​​MCI ลืมเล็กลืมน้อย เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

Brain / Health

‘ภาวะความรู้คิดบกพร่องบกพร่องเล็กน้อย’ (Mild Cognitive Impairment) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า MCI เป็นภาวะความเสื่อมถอยของสมองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาวะที่มีความรู้คิดปกติกับภาวะสมองเสื่อม กล่าวคือ ผู้ป่วยเริ่มมีความบกพร่องของการรู้คิดที่มากกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันแล้ว แต่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันหรือการเข้าสังคมไม่มากเท่ากับผู้ป่วยสมองเสื่อม การที่เราต้องให้ความสำคัญกับภาวะดังกล่าวเนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของภาวะสมองดังกล่าว เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่สามารถพัฒนาไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ ฉะนั้น หากสามารถพบความผิดปกติได้เร็ว ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป  

สาเหตุ

MCI เป็นภาวะก่อนภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ 

1. สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกายที่อาจรักษาและป้องกันได้ เช่น โรคไทรอยด์ โรคขาดสารอาหาร หรือผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ 

2. สาเหตุที่เกิดจากความเสื่อมถอยของเซลล์สมอง ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ยังไม่อาจจะรักษาให้หายขาด แต่มีวิธีการชะลอและลดความรุนแรงได้ อาทิ โรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมและโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันสูง ตลอดจนโรคไขมันในเส้นเลือด 

สัญญาณเตือนภาวะ MCI  

ผู้ที่มีภาวะ MCI ยังคงสามารถดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ แต่จะพบว่าการทำงานของสมองเริ่มบกพร่องลงอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณแรกเริ่มได้ดังนี้ 

1. ความจำถดถอย โดยจะเริ่มมีอาการลืมบ่อยขึ้น เช่น การลืมนัดหมายสำคัญ

2. มีการวางแผน ตัดสินใจ และการคิดวิเคราะห์ช้าลง รวมถึงการคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ทำได้ยากขึ้น 

3. พบปัญหาในการใช้ภาษา อาทิ เลือกใช้คำไม่ถูก พูดไม่คล่องเหมือนเดิม หรือฟังไม่เข้าใจ

4. ขาดสมาธิ โดยไม่สามารถทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง หรืออาจต้องใช้เวลานานขึ้น

5. การรับรู้และใช้งานสิ่งรอบตัวบกพร่อง เช่น จำสิ่งที่เห็นหรือถืออยู่ไม่ได้ หรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไม่เป็น ทั้งที่เคยรู้และเคยใช้งาน

6. ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น แสดงกริยาและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ มีความวิตกกังวล หรืออารมณ์ฉุนเฉียวง่าย 

การสังเกตภาวะ MCI 

ส่วนใหญ่แล้ว ในผู้ป่วยที่มีภาวะ MCI ผู้ที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้ป่วยได้โดยมากมักเป็นผู้ใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ร่วมงาน โดยการสังเกตสามารถแยกได้เป็น 2 กรณี กรณีแรก การพบว่าคนใกล้ชิดเริ่มมีความบกพร่องด้านความจำ ลืมสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หรือมีพฤติกรรมที่แปลกไป และกรณีที่ 2 คือตัวผู้ป่วยเองที่จะรู้สึกว่ามีการหลงลืมที่มากกว่าปกติ ขาดสมาธิ มีการวางแผนอะไรต่างๆ ได้ไม่มีประสิทธิภาพดังเดิม อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว อาจมีภาวะ MCI หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยจะเป็นหนทางที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด 

การวินิจฉัย 

สำหรับการวินิฉัยภาวะ MCI จะใช้การทำแบบทดสอบทางพุทธิปัญญา (Cognitive Test) ที่ดำเนินการโดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยา โดยในแต่ละแบบทดสอบนอกจากจะถูกออกแบบมาให้เหมาะกับรอยโรคที่แตกต่างกัน ครอบคลุมในมิติต่างๆ ตั้งแต่ความจำ มิติสัมพันธ์ ความคิดรวบยอด การคิดคำนวณ การคิดเชิงบริหาร สมาธิ ภาษา และการรับรู้สภาวะรอบตัวแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย ได้แก่

– MoCA (Montreal Cognitive Assessment) แบบทดสอบที่ถูกออกแบบมาเพื่อประเมินการทำงานของสมองในด้านต่างๆ สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะแรกเริ่ม 

– MMSE (Mini-Mental State Examination) แบบทดสอบสภาพการทำงานของสมองเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ MoCA แต่จะใช้เวลาน้อยกว่าและมีความละเอียดน้อยกว่า

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ อาทิ FBT PET Scan เครื่องมือสามารถถ่ายภาพเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย รวมไปถึงการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomakers) เป็นต้น 

การรักษา 

แนวทางการรักษาผู้ที่มีภาวะ MCI ที่สำคัญที่สุดคือการควบคุมโรคที่อาจก่อให้เกิดภาวะดังกล่าวได้แก่

1. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ตลอดจนรักษาระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณีที่ผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด เนื่องจากส่งผลให้ภาวะ MCI ของผู้ป่วยแย่ลง และสามารถพัฒนาไปสู่การเกิดโรคสมองเสื่อมได้ในที่สุด 

2. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ อย่างที่เรารู้กันดีว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และยังเป็นกลุ่มโรคที่อาการจะดำเนินไปเรื่อยๆ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งหากผู้ป่วยสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ดี จะช่วยชะลอการดำเนินไปของภาวะ MCI ได้ 

การป้องกันและลดความเสี่ยง

การป้องกันและลดความเสี่ยงสำหรับภาวะ MCI สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การควบคุมโรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเส้นเลือด ตลอดจนการควบคุมภาวะเบาหวานในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างรอบด้าน โดยมีข้อมูลว่าการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เหมาะสมกับช่วงอายุ และสภาพร่างกาย จะช่วยบรรเทาอาการและช่วยลดโอกาสการดำเนินของโรคไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคตได้ นอกจากนี้ โภชนาการที่ดี การพักผ่อนให้เพียงพอ การคลายความเครียดและทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ ไปจนถึงการออกไปทำงาน ใช้ชีวิตตามวิถีปกติ การเข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัวและสังคม จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยชะลอและลดความรุนแรงของโรคได้เช่นเดียวกัน

แม้ว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ MCI มากขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุภายในประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพในมิติต่างๆ แต่หากเราสามารถสังเกตถึงสัญญาณเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะของตัวเราเอง สมาชิกในครอบครัว หรือผู้คนรอบข้าง จะทำให้ได้รับคำปรึกษา วินิจฉัย ตลอดจนการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการแก้ไขอาการที่เกิดขึ้น ชะลอการเกิดโรคได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ดูแลเพื่อให้สามารถช่วยเหลือและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป 



อ้างอิง:
– วารสารศูนย์อนามัยที่ 9 ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2566
– นพ. ศรัณย์ ธนพฤฒิวงศ์ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลรามาธิบดี

บทความที่เกี่ยวข้อง