รู้จักกับภาวะปัสสาวะเล็ด

Health / Urinary

‘ภาวะปัสสาวะเล็ด’ ‘กลั้นปัสสาวะไม่อยู่’ หรือเรียกได้อีกอย่างว่า ‘อาการช้ำรั่ว’ (Urinary Incontinence) เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยภาวะดังกล่าวมีระดับของอาการที่แตกต่างกันไป บางรายเพียงไอ จาม หรือหัวเราะเบาๆ ปัสสาวะก็จะเล็ดไหลซึมออกมา ขณะที่บางรายอาจจะเกิดภาวะปัสสาวะไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว หากภาวะปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นก็มักจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหากปัญหานี้ถูกปล่อยไว้เนิ่นนาน อาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ทั้งนี้ การพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างถูกวิธีจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีภาวะดังกล่าว  

สาเหตุ 

ภาวะปัสสาวะเล็ดมักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ปัจจัยทางด้านกล้ามเนื้อพยุงท่อปัสสาวะที่มีการอ่อนตัวลง ไปจนถึงความอ่อนตัว/อ่อนแอของบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดขณะที่หัวเราะ ไอ จาม เดิน วิ่ง การยกของหนัก หรือมีแรงดันในช่องท้องที่สูงขึ้น

ประเภทของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และแบบไหนที่ไม่ปกติ

โดยทั่วไปทางการแพทย์จะแบ่งชนิดของโรคดังกล่าวออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

1. Urge (Urgency) Incontinence ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีอาการปวดปัสสาวะแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะต้องรีบไปเข้าห้องน้ำเมื่อปวดปัสสาวะในทันที ในบางครั้ง หากไปไม่ทัน อาจมีปัสสาวะเล็ดออกมาก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำได้ สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากภาวะของการอักเสบ ภาวะต่อมลูกหมากโต กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวมากผิดปกติ หรือความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ หรือกระเพาะปัสสาวะบีบตัวขึ้นมาเองทั้งที่ปัสสาวะยังไม่เต็ม 

2. Stress Incontinence ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง โดยเมื่อมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะ ไอ จาม การออกกำลังกาย หรือยกของหนัก ก็จะส่งผลให้ปัสสาวะเล็ดออกมา โดยสาเหตุใหญ่มาจากผนังกล้ามเนื้อรองรับท่อปัสสาวะอ่อนตัวลงจากสาเหตุต่างๆ เช่น การคลอดบุตร น้ำหนักตัวที่มากขึ้น หรือแม้กระทั่งบุคคลที่เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งเมื่อเกิดแรงดันในช่องท้อง จึงทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้  

3. Overflow Incontinence การกลั้นปัสสาวะไม่ได้จากปัสสาวะล้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากภายหลังของการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งยังคงมีน้ำปัสสาวะคงค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมาก เมื่อรวมกับปัสสาวะที่เกิดขึ้นใหม่ จึงส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดยืดขยายและล้นไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเสื่อมถอยของระบบประสาทในกระเพาะปัสสาวะจากปัญหาไขสันหลัง และโรคทางอายุรกรรมบางโรคที่ทำให้ระบบประสาทถดถอยลง จนส่งผลต่อให้การกระตุ้นเตือนระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยปวดปัสสาวะจึงไม่เกิดการสั่งการให้ไปเข้าห้องน้ำ จนเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ชนิดปัสสาวะล้นขึ้นมา

4. True Incontinence ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้เลย เป็นภาวะที่มีการไหลของปัสสาวะ

ตลอดเวลา ทั้งขณะหลับและตื่น โดยไม่มีความรู้สึกอยากปวดถ่าย สาเหตุหลักหากไม่ใช่ความผิดปกติมาแต่กำเนิด ก็อาจเกิดจากการมีรูรั่วของระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะ จากการผ่าตัดมดลูกแล้วมีการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดช่องเชื่อมต่อกันระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอด หรืออาจเกิดจากการลุกลามของมะเร็งปากมดลูกไปที่กระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดรูรั่วขึ้น 

แนวทางการดูแลตัวเอง 

สำหรับแนวทางการดูแลในเบื้องต้น สามารถเริ่มที่การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่

1. ปรับพฤติกรรมในการดื่มน้ำให้เหมาะสมเพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เช่น หากผู้ป่วยดื่มน้ำมากเกินไป มักทำให้เกิดปัญหาปวดปัสสาวะบ่อย และยิ่งทำให้ปัญหาปัสสาวะเล็ดรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

2. ปรับพฤติกรรมการขับถ่าย เช่น ฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นเล็กน้อยก่อนไปปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะให้สามารถกลั้นได้มากขึ้น การเข้าห้องให้น้ำเป็นเวลา ไม่เบ่งปัสสาวะรุนแรงเกินไป และควรปัสสาวะให้หมด เป็นต้น  

3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  

4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม 

5. งดสูบบุหรี่ 

6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด 

7. หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกิน ซึ่งทำให้เกิดแรงกดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ อันจะส่งผลให้ปัสสาวะเล็ดได้     

สำหรับปัญหาปัสสาวะเล็ด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายและน่ากลัว แต่หากละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบที่มากขึ้นต่อร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตประจำวัน โดยแพทย์ยืนยันว่าปัสสาวะเล็ดเป็นภาวะที่รักษาได้และมีแนวทางในการดูแล ฉะนั้น การพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและควบคุมโรคจึงเป็นหนทางที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขดังเดิม

อ้างอิง:  น.ท.นพ.ศุภวิช เหลืองภัทรวงศ์ แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ

บทความที่เกี่ยวข้อง