‘ความสุขที่เรากำหนดเอง’ ของ สุรพร เกิดสว่าง 

Human / Self-Inspiration

หากเปรียบชีวิตคนคนหนึ่งเท่ากับหนังสือจำนวน 100 หน้า เวลานี้ หนังสือที่ชื่อ ‘เม่น-สุรพร เกิดสว่าง’ ดำเนินมาถึงหน้าที่ 61 แล้ว เม่นบอกกับเราว่าถ้าชีวิตของเขาเป็นหนังสือสักเล่ม หนังสือเล่มนั้นคงจะขายไม่ออก เพราะเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้เร้าใจหรือโลดโผน แบบที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายจนประสบความสำเร็จในตอนท้ายตามแบบฉบับของพระเอก แต่หลังจากนั่งฟังเขาเล่าเรื่องอะไรต่อมิอะไรตลอดชีวิตที่ผ่านมา เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้กลับทิ้งร่องรอยชีวิตและข้อคิดของการเติบโตไว้อย่างมากมาย เรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากความทะนงตัว ก่อนจะล้มลุกคลุกคลาน เรียนรู้ชีวิตจากความสำเร็จ สมหวัง ผิดพลาด และสูญเสีย กระทั่งปรับตัวจนเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกมากขึ้น และนี่เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เราเชื่อว่านักอ่านทั้งหลายคงวางไม่ลงเช่นเดียวกันกับเรา    

ยิ่งอ่าน ยิ่งโง่

จากแบคกราวน์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทสาขา MBA จาก Mercer University of Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำทางเม่นมาเริ่มต้นงานด้านการเงินการธนาคาร ก่อนจะโยกย้ายตัวเองไปทำงานด้านไฟแนนซ์ให้กับองค์กรชั้นนำหลายต่อหลายแห่งของไทย กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 1998 ที่ชีวิตเหวี่ยงเขาไปสู่วงการไอที พร้อมหอบหิ้วความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมามา นำไปใช้กับบทบาทที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง พอได้ฟังอย่างนี้ เราเลยไม่แปลกใจนักที่เขาคือบุคคลหนึ่งที่มักนำเอาเรื่องของตัวเลข รวมถึงการคำนวณ ทั้งจากการศึกษา การทำงาน และงานอดิเรกอย่างการอ่านหนังสือมาผูกพันและเชื่อมโยงไปกับการดำเนินชีวิตของตัวเองมาโดยตลอด   

เม่นหยิบหนังสือ ‘Thinking, Fast and Slow’ หรือคัมภีร์จิตวิทยาที่เล่าเรื่องราวของความบกพร่องในระบบการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งเขียนโดย Daniel Kahneman มาเล่าให้เราฟังว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่เปลี่ยนโลกและมุมมองการใช้ชีวิตของเขาไปไม่น้อยเลยทีเดียว 

“Daniel Kahneman ถือเป็นผู้ที่มีคุณูปการสำหรับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ที่พยายามร้อยเรียงองค์ความรู้ระหว่างจิตวิทยากับเศรษฐศาสตร์เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์การตัดสินใจทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งในหนังสือเขาพูดถึงเรื่องการมองโลกในเชิงตัวเลขและสถิติ ฉะนั้น ผมจึงได้ซึมซับว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าหากเราสามารถนำข้อมูลทางตัวเลขมาอธิบายเรื่องความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นได้ นั่นจะทำให้เราตั้งสติในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ 

“ผมเป็นคนที่ขี้สงสัย อยากรู้อะไรต่างๆ ไปเสียหมด เพราะฉะนั้นเวลาอ่านหนังสือจึงทำให้ได้คำตอบในสิ่งที่มีคำถามอยู่ในใจ แถมยังได้สาระและเกิดความสุขไปพร้อมกันด้วย เวลาที่ทุกข์พอมาหาหนังสือเลยลืมอะไรไปได้มากโข ส่วนหนังสือที่ผมสนใจมีหลากหลายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์หรือการบริหารจัดการที่ผมคุ้นเคย ไปจนถึงเรื่องคณิตศาสตร์ สถิติ และจิตวิทยา เรียกว่าจับฉ่ายมาก ความสนใจของผมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่รวมๆ แล้วจะคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่ง คือผมชอบเชื่อมโยงเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง เข้าไปศึกษาเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์กันว่าเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจมองว่าแต่ละเรื่องแยกกัน นั่นจึงทำให้ความสนใจของผมสามารถไปต่อได้เรื่อยๆ” 

“ที่ขาดไม่ได้เลยคงเป็น ‘No Contest: The Case Against Competition’ ของ Alfie Kohn หนังสือเล่มนี้ผมอ่านตอนที่เริ่มทำงานแรกๆ ถือเป็นหนังสือดังสมัยนั้นเลย เนื้อหาในเล่มกล่าวไว้ค่อนข้างจะแย้งกับหลายๆ management guru ที่มักโฟกัสกับการให้พนักงานแข่งขันกันเพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่จุดที่ดีที่สุด ขณะที่ Alfie Kohn จะมองแบบตรงข้ามกัน ด้วยตัวเขาทำรีเสิร์ชมามากมายและพบว่า ผลของการแข่งขันระหว่างกัน นอกจากจะทำให้คุณได้ผู้ชนะเพียงคนเดียว ส่วนคนทำงานที่เหลือจะกลายเป็นผู้แพ้แล้ว ยังทำให้บรรยากาศในการทำงานเสียไปด้วย นี่จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจและกลายเป็นแนวทางการทำงานมาจนถึงปัจจุบันที่ผมไม่เคยเชื่อเรื่องฮีโร่ ซูเปอร์สตาร์ หรือการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด แต่ผมเชื่อในการทำงานเป็นทีม รวมทั้งยึดถืออย่างมากว่าทุกหน้าที่มีความสำคัญเท่ากันหมด แม้โดยฟังก์ชั่นอาจจะดูเหมือนไม่สำคัญ แต่หากลองดึงเขาออกไปจากวงจรการทำงาน คุณจะพบว่าทุกอย่างจะสะดุดไปหมด เพราะฉะนั้น ผมจะเน้นมากในเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของทีม จะไม่สร้างบรรยากาศที่ทำให้เกิดการแข่งขัน โกรธกัน หรือกดดันกันในทีม ซึ่งผมเห็นผลดีจากการลงมือทำจริงด้วยแนวทางนี้มาตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา

“ยิ่งผมอ่านมากเท่าไหร่ ผมยิ่งรู้สึกว่าตัวเรารู้น้อยมากเท่านั้น การอ่านเลยทำให้ผมมั่นใจในตัวเองไม่มากจนเกินพอดี แต่ช่วยให้เรามองโลกอยู่กับความเป็นจริง และกลายเป็นคนถ่อมตน ติดดิน ไม่ดูถูกคนอื่น กว่าผมจะพูด เขียน หรือเวลาจะออกความเห็นอะไรก็ตาม ผมจะไม่คิดเองเออเอง แต่จะใช้ความรู้มาสนับสนุนในสิ่งที่เราคิด แล้วบางทีปรากฏว่าความรู้ที่เชื่อถือได้นั้นกลับค้านกับสิ่งที่ผมคิดอยู่ ผมก็จะเปลี่ยนวิธีคิดหรือการกระทำนั้นนะถ้ามันไม่เหมาะ ไม่ถูก ไม่ควร”  

จากนักอ่านสู่นักเขียนสากกะเบือยันเรือรบ

“ปกติเวลาผมอ่านอะไร ผมมักจะเขียนสรุปสิ่งที่อ่านอยู่เป็นประจำ ซึ่งการเขียนถือเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งในชีวิต เป็นโอกาสในการแสดงตัวตนผ่านตัวอักษร และถือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งที่ผมไม่รู้สึกว่าเป็นการทำงานเลย ผมชอบเขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว เขียนไว้อ่านเองเสียก็เยอะ จนกระทั่งมีเฟซบุ๊กจึงมีโอกาสได้ถ่ายทอดสิ่งที่คิดและสนใจให้คนภายนอกได้อ่านมากขึ้น พอคนเห็นว่าผมเขียนพอใช้ได้ เลยมาตามให้ไปช่วยเขียนคอลัมน์ให้กับเว็บไซต์เจาะใจอยู่ราว 3 ปี หลักๆ จะเป็นเรื่องการจัดการ การบริหาร รวมถึงในมุมของจิตวิทยา แม้กระทั่งมุมส่วนตัวอย่างเรื่องความรักก็มีด้วยเหมือนกัน หรือเวลาไปเที่ยวอย่างตอนผมไปมองโกเลียคราวนั้น ผมเขียนมาเป็นหนังสือ 1 เล่ม ซึ่งสมัยที่ผมไปมองโกเลียเป็นอะไรที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เนื้อหาเลยน่าสนใจ แต่ตอนนี้คงเป็นของธรรมดาไปแล้ว”

‘มองผ่านหูม้าที่มองโกเลีย’ เป็นหนังสือที่เม่นพาคนอ่านเข้าไปสู่โลกใหม่ผ่านมุมมองจากหลังม้า ท่ามกลางทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชียอย่างมองโกเลีย แผ่นดินซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของกุบไลข่าน นักรบบนหลังม้าผู้เกรียงไกรที่ตะลุยผ่านไปจนถึงทวีปยุโรป โดยเนื้อหาภายในเป็นการนำเสนอให้ผู้อ่านรับรู้และเข้าใจถึงวิถีแห่งชีวิตที่คนกับม้าคือหนึ่งเดียวกันจากหน้าประวัติศาสตร์จนถึงโลกปัจจุบัน 

“เมื่อไหร่ที่ได้เขียน นั่นจะเป็นช่วงเวลาที่ผมมีโอกาสได้ประมวลและเรียบเรียงความคิด ตลอดจนสิ่งที่ได้รับมาให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ผมชอบถ่ายทอดมุมมองที่คนอ่านสามารถนำไปคิดหรือศึกษาต่อได้ แล้วหากคนอ่าน แม้จะมีไม่มากที่ได้ประโยชน์ หรืองานเขียนของผมได้ไปเปลี่ยนอะไรบางอย่างในตัวเขาในทางที่ดีขึ้น นั่นเป็นความสุขเล็กๆ ว่าตัวเราได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผมเคยคุยกับอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านรู้ว่าสิ่งที่ท่านเขียน คนอ่านไม่เยอะหรอก เพราะว่าไม่สนุกและอ่านยาก แต่ถ้าคนจำนวนน้อยนั้นได้ประโยชน์จากสิ่งที่ท่านเขียน แล้วถ้าคนจำนวนน้อยนั้นเป็นคนที่อยู่ในฐานะ decision maker ก็อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ผู้คน สังคม หรือโลกได้ นั่นจะทำให้สิ่งที่เราเขียนมีคุณค่า แล้วถ้างานเขียนของผมไปทำอะไรแบบนั้นได้ ผมคงมีความสุขมากเหมือนกันนะครับ (ยิ้ม)”

น้อยนิดแต่มหาศาล

“โดยปกติ ธรรมชาติของมนุษย์เวลาเจอเรื่องทุกข์หรือปัญหา สิ่งแรกที่เรามักจะทำกันคือพยายามกดไว้โดยหันเหความสนใจไปเรื่องอื่น เพราะว่านั่นเป็นพื้นที่ปลอดภัย ผมเองก็เช่นกัน แต่ประสบการณ์ชีวิตบอกผมว่านั่นจะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง เพราะปัญหาไม่ได้ไปไหน แต่ยังคงหลอกหลอนเราอยู่เรื่อยๆ จนอาจจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ในที่สุด ฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาสำหรับผมคือการเลือกเผชิญหน้าและพยายามแก้ปัญหานั้น ระยะแรกคุณจะพบว่าโอ้โห ยากจัง แต่ในระยะกลางที่เราเริ่มจัดการอะไรบางอย่างได้ มองเห็นเหตุของปัญหา เริ่มมีสติ และแก้ไขได้ทีละเปลาะ คุณจะพบว่าความทุกข์ที่สุมอยู่นั้นค่อยๆ คลี่คลายลงไป เหมือนอย่างน้อยๆ เราได้ลดความกังวลใจหรือความทุกข์ไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว

“เหตุการณ์ที่หนักที่สุดในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามคงจะเป็นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก คนที่มีความหมายต่อเรา ซึ่งแตกต่างมากๆ กับเวลาเราตกงานหรือหมดตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ แต่หากเราสูญเสียใครสักคนในชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีทางคืนมาได้ สำหรับผมคือการสูญเสียภรรยาที่จากไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 10 ปีก่อน และตามมาด้วยคุณแม่ แต่ว่าเมื่อมาถึงวันที่คุณแม่จากไป ผมรับมือได้ดีขึ้นเพราะเราถูกเทรนมาจากสถานการณ์แรกแล้ว 

“ตอนนั้นภรรยาของผมเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ที่รักษาไม่ได้ เราพยายามรักษากันอยู่ 2 ปี และต่างรู้อยู่แล้วว่าไปต่อไม่ได้หรอกในช่วง 2 ปีนั้น แต่วิธีที่พวกเราเลือกคือเผชิญกับปัญหานั้นด้วยการพยายามมองโลกในแง่ดีให้มากที่สุด เหตุการณ์นั้นสอนผมมากเลยนะครับว่าบางทีความทุกข์หรือปัญหาในชีวิตที่แย่มากๆ ถ้าหากเรามองในแง่ดี มันก็ยังมีเหลือให้มองเสมอนะ ผมและภรรยาจึงเลือกมองหาสิ่งที่ดีซึ่งมีอยู่เล็กน้อย แล้วขยายให้กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเหนือสิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในระหว่างที่ผมอยู่กับภรรยา รวมถึงหลังจากที่สูญเสียเธอไปแล้ว บางคนอาจพึ่งธรรมะหรือสิ่งอื่นๆ ในการยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ผมค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย เพราะผมใช้หลักการทางคณิตศาสตร์เข้ามาปลอบใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร ถ้าหากมองในเชิงสถิติ ในเชิงธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นตามหลักเหตุและผลว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับชีวิตของคน นั่นทำให้ผมยอมรับความจริงตรงนั้นได้และช่วยให้ใจเราเย็นลง มีสติมากขึ้น และผมยังนำมาใช้กับชีวิตในระยะหลังๆ ซึ่งทำให้ผมจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีสติขึ้นเยอะ

“แต่ก่อนผมมีความรู้สึกว่าชีวิตเราดำเนินไปได้เรื่อยๆ แบบไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่เคยนั่งคิดถึงวันสุดท้ายสักเท่าไหร่ แต่หลังจากความสูญเสียทั้งสองครั้งนั้นเลยกลายเป็นเครื่องเตือนใจตัวเองว่าเวลาของเราไม่ได้มีตลอดไป เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ใช้เวลาฟุ่มเฟือย แต่จะนับวันและคิดเยอะกว่าเดิมเพื่อให้แต่ละนาทีคุ้มค่าที่สุดถึงแม้อาจจะไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น แต่ว่าดีขึ้นกว่าเดิมในการใช้เวลาในชีวิตครับ”

เมื่อความท้าทายทะลายอีโก้  

“หากย้อนกลับไปดูสถานที่ที่ผมชอบไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ผมมักชอบสถานที่ที่ไม่ค่อยมีใครจะไปกันนะ เพราะผมอยากจะรู้ว่า ในสิ่งที่โลกมองอย่างนั้น ความเป็นจริงตรงหน้าของเราเป็นอย่างไร ผมชอบไปสถานที่ที่น่าจะขัดเกลามุมมองของเราได้มากขึ้น ทำให้ทัศนะและการมองโลกกว้างขึ้นด้วย อย่างตอนที่กัมพูชาเลิกสงครามใหม่ๆ ช่วงยุค 1990s ผมรีบจองตั๋วไปเที่ยวที่นั่นทันที จำได้ว่าระหว่างนอนพักที่โรงแรมยังได้ยินเสียงรบกันอยู่เลย หรือตอนที่ใครๆ ต่างกลัวการไปเที่ยวอิหร่าน เพราะที่นั่นดูเป็นประเทศของคนดุ แต่พอไปเห็นและสัมผัส ผมกลับพบว่าผู้คนที่นั่นไม่เหมือนกับที่โลกข้างนอกมอง แม้กระทั่งซีเรียก่อนที่จะเกิดสงครามก็ไม่ได้เป็นประเทศเลวร้ายเหมือนอย่างที่ทั้งโลกมอง การเดินทางไปในประเทศเหล่านี้ทำให้ผมไม่เชื่อใครหรืออะไรง่ายๆ จนกว่าจะสัมผัสด้วยตัวเอง ผมใจกว้างขึ้นเยอะ ได้เรียนรู้ แถมยังสอนตัวเองไปในตัวด้วย 

“ประเทศที่อยู่ในความทรงจำและประทับใจมีอยู่เยอะมาก แต่ว่าประเทศที่ไปบ่อยที่สุดคงเป็นปากีสถาน ผมไปมา 6 ครั้ง แต่ถ้าตัดเรื่องไปทำงานก็จะเหลือ 5 ครั้งที่ไปเที่ยว สิ่งที่ผมชอบคือปากีสถานมีธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก เวลาคนนึกถึงภูเขาหรือที่ที่มีหิมะสวยงาม อาจจะนึกไปถึงสวิสหรือยุโรป แต่ผมว่าที่นี่สวยที่สุดในโลกแล้วมั้ง เรียกว่าทั้งสวยและประหลาดในเวลาเดียวกัน ภายนอกอาจจะมองปากีสถานว่าเป็นประเทศที่มีความวุ่นวาย คนดุ แต่พอผมได้พบพวกเขา อย่างเช่นชาวปากีสถานทางเหนือ คนน่ารักมากๆ เสน่ห์เหล่านี้แหละที่ชวนให้ผมอยากกลับไปบ่อยๆ” 

นอกจากการเดินทางแล้ว เม่นยังชอบกิจกรรมเอาท์ดอร์อื่นๆ อย่างเดินป่า ปีนหน้าผา ดำน้ำ ขี่ม้า และสวิงแดนซ์ด้วยเช่นกัน 

“จนถึงทุกวันนี้ผมยังทำหลายๆ กิจกรรมกลางแจ้งอยู่นะครับ ล่าสุดผมเพิ่งไปดำน้ำที่เกาะเต่า จังหวัดชุมพร ได้เจอฉลามวาฬด้วย (ยิ้ม) เรื่องดำน้ำผมดำมา 25 ปีแล้ว ส่วนปีนหน้าผาก็เริ่มในเวลาไม่ไกลกันมาก จริงๆ มีขี่ม้าด้วย แต่ตอนหลังไม่กล้าขี่แล้ว เพราะว่าอายุเยอะ กลัวตกม้าแล้วจะซ่อมแซมไม่ได้ แต่ขี่ม้าเป็นอีกกิจกรรมที่ผมชอบเพราะม้าเป็นสัตว์ที่น่ารักและโรแมนติก เป็นกิจกรรมที่เราต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต เป็นที่กีฬาไม่เหมือนกีฬาอื่นๆ ส่วนสวิงแดนซ์ผมเริ่มเมื่อราวๆ 4 ปีก่อน เป็นกิจกรรมที่ถือว่ายากพอสมควรเลย แต่ปัจจุบันก็กลายเป็นสิ่งที่ผมจะทำเป็นประจำในช่วงสุดสัปดาห์

“ต้องบอกตรงๆ ว่าบางครั้ง ผมเองไม่อยากทำเลยกิจกรรมเหล่านี้นะ แต่ผมพยายามบังคับตัวเองจนตอนนี้เรียกว่าหลงใหลได้เลย เป็นความสุขของชีวิต ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดสอนตัวผมเยอะทีเดียว เพราะว่าทุกอย่างท้าทายมาก โดยเฉพาะเรื่องการปีนหน้าผาที่ทำให้ผมรู้จักตัวเองว่าเราเป็นคนอย่างไร นิสัยอย่างไร ยอมแพ้ง่ายไหม ไม่รอบคอบ บุ่มบ่าม หรืออารมณ์เสียง่ายรึเปล่า ได้รู้ข้อเสียของตัวเองแบบไม่ต้องมีคนอื่นมาบอก สมัยเด็กๆ ผมคิดว่าตัวเองเจ๋ง พอได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราแย่หลายอย่าง เลยทำให้ความทะนงตัว ความมั่นใจที่มากจนล้นหายไป มองและปฏิบัติต่อคนอื่นดีขึ้นด้วย เพราะบางครั้งบางที เราอาจจะมองคนอื่นเวลาที่เขาทำผิดพลาดด้วยอารมณ์รำคาญ โมโห ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน พอเรารู้ว่าจริงๆ แล้วทุกคนมีจุดอ่อนจุดแข็ง มีช่วงเวลาที่ดีและร้าย แถมตัวเราเองไม่ได้ดีเด่อะไรเลย ใจเราจึงกว้างขึ้นและเย็นลงมาก สามารถยอมรับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น และยังส่งผลให้ตัวเองทำงานได้ดีขึ้น คิดละเอียดขึ้น เวลาจะพูด จะทำ หรือตัดสินใจอะไรต่างๆ”

ความสุขที่เรากำหนดเอง

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และเป็นบทเรียนชีวิตอย่างหนึ่งคือการระวังเรื่อง FOMO (Fear of Missing Out) หรือ ‘การกลัวตกกระแส’ ผมไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องการตามกระแสคนอื่นสักเท่าไหร่ แต่อยากให้ดูว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร คนอื่นจะเป็นอย่างไร เราอย่าไปเปรียบเทียบ ชีวิตของเราขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา อย่าไปผูกอยู่กับเกณฑ์มาตรฐานของใคร เรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ เราจะมีวิถีชีวิตที่เติมเต็มในแบบของตัวเองมากที่สุด เพราะเราจะไม่พยายามใช้เงินเพื่อให้คนอื่นชอบหรือพอใจ แต่เราจะใช้เงินไปเพื่อซื้อในสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข เราจะใช้เวลาไปกับสิ่งที่เราอยากทำ เราจะไม่ซื้อของเพื่อให้สังคมยอมรับ ผมเห็นหลายๆ คนเกิดทุกข์จากการพยายามทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่รู้จบ เพราะอย่างไรคุณไม่มีทางทำได้ วันที่คุณสามารถเอาชนะใจคนแรกได้ คุณจะพบมีคนที่สูงกว่าไปเรื่อยๆ บางคนยอมเป็นหนี้มากมายเพื่อที่จะไปซื้อของแพงๆ แล้วเจอกับปัญหา เราต้องหลุดจากวงจรนี้ ผมว่านี้คือทุกข์ของคนในสังคมสมัยใหม่ ถ้าหลุดตรงนี้ได้ คุณจะสบายมาก ชีวิตจะประหยัดมากขึ้น และมีความสุขจริงๆ   

“ส่วนความสุขของผมยังเหมือนเดิมนะครับ ผมเป็นคนอยากรู้อยากเห็นมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่ผมอยากรู้และได้ค้นหาเรื่องนั้นคือความสุข ซึ่งหาง่ายมากเลย ยิ่งตอนนี้ความรู้แทบจะฟรีแล้ว ความรู้ที่หามาได้สามารถกล่อมเกลาความคิดของผม ทั้งความลุ่มลึกและการรู้จักทำให้ตัวเองมีความสุขขึ้น อาจเพราะเวลานี้ผมมีเวลามากขึ้นหน่อยที่จะหาความรู้ในสิ่งที่เราสงสัย จึงได้อ่านหนังสือและค้นคว้า มีโปรเจ็กต์ส่วนตัวอะไรต่างๆ มากขึ้น เวลานี้ผมจึงมีความสุขอยู่ได้เรื่อยๆ

“ตอนเด็กๆ ผมเคยได้ยิน แต่จำไม่ได้แล้วว่าใครพูดไว้ว่า ‘การโตเป็นผู้ใหญ่วัดกันที่ว่า ถ้าคุณยอมแพ้กับสิ่งที่คุณฝันอยากจะทำหรืออยากจะเป็นเมื่อตอนเด็กๆ มากเท่าไหร่ แสดงว่าคุณโตขึ้นทุกทีๆ แล้วนะ’ ตอนนั้นผมคิดว่า ชีวิตจะแย่อย่างนั้นเลยเหรอ เพราะช่วงอายุ 20 ไฟยังแรง ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างเขาว่าไว้ (หัวเราะ) แต่ไม่ถึงขนาดหมดหวังหรือยอมแพ้อะไรขนาดนั้นนะครับ เพียงแค่เรามองสิ่งต่างๆ บนความเป็นจริงว่าสิ่งที่เรานึกฝันหรือเพ้อเจ้อตอนเด็กๆ ทำได้จริงในวันนี้หรือไม่ ฉะนั้น ในวัย 61 เป้าหมายในชีวิตคงไม่เหมือนคนอายุ 30 40 50 แล้ว การมองไปข้างหน้า ผมจึงมองอีกแบบ สิ่งที่เป็นความฝันหรืออาจจะเรียกว่าเป็นเป้าหมายจะไม่เป็นลักษณะของความอยาก ‘เป็น’ แต่คืออยาก ‘ทำ’ มากกว่า และสิ่งนั้นคือการใช้ชีวิตที่เหลือทำอะไรบางอย่างที่ส่งผลหรือมีคุณประโยชน์บางอย่างให้กับสังคมและโลกบ้าง อาจจะผ่านการถ่ายทอดความรู้และแง่มุมต่างๆ ที่ใครๆ สามารถนำไปคิดต่อ คงไม่ใช้การชีวิตแบบเงียบๆ เรียบๆ เหมือนคนวัยเกษียณ ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ครับ (ยิ้ม)”

ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 

บทความที่เกี่ยวข้อง