‘นาฬิกาชีวิต’ นอนตามเวลาการไหลเวียนของพลังชี่ (Qi) ศาสตร์น่ารู้จากโลกตะวันออก

Care / Self Care

การนอน เป็นเรื่องสำคัญมากต่อสุขภาพกาย-ใจของเรา ที่ผ่านมา ‘ชีวิตดี by hhc Thailand’ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการนอนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนอนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ประโยชน์ของการงีบกลางวัน โทษของการนอนมากเกินไป รวมทั้งชั่วโมงการนอนและตื่นนอน (Sleep Chronotype) ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเราแต่ละคนได้ 

แต่นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว ยังมีศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออก (จีน) เกี่ยวกับการนอนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจควรค่าแก่การศึกษาไม่แพ้กัน นั่นคือ การนอนตามนาฬิกาชีวิต (Biological clock) 

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ และ ‘มนุษย์’

แนวคิดเรื่องนาฬิกาชีวิตวางอยู่บนรากฐานความเชื่อว่า ธรรมชาติและมนุษย์มีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายจึงมีชั่วโมงการทำงานและพักผ่อนที่สัมพันธ์กับแสงธรรมชาติและอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ศาสตร์การแพทย์แผนจีนยังเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์มีพลังงานชี่ (Qi) หรือพลังงานชีวิตไหลเวียนอยู่ ในหนึ่งวันที่แบ่งออกเป็น 24 ชั่วโมง พลังชี่จะไหลผ่านอวัยวะสำคัญต่างๆ ภายในร่างกายทั้งหมด 12 จุด ในช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยไหลเวียนในแต่ละอวัยวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาที่พลังชี่ไหลเวียนผ่านอวัยวะแต่ละส่วนนั้นคือช่วงเวลาการทำงานหรือการฟื้นฟูที่ดีที่สุดของอวัยวะนั้นๆ ซึ่งเราสามารถส่งเสริมให้ร่างกายทำงานและซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้นด้วยการทำกิจกรรมบางอย่างหรือหยุดทำกิจกรรมบางอย่าง

อย่างที่กล่าวไปว่านาฬิกาชีวิตในศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบ่งเวลาในหนึ่งวันออกเป็น 12 ช่วง แต่ละช่วงเวลาจะเหมาะแก่การทำกิจกรรมที่แตกต่างกันไป แต่ในบทความชิ้นนี้จะขอพูดถึงนาฬิกาชีวิตใน 4 ช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับการนอนเท่านั้น โดยเพื่อให้คุณได้เข้าใจการทำงานของนาฬิกาชีวิตอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เราจะยกข้อมูลจากการแพทย์แผนตะวันตกที่สอดคล้องกับหลักของนาฬิกาชีวิตตะวันออกมาเทียบเคียงไปพร้อมๆ กัน

21:00 – 23:00 น.
เวลาของ ‘ซานเจียว’​ ร่างกายต้องอบอุ่น เตรียมพร้อมเข้านอน

ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่า ‘ซานเจียว’ (San Jiao) หรือในภาษาอังกฤษว่า Triple Burner ไม่ใช่อวัยวะชิ้นใดชิ้นหนึ่งในร่างกาย แต่เป็นช่องว่างภายในลำตัวที่เป็นทางผ่านของเหลวและเชื่อมต่ออวัยวะส่วนบน (อวัยวะในทรวงอกและระบบการหายใจ) อวัยวะส่วนกลาง (ระบบย่อยอาหาร) และอวัยวะส่วนล่าง (ระบบกำจัดของเสีย) เข้าไว้ด้วยกัน 

ในช่วงเวลาที่พลังชี่ไหลผ่านไปตามซานเจียวคือช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและลดอุณหภูมิภายในลง สอดคล้องกับการแพทย์แผนตะวันตกที่บอกว่า ร่างกายมนุษย์จะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน (Melatonin) ในเวลาประมาณ 21:00 น. และเมื่อเมลาโทนินหลั่งออกมา อุณหภูมิของร่างกายจะค่อยๆ ลดลง ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่เราควรเตรียมตัวเข้านอน โดยพยายามทำร่างกายให้อบอุ่นเพื่อรักษาสมดุล 

Do: แช่เท้าในน้ำอุ่น ดื่มนมอุ่น ดื่มชาคาโมมายด์อุ่น
Don’t: ไม่ควรออกไปตากลมและไม่ควรอาบน้ำเย็นในช่วงเวลานี้ เพราะการอาบน้ำเย็นจะทำให้ร่างกายตื่นตัวแทนที่จะง่วงเตรียมพร้อมเข้านอน

23:00-01:00 น.
เวลาของ ‘ถุงน้ำดี’ เวลาที่ควรเข้านอน

ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะชิ้นเล็กๆ ที่มีหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่ได้จากตับ ก่อนจะส่งต่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็กเพื่อย่อยอาหารประเภทไขมันที่ถูกลำเลียงเข้ามา ถุงน้ำดียังทำหน้าที่ควบคุมความเข้มข้นของน้ำดี โดยอาศัยการดูดซึมน้ำของเซลล์เยื่อบุผิวถุงน้ำดี 

ตามหลักของนาฬิกาชีวิต ช่วงเวลานี้คือเวลาที่เราควรจะนอนหลับพักผ่อน เพื่อให้พลังชี่ของถุงน้ำดีมีพลัง เมื่อตื่นเช้ามาจะได้รู้สึกปลอดโปร่ง แจ่มใส และช่วยให้การทำงานของถุงน้ำดีเป็นปกติ เช่นเดียวกับทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่บอกว่า การนอนดึกจะทำให้ระบบย่อยและดูดซึมอาหารของร่างกายผิดปกติ โดยเฉพาะการทำงานของถุงน้ำดี

Do: เข้านอน (อย่างมากไม่ควรเกินเที่ยงคืน) จิบน้ำเล็กน้อยก่อนนอนเพื่อช่วยให้น้ำดีไม่ข้นจนเกินไป
Don’t: แต่ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะกลางดึก และอาจเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับ

01:00-03:00 น. 
เวลาของ ‘ตับ’ พักผ่อนนอนหลับให้สนิท

การปรับสมดุลอุณหภูมิร่างกายให้พร้อมเข้านอนในช่วง 21:00-23:00 น. และการเริ่มเข้านอนในเวลา 23:00-01:00 น. ล้วนเป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเวลาการนอนที่สำคัญที่สุด นั่นคือเวลาตีหนึ่งถึงตีสาม อันเป็นเวลาพักผ่อนของอวัยวะสำคัญ…ซึ่งก็คือ ตับ

ตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่เชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ทั่วร่างกายและมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น กำจัดสารพิษ/ของเสียต่างๆ ที่ลำไส้เล็กดูดซึมเข้ามาในกระแสเลือด สร้างน้ำดีที่ใช้ย่อยสลายสารอาหารประเภทไขมัน และตับยังเป็นแหล่งสะสมสารอาหารสำรองเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้เมื่อจำเป็น ศาสตร์ของนาฬิกาชีวิตเชื่อว่า เวลาพักผ่อนของตับคือ 01:00-03:00 น. ดังนั้นหากเราไม่ได้นอนหลับเพื่อให้ตับได้พักในช่วงเวลานี้ ตับจะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย

นอกจากนั้น หนึ่งในของเสียที่ถูกกำจัดที่ตับเป็นหลักคือ เมลาโทนิน ตับที่อ่อนแอเพราะการอดนอนหรือนอนดึกจะขับเมลาโทนินที่สมองผลิตออกมาในเวลากลางคืนได้น้อยลง ทำให้เกิดเมลาโทนินตกค้าง ซึ่งเมื่อมีเมลาโทนินตกค้างในร่างกาย สมองจะไม่ผลิตเมลาโทนินขึ้นใหม่ ส่งผลให้เรามีปัญหาการนอน นั่นคือ นอนไม่หลับในเวลากลางคืน ตื่นมาแล้วปวดหัว ไม่สดชื่น อ่อนเพลีย ฯลฯ 

Do: นอนหลับให้สนิทเพราะนี่คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด
Don’t: งดรับประทานอาหาร งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดออกกำลังกายในช่วงเวลานี้ เพราะจะยิ่งทำให้ตับต้องทำงานหนักในเวลาที่สมควรพักผ่อน  

03:00-05:00 น.
เวลาของ ‘ปอด’ หลับลึก ก่อนตื่นมารับอากาศบริสุทธิ์

นาฬิกาชีวิตช่วงนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงครึ่งแรกเป็นช่วงที่ร่างกายยังอยู่ในสภาวะหลับลึก และช่วงที่สองคือเวลาที่ควรตื่นนอนมารับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้ปอดได้ทำงานได้อย่างเต็มที่และสามารถส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น การตื่นมารอรับวิตามิน D จากแสงแดดยามเช้าก็ยังเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพอีกด้วย

สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ในช่วงเวลา 04:00-05:00 น. คุณยังควรตื่นนอนและทำร่างกายให้อบอุ่น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิของร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจรจะลดต่ำลงมากที่สุด เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจมีอาการกำเริบได้ง่ายในช่วงเวลานี้ 

Do: ตื่นนอนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ยืดเส้นยืดสายเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น เตรียมรอรับแสงแรกของวัน
Don’t: ดื่มน้ำหลังตื่นนอน แต่ไม่ควรดื่มน้ำเย็น

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องนาฬิกาชีวิตจะยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก แต่นักวิชาการหลายท่านก็ยอมรับว่า ร่างกายของมนุษย์มีนาฬิกาภายในที่ถูกตั้งเวลาที่เหมาะสมตามธรรมชาติไว้ และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการนอน เราก็น่าจะพอเห็นว่าเวลาเตรียมตัวเข้านอน เวลานอน และเวลาตื่น ตามหลักของนาฬิกาชีวิต 4 ช่วงเวลานี้ เป็นเหตุเป็นผลที่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อยเลย

หากว่าใครสนใจหลักการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออก ลองทำตามนาฬิกาชีวิต 4 ช่วงเวลานี้ดู ไม่แน่ เพียงแค่เปลี่ยนเวลานอน สุขภาพของคุณอาจดีขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลยก็ได้ 

ที่มา:
huachiewtcm.com
healthline.com
webmd.com

บทความที่เกี่ยวข้อง