Dan Buettner แนะนำคำว่า ‘Blue Zone’ ให้เรารู้จักเป็นครั้งแรกผ่านบทความในนิตยสาร National Geographic เมื่อปี 2005 บทความนั้นและบทความเกี่ยวกับ Blue Zone อีกชิ้นที่ Buettner ตีพิมพ์ใน The New York Times Magazine ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ในเวลาต่อมาเขากลายเป็นเจ้าของหนังสือขายดีหลายเล่มที่ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับ Blue Zone
ในความหมายของ Buettner คำว่า Blue Zone คือดินแดนที่มีคนที่อายุยืนมากกว่าปกติอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยตัวเลขที่เขากำหนดไว้สำหรับ “อายุยืนมากกว่าปกติ” นั้น คือ 90-100 ปี และที่สำคัญต้องเป็นผู้เฒ่าอายุร้อยปีที่มีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรงทั้งกายและใจด้วย ในหนังสือเล่มแรกของเขา ‘The Blue Zones: Lessons for Living Longer from the People Who’ve Lived the Longest’ (ฉบับภาษาไทยชื่อ ‘ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี: บทเรียนเพื่อชีวิตยืนยาวจากคนที่มีอายุยืนยาวที่สุด’ โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง)
Buettner กล่าวถึง Blue Zone ที่มีผู้อายุยืนมากกว่าปกติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 4 แห่ง คือ โอกินาว่า ในญี่ปุ่น, ซาร์ดิเนีย ในอิตาลี, นิโคย่า ในคอสตาริกา และชุมชนเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนติส ในเมืองโลมาลินดา สหรัฐอเมริกา
Buettner เดินทางไปยัง Blue Zone ต่างๆ เพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของผู้เฒ่าอายุร้อยปีว่ามีปัจจัยร่วมอะไรบ้างที่อาจเป็นสาเหตุให้พวกเขามีสุขภาพดีและอายุยืนยาว เขาถ่ายทอดการเดินทางเหล่านั้นออกมาในรูปแบบบันทึกซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย แต่วันนี้ เราลองสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่น่าจะมีส่วนทำให้อายุยืนยาวมา 8 ข้อ ด้วยกัน
1. เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีผู้เฒ่าอายุร้อยปีคนไหนที่มีสุขภาพแข็งแรงจากการเข้ายิม วิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายอย่างหนักแบบใดแบบหนึ่งเป็นพิเศษ แต่พวกเขาส่วนมากมักไม่อยู่นิ่งเฉย ผู้สูงวัยแต่ละคนมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายทุกวัน เช่น ผู้เฒ่าในโอกินาวาที่ทำสวนทุกวัน ผู้เฒ่าในโลมาลินดาที่เดินเป็นประจำ และคุณตาคุณยายอายุร้อยปีในนิโคย่าที่มีคติประจำใจว่า “ทำงานให้มาก” ไม่ใช่งานนั่งโต๊ะที่เคร่งเครียด แต่ล้วนเป็นงานที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น จ่ายตลาด ทำอาหาร หรือหญิงชราท่านหนึ่งที่ในวัย 100 ปี ก็ยังคงผ่าฟืน กวาดลานบ้าน และใช้มีดดายหญ้าเป็นประจำทุกวัน
2. กินผักผลไม้
ผู้สูงวัยใน Blue Zone ทั้ง 4 แห่ง ต่างมีอุปนิสัยในการบริโภคที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ กินผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดขาว และถั่วเปลือกแข็งเป็นหลัก ส่วนเนื้อสัตว์นั้นจะกินเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น และกินในปริมาณที่น้อยมาก ข้อดีของการบริโภคโปรตีนในปริมาณจำกัดนี้ Dr.Leslie Lytle นักโภชนาการ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ผู้ใหญ่ทั่วไปจะต้องการโปรตีนต่อวันในปริมาณ 0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 2.2 ปอนด์ เท่านั้น หากร่างกายได้รับโปรตีนมากกว่านั้น มันจะเปลี่ยนโปรตีนให้กลายเป็นแคลลอรี และหากเราไม่ได้มีกิจกรรมในแต่ละวันที่ใช้กำลังมากพอ แคลลอรีนั้นก็จะกลายเป็นไขมัน
ตามสถิติที่พบยังบ่งบอกอีกว่า ชาวเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนติสหลายคนที่เป็นมังสวิรัติยังมีสุขภาพดีปลอดจากโรคมะเร็งหลายประเภท อย่างคนที่กินถั่วฝัก เช่น ถั่วลันเตา และถั่วอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว ราว 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ลดลง 30-40% ส่วนหญิงชาวเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนติสที่กินมะเขือเทศเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง มีอัตราเป็นมะเร็งรังไข่ลดลง 70% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่กินน้อยกว่า
3. กินแค่พอหายหิว
ก่อนกินอาหารแต่ละมื้อ หญิงชายชราชาวโอกินาวาจะนั่งสงบจิตใจและกล่าวพึมพำว่า “ฮารา ฮาจิ บู” คำกล่าวนั้นเป็นภาษิตขงจื๊อที่เตือนใจให้ตัวเองกินแค่หายหิวเท่านั้น หรือกินจนรู้สึกอิ่มแค่ 80% เพราะกระเพาะอาหารจะใช้เวลาราว 20 นาที ในการส่งสัญญาณไปยังสมองว่าตัวมันอิ่มแล้ว
การรับประทานอาหารให้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการจะทำให้ระบบเมตาโบลิซึมทำงานช้าลง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตอนุมูลอิสระที่จะย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายน้อยลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การกินให้น้อยที่ถูกวิธีที่สุดคือการเลือกบริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลลอรีต่ำ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพืชผัก อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
4. มีเป้าหมายในชีวิต
ชาวโอกินาวาเรียกสิ่งนี้ว่า “อิคิไก” (Ikigai) ส่วนชาวนิโคยาเรียกว่า “ปลัน เด ปีดา” (Plan de Vida) ทั้งสองคำนี้มีความหมายเหมือนกันคือ “ฉันตื่นมาตอนเช้าเพื่ออะไร” การมีเป้าหมายชีวิตอย่างชัดเจนทำให้ผู้สูงอายุมีบางสิ่งที่มีความหมายรอให้พวกเขาตื่นมาตอนเช้าเพื่อทำมัน โดยเป้าหมายที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ตามแบบค่านิยมของสังคม แต่อาจเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดา แต่พิเศษในตัวเอง เช่น เลี้ยงดูลูกหลานให้เติบใหญ่อย่างแข็งแรงและมีความสุข หรืออาจเป็นงานอดิเรกที่มีความเพลิดเพลิน มีความสุขที่ได้ทำ รวมทั้งช่วยให้เกิดสมาธิขณะทำได้อย่างดี
5. ใช้ชีวิตช้าๆ
เราสามารถจะใช้ชีวิตช้าๆ ไปพร้อมกับมีเป้าหมายในชีวิตได้ในเวลาเดียวกัน เพราะถ้าเราเอาแต่วิ่งเข้าหาเป้าหมายอย่างหน้ามืดตามัว เราก็อาจสูญเสียช่วงเวลาล้ำค่าหลายอย่างในชีวิตไป
Buettner อธิบายถึงคำกล่าวนี้ได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเขายกตัวอย่างถึงผู้เฒ่าในโอกินาวาที่ละจากงานตรงหน้าชั่วครู่เพื่อมองดูฟ้าแลบอันสวยงาม และคนเลี้ยงแกะชาวซาร์ดิเนียที่หยุดยืนมองทุ่งหญ้าเขียวขจีจากบนพื้นที่ราบสูงอยู่นาน ทั้งๆ ที่เขาเห็นทุ่งหญ้านี้มาเกือบทุกวันตลอด 80 ปี ส่วนชาวเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนติสนั้นจะมีพิธีสะบาโตที่ถือว่าช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินในวันศุกร์จนถึงพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์คือช่วงเวลาที่พวกเขาจะไม่ทำงาน แต่จะใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว ธรรมชาติ และพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเวลาที่พวกเขาได้พักจากชีวิตวุ่นวายในยามปกติ
6. มีความสุขกับแสงแดด
การใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านท่ามกลางแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตวิตามินดี Dr.Greg Plotnikoff แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานร่วมกับ Buettner อธิบายว่า หากร่างกายไม่ได้รับวิตามินดีเพียงพอจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับโรคร้ายหลายอย่าง เช่น มะเร็ง ความดันเลือดสูง เบาหวาน และโรคจากระบบภูมิต้านทานผิดปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคไต การขาดวิตามินดีจะเร่งให้เกิดโรคหัวใจ ส่วนสำหรับคนทั่วไป จะทำให้กระดูกเปราะ กล้ามเนื้อมัดสำคัญที่สะโพกและขาจะอ่อนแรง ทำให้มีโอกาสที่จะหกล้มและกระดูกหักมากขึ้น และเมื่อผู้สูงวัยกระดูกสะโพกหัก พวกเขามีแนวโน้มจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี การได้รับแสงแดดมากเกินไปอาจทำให้คุณเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เขาจึงแนะนำให้เราใช้เวลา 10-15 นาที กลางแดด สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF เพียงพอ
7. มีสังคมที่รักและเกื้อกูลกัน
การที่คนเรามีครอบครัว ญาติสนิท หรือมิตรสหาย ที่ต้องการเรามากพอๆ กับที่เราต้องการเขา ไม่เพียงแต่เป็น “อิคิไก” หรือ “Plan de Vida” แบบหนึ่งเท่านั้น แต่การที่พวกเขายินดีจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันในยามที่ใครคนใดคนหนึ่งเกิดปัญหา ก็ยังช่วยให้พวกเขาแบกรับความเครียดและความทุกข์น้อยลงด้วย
โอกินาวามีประเพณีที่เรียกว่า “โมอิ” หรือการรวมกลุ่มกันเพื่อพูดคุยปรึกษาเรื่องสัพเพเหระ และช่วยเหลือกันทั้งในเรื่องการเงินและอารมณ์ ส่วนชาวซาร์ดิเนียนั้นมีสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง พวกเขาอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่และให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง ปู่ย่าตายายจะได้ใช้เวลาและร่วมเลี้ยงดูหลานและเหลน ก่อเกิดเป็นสายใยที่ดีต่อสุขภาพจิต เช่นเดียวกับการที่ผู้สูงอายุได้อาศัยอยู่กับครอบครัวและได้รับการดูแลจากลูกหลานที่มีความผูกพันกัน ย่อมส่งผลดีต่อจิตใจมากกว่าผู้สูงอายุในอีกหลายประเทศที่มักใช้เวลาในช่วงบั้นปลายอยู่ในสถานดูแลคนชราตามลำพัง
8. คิดบวก มองโลกในแง่ดี
ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ใน Blue Zone ไม่ได้มีชีวิตสะดวกสบายอย่างที่เราอาจเข้าใจกัน ชายชาวซาร์ดิเนียส่วนมากประกอบอาชีพเลี้ยงแกะ พวกเขายังคงล่าสัตว์ ตกปลา และเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรด้วยตัวเอง แต่การงานที่หนักเหนื่อยก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเคร่งเครียดไปกับมัน ชายชาวซาร์ดิเนียขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ขัน แม้แต่ปัญหาหลายอย่างในชีวิต พวกเขาก็สามารถมองมันให้เป็นเรื่องตลกแบบประชดประชันได้ ช่วงบ่ายของทุกวัน พวกเขาจะออกมาพบปะสังสรรค์กันตามถนนและหัวเราะลั่นกับมุกตลกต่างๆ
ในทำนองเดียวกัน ผู้สูงวัยในโอกินาวานั้นมีชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบากและล้วนมีความทรงจำเลวร้ายจากสงคราม แต่พวกเขารู้จักปล่อยให้อดีตเลยผ่านไปและมีความสุขเรียบง่ายกับปัจจุบัน
–
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสรุปสำคัญ 8 ข้อ จากหนังสือเล่มหนาที่ติดอันดับขายดีทั่วโลกของ Dan Buettner หากใครสนใจอยากรู้จักขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปีมากกว่านี้ เราแนะนำให้ลองหาหนังสือเล่มนี้ของเขามาอ่านกัน
อ้างอิงจาก:
‘ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี: บทเรียนเพื่อชีวิตยืนยาว จากคนที่มีอายุยืนยาวที่สุด’
แดน บุทเนอร์ เขียน
พิมพา อจลากุล แปล
นพ. ประพจน์ เภตรากาศ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง