เริ่มด้วยรัก ทำด้วยใจ สู่เวที MasterChef UK กับคุณหมอนักวิจัย ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ   

Human / Self-Inspiration

เชื่อว่าใครหลายคนรู้จัก หมอบอส – ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ ในฐานะของเชฟฝีมือดีที่สร้างชื่อจากการนำเสนอตำรับอาหารไทยด้วยภาพลักษณ์ใหม่จนกลายเป็น talk of the town ในหมู่ผู้ชมชาวอังกฤษและคนไทยจากรายการ MasterChef UK 2018 การถ่ายทอดวัฒนธรรมการกินแบบไทยๆ ตัวตน และประสบการณ์ชีวิตตลอดช่วงเวลาที่เขาเติบโตมาผ่านศิลปะการทำอาหารได้พาหมอบอส ชาวไทยคนแรกและหนึ่งเดียว ฝ่าผู้สมัครนับพันผ่านเข้ารอบ 3 คนสุดท้ายของโปรแกรมไพร์มไทม์ ช่อง BBC One ดังกล่าว ซึ่งสำหรับเรานั่นถือว่าไม่ธรรมดา เขายังเป็นเจ้าของ ‘REALM (เริ่ม)’ ร้านอาหารคาวและหวานในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ทุกเมนูเกิดขึ้นจากความรักและอยากสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนจากทั่วประเทศ

ส่วนความฝันเรื่องการเป็นหมอของเขาเรียกว่าชัดเจนมาตั้งแต่วัยเด็ก การเห็นคุณยายต้องตื่นแต่เช้ามืด อดน้ำอดอาหาร และนั่งรอคุณหมอเป็นระยะเวลานาน ได้กลายเป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงผลักดันในการก้าวสู่สายอาชีพนี้ด้วยความหวังที่ว่า ‘หากมีแพทย์เพิ่มอีกสักหนึ่งคน คุณยายคงจะไม่ต้องรอนานอย่างเคย’ วันนี้ เราขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับหลากหลายเรื่องราวของหมอบอส ทั้งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดและวัณโรคเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้กับคนไทย, MasterChef UK, การสนับสนุนเกษตรกรและการชาวประมงไทยผ่านเมนูอาหารคาวหวาน และเป้าหมายไกลๆ กับการก่อตั้งสถาบันวัคซีนในเขตพื้นที่ภาคใต้เพื่อสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตัวเองด้านวัคซีน 

ภารกิจผลิตแพทย์เพื่อประชาชน

“ตอนเด็กๆ ผมจะไปโรงพยาบาลเป็นเพื่อนคุณยายเสมอ ทุกครั้งที่ไป ท่านจะต้องอดน้ำและอาหารก่อนจะเจาะเลือด ต้องรอหมอ ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร เวลานั้นผมยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องรอนานขนาดนั้น เลยคิดว่าคงจะเป็นเรื่องดีถ้ามีคุณหมอเพิ่มขึ้นอีกสักคนหนึ่ง คุณยายของผมคงจะใช้เวลารอน้อยลง นั่นเป็นแรงบันดาลใจว่าโตขึ้นผมจะเป็นหมอ”

หมอบอสจบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความสนใจเรื่องการวิจัย งานด้านชีววิทยา และเรื่องโรคติดเชื้อ แต่พบว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิคุ้มกันยังมีอยู่น้อยในประเทศไทย เขาจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนพัฒนาอาจารย์ ตั้งแต่ระดับปริญญาโทในด้านภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) ที่ Imperial College London ได้ทำวิจัยเรื่องไวรัส RSV ร่วมกับ Peter Openshaw ซึ่งเป็นคุณหมอและนักภูมิคุ้มกันวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวรัส RSV จากนั้นจึงต่อยอดความรู้ระดับปริญญาเอกด้าน Clinical Medicine ที่ Nuffield Department of Medicine, University of Oxford กระทั่งกลับมาทำงานในสถาบันศึกษาเดิมที่จังหวัดสงขลา

“ผมเคยคิดว่างานของหมอคงจะมีแค่ภาระการตรวจ ตรวจเสร็จแล้วกลับบ้าน แต่ไม่ใช่นะครับ เพราะหมอเริ่มงานกันตั้งแต่เช้าตรู่ 6 โมงเช้า เข้ามาดูผู้ป่วยใน เสร็จแล้วมาดูผู้ป่วยนอก หลังจากนั้นต้องมีการที่ดูผู้ป่วยในอีกรอบหนึ่ง รับปรึกษาเคสต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญของตัวเอง ถ้ามีอยู่เวรจะเป็นเวรถึงกลางคืน จากนั้นต้องมาทำงานต่อตอนเช้า เป็นภาพหลังม่านที่จะได้มาสัมผัสเมื่อก้าวสู่สนามจริง แม้ภารกิจในแต่ละวันจะมีอย่างต่อเนื่อง แต่ผมมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคน และสิ่งที่ผมเคยคิดไว้ตั้งแต่เด็กว่าถ้ามีแพทย์เพิ่มอีกสักคนคงจะทำให้คนไข้ได้เจอคุณหมอเร็วขึ้น ได้ทำให้การเป็นอาจารย์แพทย์กลายเป็นความฝันในลำดับถัดมา เพราะแทนที่ผมจะเป็นแค่หมอและรักษาผู้ป่วย การเป็นอาจารย์แพทย์ ทำให้ผมสามารถผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้อีกปีละ 200 คนเลย ซึ่งหากเรามีจำนวนแพทย์คุณภาพได้มากขึ้น เราจะสามารถช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีและทั่วถึงประชาชนมากขึ้นไปอีก”

ด้วยเหตุนี้ นอกจากงานตรวจคนไข้แล้ว หมอบอสยังเป็นอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สอนนักศึกษาแพทย์ระดับปริญญาตรี โทและเอก ในรายวิชาภูมิคุ้มกันวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยาทางคลินิก วัคซีน รวมถึงโรคติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ผู้ช่วยคณะบดีฝ่ายการศึกษา ซึ่งจะดูแลนักศึกษาแพทย์ที่เข้ามาในแต่ละหลักสูตรด้วย

วิจัยวัคซีนให้กลายเป็นนวัตกรรมช่วยชีวิตคน 

“อีกหนึ่งหน้าที่ของผมคือการเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยผมไม่อยากให้การวิจัยอยู่บนหิ้ง แต่อยากให้สิ่งที่เข้าไปศึกษาสามารถนำมาใช้งานได้จริงๆ ทั้งในทางการแพทย์และการช่วยดูแลสุขภาพผู้คน ซึ่งโชคดีที่ทุกงานวิจัยได้นำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด

“สำหรับวัคซีนป้องกันวัณโรคเป็นงานวิจัยที่ผมทำตั้งแต่สมัยปริญญาเอกที่ Oxford ถามว่าทำไมต้องวัณโรค เพราะโรคดังกล่าวอยู่คู่คนไทยมานานมาก เป็นโรคที่ถ้าพูดในเชิงสถิติแล้วน่าเป็นห่วง เพราะทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 10 ล้านคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตอยู่ราว 10% ซึ่งเยอะนะครับ ส่วนตัวเลขในเมืองไทยประมาณ 1 แสนคนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10-12 แล้วเป็นอย่างนี้มา 50 ปีแล้ว แต่เวลานี้เรามีเพียงวัคซีนวัณโรค BCG ซึ่งเป็นวัคซีนที่ถูกใช้ตัวแรกๆ ของโลก แต่ผลของ BCG ยังไม่ดีนัก ผมจึงพัฒนาวัคซีนประเภท Viral Vector แบบเดียวกันกับที่ใช้ทำวัคซีน Astrazeneca โดยใช้รหัสพันธุกรรมที่โดดเด่นของวัณโรคใส่เข้าไปแทน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและสามารถป้องกันการเกิดวัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอนนี้วัคซีนดังกล่าวได้มีการทดสอบในคนเพื่อดูผลของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนด้วยวิธีการฉีดแบบต่างๆ กันอยู่ ผมหวังว่าวัคซีนที่เกิดขึ้นจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการรับมือกับวัณโรคได้ครับ

“นอกจากนี้ ในระหว่างที่ทดลองวัคซีนวัณโรค เป็นช่วงเดียวกันกับที่โควิดระบาดพอดี ด้วยความคุ้นชินกับวัคซีนประเภท Viral Vector ผมจึงมีโอกาสได้นำความรู้มาช่วยในการเซ็ตอัพเรื่องการขนย้ายตอนที่ประเทศไทยนำวัคซีน Astrazeneca เข้ามาพัฒนา และยังช่วยดูแลเรื่องการศึกษาด้านภูมิคุ้มกันของวัคซีนในคนไทยว่า การฉีดวัคซีนชนิดไหนและแบบใดจะได้ผลเป็นอย่างไรในประชากรไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น หากเราย้อนดู เมื่อ 2 ปีก่อน เราจะเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากการเป็นโควิดวันละหลักแสน แต่เมื่อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาเป็นสายพันธ์หลักและเกิดการระบาดระลอกใหญ่อีกครั้งเมื่อต้นปีเกือบวันละ 3 ล้านคนทั่วโลก ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับลดลงมาอยู่ที่หลักหมื่น เพราะฉะนั้น นี่แสดงให้ว่าวัคซีนทำให้เราสามารถช่วยชีวิตคนจากโรคในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้”

จากสูตรลับก้นครัวคุณยาย สู่ 3 คนสุดท้ายของ MasterChef UK

นอกจากงานหลักในด้านสาธารณสุขแล้ว อีกหนึ่งสถานที่แห่งความสุขของหมอบอสคือห้องครัว ซึ่งความรักในการทำอาหารของเขาได้รับจากคุณยายมาแบบเต็มๆ

“ตอนเด็กๆ ผมจะเข้าครัวกับคุณยายเสมอ คุณยายให้ทำอะไรเราก็ทำ ทั้งช่วยเด็ดผัก ตำน้ำพริก ผมคิดว่านั่นเป็นการซึมซับทักษะต่างๆ ในการทำอาหาร เช่นว่าควรจะเด็ดอย่างไรให้ดี หั่นอย่างไรให้ผักกรอบ ตำอย่างไรให้หยาบหรือละเอียด พอมีความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน จึงทำให้สามารถพลิกแพลงเมนูต่างๆ ได้ จนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ด้วยราคาอาหารตามร้านค่อนข้างแพง ผมเลยซื้อมาทำทานเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าทักษะการทำอาหารมีประโยชน์เหมือนกันนะ

“ส่วนการได้เข้าร่วม MasterChef UK ก็มาจากที่ได้ทำอาหารทานเองนี่แหละ เพราะเวลาทำอาหาร ผมจะทำเมนูไทยๆ มีข้าวหอมมะลิ มีหมวดแกง หรือเมนูผักสักอย่าง พอไปอุ่น กลิ่นเลยกระจายฟุ้งไปทั่วทั้งออฟฟิศจนคนงงว่าผมนำอะไรมาทาน ผมบอกอาหารไทยและลองแบ่งให้เพื่อนๆ ได้ทานด้วย ทุกคนชมว่าอร่อยและแนะนำว่า ลองไปแข่ง MasterChef ดูไหม แม้ MasterChef จะเป็นรายการที่ผมเป็นแฟนคลับตัวยง แต่การเป็นโชว์ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ เป็นไพร์มไทม์ของ BBC One ผมจึงคิดว่าตัวเองคงไม่มีทางได้เข้าร่วมรายการแน่ๆ แต่เพื่อนๆ บอกให้ลองสมัครก่อน เพราะไม่เสียหายอะไร นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการได้เข้าร่วมในรายการนี้

“ตอนออดิชั่น ทางรายการให้โจทย์มาว่า เมนูที่ทำต้องเป็นอาหารที่ทานแบบเย็นได้ ไม่ให้มีกระบวนการทำอาหารใดๆ เลย ที่ทำได้คือการนำส่วนผสมทั้งหมดมาจัดจานได้อย่างเดียว ซึ่งเมนูที่ผมทำ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากการทำอาหารของคุณยายที่ท่านจะไม่มีการวางแผนใด ๆ แต่ท่านจะเข้าไปในสวน หยิบโน่นจับนี่มาปรุงเป็นอาหารแต่ละมื้อ ผมจึงทำเป็นเมนูพล่าเนื้อ เป็นสเต็กแบบมีเดียมแรร์ สไลด์บาง ๆ แล้วนำมายำกับน้ำพล่า แต่งด้วยผักสวนครัวต่างๆ และตั้งชื่อเมนูนี้ว่า ‘Grandma’s Garden’ หรือ ‘สวนคุณยาย’ และเมนูนี้นี่เองที่ทำให้ผมผ่านเข้ารอบไปเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันของรายการนี้ 

“ตอนที่ไปแข่งขัน ต้องบอกว่าไม่ได้มีความคาดหวังใดๆ อยากไปแข่งขันด้วยความคิดที่ว่าเราอยากทำอาหาร อยากจะสื่อสารเรื่องของอาหารไทยว่ามีอะไรมากกว่าแกงเขียวหวานและผัดไทย ผมจึงพยายามทำอาหารที่หลากหลายเพื่อเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมไทย ชีวิตความเป็นอยู่ เล่าเรื่องตัวผม ทั้งการเป็นหมอและนักวิทยาศาสตร์ ตอนได้ทำ ผมรู้สึกว่าสนุกมากๆ รู้ตัวอีกทีก็เข้ารอบสุดท้ายแล้ว พอไม่ได้คาดหวังอะไร ทำเพราะชอบและสนุก ผมเลยได้รู้ในตอนนั้นว่าการทำอาหารคงเป็นอีกความสุขไม่ต่างจากการเป็นหมอ”

แค่ ‘REALM’ ก็หรอยแรง

“REALM (เริ่ม) เป็นร้านอาหารคาวและหวานที่ผมตั้งใจทำเพื่อสื่อถึงความเป็นตัวเองและอุดมการณ์ของการทำอาหารที่ทุกจานถูกทำขึ้นสำหรับคนที่เรารัก คำว่า ‘REALM’ ประกอบขึ้นจากคำว่า ‘Real, Earth, Aqua, Local, Memory’ สำหรับ ‘Real’ ผมอยากใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งของวัตถุดิบนั้นจริงๆ เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเกษตรกรรมในประเทศเรา ส่วน ‘Earth’ คือเราจะใช้ผักที่ปลูกในจังหวัดสงขลา เป็นผักออร์แกนิกและแปลงผักจากชาวบ้าน ขณะที่ ‘Aqua’ เราสนับสนุนประมงชาวบ้านซึ่งเป็นประมงเรือเล็ก เป็นประมงที่หากมีพายุจะไม่ออก และไม่จับปลาในฤดูวางไข่ ‘Local’ คือการที่เราได้ทำงานกับคนพื้นที่และใช้ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น เช่น จานทุกใบในร้านถูกปั้นจากฝีมือศิลปินซึ่งใช้ดินจากจังหวัดสงขลา สุดท้าย คำว่า ‘Memory’ มาจากความทรงจำของผมกับคุณยาย ที่ผมจะใช้สูตรดั้งเดิมที่ถูกสอนแล้วนำมาผสมผสานกับเทคนิคต่างๆ ที่ได้เรียนรู้และสั่งสมมาจากการแข่งขัน รวมถึงจากการได้ไปทำอาหารทั่วโลก เพื่อให้อาหารไทยมีรสสัมผัสที่ดีขึ้นและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นในสายตาของทุกๆ คนครับ

“ที่ REALM จึงเป็นเมนูที่เราเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น เรามีเค้กมะละกอ เราใช้ฝรั่งมาทำเค้กซึ่งมีรสสัมผัสเหมือนกับเค้กแครอท เรามีเค้ก Red Velvet ที่ทำจากกระเจี๊ยบ เพราะอยากได้ความหวานและหอม แทนที่จะต้องเป็นบีทรู้ดเพียงอย่างเดียว เราใช้ช็อคโกแล็ตจากชุมพร ทำคาราเมลจากน้ำตาลโตนด เป็นต้น

“การทำร้านอาหารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ท้าทายมากๆ แน่นอนว่าเป้าหมายใหญ่คือการทำกำไรและจะต้องรอมชอมในหลายๆ เรื่องเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เช่น การลดต้นทุนของวัตถุดิบซึ่งเราเลือกใช้ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่มีตามฤดูกาล ส่วนการทำอย่างไรให้เรามีวัตถุดิบนั้นอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลคือการหมักดอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วในต่างประเทศ แต่ยังไม่เคยนำมาใช้กับอาหารไทยมาใช้ เราอยากให้ทุกๆ คนที่อยู่แวดล้อมธุรกิจของเรา ทั้งบุคลากรของ REALM เอง ลูกค้า เกษตรกร และชาวประมงได้รับคุณค่าจากสิ่งที่เราตั้งใจทำ ซึ่งการดำเนินธุรกิจแบบเกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกันแบบนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมภายในจังหวัดและประเทศดีขึ้นได้ เมื่อภาพรวมของประเทศดีขึ้น มันจะเป็นวัฏจักรที่ส่งกลับมายังธุรกิจต่างๆ ให้สามารถดำเนินไปได้ด้วยตัวเอง”

ค้นหาความสวยงามในสิ่งที่ทำ

“ผมเชื่อว่าในทุกวิชาชีพมีความเครียดและกดดันทั้งหมด ทางออกของผมการคือการมองหาความสวยงามในวิชาชีพที่เราทำอยู่ เช่น วันนี้ผมจะได้เจอเด็กๆ ได้มีการสอนเกิดขึ้น ได้ทำวิจัยนะ จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน หรือวันนี้ได้ลงตรวจคนไข้ ผมรู้สึกว่าทุกสิ่งที่ทำสวยงามและเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้าง การทำอะไรก็ตามด้วยความคิดและความรู้สึกแบบนี้ ทำให้ผมได้รู้ว่าชีวิตในแต่ละวันมีความหมายและอยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ

“แต่ถ้ายังไม่เจอความสุขในการทำงาน เราอาจจะต้องมองหาความสุขจากที่อื่น อย่างผมคือการได้เป็นเชฟ ได้มีร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเอง ได้ปรุงอาหารที่ชอบ ได้พูดคุยกับลูกค้า ซึ่งทุกคนอาจจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป ผมคิดว่าการที่เรามีกิจกรรมในการสร้างความสุขนอกเหนือจากงานหลัก จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะลดทอนความเครียดและทำให้เรามีความสุขได้เหมือนกันครับ”

เพราะทุกความสำเร็จเกิดจากความพยายามและการให้

“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นอาจารย์ ท่านจึงเป็นแบบอย่างของการทำงานในด้านของวิชาการ ทำให้ผมได้เห็นว่า ‘การให้’ โดยเฉพาะการให้ความรู้เป็นสิ่งที่มีค่ามากขนาดไหน ผมอยากเป็นอาจารย์เพื่อส่งต่อความรู้ที่มีเพราะคุณพ่อเลยนะครับ สำหรับคุณแม่จะเป็นตัวอย่างในการให้แบบที่ไม่มีเงื่อนไขเช่นกัน ท่านพร้อมให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือคนรอบข้าง คงเป็นเพราะท่านทั้งสองที่หล่อหลอมให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้ และทำให้รู้ว่าการแบ่งปันและการให้เป็นสิ่งมีคุณค่า

“ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะได้มาง่ายๆ ทุกอย่างล้วนต้องใช้ความพยายามทั้งสิ้น ทุกครั้งที่ผมต้องใช้ความพยายาม นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าผมน่าจะมาถูกทางแล้ว ผมไม่เชื่อว่าความสำเร็จจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความสำเร็จหลายๆ อย่างที่ได้มา ผมไม่ได้มาเพราะเรารอโอกาส แต่ได้มาด้วยความพยายามของตัวเอง ผมจึงจะคิดอยู่เสมอว่าเราจะเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมสำหรับทุกโอกาสที่จะเข้ามา ตอนที่ผมตั้งใจว่าจะเรียนหมอ ผมต้องเข้าใจแล้วว่า เราต้องเรียนดี จะต้องมีทัศนคติแบบไหน พยายามฝึกงานที่เชื่อมโยงไปกับสิ่งที่จะต้องใช้ในการเรียน พอต้องไปเรียนต่อที่อังกฤษ ผมจะมาดูว่าต้องเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้าง เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ เรื่องพื้นฐานการวิจัยที่ต้องแข็งแรง เรื่องของทุนที่เราจะต้องไขว่คว้า ตอนไปแข่ง MasterChef ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ จะเป็นสิ่งที่ผมจะยึดถือไว้ในใจเสมอ

“อีกหนึ่งสิ่งที่ผมจะยึดถือในการทำงานและใช้ชีวิตคือ พระปณิธานของพระบรมราชชนกที่ว่า ‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกถึงท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์’ ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าจริงมากๆ เพราะทุกครั้งที่ได้ให้ก่อน มันจะเป็นเหมือนกับบูมเมอแรงที่กลับมาหาเราเสมอ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าจะไปไกลและนานแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดบูมเมอแรงแห่งการให้นี้จะกลับมาแน่ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม”

ความฝันระยะใกล้และไกล

“ตอนนี้ผมกำลังจะขยับขยายร้าน REALM เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่และหลายๆ คนที่อยู่กรุงเทพฯ อยากสัมผัสอาหารของที่ร้าน เราจึงจะเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ที่พุทธมณฑลสาย 4 เร็วๆ นี้ครับ โดยจะมีเมนูหลักคือทำขนมและเครื่องดื่มต่างๆ ที่จะใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นแบบเดียวกับสาขาแรก ผมอยากทำเค้กที่เป็นเค้กไทยให้คนไทยได้ทาน นี่คือแพลนในส่วนของธุรกิจ

“ส่วนงานทางด้านวิชาการ คงจะเป็นเรื่องวัคซีน ผมมีความฝันว่าอยากให้ มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) มีสถาบันวัคซีนของตัวเองเพื่อที่จะเป็นเครือข่ายในการผลิตวัคซีน เพราะการวิจัยวัคซีนจะต้องใช้คนจำนวนมาก ใช้เทคโนโลยีหลากหลาย ในฐานะที่ผมเป็นคนวิจัยด้านวัคซีน ผมอยากจะเห็นสถาบันวัคซีนเกิดขึ้นในภาคใต้เพื่อที่เราจะได้สนับสนุนการผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ที่เป็นโรคท้องถิ่นซึ่งยังเป็นปัญหาและส่งผลวงกว้าง เช่น ชิคุนกุนยาที่เป็นแล้วจะปวดข้อ ส่งผลให้คนพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางได้ คนใต้กรีดยางไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ นะครับ หรือว่าการที่ต้องเป็นวัณโรคเองก็ตามที่จะต้องหยุดงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน รวมถึงการมีโรคระบาด เช่น โควิด ไข้หวัดหมู ไข้หวัดนกที่เรายังไม่รู้ว่าจะมาอีกเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น การที่เรามีสถาบันที่สามารถพัฒนาวัคซีนเป็นของตัวเอง น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศและทำให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้ครับ (ยิ้ม)”

ภาพ: วิทยา พานิชกุล
ขอบคุณสถานที่: REALM

บทความที่เกี่ยวข้อง