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกการรักษาให้ผู้ป่วย หากชีพจรหยุดเต้น ผู้ป่วยต้องการให้กู้ชีพด้วยการปั๊มหัวใจหรือไม่ หรือมีการรักษาแบบไหนบ้างที่ผู้ป่วยไม่ต้องการเข้ารับการรักษา

2. เตรียมรับมือทางด้านจิตใจ

นอกจากแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว หากผู้ป่วยต้องการการดูแลทางด้านจิตใจที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนา ทีมงานจะจัดพระหรือนักบวชตามศาสนาที่ผู้ป่วยนับถือเข้ามาร่วมทีมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่แข็งแรงขึ้น นอกจากนั้นอาจมีนักบำบัดที่พร้อมจะรับฟังปัญหาทางด้านอารมณ์ของผู้ป่วยในพื้นที่ที่ปลอดภัยอีกด้วย

3. การดูแลในระยะแรก 

เมื่อเริ่มต้นการดูแลแบบประคับประคอง ทีมผู้ดูแลจะทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อพยายามให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้มากที่สุด เช่น หากผู้ป่วยเลือกพักรักษาตัวที่บ้าน จะมีการจัดผู้ดูแลมาดูแลผู้ป่วย โดยอาจเป็นผู้ดูแลแบบประจำหรือเช้าเย็นกลับ รวมทั้งทีมผู้ดูแลจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดบ้านเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เช่น ควรจัดบ้านให้โล่ง โดยเฉพาะบริเวณรอบเตียงนอน และมีแสงสว่างเพียงพอ หากที่พักอาศัยของผู้ป่วยควรได้รับการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ทีมผู้ดูแลจะให้คำแนะนำหรือในบางแห่งอาจมีบริการปรับปรุงบ้านให้ด้วย เช่น ราวจับในห้องน้ำ แผ่นกันลื่น ฯลฯ นอกจากนั้นควรมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นต่ออาการของผู้ป่วย เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว และเครื่องให้ออกซิเจน เป็นต้น

4. การดูแลในระยะสุดท้าย

ในระยะนี้ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว หากผู้ป่วยเลือกพักรักษาตัวอยู่บ้านแม้จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ทีมผู้ดูแลจะจัดผู้ดูแลที่มีความเข้าใจในอาการและความต้องการของผู้ป่วยเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น หากผู้ป่วยมีอาการหายใจติดขัด ผู้ดูแลจะใช้เครื่องดูดเสมหะและเพิ่มความชุ่มชื้นภายในห้องเพื่อลดความเหนียวข้นของเสมหะ หากอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยลดลง ผู้ดูแลจะสวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะมือและเท้า เป็นต้น 

ที่สำคัญที่สุด ในช่วงเวลานี้ ทีมผู้ดูแลจะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและครอบครัว โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพมากที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นใจ แม้แต่ในระยะที่ผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองได้แล้ว ครอบครัวก็ควรอยู่ใกล้ พูดคุย และสัมผัสผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังรับรู้ได้ผ่านคำพูดและการสัมผัส

5. ดูแลจิตใจคนข้างหลัง

ขั้นตอนสุดท้ายของการดูแลแบบประคับประคองในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตคือ หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ทีมผู้ดูแลจะดูแลครอบครัวและญาติของผู้ป่วยให้รับมือกับความสูญเสีย รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับเดินหน้าต่อไปในชีวิต

หากต้องการให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้น แม้ในวันที่ยากลำบากระหว่างการเจ็บป่วย เราแนะนำให้คุณสอบถามกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่รักษาตัวอยู่ โดยปกติแล้ว ทุกโรงพยาบาลจะมีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้พร้อมให้บริการและคำปรึกษา

แปลและเรียบเรียงจาก
elder.org

ข้อมูลเพิ่มเติม:
getpalliativecare.org

บทความที่เกี่ยวข้อง