หากลองหยิบเอาแว่นขยายมาส่องดูความเคลื่อนไหวในแวดวงแฟชั่นบ้านเรา ชื่อของ ป๊อบ กำพล ลิขิตกาญจนกุล นับเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าว เขาโลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือไทยมากว่า 2 ทศวรรษ ทำงานกับกองบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นมาแล้วแทบทุกหัว โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาฝึกงานในแผนกกราฟิกของนิตยสารแฟชั่นสุดเปรี้ยวอย่าง Lips ตามที่ได้ร่ำเรียนมา ก่อนจะสยายปีกไปสู่สายงานแฟชั่นอย่างเต็มตัวในฐานะสไตลิสต์ บรรณาธิการแฟชั่น ผู้อำนวยการฝ่ายแฟชั่น จนกระทั่งวันนี้ เขาคือหัวเรือใหญ่ของ GQ Thailand ในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร
ในอีกฟากหนึ่ง เขาคือนักคิด นักเขียน นักถ่ายทอดที่มีพรสวรรค์ด้านการสื่อสารและคลังความรู้ด้านแฟชั่นมากที่สุดคนหนึ่งที่เรารู้จัก วันนี้เราเลยชวนป๊อบมาพูดคุยถึงการทำงานของเขาจากอดีตนักศึกษาฝึกงานสู่บทบาทของบรรณาธิการบริหาร และเป้าหมายชีวิตในอนาคต พร้อมๆ กับเรื่องราวในมิติอื่นๆ ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิต ธรรมะ การเติบโต และความตาย ซึ่งน่าสนใจมากจริงๆ
ความฝัน ความหวัง การค้นหาตัวตนในรอยต่อของความเป็นวัยรุ่น
“ป๊อบเรียนด้านศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ตอนนั้นรู้แล้วแหละว่าตัวเองชอบและคิดว่าจะต้องทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะ พอจบ ปวช. ก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สามารถต่อ ปวส. ก็ได้ หรือว่าจะเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ สุดท้ายป๊อบตัดสินใจเอ็นทรานซ์เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นยังเป็นการสอบเอ็นทรานซ์แบบครั้งเดียวอยู่ คือติดก็ติด ไม่ติดก็คือไม่ติด
ปีแรกที่สอบ ป๊อบไม่ได้ใส่ใจหรือสนใจอะไรมาก คิดว่าตัวเองเกิดมาโชคดีประมาณหนึ่งและคิดว่าเดี๋ยวก็โชคดีแหละ เดี๋ยวก็สอบติด หนังสือหนังหาแทบจะไม่ได้อ่าน ใช้คำว่าขี้เกียจได้เลย วิธีตอนนั้นคือไปบนขอให้สอบติด แต่พอไม่ติดปุ๊บ ในความรู้สึกของเด็กวัยรุ่นยุคนั้นมันร้ายแรงมาก คิดว่าชีวิตเราจบแล้ว ช่วงเวลา 1 ปี ที่สอบไม่ติดทำให้ได้หยุดคิด ป๊อบเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเด็กวัยรุ่นที่เที่ยวเล่นไปวันๆ มาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และใช้เวลาทั้งปีเป็นคนใหม่ ความตั้งใจแรกคิดว่าอยากเป็นสถาปนิก ก็ไปเรียนทุกวิชาที่จะต้องใช้สอบเข้าคณะสถาปัตย์ รวมทั้งวิชาที่ไม่เคยเรียนมาด้วย เช่น ฟิสิกส์กับเลข เพราะไม่ได้เป็นเด็กสายวิทย์มา เรียนอยู่ประมาณเกือบปีเพื่อเตรียมตัวสอบในปีถัดไป”
จุดเปลี่ยนในโอเดียนสโตร์
“จุดเปลี่ยนของป๊อบเกิดขึ้นก่อนที่จะเอ็นทรานซ์ระหว่างที่เรียนพิเศษอยู่ที่สยามสแควร์ ก็เดินหลงเข้าไปในร้านหนังสือโอเดียนสโตร์ ซึ่งก่อนหน้านั้นตัวเองไม่ได้สนใจเรื่องแฟชั่นเสียเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ตอนที่เข้าไปในโอเดียนสโตร์ เลยเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นแมกกาซีนแฟชั่นต่างประเทศแบบใส่ใจครั้งแรก ซึ่งเป็นหนังสือ Vogue ฝรั่งเศส หน้าปกนางแบบผิวสีที่ถ่ายโดยช่างภาพชื่อ ณอง-บาติสต์ มงดิโน (Jean-Baptiste Mondino) ตอนนั้นเรารู้สึกว่า “เฮ้ย แมกกาซีนเล่มนี้สวยจัง” พอเปิดดู ในโมเมนต์นั้นป๊อบรู้สึกเลยว่า นี่แหละคือสิ่งที่อยากทำในอนาคต เป็นสิ่งที่เราหลงใหล เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ป๊อบเลิกเรียนฟิสิกส์และเลขไปเลย จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่าคณะอะไรที่จะต้องเรียนเพื่อที่จบมาแล้วจะได้ทำงานในแมกกาซีนแฟชั่น ซึ่งจะมีมหาวิทยาลัยอยู่ไม่กี่แห่งที่สอนเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ หรือมีสอนถ่ายภาพแฟชั่นตรงๆ ตอนเลือกคณะจึงเลือกไล่ตามลำดับคณะที่เราเชื่อว่าตรงตามสิ่งที่เราต้องการคือ สิ่งพิมพ์ ลาดกระบัง, โฟโต้ ลาดกระบัง, ภาพยนตร์ ลาดกระบัง และอันดับสี่ คือมัณฑนศิลป์ ศิลปากร และสุดท้ายก็สอบติดสิ่งพิมพ์ที่ลาดกระบัง”
ก้าวแรกสู่โลกแห่งแฟชั่น
“ตอนอยู่ประมาณปี 3 ป๊อบขอไปฝึกงาน ซึ่งตอนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำหนดว่าต้องไป แต่ตัวเองเริ่มรู้แล้วล่ะว่าถ้าอยากทำงานในวงการแฟชั่น รอเรียนจบแล้วค่อยหางานทำน่าจะยาก เพราะคิดว่างานสายนี้น่าจะต้องหาประสบการณ์ก่อน เลยใช้วิธีส่งใบสมัครไปทุกที่เพื่อไปขอฝึกงาน จนได้ไปฝึกงานที่นิตยสาร Lips ซึ่งเป็นแมกกาซีนที่เปรี้ยวที่สุดในเวลานั้น แล้วพี่ๆ ที่ทำงานที่ Lips ในเวลานั้นก็เป็นมือหนึ่งในสิ่งที่ทำทั้งหมด ตั้งแต่ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า บรรณาธิการแฟชั่น
แรกเริ่มป๊อบได้ไปฝึกงานแผนกกราฟิก ซึ่งจริงๆ เราอยากไปทำแผนกแฟชั่นแหละ แต่ด้วยความไม่รู้ว่าจะเข้าไปแผนกแฟชั่นได้อย่างไร ก็เลยคิดแค่ว่าเข้าไปให้ได้ก่อนแล้วเดี๋ยวไปหาลู่ทางเอาข้างหน้า จนพี่ลูกน้ำ (สุคนธ์ สีมารัตนกุล) ซึ่งเป็นบรรณาธิการแฟชั่นอยากได้คนไปช่วย ในตอนนั้นป๊อบเลยมีโอกาสได้ไปช่วย จากแผนกกราฟิกเลยถูกถ่ายโอนไปอยู่ในส่วนแฟชั่นโดยอัตโนมัติ หลังจากฝึกงานที่ Lips ได้ประมาณ 2-3 เดือน พี่ซึ่งเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ที่นั่นก็ได้ทุนมาเปิดแมกกาซีนเล่มใหม่ที่ชื่อว่า dna ก็เลยชวนมาทำงานด้วยกันในตำแหน่งสไตลิสต์ตั้งแต่ช่วงปี 2000 ตอนนั้นป๊อบจึงเริ่มทำงานประจำตั้งแต่ตอนเรียนชั้นปี 4 และทำงานในสายแฟชั่นเรื่อยมาจนถึงวันนี้”
ชีวิตนักเรียนสายแฟชั่นที่อังกฤษ
“หลังจากทำงานที่นิตยสาร dna ได้ประมาณ 3 ปี ป๊อบรู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัว และคิดว่าถึงเวลาต้องไปเรียนต่อแล้ว ปี 2004 จึงเดินทางไปเรียนในระดับประกาศนียบัตร สาขาธุรกิจแฟชั่นที่ London College of Fashion เพื่อเรียนรู้พื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น ชีวิตนักเรียนที่นั่นนอกจากความรู้ที่ได้แล้ว ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ป๊อบได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และทำให้โลกของป๊อบกว้างขึ้นมาก ซึ่งทำให้มุมมองเรื่องแฟชั่นของป๊อบเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเลย เพราะเราได้เห็นมุมมองทางศิลปะในด้านอื่น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จุดประกายให้รู้ว่า ไม่ว่าจะศิลปะ แฟชั่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นไปของสังคมในยุคต่างๆ ล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อกันหมด
ช่วงแรกของการทำงาน ป๊อบมองแฟชั่นเหมือนการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินที่ทุกสิ่งที่สร้างขึ้นมีจุดประสงค์เดียวคือ การตอบสนองความรู้สึกของตนเองและมันต้องทำให้เรามีความสุข โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ตราบใดก็ตามที่เรารู้สึกว่ามันสวยที่สุดในแบบที่เราอยากได้
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้มุมมองแฟชั่นของป๊อบจากครั้งหนึ่งที่ serve ตัวเอง เป็น self-interest ก็เริ่มกลมกล่อมขึ้น เริ่มเข้าใจว่าจริงๆ แล้วแฟชั่นส่งผลต่ออะไรบ้าง มีเหตุและปัจจัยอะไรรอบตัวบ้างที่ทำให้แฟชั่นนี้เกิดขึ้นและน่าสนใจ มุมมองแฟชั่นเริ่มมีการผสมผสานกันระหว่างงานอาร์ตกับงานเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย เพราะฉะนั้นเวลาเราอ่านแฟชั่นในวันนี้ ป๊อบจะเข้าใจแล้วว่า การดึงแฟชั่นออกไปเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งอื่นเลยมันทำไม่ได้ เพราะมันมีเหตุและปัจจัย ซึ่งแง่มุมที่ว่าเลยกลายเป็นสิ่งที่สอนเราตอนที่มาทำงานนิตยสารว่าเราควรจะต้องทำงานอย่างไร ต้องหาแง่มุมแบบไหนบ้างในการทำงาน”
การก้าวสู่ยอดพีระมิด
“หลังจากอยู่อังกฤษมาปีหนึ่ง ปี 2005 ป๊อบกลับมาเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานให้กับนิตยสารเกือบทุกหัวในประเทศไทย จนต้นปี 2011 ป๊อบย้ายกลับไปอยู่ที่ลอนดอนเพราะตั้งใจว่าจะลองไปใช้ชีวิตจริงๆ ที่นั่น และอยากลองดูว่าถ้าเราไปทำงานแฟชั่นแบบเต็มตัวจะเป็นอย่างไร จากคนที่มีชื่อเสียงประมาณหนึ่งในเมืองไทยในฐานะสไตลิสต์ก็ไปนับหนึ่งใหม่ เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ ทำแบบไม่ได้เงินอยู่ประมาณเกือบ 2 ปี ก็ปรากฏว่าที่ไทยตอนนั้น นิตยสาร Grazia ประกาศหาบรรณาธิการแฟชั่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ลอนดอนค่อนข้างแย่จากผลกระทบของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ป๊อบเลยกลับมาทำงานให้ Grazia อยู่พักหนึ่ง แล้วพี่ไก่ (กุสุมา ไชยพร) ซึ่งตอนนั้นเป็น บก. ที่นิตยสาร L’Officiel ก็เริ่มมองหาบรรณาธิการแฟชั่นเพื่อมาแทนคนเก่าที่ลาออกไป ป๊อบจึงตัดสินใจไปสมัครและได้ทำงานที่ L’Officiel อยู่ 2 ปี โดยตำแหน่งสุดท้ายที่นั่นคือผู้อำนวยการฝ่ายแฟชั่น
ในเวลาเดียวกันนั้น พี่ฟอร์ด (กุลวิทย์ เลาสุขศรี) บก. นิตยสาร Vogue Thailand กำลังจะเปิดนิตยสารใหม่ซึ่งเป็นนิตยสารผู้ชายที่ชื่อว่า GQ พอดีและกำลังหาบรรณาธิการแฟชั่น ก็เป็นช่วงที่เปลี่ยนงานอีกรอบหนึ่ง และป๊อบก็อยู่ที่ GQ จนถึงทุกวันนี้ ทำงานจากตำแหน่งบรรณาธิการแฟชั่น ผู้อำนวยการฝ่ายแฟชั่น มาสู่หน้าที่ของบรรณาธิการบริหารในปัจจุบัน ปีนี้นับเป็นปีที่ 6 แล้วที่อยู่กับ GQ”
บรรณาธิการบริหารในแบบป๊อบ-กำพล
“เมื่อก่อนป๊อบเป็นคนที่ทำงานทุกอย่างแบบ one man show ตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว จะมีคำหนึ่งที่ป๊อบพูดเสมอก่อนเริ่มทำอะไรยากๆ ว่า ‘ไม่มีอะไรในโลกที่ป๊อบทำไม่ได้’ ป๊อบเป็นคนที่มีอีโก้เยอะประมาณหนึ่งและมั่นใจในตัวเองมาก จะไม่เชื่อใจให้ใครทำอะไรให้ ถ้าทำได้ก็จะทำเองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นแบบใคร หรือฉันจะต้องทำงานแบบไหน เพราะสร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง พอมาถึงวันนี้ ป๊อบรู้สึกว่าวิธีการคิดแบบนั้นไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ ซึ่งป๊อบอาจจะประสบความสำเร็จเร็วกว่านี้ก็ได้ถ้าไม่ได้คิดแบบนี้ ขณะเดียวกัน คงเพราะว่าตัวเองคิดแบบนี้ละมั้งเลยทำให้ป๊อบเป็นป๊อบในวันนี้ ค่อยๆ เติบโตขึ้น เรียนรู้ทุกอย่างจากการล้มลุกคลุกคลาน
แต่ในเวลานี้ ป๊อบไม่ได้มีความเชื่อใน one man show อีกต่อไปแล้ว ป๊อบเคารพคนทำงานอื่นๆ ที่ทำร่วมกัน เพราะรู้แล้วว่าในชีวิตการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เป็นเพราะว่าตัวเราดีที่สุดคนเดียว แต่เป็นเพราะว่าคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่กลับเป็นคนที่ดีที่สุดในบทบาทของพวกเขาด้วย ฉะนั้นงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ป๊อบภูมิใจกับทีมงานทั้งหมด ซึ่งถ้ามีใครสักคนเดินมาบอกว่านิตยสาร GQ ในวันนี้สวย ทันสมัย เนื้อหาดีจัง มันไม่ได้เป็นเพราะว่าป๊อบคนเดียวที่ทำให้นิตยสารดี แต่เป็นเพราะทุกคนที่อยู่ในองค์กรช่วยกัน ป๊อบอาจจะมีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการไกด์ทิศทาง แต่สุดท้ายแล้ว ผลงานที่เกิดขึ้นก็มาจากการที่ทุกหน่วยทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างดี แล้วผมก็มีหน้าที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดเอามารวมกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ป๊อบให้ความสำคัญมากในการทำงาน ณ ตอนนี้”
วันที่ work-life ไม่ balance
“ถ้าถามว่าปัญหาของการทำงานในวันนี้คืออะไร สำหรับตัวป๊อบ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราหาคอนเทนต์ไม่ได้ ไม่สร้างสรรค์พอ หรือทำงานไม่มากพอ แต่คือเราจะสร้างสมดุลของการทำงานในชีวิตเราแบบไหน อย่างที่ทุกคนเห็นๆ กัน ว่าโซเชี่ยลมีเดียกำลังทำให้ชีวิตทุกคนพังหมด ป๊อบไม่ได้พูดในแง่มุมที่ว่าป๊อบเป็นคนทำงานสื่อสิ่งพิมพ์นะ เพราะว่าใน GQ เองก็มีออนไลน์ด้วยเหมือนกัน ซึ่งคนทำงานออนไลน์จะรู้สึกเหมือนกันว่าเราต้องทำงานตลอดเวลาไหม ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นตอนตี 2 จะต้องลุกขึ้นมาโพสต์ไหม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ป๊อบกับ GQ ทำ คือพยายามหาจุดสมดุลในการทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทุ่มเทชีวิต 100% ให้กับงานที่ทำ เพราะทุกคนยังมีแง่มุมอื่นๆ ในชีวิต แล้วป๊อบก็อยากให้ทุกคนมีความสุขในแง่มุมอื่นๆ นั้นด้วย มีช่วงเวลาฟรีไทม์เพื่อจะได้ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำเลยก็ได้ เช่น ทุกวันนี้ป๊อบก็เริ่มเรียนจัดดอกไม้และเริ่มเรียนดนตรี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานที่ป๊อบทำเลย แต่มันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
เพราะฉะนั้น ป๊อบอยากให้ทุกคนในทีมมีเวลาเพียงพอที่จะสามารถแบ่งไปทำงานอดิเรกได้ อยู่กับครอบครัวได้ ปัญหาอย่างเดียวของการทำงานวันนี้คือ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด โดยที่ยังสามารถบาลานซ์ชีวิตของเราเองได้ด้วย ตอนนี้ป๊อบก็ยังไม่สามารถหาทางออกที่ดีที่สุดได้นะ ยังอยู่ในช่วงทดลองอยู่ ซึ่งสำหรับ GQ ถ้าไม่ฉุกเฉินหรือไม่จำเป็นจริงๆ วันเสาร์อาทิตย์ เราจะไม่คุยงานกันเพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาส่วนตัวของตัวเอง”
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งแฟชั่น
“นอกจากงานประจำแล้ว ป๊อบยังไปสอนนักเรียนแฟชั่นที่คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากรด้วย จริงๆ ตอนที่ไปสอน ตัวเองก็ไม่ได้เรียนหรือมีประสบการณ์ในการสอนหนังสือเหมือนกัน แค่คิดว่าความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และมุมมองบางอย่างที่มีน่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ กับวิชาชีพ การทำงาน และมุมมองของพวกเขา เลยอยากไปแชร์สิ่งเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่สอนอาจจะยังไม่ได้เป็นประโยชน์กับเขาเดี๋ยวนี้ แต่วันหนึ่งข้างหน้า เขาอาจจะได้ใช้
ในขณะที่คนมองแฟชั่นในเรื่องของความสวยกับไม่สวย ขายได้กับขายไม่ได้ แต่สิ่งที่ป๊อบพยายามจะชี้ให้เห็น คือเสื้อผ้ามีเรื่องราวมากกว่านั้น อย่างเช่นเสื้อผ้าที่ กอมม์ เดส์ การ์ซงต์ส (Comme des Garçons) ทำ เป็นเสื้อที่ใส่ไม่ได้จริง แต่ทำไมคนแฟชั่นต่างชื่นชม ทุกคนชอบ อะไรที่ทำให้เสื้อเหล่านี้สวย หรืองานแบบ มาร์แตง มาร์เจียล่า (Martin Margiela) ซึ่งเขาเลิกทำเสื้อไปแล้ว แต่เขาชอบทำเสื้อแบบขาดๆ ลุ่ยๆ เหมือนกับกรรไกรตัดเละๆ เทะๆ แต่คนในวงการแฟชั่นหรือคอแฟชั่นจริงๆ กลับชื่นชม มันมีมุมอะไรนะที่ทำให้งานของเขาดี ป๊อบคิดว่าในเมืองไทยไม่ค่อยมีคนพูดในเรื่องนี้ หรือถ้ามีก็น้อยมาก เลยอยากทำให้มุมเหล่านี้เปิดกว้างขึ้น และทำให้คนรู้สึกว่าเสื้อผ้าเป็นมากกว่าการทำออกมาขายเฉยๆ ซึ่งถ้าคุณสามารถใส่มุมมองแบบนี้เพิ่มเข้าไปได้ มันก็ทำให้มูลค่าของเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การเพิ่มมูลค่าต่างๆ อยู่ที่มุมมองและวิธีการคิดด้วย นี่เลยเป็นสิ่งที่เราอยากจะไปสอนนักเรียนแฟชั่น แล้วก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ป๊อบเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในเฟสบุ๊กด้วย เพราะคิดว่าสิ่งที่เราทำมันจะกลายเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยจุดประกายทำให้วงการแฟชั่นเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”
นักเขียนที่ทำงานเหมือนตัวละครใน Alice in Wonderland
“ป๊อบขอออกตัวก่อนว่าป๊อบเป็นคนที่ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนมาและไม่ได้เป็นคนเขียนหนังสือเก่งด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเขียนงานครั้งไหน เรื่องใด ป๊อบจะถามตัวเองก่อนว่าฉันอยากอ่าน อยากรู้ไหมในสิ่งที่กำลังจะเขียน ทุกครั้งที่เริ่มงาน ป๊อบจะสมมติตัวเองว่าเป็น Alice ในเรื่อง Alice in Wonderland ที่กระต่ายในเรื่องเอาเบาะแสบางอย่างมาบอกเรา ซึ่งในหลายๆ เรื่องที่เขียนไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ป๊อบรู้อยู่แล้วนะ บางเรื่องก็ไม่เคยรู้เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเจอสิ่งที่น่าสนใจ ป๊อบจะเริ่มแกะรอยจากเบาะแสเหล่านั้น หาข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร เกี่ยวข้องกับอะไร อยู่ในสังคมยุคไหน และในยุคสมัยนั้นๆ เป็นอย่างไร
พอรู้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ป๊อบค่อยนำมาย่อย ยิ่งงานเขียนที่มีเรื่องราวซับซ้อนมากเท่าไหร่ ป๊อบก็จะยิ่งต้องมีการแพลนไอเดียต่างๆ ในหัวก่อนว่าเราอยากบอกอะไรบ้าง แล้วค่อยนำเรื่องทั้งหมดมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งบางเรื่องก็ต้องผ่านการรีไรท์เยอะมาก เพราะฉะนั้นการเขียนครั้งหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเขียนปุ๊บทีเดียวแล้วจบเสร็จเลย แต่ยังต้องอ่านอีก 3-4 รอบ เพื่อถามตัวเองว่า ถ้าฉันเป็นคนที่ไม่เข้าใจแฟชั่น ฉันจะเข้าใจสิ่งที่ฉันเขียนไหม วิธีการเขียนของฉันคนอ่านจะเข้าใจไหม งานเขียนของป๊อบจึงไม่ได้มีคำหรูหรา ไม่ได้ประดิษฐ์คำ ไม่ได้มีสำนวนอะไรที่สลับซับซ้อน แต่จะเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาษาธรรมดาที่คนอ่านแล้วเข้าใจง่ายที่สุด
แต่มันก็มีวันที่คิดงานไม่ออกเหมือนกันนะ วิธีการของป๊อบคือหยุดเลย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องสนใจ แล้วเดี๋ยวสักพักหนึ่งค่อยกลับมาคิดใหม่ บางทีการที่เราพยายามมากๆ งานก็จะไม่ดี ดูฝืน ไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าเขียนไม่ออก ก็แค่หยุด แล้วไปทำอย่างอื่นเลย รอให้เราโล่งๆ แล้วค่อยกลับมาทำใหม่”
เพราะยังมี passion จึงยังรักใน fashion
“จนวันนี้ ป๊อบยังคงรักในแฟชั่นอยู่ตราบใดที่ยังมีนักออกแบบหรือมีคนทำงานแฟชั่นซึ่งน่าสนใจ หลายงานเขียน หลายสิ่งที่ป๊อบทำจะสังเกตเลยว่ามีอะไรให้พูดถึงเสมอ ทุกวันนี้ที่ป๊อบรู้สึกว่าแฟชั่นยังสนุกอยู่เพราะยังมีนักออกแบบอย่าง อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) นักออกแบบของกุชชี่ หรือ ดีมนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) นักออกแบบของบาเลนเซีนก้า รวมทั้งนักออกแบบดีๆ อีกหลายคนที่ได้สร้างสรรค์งานเสื้อผ้าที่ซ่อนเรื่องราวมหัศจรรย์อยู่ในนั้น ทำให้ทุกครั้งที่ป๊อบมองแฟชั่นหรือเขียนงานเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำ ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็น Alice in Wonderland อยู่เสมอ เจอสิ่งมหัศจรรย์มากมาย ซึ่งการได้เขียนงานที่มีโมเมนต์แบบนี้ เลยทำให้ป๊อบยังอยากทำงานในวงการแฟชั่นอยู่เพราะยังมีพวกเขาเหล่านี้อยู่”
ธรรมะเปลี่ยนมุมมองชีวิต
”สำหรับเรื่องศาสนา เมื่อก่อนถ้าจะบอกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีศาสนาก็ได้นะ ป๊อบเชื่อว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนสามารถเป็นคนดีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้า ไม่จำเป็นต้องมีบาปหรือกรรม แต่เราอยู่ได้ด้วยหลักมนุษยธรรมและศีลธรรม รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ป๊อบจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะดีมากๆ เลย ถ้าโลกหลังความตายหรือการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอยู่จริง เพราะตั้งแต่เด็กๆ รู้ตัวเองเลยว่าชอบไอเดียของการตายแล้วดับเหมือนชัตดาวน์เครื่องคอมพิวเตอร์ พอเริ่มโตขึ้นก็เริ่มมีคำถามว่า ถ้าสิ่งที่เราเชื่อว่าโลกหลังความตายไม่มีอยู่จริงนั้นผิด อะไรจะรับประกันได้ว่าฉันจะไม่เกิดอีกต่อไป ตอนนั้นเลยเริ่มมองหาแผนสำรอง เริ่มลองศึกษาจุดมุ่งหมายของศาสนาต่างๆ และพบว่ามีวิธีคิดเรื่องนิพพานในศาสนาพุทธ และมันคือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เราต้องการนั่นคือ การตายแล้วจบเลย ตายแล้วไม่เกิด ป๊อบจึงตัดสินใจไปบวชเพื่อไปดูว่า นิพพานคืออะไร และมีจริงไหม
ตอนบวชที่วัดป่าในจังหวัดอุบลราชธานี กิจวัตรของพระจะไม่ได้มีเยอะมาก ป๊อบเลยไปรื้อห้องสมุดที่วัด และได้หนังสือเล่มแรกเป็นของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ชื่อว่า “จิตว่าง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความว่าง ซึ่งเป็นแก่นของพุทธศาสนา กับหนังสืออีกเล่มที่ชื่อ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น” ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงวิธีการคิดของศาสนาพุทธในแบบเซ็น ปรากฏว่าตอนที่อ่านเล่มของท่านอาจารย์พุทธทาสเราก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่า ความว่างที่ท่านพุทธทาสพูดถึงนี่แหละคือนิพพาน คือการจบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ทำให้ป๊อบเชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นเรื่องจริง มันมีความว่างอยู่ในทุกสิ่งจริงๆ เพราะทุกอย่างในโลกนี้เปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งถ้าเรายอมรับได้ว่าไม่มีอะไรอยู่ได้ตลอดกาล เราจะไม่ทุกข์และรู้สึกยึดติด
แต่ก่อนป๊อบเป็นคนอารมณ์ร้อน ไม่ยอมใคร ถ้าทะเลาะคือพร้อมปะทะ แต่หลังจากที่บวชมา ป๊อบเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้นว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการที่เราไปยึดถือ ไปคาดหวังว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอไม่เป็นแบบที่เราคาดหวัง ก็เลยเกิดปฏิกิริยาบางอย่างที่ทำให้เราชอบหรือเราไม่ชอบ ฉะนั้น ป๊อบจะพยายามดูความรู้สึกของตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเรา เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและตัวตนที่เราเป็น เลยกลายเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามากระทบจิตใจเราในวันนี้ ที่ทำให้เรารู้สึกชอบและไม่ชอบ รู้สึกโกรธหรือเฉยๆ เราเริ่มกลับมาวิเคราะห์ตัวเองตลอดเวลาว่าทำไมถึงเกิดสิ่งนั้น ทำไมถึงเกิดความรู้สึกแบบนี้ เมื่อวิเคราะห์ได้ ก็ทำให้ชีวิตป๊อบมีความสุขขึ้นนะ เพราะมันวางได้มากขึ้น โกรธคนน้อยลง ทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น แล้วก็เริ่มเข้าใจด้วยว่าความสุขที่มีอยู่ตอนนี้ก็เป็นความสุขชั่วคราวและจะไม่อยู่ตลอดไป ทำให้เราเตรียมตัวว่าพอถึงวันหนึ่งความสุขอันนี้จะหายไปนะ แล้วถ้ามันหายไป เราก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นไร เพราะรู้อยู่แล้วว่ามันต้องหายไป”
วันว่างกับการเรียนอิเคบานะและทฤษฎีดนตรี
“ทุกวันนี้ป๊อบเริ่มเรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ (Ikebana) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานที่ป๊อบทำ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแฟชั่นด้วย แต่มีความรู้สึกว่าการจัดดอกไม้เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นช่วงเวลาที่ป๊อบได้อยู่กับตัวเอง เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ซึ่งอิเคบานะจะไม่เหมือนการจัดดอกไม้แบบฝรั่งที่เลือกดอกไม้มา แล้วหาวิธีผสมๆ ให้ลงตัว แต่อิเคบานะมีความน่าสนใจมากอย่างหนึ่ง คือลักษณะของกิ่งไม้หรือดอกไม้ทั้งหมดที่เขาใช้ เราจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าแต่ละดอก แต่ละกิ่งสวยงามอย่างไร มีแง่มุมไหนที่สวยงามบ้าง บางกิ่งไม้อาจจะหงิกๆ งอๆ หรือดอกไม้อาจมีบางส่วนที่เน่าไป แต่ในความไม่สมบูรณ์นั้นก็สามารถสร้างความสวยงามได้ ซึ่งเหมือนกับการทำวิปัสสนาในแบบพุทธศาสนา คือการพิจารณาดูสิ่งต่างๆ ว่าสร้างผลกระทบต่อเราอย่างไร ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ทำให้ป๊อบเข้าใจตัวเองและเข้าใจชีวิต แล้วป๊อบแพลนไว้ด้วยว่า วันหนึ่งที่ตัวเองออกจากวงการแฟชั่น ป๊อบอาจจะเป็นครูสอนจัดดอกไม้ก็ได้ หาเงินเล็กๆ น้อยๆ จากการไปสอนจัดดอกไม้
หลังจากเรียนจัดดอกไม้ ป๊อบมีโอกาสได้เรียนทฤษฎีเกี่ยวกับดนตรีด้วย เพื่อให้รู้ว่าดนตรีในแบบ concert music และ classical music เริ่มมาจากไหน มีนักดนตรีแบบไหนบ้าง โครงสร้างต่างๆ ของดนตรีเป็นอย่างไร ซึ่งเหตุผลที่เรียนก็อย่างที่บอกว่า แฟชั่นมันเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งดนตรีด้วย ดังนั้นป๊อบเลยอยากจะเรียนรู้ความรู้ต่างๆ ในสายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแฟชั่นให้ได้มากที่สุด”
ดูแลทั้งกายและใจให้สุขเท่าๆ กัน
“ป๊อบเป็นคนที่ออกกำลังกายบ้างนะ แต่ไม่ได้ถึงขนาดที่เข้ายิมเพาะกล้ามอะไรขนาดนั้น โดยปกติเวลาที่ป๊อบไปทำงาน จะใช้การเดินตลอด จากคอนโดตรงสะพานหัวช้างไปออฟฟิศที่ Central World ขณะที่จิตใจเองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราต้องใส่ใจด้วย ทุกวันนี้ ถ้ามีโอกาส ป๊อบจะจัดเวลาไปทำงานจิตอาสามากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดีประมาณหนึ่ง ถึงจะไม่ได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ก็ไม่ได้ลำบาก เลยอยากช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งการที่เราได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการช่วยเหลือสังคม ทำให้คนอื่นดีขึ้นไม่ว่าทางใดก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วความสุขนั้นก็กลับมาหาตัวเราด้วย เป็นการช่วยเติมเต็มส่วนจิตใจด้วย
การทำงานในวงการแฟชั่นมันมีข้อเสียอย่างหนึ่ง คือพอทำงานไปนานๆ หรือมากๆ บางทีก็เป็นอาชีพที่ทำให้เรามีอีโก้ รู้สึกว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ การทำงานเพื่อคนอื่นเป็นการทำให้เราดึงตัวเองให้ลงมาติดดินมากขึ้น และตระหนักได้ว่า จริงๆ แล้วเราเองก็เป็นคนธรรมดา เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่ป๊อบได้เรียนรู้ ซึ่งถ้าถามว่าวันนี้เปลี่ยนไปจากสิ่งที่คิดเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างไร ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยล่ะ”
วิชาชีวิตลิขิตกำพล
“ความสุขของป๊อบในวันนี้คือการเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น เข้าใจชีวิต และความเป็นไปของชีวิต ซึ่งนั่นทำให้ป๊อบหยุดและสงบ ป๊อบวางแผนว่าน่าจะทำงานประมาณอีกแค่ 10 ปี ไม่เกินนี้ ถ้าเป็นไปได้ หลังจากเกษียณแล้ว ป๊อบอยากไปอยู่ที่สก๊อตแลนด์ แบบเกาะไกลๆ ไปยากๆ เพื่อที่ตัวเองจะได้ไปใช้ชีวิต ศึกษาธรรมะให้บรรลุ ชีวิตอาจจะมีแค่การทำวิปัสสนาหรือนั่งสมาธิอย่างเดียว หรืออาจจะไปบวชที่ต่างจังหวัด เลิกใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะตัวเองมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตในวันนี้ คือการตายแล้วไม่ต้องเกิดอีกต่อไป ซึ่งเอาจริงๆ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ป๊อบเคยวางแผนไว้ตั้งแต่เด็กๆ แต่ก่อนป๊อบอยากร่ำรวยมีเงินทอง อยากแต่งตัวดีๆ อยากมีเงินไปเที่ยวทั่วโลก แต่วันนี้ชีวิตป๊อบเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ป๊อบอยากได้อีกต่อไปแล้ว”
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
ภาพบางส่วน: กำพล ลิขิตกาญจนกุล